คนไทย ไม่เชื่อเรื่องความเท่าเทียม​

คนไทย ไม่เชื่อเรื่องความเท่าเทียม

ผู้เขียน : ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี

มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 26 เมษายน – 2 พฤษภาคม 2567 คอลัมน์ ฝนไม่ถึงดิน

มีประเด็นเรื่องราวถกเถียงในโลกออนไลน์ จากประเด็นปรัชญาพื้นฐานว่า “มนุษย์เท่าเทียมกันหรือไม่”

โดยนักวิชาการด้านปรัชญาได้ตั้งข้อสังเกตว่าทุกครั้งที่คนกลุ่มที่สนับสนุนความไม่เท่าเทียมมักจะให้เหตุผลคือ “นิ้วมือยังไม่เท่ากันเลย แล้วคนจะเท่ากันได้อย่างไร” ซึ่งเป็นคำอธิบายอมตะเพื่อปฏิเสธการสร้างสังคมที่ยุติธรรม

เมื่อคลิปการสนทนาดังกล่าวเผยแพร่ออดไป ผมเองก็แปลกใจไม่น้อยที่มีผู้ใช้อินเตอร์เน็ตจำนวนมากออกมาวิพากษ์วิจารณ์คลิปดังกล่าว ในลักษณะ “การสนับสนุนความไม่เท่าเทียม” หรือมองว่า “ความไม่เท่าเทียมกันเป็นเรื่องปกติ” โดยปรากฏความเห็นลักษณะดังกล่าวจำนวนมาก

จนผมเชื่อว่าผู้คนที่ปรารถนาความเท่าเทียมซึ่งมีจำนวนไม่น้อยเช่นกันพออ่านแล้วคงเกิดภาวะ “จิตตก” และตั้งคำถามเหมือนกันว่า “สังคมเราเป็นกันขนาดนี้เลยหรือ”

ในบทความนี้ผมจะชวนวิเคราะห์ ถึงความเห็นที่สนับสนุนความ “ไม่เท่าเทียม” ที่กระจายในโลกออนไลน์ต่างกรรมต่างวาระ

และชวนมองอีกมุมว่าในโลกจริงผู้คนไม่ได้มีความคิดสุดโต่งต่อการสนับสนุน “ความเหลื่อมล้ำขนาดนั้น”

“คนไทยน่าจะเชื่อเรื่องผีมากกว่าเรื่องความเท่าเทียมเสียอีก” มิตรสหายท่านหนึ่งกล่าวในลักษณะติดตลก

ซึ่งฟังดูแล้วก็จริง แม้ผีจะไม่มีจริง แต่ผู้คนก็มีพิธีกรรมเพื่อยืนยันว่ามันมีจริง และยังมีกระบวนการปกป้องการมีจริงของผี

ขณะเดียวกันความเท่าเทียมแม้จะเป็นนามธรรมเหมือนกัน แต่ก็ปรากฏในรัฐธรรมนูญแทบทุกประเทศ ในกฎหมายหลายฉบับ รวมถึงคำโปรยในอนุสาวรีย์ และประวัติศาสตร์แทบทุกประเทศว่า มนุษย์แต่ละยุคสมัยยอมอุทิศทุกอย่างเพื่อ “ความเท่าเทียม”

แต่ตรงกันข้ามดูเหมือน คนทั่วไปจะเชื่อเรื่องผีที่ทางการล้วนยืนยันว่าไม่มีจริง มากกว่าความเท่าเทียมที่ถูกรับรองในกฎหมายแทบทุกประเทศ

ประการแรกอาจเป็นความไม่รู้เรื่องสิทธิมนุษยชนพื้นฐาน หรือคำว่าเท่าเทียมไม่จำเป็นต้องหมายถึงใส่เสื้อสีเดียวกัน กินอาหารแบบเดียวกัน แต่คือการได้รับการปฏิบัติเยี่ยงมนุษย์ที่เท่ากัน การได้รับโอกาสพื้นฐาน เท่ากัน รวมถึงการปฏิบัติจากรัฐและสังคมที่เท่าเทียมกัน

หากวิเคราะห์การที่คนกลุ่มหนึ่งปฏิเสธความเท่าเทียมก็อาจมีที่มาจากสามเหตุผล

ประสบการณ์ส่วนตัว บางครั้งความเชื่อในความเท่าเทียมหรือไม่เชื่อนั้นสามารถมาจากประสบการณ์ส่วนตัวของบุคคล หากบุคคลมีประสบการณ์ที่ไม่ดีเกี่ยวกับความเท่าเทียม เช่น ประสบการณ์การถูกเลือกปฏิเสธ หรือประสบการณ์ที่มีการแบ่งแยกเชื้อชาติ ศาสนา หรือวัฒนธรรม อาจส่งผลให้พวกเขาเกิดความไม่เชื่อใจในความเท่าเทียม

อำนาจและประโยชน์ส่วนตัว บางครั้งการเชื่อในความเท่าเทียมอาจถูกกลไกของอำนาจและประโยชน์ส่วนตัวที่ต่างหากกันขัดขวาง เช่น บางกลุ่มหรือบุคคลอาจไม่เชื่อในความเท่าเทียมเพราะการเสียสิทธิหรือสิทธิประโยชน์ที่พวกเขาได้รับจากสถาบันหรือระบบที่กีดกันความเท่าเทียม

ความเชื่อ ความเชื่อและมุมมองทางสังคมมีอิทธิพลอย่างมากต่อทัศนคติของบุคคลต่อความเท่าเทียม บางครั้งความเชื่อทางสังคมที่ถูกฝังในวัฒนธรรมหรือครอบครัวอาจส่งผลให้บุคคลมองเห็นความเท่าเทียมในมุมมองที่แตกต่างไปจากที่มันมีอยู่ในวัฒนธรรมหรือครอบครัวของพวกเขา ตัวอย่างเช่น ความเชื่อทางศาสนาหรือความเชื่อทางการเมืองที่ส่งผลให้มีการสร้างแบ่งแยกขัดแย้งในสังคมและการปกปิดปัญหาที่สำคัญเกี่ยวกับความเท่าเทียม

ดังนั้น แม้ในปัจจุบันก็ยังพอนึกภาพออกได้ว่าทำไมจะมีคนจำนวนไม่น้อยที่ไม่เชื่อเรื่องความเท่าเทียม และนอกจากไม่เชื่อแล้วยังเป็นผู้กีดขวาง แม้ว่าตัวเองก็ไม่ได้ประโยชน์อะไรจากสังคมที่อยุติธรรมนี้

แต่คำถามคือมันมีคนจำนวนมากขนาดนั้น ที่ปฏิเสธความเท่าเทียมจริงหรือ

ผมคงตอบสั้นๆ ว่า “ไม่ใช่”

ตามปกติแล้วกับทุกเรื่องที่ปรากฏในโลกออนไลน์ คนที่ไม่เห็นด้วย มักเสียงดังมากกว่า และด้วยความเป็นโลกออนไลน์ การแสดงความเห็นต่างๆ สามารถทำได้รวดเร็ว บ่อยครั้งความเห็นที่ดูชัดเจนและเร็ว สามารถชักนำคนกลางๆ ให้เงียบ หรือไม่กล้าแสดงความเห็น และดึงดูดให้คนที่คล้อยตามแม้จะเล็กน้อยไม่ทั้งหมด ให้สนับสนุน

ผมเคยสนทนากับคนที่ดูจะมีความเห็นดุเดือดในโลกออนไลน์ว่า เขามีความคิดขนาดนั้นเลยหรือ ที่ต่อต้านเรื่องสวัสดิการ ต่อต้านขนส่งสาธารณะ ต่อต้านการเก็บภาษีคนรวย

คุยไปคุยมาผมก็พบว่าเขาไม่ได้มีความคิดสุดโต่งขนาดนั้น

สาเหตุที่แสดงความคิดเห็นแบบนั้นไป ก็เป็นเรื่องความสนุก มีผู้คนเยอะ และยิ่งการแสดงความคิดเห็น ในลักษณะการปฏิเสธประโยชน์ที่ตนได้รับ หรือคนที่ลำบากส่วนใหญ่เรียกร้อง เช่น การได้ด่าผู้หญิงที่อยากลาคลอด ได้ด่าแรงงานที่อยากขึ้นค่าแรง ได้ด่าคนแก่ที่อยากได้เงินบำนาญ ด่านักศึกษาที่อยากเรียนมหาวิทยาลัยฟรี บางครั้งก็ทำให้พวกเขารู้สึกจริงๆ ว่าเหมือนได้เป็นชนชั้นนำในภาพยนตร์ที่พวกเขาคุ้นเคย คือดูฉลาดและมีอำนาจ!

เหตุผลมันฟังดูประหลาด แต่มันก็มีลักษณะแบบนี้เกิดขึ้นได้บ่อยๆ ในอารมณ์ความรู้สึกคน ที่มีหลายเรื่องราวที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน อารมณ์แบบนี้เกิดขึ้นนับเป็นเรื่องปกติ

วันรุ่งขึ้นพวกเขาก็ไปสนุกกับเรื่องอื่น ขณะที่โลกยังเหลื่อมล้ำต่อไป

แต่จากประสบการณ์ของผม ทั้งในการสอนหนังสือ รณรงค์ และปฏิสัมพันธ์กับผู้คนหลากหลายทุกช่วงวัย ทุกระดับ เด็กๆ นักเรียนก็ปรารถนาสังคมที่ยุติธรรม ที่ทำให้พวกเขาวิ่งตามความฝันเต็มที่

คนเริ่มทำงานก็ปรารถนาค่าจ้างที่เป็นธรรมเพื่อให้พวกเขาเริ่มชีวิต

คนมีครอบครัวก็ปรารถนาการรักษาพยาบาลที่ดี การศึกษาที่ดี

คนชราก็ปรารถนาเงินบำนาญ และหลักประกันในชีวิต

คนที่จนที่สุดก็ยังปรารถนาสังคมที่ยุติธรรม

แม้แต่เศรษฐีหมื่นล้านก็รู้ว่าสังคมที่อยุติธรรม ไม่ดีต่อชีวิตของพวกเขา

เวลาที่มีคนต่อต้านเรื่องพวกนี้ มหาวิทยาลัยฟรี เงินบำนาญ ค่าจ้างที่เป็นธรรม สิทธิการรวมตัวของคนทุกชนชั้น ถ้าไม่ด้วยความไม่รู้ เสียประโยชน์ (ซึ่งก็ไม่ใช่) ก็มีอีกหนึ่งเหตุผล คือพวกเขาตระหนักว่าเรื่องพวกนี้เป็นจริงได้ และแค่กำลังกลัวว่ามันจะเป็นจริง

แต่ไม่ว่าเราจะชอบหรือชัง โลกจะหมุนสู่ความก้าวหน้ามากขึ้น เท่าเทียมมากขึ้นอยู่ดี ยังคงเป็นภารกิจสำคัญของคนทุกยุคที่ต้องช่วยการสื่อสารทุกโอกาสว่า

“มนุษย์เราคู่ควรกับสังคมที่ยุติธรรมมากขึ้น”

Ecodharma ธรรมนิเวศ : อนาคตสรรพสิ่งในโลกที่กำลังเดือด

Ecodharma
ธรรมนิเวศ : อนาคตสรรพสิ่งในโลกที่กำลังเดือด

The 29th Annual Sem Pringpuangkeo Public Lecture

by David R. Loy

Monday, 26th February 2024,
Sathirakoses-Nagapradipa Foundation, Bangkok

ปาฐกถาเสม พริ้งพวงแก้ว เรื่อง “Ecodharma ธรรมนิเวศ : อนาคตสรรพสิ่งในโลกที่กำลังเดือด โดย David R. Loy นักเขียนและธรรมาจารย์เซนชาวอเมริกัน และแปลภาษา โดย อัญชลี คุรุธัช (ดูย้อนหลังได้ที่ https://www.facebook.com/watch/?v=1137380174367408 )

เพื่อนมอญในแชตเริ่มด้วยคำถามว่า ทำไมตั้งชื่องานว่า Global Boiling? พอกลับมาดูชื่อหนังสือของ อ.เดวิด มันก็เขียนเพียงว่า Ecodharma: Buddhist Teachings for the Ecological Crisis ส่วนตัวเดาว่า การเลือกใช้ โลกเดือด น่าจะสอดคล้องกับสภาวะโกลาหล สงครามและโลกร้อนที่กำลังส่งผลกระทบอย่างรุนแรงในหลาย ๆ พื้นที่ และการพยายามให้นิยาม climate change ที่ดูเหมือนจะหาคำแปลไทยที่มากกว่าโลกร้อนไม่ได้สักที

อ.เดวิด เปิดประเด็นด้วยบทสนทนาที่ลูกศิษย์ถามธรรมาจารย์เซนว่า ควรจะปฏิบัติอย่างไรในยามลำบาก ธรรมาจารย์เซนบอกว่าให้โอบรับและต้อนรับด้วยการตอบสนองอย่างเหมาะสม “embrace and welcome difficult times by responding appropriately”

อ.เดวิด เสนอว่า ในยามวิกฤตทางนิเวศ พุทธศาสนา Buddhism มีคำสอนที่สามารถเอามาปรับประยุกต์เพื่อเผชิญหน้ากับวิกฤติและความทุกข์ยากได้เช่นกัน หากเราไม่แบ่งแยกมหานิกายกับเถรวาทออกจากกัน “เส้นทางพระโพธิสัตว์ bodhisattva path” ที่สอนให้กระทำการโดยไม่ยึดติดกับผลลัพธ์ acting without attachment to the results น่าจะเป็นหนึ่งแนวทางที่น่านำเสนอให้กับโลกมนุษย์ แต่นี่ไม่ใช่การแนะนำว่าควรทำอะไร แต่เป็นการนำเสนอว่าน่าจะทำอย่างไร Buddhist teachings do not tell us what to do, but they tell us a lot about **how** to do it

แต่ด้วยบริบทและช่วงเวลาที่พระพุทธเจ้าดำรงอยู่นั้น ช่างแตกต่างกับปัจจุบัน อีกทั้งหลักคำสอนของพุทธเองก็ไม่เคยหยุดนิ่ง ปรับเปลี่ยนและลื่นไหลไปตามสภาวะและค่านิยมของสังคมนั้น ๆ ดังนั้น ยามวิกฤตที่เรากำลังเผชิญอยู่ก็ท้าทายศาสนาพุทธให้ปรับตัวเช่นกัน

อ.เดวิด เสนอแนวคำสอน 3 ประการ

(1) โอบรับทั้งการเปลี่ยนแปลงภายในและเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับโลกภายนอก โดยไม่แบ่งแยกโลกออกเป็นสองขั้ว nonduality เพราะการเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับโลกก็เป็นกระบวนการสำคัญในการตื่นรู้ เป็นการนำสิ่งที่ปัจเจกภาวนาไปลงมือปฏิบัติจริง “Engagement in the world is how our individual awakening blossoms, and contemplative practices such as meditation ground our activism, transforming it into a spiritual path.”

(2) ทุกข์ที่มากกว่าปัจเจก ทุกข์ระดับสถาบัน Dukha are not only personal sufferings but now they are institutionalized บริบทที่แตกต่างทำให้เราต้องปรับความเข้าใจว่า ทุกข์ ในวันนี้เป็นอย่างไร ในอดีตพุทธศาสนาเป็นความเชื่อของผู้คนจำนวนเล็กน้อย แต่ศาสนาจะถูกเผยแพร่ได้กว้างไกลก็ต้องอิงกับอำนาจใหญ่ของสังคม ข้อจำกัดนี้อาจทำให้พุทธศาสนากลายเป็นหลักคำสอนที่โฟกัสกับปัจเจกเป็นหลัก แต่เหตุแห่งทุกข์อันได้แก่ โลภ โกรธ หลง กลายเป็นปัญหาทุกข์ยากระดับโครงสร้าง อ.เดวิด เสนอว่า พุทธเคยมีภิกษุณีสังฆะที่เข้มแข็ง เคยเป็นสิ่งที่ช่วยให้คนจัณฑาลปลดแอกจากระบบวรรณะ ดังนั้น หากเราสามารถเสริมความเข้มแข็งของสังฆะและชุมชน จะเป็นการถักทอความสัมพันธ์ให้ปัจเจกมุ่งปฏิบัติทั้งเพื่อตัวเองและผู้อื่นได้เช่นกัน อ.เดวิด ยกคำพูดของนักรณรงค์โลกร้อน Bill McKibben ที่เสนอให้รวมกลุ่ม “the most important thing an individual can do, is be a little less of an individual and join together with others in movements large enough to make change.”

(3) nirasa นิรสา แปลว่า ไม่คาดหวัง without expectations or hope แน่นอนผลลัพธ์ของการกระทำนั้นสำคัญ แต่เราไม่ควรยึดติดกับผลลัพธ์ results are important but not to attach ความไม่ยึดติดดังกล่าว ทำให้เราไม่รู้ และจิตที่ไม่รู้ “don’t know mind” จะยืดหยุ่นกว่า เปิดรับการเปลี่ยนแปลง และบ่มเพาะพลังภายใน (empower) มากกว่าจิตที่รู้ ที่มักปิดกั้นและยึดติดกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง โดยเฉพาะความเป็นคู่ตรงข้าม เช่น ความสิ้นหวัง / ความหวัง despair / hope ที่หล่อเลี้ยงกันและกันและทำให้เรายึดติดกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง

อ.เดวิด ยกคำกล่าวจากอนุสรณ์รำลึกผู้เสียชีวิตในช่วง 9/11 มาเป็นเครื่องเตือนใจว่า “Grief is the price we pay for love” ความอาลัยเศร้าโศกคือราคาที่เราต้องจ่ายเพื่อความรัก หากเรามองว่า สิ่งที่ต่างจาก despair ความสิ้นหวัง คือ grief ความโศกเศร้า เราจะเรียนรู้ที่จะปล่อยวาง ไม่ยึดติด ตัวเราจะชัดขึ้นว่าสิ่งใดเป็นสิ่งสำคัญในชีวิต

การภาวนาและฝึกสมาธิ meditation เป็นหนึ่งในสิ่งที่พุทธศาสนาเสนอว่าเราจะโอบรับความยากลำบากอย่างไร การไม่ยึดติดและตระหนักถึงความไม่จีรังอันเป็นธรรมชาติของโลก ชวนให้เราตระหนักรู้ถึงสายสัมพันธ์ที่เกี่ยวโยงตัวเรากับสรรพสิ่ง แทนที่ตัดขาดตัวเราจากสรรพสิ่ง การแบ่งแยกตัวเราจากสายใยชีวิตต่างหากที่เอื้อให้ความโลภ โกรธ หลงเกาะกินเราจนทำให้เราเห็นเพียงความสิ้นหวัง พังทลาย

ตลอดเวลาที่ฟังปาฐกถเสม แพรนึกถึงคำว่า response-ability ของกลุ่มนักคิดสตรีนิยมหลากสายพันธุ์ feminist multispecies scholars เช่น Donna Haraway เด้งขึ้นมาทันที มันเป็นการเล่นคำกับ response การตอบสนอง/ตอบกลับ และ responsibility ความรับผิดชอบ ที่เมื่อเรารับรู้และรู้สึกกับสายสัมพันธ์ที่เรามีกับสิ่งอื่น ๆ และตระหนักว่าตัวเราก็ประกอบสร้างจากสายสัมพันธ์เหล่านั้น เราก็ต้องมีความรับผิดชอบต่อการกระทำและการถูกกระทำของเราตัวเรากับสรรพสิ่งเช่นกัน ในแนวคิดหลากสายพันธุ์ศึกษา multispecies studies ใช้คำว่า the art of attentiveness บ้าง noticing บ้าง ซึ่งพัฒนามาจากเรื่องของผัสสารมณ์ affects ที่กลุ่มสตรีนิยมทำให้เห็นถึงอำนาจของปัจเจกที่ทั้งกำลังถูกเบียดเบียน ปะทะและโต้กลับ

หากทุกข์ เป็นมากกว่าเรื่องของปัจเจก แต่เป็นเรื่องของโครงสร้างและระบบที่ทำให้เกิดทุกข์ แพรนึกถึงกระบวนการของกลุ่มชนเผ่าพื้นเมือง ที่ชวนตั้งคำถามกับเบื้องหลังปัญหาสิ่งแวดล้อมและมลพิษ ด้วยการสาวตามสายใยกกระบวนการที่หล่อหลอมให้เรามองปรากฎการณ์ดังกล่าวเป็นเพียงเรื่องน่าหดหู่และดูไร้ทางออก แต่มันมีกลไกทางความคิดที่พยายามตัดขาดสายสัมพันธ์ของคนกับสรรพสิ่งให้กลายเป็นเพียงวัตถุหรือมีค่าเพียงเพราะมันมีประโยชน์ทางเศรษฐกิจหรือต่อเจ้าอำนาจหรือเจ้าอาณานิคมเท่านั้น ช่วงเวลาโศกเศร้า griefing จึงเป็นทั้งเครื่องเตือนใจและสิ่งที่เสริมพลังความมีชีวิตชีวิตของมนุษย์และสรรพสิ่ง ดั่งที่ อ.เดวิด ยกตัวอย่าง (ขอบคุณแม่ที่ทำให้รู้จักการเศร้าโศกอาลัย)

ท่ามกลางสภาวะโหดร้ายทารุณที่ผู้คนยังคงเผชิญ ไม่ว่าจะสงครามฆ่ากัน ความเกลียดชังที่มาจากจุดยืนทางการเมืองที่ต่างกัน การขูดรีดแรงงานและความเป็นเพศสภาวะอื่น การจะมาไตร่ตรองจิตแบบธรรมนิเวศอาจเป็นเพียงสิ่งที่คนมีอภิสิทธิ์บางอย่างจะมีเวลาให้ อย่างไรก็ตาม การชวนมองพุทธศาสนาเป็นสิ่งที่ลื่นไหล flow เป็นการเปิดกรอบความคิดและเชิญชวนให้คนมีความคิดสร้างสรรค์และเข้าร่วมปะทะหนุนเสริมกันได้ดี กระบวนการแบบนี้น่าจะช่วยปลดแอกจากความคิดครอบงำที่คอยเน้นแต่ปัจเจกและยกตัวเราให้สูงส่งกว่าสิ่งอื่นๆ ที่ปฏิบัติธรรมไม่ได้ แต่เปิดความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้นจากสายสัมพันธ์ใหม่ ๆ ของธรรมนิเวศ ecodharma ที่จิตที่ไม่รู้จะนำพา

Source : https://www.facebook.com/altgeog/posts/10161424081837594

ความพร่องของอิสรภาพ : The Lack of Freedom

ความพร่องของอิสรภาพ : The Lack of Freedom

Author : Divid R. Loy

“เราเพียงแต่คิดถึงตัวเองว่าเป็นอิสระเท่านั้น ถึงจะสามารถรู้สึกว่าตัวเองมีพันธะได้ และเราเพียงแต่ต้องรู้สึกว่ามีพันธะเท่านั้น ถึงจะสามารถรู้สึกว่าตัวเองมีอิสระได้”
— Goethe
 
ถ้าเผื่อว่า”อิสรภาพ”คือคุณค่าสูงสุดของพวกเรา หากเป็นเช่นนั้น มันก็เป็นปัญหาอันหนึ่งเหมือนกัน. ในที่นี้เราจะมาทำการสำรวจถึง ปัญหาเกี่ยวกับอิสรภาพจากมุมมอง”ความพร่อง”(lack)ของชาวพุทธ
 
พุทธศาสนาให้เหตุผลว่า การสร้างอิสรภาพให้เป็นคุณค่าที่สำคัญที่สุดของเรา เป็นเรื่องที่อันตราย, สำหรับ”อิสรภาพ”มันถูกนึกคิดหรือเข้าใจโดยเอกเทศ ในมุมมองทางโลกหรือในเทอมต่างๆของมนุษย์เท่านั้น ซึ่งในท้ายที่สุดแล้ว จะก่อเกิดช่องว่างหรือเกิดรอยร้าว เพราะว่ามันไม่สามารถให้สิ่งที่เราแสวงหาจากมันได้อย่างแท้จริงนั่นเอง
 
ส่วนหนึ่งของการต่อต้านของเรา ซึ่งมีต่อข้อสรุปอันนั้น เนื่องมาจากความยุ่งยากในการพิจารณาเรื่องของอิสรภาพอย่างเป็นภววิสัย. อุดมคติอันนั้นเป็นส่วนหนึ่งของเรา ที่ค่อนข้างเกี่ยวพันอย่างลึกซึ้งกับวิธีการที่เราเข้าใจตัวของเราเองมาก ดังนั้นมันจึงยากที่จะเฝ้าดูมัน
 
“คุณค่าของอิสรภาพ”อันนี้มีประวัติศาสตร์อันหนึ่ง มากกกว่าจะเป็นเรื่องของธรรมชาติ, มันเป็นผลลัพธ์ของการสืบค้นอย่างถี่ถ้วนซึ่งสลับซับซ้อนและจะต้องทำการตรวจสอบอย่างละเอียด. ด้วยเหตุนี้ วิธีการเชิงเปรียบเทียบสามารถที่จะช่วยวาดเค้าโครงสถานการณ์ต่างๆของเราขึ้นมาได้ ที่ว่า ทำไมอุดมคติเกี่ยวกับอิสรภาพจึงได้เกิดขึ้นมาในตะวันตก และเมื่อไหร่และที่ไหน ที่มันมีการแสดงออกซึ่งอิสรภาพนั้น? คำถามต่อมาคือ มันตรงข้ามกับคุณค่าต่างๆขั้นปฐมของวัฒนธรรมที่ไม่ใช่ตะวันตกอย่างไร?
 
. . .
 
ความยุ่งยากอีกอันหนึ่งก็คือ “แนวความคิดที่แท้เกี่ยวกับอิสรภาพ” ซึ่งค่อนข้างเข้าใจยากมากๆ
 
มันเกือบเป็นไปไม่ได้ที่จะนิยามเรื่องของอิสรภาพในแบบที่น่าพอใจได้เลย สำหรับเหตุผลง่ายๆที่ว่า แนวความคิดที่เป็นนามธรรมนั้น ได้สูญเสียความหมายภายนอกบริบทต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กับคำถามที่ว่า อิสรภาพจากอะไร… หรืออิสรภาพถึงอะไร…?
 
ในเรื่อง Freedom in the making of Western Culture(1991), Orlando Patterson ได้จำแนกสิ่งที่เราเรียกว่า ความรู้สึกเกี่ยวกับอิสรภาพเอาไว้สามระดับคือ :
 
1. ระดับส่วนตัว (personal) หมายถึง สามารถที่จะทำความพึงพอใจต่างๆได้ ภายใต้ข้อจำกัดต่างๆของความปรารถนาของคนอื่นที่จะกระทำสิ่งเดียวกัน
 
2. ระดับองค์อธิปัตย์ (sovereignal) หมายถึง อำนาจที่จะกระทำเพื่อความพึงพอใจต่างๆได้ โดยไม่เอาใจใส่ความปรารถนาของคนอื่นๆ
 
3. ระดับพลเมือง (civic) ความสามารถของสมาชิกในชุมชนหนึ่งที่จะมีส่วนร่วมในชีวิตและการปกครอง คำนิยามทั้งสามระดับนี้ ได้ก่อให้เกิดความตึงเครียดขึ้น ซึ่งไล่ตามประวัติศาสตร์เกี่ยวกับอิสรภาพนับจากเริ่มต้นเลยทีเดียว. ถ้าหากว่าอิสรภาพคือความรู้สึกหนึ่ง มันก็จะไม่ถูกแก้ปัญหาอย่างแน่นอน
 
. . .
 
ข้อเท็จจริงที่โชคไม่ดีคือว่า ตลอดประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา มันเป็นเรื่องง่ายมากที่จะต่อสู้เพื่ออิสรภาพ มากยิ่งกว่าการอยู่อย่างอิสระ. ทำไมมันยังคงเป็นเช่นนั้นอยู่อย่างต่อเนื่อง ?
 
ในอินเดีย เป็นตัวอย่าง มุกติ(mukti – การปลดปล่อยเพื่อความหลุดพ้น เป็นอีกคำหนึ่งของโมกข์ษะ)ได้ถูกยอมรับกันมาเป็นเวลายาวนาน โดยสกุลความคิดเกือบทั้งหมดในฐานะซึ่ง เป็นเป้าหมายทางจิตวิญญานอันสูงส่งที่สุดของการหลุดพ้น
 
“นับจากการดำรงอยู่ของมนุษย์ โดยขนบประเพณี ถูกเข้าใจว่าเป็นวัฏฏะอันหนึ่งของการเวียนว่ายตายเกิดที่โปรยปรายไปด้วยประสบการณ์และความทุกข์ “อิสรภาพของตัวตน”สามารถที่จะได้รับการอธิบายในฐานะที่เป็นอิสรภาพจากวัฏฏะอันนี้ของสังสารวัฏ. ดังนั้น “อิสรภาพ”หรือ”มุกติ”(ความหลุดพ้น) จึงหมายความว่า อิสรภาพจากความไม่รู้เกี่ยวกับตัวตน นั่นคือ อวิชชา, อิสรภาพจากกิเลส ตัณหา หรือ กลิศ, อิสรภาพจากความทุกข์หรือ ทุกขา, และในท้ายที่สุด อิสรภาพจากความตายและกาลเวลา บรรดาชาวพุทธทั้งหลาย, ผู้นับถือศาสนาเชน, และเหล่าโยคีเข้าใจอุดมคติเกี่ยวกับอิสรภาพจากข้อจำกัดต่างๆของความรู้ด้วย, ขณะที่สิทธา แสวงหาอิสรภาพจากข้อจำกัดต่างๆของธรรมชาติทั้งหมด”
 
เราอาจยกคำถามหรือข้อสงสัยบางอย่างขึ้นมาเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยพลิกแพลงการวิจารณ์ในแนวพุทธเกี่ยวกับอัตตา-ตัวตน(ego-self)มาใช้: การดำรงอยู่ของอัตตาตัวตนในเชิงสมมุติซึ่ง, เป็นเพราะมันเข้าใจตัวมันเองในฐานะที่แยกขาดออกจากโลก, บ่อยครั้ง ได้ถูกครอบครองมาก่อนหน้านั้นแล้ว ด้วยการปลดปล่อยตัวของมันเองจากพันธะต่างๆที่ผูกมัดมันไว้กับโลก
 
สำหรับพุทธศาสนา, อัตตาไม่ใช่ความสำนึกเกี่ยวกับตัวตนที่มีอยู่ แต่เป็นการสร้างขึ้นมาของจิต, ความรู้สึกเกี่ยวกับตัวตนที่เปราะบาง ซึ่งหวาดกลัวตัวของมันเองในความไม่มีอยู่
 
ปัญหาของพวกเราเกิดขึ้นเพราะ “ฉัน” ที่กำหนดเงื่อนไขความสำนึกต้องการจะวางรากฐานตัวของมันเอง – – ยกตัวอย่างเช่น ทำให้ตัวมันเองเป็นจริงขึ้นมา. ความล้มเหลวมาโดยตลอดของมันที่จะทำเช่นนั้น หมายความว่า ความรู้สึกเกี่ยวกับตัวตนเกิดความรู้สึกหนึ่งขึ้นมาเกี่ยวกับความพร่อง(a sense of lack) คล้ายกับเงาที่ไม่อาจหนีรอดได้ ซึ่งมันมักจะพยายามที่จะหนีไปให้รอด
 
. . .
 
การตีความเรื่องความพร่องเกี่ยวกับคำสอนเรื่อง”การไม่มีตัวตน”ของชาวพุทธ มีนัยะสำคัญอยู่สองประการสำหรับหนทางที่เรามองเรื่องของอิสรภาพ
 
ประการแรก, วัฒนธรรมใดก็ตามที่เน้นความเป็นปัจเจกของตัวตน จะวางคุณค่าสำคัญยิ่งให้กับ”อิสรภาพ”หรือ”เสรีภาพของตัวตน”เอาไว้สูงสุดอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้. ปกติแล้ว อิสรภาพได้ถูกนิยามในฐานะที่เป็นการกำหนดควบคุมชีวิตของตนเอง และในทางนิรุกติศาสตร์(de+terminus, to limit, set boundaries)เผยให้เห็นนัยะเกี่ยวกับการสถาปนาเขตแดนต่างๆ ระหว่างตัวตนและไม่มีตัวตนขึ้นมา
 
ในที่นี้ ไม่เป็นที่น่าประหลาดใจที่ว่า นับจากการเริ่มต้นของมัน “ประวัติศาสตร์เกี่ยวกับอิสรภาพ”ของตะวันตก ได้ถูกนำไปสัมพันธ์เชื่อมโยงกับพัฒนาการเรื่อง”ตัวตน”อย่างแข็งแกร่ง หรือนำเสนอมันในอีกช่องทางหนึ่ง กับการเพิ่มขึ้นของ ตัวตน-วัตถุ ในลักษณะทวิลักษณ์
 
ในขอบเขตอันนั้น อิสรภาพถูกเข้าใจในฐานะที่เป็นอิสรภาพจากการควบคุมภายนอก, การแบ่งแยกอันหนึ่งที่ถูกให้นัยะระหว่างภายใน(ที่ซึ่งต้องการเป็นอิสระ) และภายนอก(ที่ซึ่งได้รับอิสระจาก). อันนี้เป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะสิ่งที่ Patterson เรียกว่า”stillbirth” of freedom(การแท้งของอิสรภาพ)ภายนอกสังคมตะวันตก ถูกทำให้สัมพันธ์กับข้อเท็จจริงที่ว่า บรรดาสังคมที่ไม่ใช่ตะวันตก มีแนวความคิดที่แตกต่างออกไปเกี่ยวกับเรื่องตัวตน และความสัมพันธ์ของมันกับสิ่งอื่นๆ
 
ประการที่สอง, และสมมุติฐานซึ่งเป็นงานหลักของบทความชิ้นนี้ก็คือว่า ถ้าการดำรงอยู่ของตัวตนและ ความมีอิสระเกี่ยวกับความรู้สึกของตัวตนเป็นมายาการอันหนึ่งดังที่พุทธศาสนาอ้าง หากเป็นเช่นนั้นจริง ตัวตนดังกล่าว ก็จะไม่สามารถประสบกับตัวของมันเองมากพอสำหรับตัวตน – – นั่นคือ มันจะไม่เคยรู้สึกเป็นอิสระพอ. มันจะพยายามแก้ปัญหาความพร่องของมัน โดยการขยายปริมณฑลเกี่ยวกับอิสรภาพของตัวเองออกไป กระนั้นก็ตาม นั่นไม่สามารถที่จะกว้างขวางพอต่อความสุขกายสบายใจ
 
ลักษณะที่เป็นพลวัตอันนี้ ได้ช่วยก่อเกิดสิ่งที่เรารู้จักในฐานะที่เป็นประวัติศาสตร์ของตะวันตก: การแสวงหาอันไม่เคยสิ้นสุดเพื่อ”ลักษณะที่แท้จริง”; ยกตัวอย่างเช่น ความสมบูรณ์, อิสรภาพส่วนบุคคล. แต่มันสามารถจะเป็นอย่างนั่นได้ล่ะหรือ, ถ้ามันไม่มีตัวตน”ที่แท้จริง”ที่จะมีสิ่งเหล่านั้นได้ ?

Source : ผลงานวิชาการ ปรัชญาตะวันตก-ในมุมมองตะวันออก เรื่อง “ความพร่องของอิสรภาพ”(The Lack of Freedom) เขียนโดย David R. Loy : Bunkyo University https://midnightuniv.tumrai.com/miduniv888/newpage17.html

‘ปีใหม่’ มาทำความสะอาดใจให้ใสปิ๊ง

'ปีใหม่' มาทำความสะอาดใจให้ใสปิ๊ง

ปีใหม่กำลังจะมาถึง ไม่ว่าใครจะพูดอย่างไร พยากรณ์อย่างไรหรือไม่ว่าจะเป็นปีชงสำหรับเราหรือไม่ ขอให้มั่นใจว่าจะมีสิ่งดีๆ หลายอย่างรอเราอยู่ข้างหน้า เป็นสิ่งดีๆ ที่สามารถจะนำความสุขมาให้กับเราและสามารถที่จะเปลี่ยนชีวิตเราให้เกิดความผาสุกยิ่งๆ ขึ้นไป แต่เราจะเห็นสิ่งดีๆที่รออยู่ข้างหน้าได้ ใจเราก็ต้องพร้อมที่จะรองรับสิ่งดีๆ ด้วย
 
ถ้าใจเรายังหมกมุ่นกลุ้มใจอยู่กับเหตุการณ์ในอดีตหรือวาดภาพทางลบทางร้ายสำหรับปีหน้าที่จะมาถึง สิ่งดีๆ ที่รอเราอยู่ก็จะผ่านเลยออกไปโดยที่ไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย แต่ถ้าหากว่าใจเราไม่หมกมุ่นอยู่กับเรื่องอดีตและไม่มัวพะวงกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เปิดใจรับรู้เต็มตื่นอยู่กับปัจจุบัน เราก็จะพบเห็นสิ่งดีๆ ที่รอเราอยู่ในปีต่อไปอย่างแน่นอน
 
สิ่งดีๆ อย่างหนึ่งที่สามารถจะเกิดขึ้นกับเราได้ก็คือการมีความเข้าใจในชีวิตมากขึ้นเข้าใจความเป็นจริงของโลกมากขึ้น ที่จะช่วยทำให้เรารู้จักปล่อยรู้จักวางหรือไม่ไปยึดติดถือมั่นกับสิ่งต่างๆ ไม่ไปเอาจริงเอาจังกับเรื่องเล็กเรื่องน้อยจนบดบังความสุขที่มีอยู่กับเราในทุกขณะ
 
ปีใหม่ทั้งทีก็ต้องทำให้ใจเราใหม่ด้วย ไม่ใช่ว่าปีใหม่แต่ใจเก่า และถ้าใจเราใหม่หรือโดยเฉพาะใจที่ตื่นรู้หรือเต็มตื่นกับปัจจุบันรวมทั้งรู้จักมองเห็นสิ่งดีๆ ที่มีอยู่รอบตัวเรา สิ่งดีที่มีอยู่กับเราไม่มองเห็นแต่สิ่งแย่ๆ จะพบว่าปีใหม่จะมีสิ่งที่ชุบชูจิตใจเราหรือเหตุการณ์ที่ทำให้เราเกิดความเข้าใจในชีวิต เข้าใจความเป็นจริงของโลกมากขึ้น
 
ประสบการณ์เหล่านี้จะทำให้เราสามารถที่จะรับมือกับความทุกข์ได้ดีขึ้น มีเหตุร้ายเกิดขึ้นกับเราแต่ใจเราไม่ตกต่ำย่ำแย่ มีสิ่งไม่ดีเกิดขึ้นกับเรา กับทรัพย์สินเงินทองของเรา กับคนที่เรารัก แต่เราก็สามารถจะผ่านพ้นเหตุการณ์เหล่านั้นไปได้ กลายเป็นคนใหม่ที่ฉลาด ที่เข้มแข็งมั่นคงกว่าเดิม
 
ปีใหม่สามารถจะนำพาชีวิตใหม่ให้กับเรา แต่เพราะชีวิตใหม่ไม่ได้หมายความว่าจะต้องมีสิ่งใหม่ๆ ชนิดที่ใหม่เอี่ยม ไม่ได้หมายความว่าจะต้องมีรถคันใหม่มีบ้านหลังใหม่มีงานใหม่หรือโทรศัพท์เครื่องใหม่หรือแม้แต่มีแฟนคนใหม่ด้วยซ้ำ ปีใหม่เราอาจจะยังมีสิ่งต่างๆ เหมือนเดิมแต่สิ่งเหล่านั้นแม้จะไม่ใหม่เอี่ยม แต่ก็อาจจะใหม่แบบใสปิ๊งก็ได้
 
ของเก่าแต่ถ้าหากว่าเราดูแลให้ดี มองด้วยมุมใหม่ก็กลายเป็นของใหม่ใสปิ๊งได้เหมือนกันและเราต้องเริ่มต้นด้วยการทำใจของเราให้ใหม่ใสปิ๊ง และถ้าใจเราใหม่ใสปิ้ง สิ่งที่มีอยู่ไม่ว่าจะเป็นข้าวของ เครื่องใช้ผู้คน งานการ แม้จะเป็นของเดิมสืบเนื่องจากปีเก่าแต่มันจะไม่ใช่ของเก่าอีกต่อไป จะเป็นของใหม่ที่ใสปิ๊งเพราะว่าเรามองด้วยมุมใหม่
 
มองมุมใหม่ได้เพราะใจเราก็ใหม่ใสปิ๊งเหมือนกัน ขัดเกลาจิตใจเราให้สะอาดชำระคราบไคลที่สะสมจากปีก่อนๆ ใจเราเหมือนแก้วที่เก่าเพราะคราบไคลที่สะสมมาจากปีก่อนๆ ปีแล้วปีเล่า
 
ปีใหม่นี้เรามาทำความสะอาดชำระใจเราให้ใหม่ใสปิ๊งจะดีกว่า ก็คือปลดเปลื้องความทุกข์ความกังวลที่เคยสะสมหมักหมมออกไป อดีตที่ผ่านไปแล้วก็ให้มันผ่านเลยไป อารมณ์เก่าๆ ที่เคยสะสมสร้างความความหม่นมองให้กับจิตใจ ก็ปลดเปลื้องออกไปจากใจบ้าง ด้วยการรู้ทัน มีสติรู้ทัน ถ้าเราชำระใจให้สะอาดปราศจากคราบไคลจากปีก่อนๆ ใจเราก็จะใหม่ใสปิ๊ง และใจที่ใหม่ใสปิ้งที่ทำให้สิ่งต่างๆ ที่แม้จะมีเหมือนเดิมแต่จะไม่ใช่ของเดิมแล้ว ก็จะใหม่ใสปิ๊งเหมือนกัน รวมทั้งงานการด้วย
 
อาจจะไม่ใช่ใหม่เอี่ยมเรียกว่าซื้อมาใหม่แต่ว่าก็กลายเป็นของใหม่ได้ถ้าเรามองด้วยมุมใหม่ งานที่เราทำถ้าเรามองด้วยมุมใหม่ก็สามารถจะเป็นงานที่ทำให้ใจเรามีความสุข แทนที่จะทำด้วยความรู้สึกหนักอกหนักใจ แต่เรากลับทำด้วยใจที่แจ่มใสเบิกบานเพราะรู้ว่าทำไปทำไมและรู้จักวิธีที่จะทำ คือทำอย่างมีสติทำด้วยความรู้สึกตัวอยู่กับปัจจุบัน
 
และถ้าหากว่าเราลองปรับเปลี่ยนชีวิตของเราให้ใหม่อยู่บ้าง ใหม่กว่าเดิม เช่นออกกำลังกายให้มากขึ้น พักผ่อนให้พอเพียง ให้เวลาน้อยลงกับโทรศัพท์มือถือหรือ Social Media มีเวลาให้กับคนรักมากขึ้น เช่น พ่อแม่ลูก คนรักคู่ครอง รวมทั้งมีเวลากับใจของเรา มีเวลาทำใจให้สงบฝึกสมาธิเจริญสติ รู้จักหาความสุขที่มากไปกว่าการกินการเสพหรือที่เรียกว่ากินดื่มเที่ยวเล่นช้อบ มาเป็นความสุขจากการทำสิ่งดีๆ มีประโยชน์ ทั้งเป็นประโยชน์ตนและประโยชน์ท่าน ก็เชื่อได้เลยว่าชีวิตของเราจะกลายเป็นชีวิตที่ใหม่กว่าเดิม และจะทำให้ใจเราพร้อมที่จะรองรับสิ่งดีๆ ที่รอเราอยู่ในปีข้างหน้า แม้จะมีอุปสรรคมีความทุกข์ มีความไม่สมหวังเกิดขึ้นแต่ก็จะกลายเป็นปุ๋ยที่ช่วยบำรุงจิตใจของเราให้เจริญงอกงาม ดอกไม้ถ้าขาดปุ๋ยก็ไม่งาม และปุ๋ยก็คือสิ่งที่เคยเป็นขยะมาก่อน
 
ขยะถ้าเอามาใช้เป็นก็บำรุงดินให้เกิดดอกไม้ที่สวยงามผลไม้ที่หอมหวาน ความทุกข์อุปสรรคทั้งหลายทั้งปวงไม่ใช่เป็นสิ่งเลวร้ายเสมอไป แต่สามารถจะกลายเป็นปุ๋ยบำรุงจิตบำรุงใจของเราให้มีปัญญามีประสบการณ์และมีความสุขมากขึ้น
 
ในโอกาสขึ้นปีใหม่นี้ก็ขอให้ทุกท่านได้อยู่เย็นเป็นสุข ให้ปลอดภัยไกลทุกข์ ขอให้มีใจที่ใหม่ใสปิ๊งเพื่อที่จะได้สัมผัสรับรู้ถึงความสุขและสิ่งดีๆ ที่รอเราอยู่ตลอดปีที่จะถึงนี้ ขอให้ทุกท่านได้มีความเข้าใจในสัจจธรรมความจริงของชีวิตจนกระทั่งสามารถยกจิตให้ผ่านทุกข์พบสุขได้ในที่สุดขอเจริญพร

‘การกราดยิง’ สำรวจสาเหตุอันซับซ้อนของพฤติกรรมสังหารหมู่

‘การกราดยิง’ สำรวจสาเหตุอันซับซ้อนของพฤติกรรมสังหารหมู่

เสียงปืนที่ดังขึ้นอย่างต่อเนื่องหลายนัดเป็นจุดเริ่มต้นของเหตุการณ์ที่สร้างความตกตะลึงแก่ผู้คนในสังคมและเป็นความรุนแรงที่สร้างความประหวั่นพรั่นพรึงแก่ทุกคน เพราะเหยื่อสามารถเป็นใครก็ได้

การกราดยิงในพื้นที่สาธารณะเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วโลก และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงศตวรรษปัจจุบัน แม้ความรุนแรงในรูปแบบนี้จะไม่เกิดขึ้นบ่อยนักในสังคมไทย กระนั้นก็ตาม เหตุการณ์กราดยิงในไทยดูจะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นจนน่าตกใจในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา หนึ่งในเหตุการณ์ซึ่งเป็นที่จดจำคือเหตุการณ์กราดยิงที่นครราชสีมา ในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ซึ่งตามมาด้วยการถอดบทเรียนอย่างหลากหลายจากทุกภาคส่วน กระนั้นก็ยังคงไม่ใช่เหตุการณ์สุดท้าย เมื่อเหตุการณ์ครั้งล่าสุดคือการกราดยิงที่สยามพารากอน เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2566 เสียงปืนหลายนัดดังขึ้นใจกลางเมืองที่พลุกพล่าน ท่ามกลางการดำเนินชีวิตประจำวันของผู้คนจำนวนมากทั้งชาวไทยและต่างชาติ

เหตุการณ์ที่น่าหวาดหวั่นจากเสียงปืนและการสังหารหมู่ดึงดูดความสนใจและการถกเถียงของสังคม ภายใต้คำถามสำคัญว่า เหตุใดการกราดยิงจึงเกิดขึ้น?

การกราดยิง (mass shootings) หมายถึง เหตุการณ์การสังหารด้วยอาวุธปืนที่มีเหยื่อตั้งแต่ 4 รายขึ้นไป โดยถือเป็นการสังหารหมู่ (mass killing) รูปแบบหนึ่ง อย่างไรก็ดี มีการนิยามที่หลากหลายถึงการกำหนดจำนวนผู้เสียชีวิตหรือผู้ประสบภัย

ในงานศึกษาเกี่ยวกับความรุนแรงจากปืน (gun violence) เป็นที่ทราบกันมาสักระยะแล้วว่า กราดยิงเป็นการกระทำที่มีสาเหตุสลับซับซ้อน ปัจจัยที่ส่งผลต่อการเกิดขึ้นของการใช้ความรุนแรงในการสังหารหมู่ มีลักษณะเป็นปัจจัยที่สหสัมพันธ์ซึ่งส่งผลร่วมกัน แม้จะมีงานศึกษาจำนวนมากที่พยายามพัฒนาแบบจำลองการทำนายพฤติกรรมของบุคคลที่มีแนวโน้มก่อเหตุ แต่ยังคงห่างไกลจากตัวแบบหนึ่งเดียวที่สามารถอธิบายได้อย่างครอบคลุม แม้ว่าในแต่ละกรณีจะมีปัจจัยมูลเหตุจูงใจที่ถ่วงน้ำหนักแตกต่างกัน ซึ่งมักถูกชี้ชัดโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่ก็ยังเร็วเกินไปที่จะสรุปว่าในแต่ละกรณีมีปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งเป็นปัจจัยชี้ขาด

กระนั้นก็ตาม ในฐานะผู้ศึกษาความรุนแรง การพิจารณาถึงปัจจัยที่ส่งผลต่อการเกิดเหตุการณ์ที่อุกอาจเช่นนี้ยังคงเป็นประเด็นที่น่าสนใจ คำถามคือ เรารู้อะไรเกี่ยวกับสาเหตุของความรุนแรงจากปืนบ้าง?

จุดสนใจแรก: ปัญหาสุขภาพจิต?

เมื่อมีเหตุการณ์การกราดยิงเกิดขึ้น ปัจจัยจำนวนหนึ่งที่มักถูกหยิบยกขึ้นตั้งเป็นสมมติฐานพื้นฐานในหลายกรณีคือ เรื่องความผิดปกติส่วนบุคคลจาก ‘ความเจ็บป่วยทางจิต’

การกราดยิงเป็นพฤติกรรมที่ท้าทายกฎหมาย ละเมิดศีลธรรม และขัดต่อบรรทัดฐานทางสังคมอย่างร้ายแรง ความผิดปกติจากอาการทางจิตจึงมักถูกตั้งเป้าเป็นสมมติฐานแรกๆ โดยเมื่อมีเหตุการณ์เหล่านั้นเกิดขึ้น สังคมมักมองหาความผิดปกติเล็กๆ น้อยๆ ที่สามารถสังเกตเห็น ทั้งจากลักษณะท่าทาง การพูดจา หรือคำบอกเล่าจากผู้คนรอบข้างผู้ก่อเหตุเพื่อเชื่อมโยงเข้าหาสมมติฐานที่ตั้งไว้

อย่างไรก็ดี งานศึกษาจำนวนมากกลับให้ภาพความเข้าใจต่อผู้ก่อเหตุกราดยิงที่ต่างออกไป โดยชี้ว่าในความเป็นจริงผู้ที่มีความผิดปกติทางจิตส่วนใหญ่มักไม่มีส่วนในการใช้ความรุนแรง ผู้มีอาการทางจิตส่วนใหญ่ไม่ได้มีแนวโน้มที่จะทำร้ายใคร และแม้ว่าจะมีผู้ก่อเหตุกราดยิงจำนวนหนึ่งที่มีประวัติการรักษาความเจ็บป่วยทางจิตจริง แต่ส่วนมากก็ไม่ใช่สาเหตุที่เกี่ยวข้องกับการใช้ความรุนแรง โดยในสหรัฐอเมริกามีผู้มีความเจ็บป่วยทางจิตเพียงราว 3% ถึง 5% ของประชากรเท่านั้นที่มีความเสี่ยงต่อการใช้ความรุนแรง ขณะที่อาจมีความแตกต่างกันไปในพื้นที่อื่นๆ แต่ก็อยู่ในระดับที่ไม่เกิน 10% (ดูใน Appelbaum, 2013 ,Shultz, et al 2014)

อย่างไรก็ดี เรายังคงไม่อาจละเลยจากปัจจัยดังกล่าว เนื่องจากมีข้อบ่งชี้ว่า อาการหลงผิดหวาดระแวง (Paranoid Schizophrenia) อาจเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงที่เป็นไปได้ และอาจมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในกรณีที่มีการใช้สารเสพติดควบคู่ (Corner, et al 2018) กระนั้นก็ตาม ผู้ป่วยจิตเวชที่มีความเสี่ยงสูงเหล่านี้ยังคงมีจำนวนน้อยมาก จนในงานศึกษาเมื่อเร็วๆ นี้ จิตเพทย์ชื่อดัง อย่างโจนาธาน เมตเซิล (Jonathan M. Metzl) ย้ำเตือนในบทความ Mental Illness, Mass Shootings, and the Future of Psychiatric Research into American Gun Violence ของเขาว่า ผู้ศึกษาเรื่องการกราดยิงควรละทิ้งสมมติฐานแรกเริ่มที่ว่า การสังหารหมู่จำนวนมาก มีสาเหตุหลักมาจากความเจ็บป่วยทางจิต จนละเลยบริบททางสังคมและปัจจัยอื่นๆ (Metzl 2021)

ภาพยนตร์-เกมนำไปสู่ความรุนแรง?

ทุกๆ ครั้ง ที่มีเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้น อีกหนึ่งปัจจัยที่มักถูกยกขึ้นเป็นประเด็นถกเถียงอย่างเผ็ดร้อน และถูกกล่าวถึงเสมอจนถึงปัจจุบันคือเรื่องอิทธิพลความรุนแรงของ ‘ภาพยนตร์และเกม’ มิพักต้องพูดถึงเหตุการณ์กราดยิงที่ปัจจุบันมีเกมจำนวนมากที่มีเนื้อหาในทำนองเดียวกัน จนแทบจะกล่าวได้ว่าเกมถูกโทษให้เป็นสาเหตุสำคัญในการอธิบายสาเหตุของความรุนแรงในเยาวชนตลอดหลายปีที่ผ่านมา

กระแสอธิบายดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นแต่เฉพาะในสังคมไทย ในต่างประเทศการอธิบายความสัมพันธ์ดังกล่าวถูกพูดถึงเป็นการทั่วไป โดยเฉพาะเมื่อมีงานศึกษาจำนวนมากชี้ว่าเกมที่มีเนื้อหารุนแรงสามารถเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดพฤติกรรมก้าวร้าวระยะสั้นในเด็ก ขณะที่สื่อโทรทัศน์และภาพยนตร์ที่มีเนื้อหารุนแรง ส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของระดับพฤติกรรมความก้าวร้าวและการใช้ความรุนแรงในระยะสั้น ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ และส่งผลต่อพฤติกรรมความก้าวร้าวและความรุนแรงในเด็กในระยะยาว (ดู Huesmann & Taylor 2006 และ Huesmann 2007)

อย่างไรก็ดี ข้อสรุปจากงานศึกษาในอดีตเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างเกมและการใช้ความรุนแรงกลับมีความแตกต่างอย่างมากจากผลการศึกษาเมื่อเร็วๆ นี้ โดยในงานศึกษาที่สำคัญ 2 ชิ้น คือ Does playing violent video games cause aggression? A longitudinal intervention study ในปี 2019 และ Do longitudinal studies support long-term relationships between aggressive game play and youth aggressive behavior? A meta-analytic examination ในปี 2020 ซึ่งใช้กรณีตัวอย่างจำนวนมาก และตรวจสอบกรณีศึกษาในอดีตใหม่อีกครั้ง ได้ล้มล้างสมมติฐานเดิมที่ถูกเข้าใจกันในหมู่นักจิตแพทย์กว่าหลายทศวรรษ โดยผลการศึกษาไม่พบความเชื่อมโยงระหว่างการเล่นเกมกับพฤติกรรมความรุนแรงหรือความก้าวร้าว ผู้ศึกษาชี้ข้อสังเกตว่าผลของงานศึกษาในอดีตที่ออกมาในลักษณะดังกล่าว เกิดจากปัญหาด้านระเบียบวิธีวิจัยและอคติในการศึกษาเป็นหลัก มากกว่าที่จะเป็นผลจากการศึกษาจริงๆ (Aaron, et al 2020, Kühn, et al 2019)

การแพร่ระบาดทางสังคมจากการรายงานข่าว

กระนั้นก็ตาม เรายังคงไม่อาจสรุปได้ว่า ‘พฤติกรรมเลียนแบบจากสื่อ’ จะไม่มีผลใดๆ เลย โดยเฉพาะเมื่อมันถูกนำมาใช้อธิบายการแพร่ระบาดทางสังคม ภายหลังเหตุการณ์กราดยิงในโรงเรียนที่สหรัฐอเมริกาซึ่งถูกรายงานผ่านสื่อออกไปอย่างกว้างขวาง ไม่กี่วันหลังจากนั้น ความถี่ในการก่อเหตุในลักษณะเดียวกันเพิ่มสูงขึ้นอย่างน่าตกใจ บทบาทของสื่อถูกกล่าวถึงอย่างจริงจังอีกครั้ง เมื่อการศึกษาเชิงปริมาณต่อแบบจำลองการแพร่กระจายพบหลักฐานสำคัญที่สนับสนุนว่า กรณีการสังหารหมู่ด้วยอาวุธปืนที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งมีความสัมพันธ์กับเหตุการณ์ที่คล้ายคลึงกันในอดีตอันใกล้ เหตุกราดยิงที่โด่งดังอาจเพิ่มความน่าจะเป็นในระยะเวลาหนึ่งต่อเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยจากการศึกษาในสหรัฐอเมริกาพบว่า ความน่าจะเป็นที่จะเกิดเหตุการณ์กราดยิงกินเวลายาวนานราว 13 วัน ต่อการเกิดเหตุการณ์หนึ่งครั้งก่อนหน้า (Towers, et al 2015)

แนวคิดทางระบาดวิทยา อย่างการแพร่ระบาด (contagion) ถูกนำมาใช้เป็นอุปมาเพื่อพูดถึงการแพร่กระจายตัวของเหตุการณ์การกราดยิงว่าติดต่อจากพื้นที่หนึ่งไปสู่อีกพื้นที่หนึ่งเหมือนการกระจายตัวของเชื้อโรค อย่างไรก็ดี คำถามคือพาหะของมันคืออะไร? พฤติกรรมเลียนแบบถูกนำมาใช้เพื่ออธิบายการแพร่ระบาดดังกล่าว ซึ่งมี ‘การรายงานข่าวของสื่อมวลชน’ เป็นพาหะ โดยชี้ว่าพฤติกรรมของบุคคลหนึ่งสามารถโน้มน้าวให้อีกคนหนึ่งมีพฤติกรรมที่คล้ายคลึงกันได้ ผ่านวิธีที่สื่อรายงานเหตุกราดยิง อย่างการนำเสนอภาพลักษณ์ของมือปืน คำพูดของพวกเขา เรื่องราวชีวิตของมือปืน รวมถึงรายละเอียดของเหตุการณ์กราดยิงที่ถูกนำเสนอซ้ำแล้วซ้ำเล่า เมื่อผู้ที่มีแนวโน้มจะก่อเหตุได้รับชมสื่อเหล่านี้จะสามารถเพิ่มโอกาสเกิดเหตุการณ์กราดยิงในอนาคตได้ (Meindl & Ivy 2017)

การควบคุมอาวุธปืนและปัจจัยเศรษฐกิจสังคม

หากมองพ้นไปจากปัจจัยส่วนบุคคล อย่างเรื่องบุคลิก ลักษณะส่วนบุคคล และพฤติกรรมการใช้ชีวิต มีปัจจัยหนึ่งที่ค่อนข้างน่าสนใจ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการของรัฐบาลโดยตรง คือเราจะมองข้ามเรื่องอาวุธปืนได้อย่างไร ในเมื่อปืนเป็นเครื่องมือที่สำคัญที่สุดในการก่อเหตุกราดยิง

งานศึกษาจำนวนมากพบความสัมพันธ์ระหว่างปริมาณอาวุธปืนและความยากง่ายในการเข้าถึงอาวุธปืนกับการก่อสังหารหมู่ ในงานศึกษาของ Paul Reeping พบว่า พื้นที่ที่มีการอนุญาตการถือครองอาวุธปืนมากและผู้คนเป็นเจ้าของอาวุธปืนมาก มีอัตราการกราดยิงสูงกว่าพื้นที่ที่มีข้อจำกัดในการถือครองอาวุธปืน และในแต่ละช่วงเวลาของพื้นที่เดียวกัน เมื่ออัตราการเพิ่มขึ้นของจำนวนอาวุธปืนในพื้นที่นั้นๆ สูงขึ้น อัตราการก่อเหตุกราดยิงก็เพิ่มขึ้นด้วยอย่างมีนัยสำคัญ ในอเมริกาตั้งแต่ปี 1998 ถึง 2015 อัตราการครอบครองอาวุธปืนที่เพิ่มขึ้นราว 10% สัมพันธ์กับอัตราการเกิดเหตุการณ์ยิงที่เพิ่มสูงขึ้น (Reeping, et al 2019) จนอาจกล่าวได้ว่า การที่ผู้คนสามารถครอบครองอาวุธปืนส่งผลให้อาวุธปืนมีสถานะความพร้อมใช้งานสูง เมื่อผู้คนมีแนวโน้มจะก่อความรุนแรงสังหารผู้คน อาวุธปืนที่อยู่ใกล้มือจึงถูกฉวยเอามาใช้ก่อเหตุได้อย่างรวดเร็ว (Ahmad, et al 2020) สิ่งนี้อธิบายได้ดีว่าเหตุใดการกราดยิงหลายกรณีในประเทศไทยจึงมีผู้ก่อเหตุเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงของรัฐ เช่น ทหาร ตำรวจ หรือผู้ที่มีความเกี่ยวข้องกับบุคคลเหล่านั้น

นอกจากนี้ ในทางกลับกันจากงานศึกษาเปรียบเทียบของ Bricknell และคณะ ซึ่งเปรียบเทียบระหว่างการครอบครองอาวุธปืนในสหรัฐอเมริกาและออสเตรเลียชี้ว่า การออกกฎหมายและมาตรการดำเนินการควบคุมอาวุธปืนที่แตกต่างกัน ส่งผลต่ออัตราการเกิดเหตุการณ์กราดยิงที่แตกต่างกัน การมีกฎหมายควบคุมอาวุธปืนที่เข้มงวดสามารถทำให้เหตุการณ์กราดยิงลดลงอย่างเห็นได้ชัด กฎหมายซึ่งถูกออกโดยรัฐจึงมีความสำคัญอย่างมาก รวมไปถึงมาตรการที่รัฐใช้ โดยในกรณีของออสเตรเลียที่มีการดำเนินโครงการซื้อคืนอาวุธปืน ทำให้อัตราการครอบครองอาวุธปืนลดลงอย่างมากเมื่อเปรียบเทียบกับสหรัฐอเมริกาที่ไม่มีมาตรการดังกล่าว กฎหมายและมาตรการเหล่านี้ช่วยลดอัตราความพร้อมใช้งานของอาวุธปืนได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ดีบทความได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของความเข้มงวดและความสม่ำเสมอในการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งหากปราศจากสิ่งเหล่านี้ก็อาจไม่สามารถป้องกันผู้ก่อเหตุที่มีแรงจูงใจในการดำเนินการได้ แม้จะมีกฎหมายอยู่ก็ตาม (Bricknell, et al )

ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่น่าสนใจ อย่างปัจจัยทางเศรษฐกิจสังคมซึ่งอยู่ในการจัดการของรัฐโดยตรง การศึกษาพบว่าความเหลื่อมล้ำของรายได้ ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจน โอกาสทางเศรษฐกิจ และการใช้จ่ายด้านสวัสดิการสาธารณะ ล้วนเกี่ยวข้องกับอัตราการสังหารด้วยอาวุธปืน (Kim 2019) หรือแม้แต่ปัญหาการเหยียดเชื้อชาติ ซึ่งในพื้นที่ที่มีประชากรที่ถูกเหยียดเชื้อชาติมาก มีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบจากปัญหาการกราดยิงมาก (Ghio, et al 2023) ดังนั้นการที่รัฐให้ความสำคัญกับปัจจัยเหล่านี้จึงสำคัญอย่างยิ่งในฐานะการแก้ปัญหาระดับโครงสร้าง ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่อยู่ในความสามารถการบริหารจัดการทางนโยบายของรัฐได้โดยตรง

ถึงที่สุดแล้ว เราพึงตระหนักว่า การกราดยิงเป็นการกระทำที่มีความสัมพันธ์สลับซับซ้อนเกินกว่าจะสรุปได้ด้วยปัจจัยเพียงปัจจัยเดียว แต่ละกรณีมีตัวจุดชนวนที่แตกต่างกัน และค่อนข้างมีปัจจัยที่เฉพาะเจาะจงในแต่ละกรณี แน่นอนว่าไม่ใช่ผู้ที่เล่นเกมที่มีเนื้อหารุนแรงทุกคนจะมีพฤติกรรมการใช้ความรุนแรงทางอาญา เช่นเดียวกันกับกรณีของความเจ็บป่วยทางจิต ไม่ใช่ผู้ป่วยจิตเวชทั้งหมดจะลุกขึ้นมาทำร้ายผู้คนรอบข้าง และไม่ใช่ผู้ที่นิยมปืนและชอบเรื่องราวสงครามทุกคนจะหยิบอาวุธขึ้นมากราดยิงผู้คนในพื้นที่สาธารณะ สาเหตุของการใช้ความรุนแรงด้วยอาวุธปืนนั้นสลับซับซ้อนและยังคงรอให้มีการศึกษาเพิ่มขึ้นในอนาคต

การฆ่าตัวตาย พูดได้

การฆ่าตัวตาย พูดได้

เมื่อมีการพูดถึง “การฆ่าตัวตาย” ในบทสนทนา ผมเชื่อหว่าหลายคนก็อาจจะเคยรู้สึกว่าหัวข้อนี้ เป็นเรื่องที่อ่อนไหว และน่าอึดอัด

“เคยมีความคิดอยากจะแบบ… แบบว่า จบมั้ย พอแล้ว ไรงี้ ว่าไงดี…”
“แล้วเคยแบบว่าไงดี ไม่ค่อยอยากจะพูดเลย แบบไม่อยู่มั้ยอ่ะ?”
“ถ้าเราพูดออกไป จะกลายเป็นชี้นำเขามั้ยนะ?”
“อยากช่วยเหมือนกัน แต่จะพูดคุยยังไงดีนะ?”

สำหรับคนที่มีความคิดฆ่าตัวตาย ก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าจะเล่ายังไง? คนที่ฟังจะหนักใจไหม จะลำบากใจรึเปล่า? และสำหรับคนที่รับฟัง ก็ไม่มั่นใจเหมือนกันว่าจะพูดอะไรได้บ้าง? คนที่เครียด มีปัญหา เขาจะฆ่าตัวตายหรือเปล่า? แต่ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะถาม หรือจะพูดคุยยังไงดี?

เนื่องในวันที่ 10 กันยายน คือวันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก (World Suicide Prevention Day) ผมจึงใช้โอกาสนี้ ได้นำบทความเกี่ยวกับ บทสนทนาการฆ่าตัวตายมาพูดถึงกันครับ

บทสนทนาหัวข้อ การฆ่าตัวตาย ไม่ค่อยได้มีการพูดถึงกันมากเท่าไหร่นัก ในบทสนทนานี้ อาจจะมีหลากหลายความคิด ความรู้สึกที่ตามมา ทั้งตัวของผู้ที่กำลังประสบปัญหาอยู่ หรือรวมถึงผู้ที่กำลังรับฟังอยู่ด้วย

“ควรพูดยังไงดีล่ะ”
“ถามตรงๆเลยได้มั้ยนะ”
“ถ้าเล่ามากไป เขาจะเป็นห่วงเรามากเกินไปป้ะนะ”
“ถ้าเราเผลอพูดไม่ดีไป จะทำให้มันแย่กว่าเดิมทำไง”
และอีกมากมาย

ทำไมผู้คนถึงหลีกเลี่ยงการพูดคุยเรื่องการฆ่าตัวตายกันล่ะ

จากการศึกษา ผมขอสรุปได้ว่าผู้คนหลีกเลี่ยงการพูดคุยเรื่องการฆ่าตัวตายกัน เพราะมีความเกรงกลัวและอายที่ตนเองมีความคิดฆ่าตัวตายเกิดขึ้น กลัวไม่ได้รับการสนับสนุน และการช่วยเหลือ กลัวว่าจะได้รับการปฏิเสธ รวมถึงกลัวการเป็นภาระให้แก่ผู้อื่นอีกด้วย และยังมีความรู้สึกเครียดกังวลกับปัญหาที่ตนเองกำลังพบเจออยู่อีกด้วย

ซึ่งแน่นอนว่าความรู้สึกเหล่านี้ก็สามารถส่งมาถึงผู้ที่รับฟังด้วย ในบางครั้งผู้ที่รับฟัง รับรู้ได้ถึงความเครียด และความหนักหน่วงของอีกฝ่าย จนมีความกังวลว่าอีกฝ่ายจะ ทำอันตรายกับตนเอง หรือจะฆ่าตัวตายไหม

แต่บางครั้งก็จะหลีกเลี่ยงการพูดคุยเรื่องการฆ่าตัวตายที่ชัดเจน เนื่องจากมีความเกรงกลัวว่าตนเองจะทำให้อีกฝ่ายเกิดความเครียดมากกว่าเดิมหรือเปล่า
รวมถึงการมีบทสนทนาที่ชัดเจนเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายนั้น จะยิ่งทำให้เหมือนเป็นการชี้นำอีกฝ่ายให้ลงมือทำไหม

จากข้อความข้างต้นนี้ อาจเห็นได้ว่าทำไมบทสนทนาเกี่ยวกับ การฆ่าตัวตาย จึงไม่ค่อยได้มีความชัดเจน และเกิดขึ้นได้บ่อยนัก เนื่องจากมันเป็นหัวข้อที่อ่อนไหวมากๆ และแน่นอนว่านอกจากข้อความข้างต้นนี้ยังมีอีกหลายเหตุผลที่ทำให้ บทสนทนาเกี่ยวกับการฆ่าตัวตาย จะไม่ค่อยพูดถึงกัน และชัดเจนมากเท่าไหร่

แต่ทุกคนทราบไหมครับ เรื่องการฆ่าตัวตาย ถึงจะเป็นหัวข้อในบทสนทนาที่คนไม่ค่อยอยากพูดถึง ซึ่งจริงๆแล้วเป็นอีกหนึ่งในหัวข้อที่ควรได้รับการพูดถึงอย่างมาก หัวข้อที่คนไม่อยากพูดถึง แต่ควรได้รับการใส่ใจ

จากการศึกษาค้นพบว่า การหลีกเลี่ยงบทสนทนาของการฆ่าตัวตาย จะยิ่งทำให้เกิดความกังวล และความเครียดที่เพิ่มขึ้นได้ เนื่องจากจะยิ่งทำให้รู้สึกว่า
ความคิดฆ่าตัวตายที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเรื่องที่ผิดแปลก และจะยิ่งทำให้เกิดความรู้สึกผิด ความสับสน และความเครียดเพิ่มขึ้นไปอีก

ดังนั้นการพูดคุย การมีบทสนทนาเกี่ยวกับฆ่าตัวตาย เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ปกติ ทำให้ ความคิดการฆ่าตัวตาย เป็นเรื่องที่ไม่ได้ผิดแปลกสามารถเกิดขึ้น และได้รับการช่วยเหลืออย่างถูกวิธีได้ ถ้าหากได้มีการแบ่งปัน และได้มีการพูดถึง

อีกทั้งยังมีการศึกษาเพิ่มเติมพบว่า ยิ่งมีการสนทนาเกี่ยวกับความเครียด ปัญหา รวมถึงการฆ่าตัวตายนั้น จะสามารถบรรเทาความคิดเหล่านั้นได้ด้วย ทั้งยังทำให้บทสนทนานั้นได้ทบทวนขอความช่วยเหลืออีกด้วย

รวมถึงมีการศึกษาด้วยว่า การกล่าวถึง การฆ่าตัวตายอย่างชัดเจนในบทสนทนาไม่ได้เป็นการ ชี้นำ หรือแนะนำ ให้คู่บทสนทนานึกถึงการฆ่าตัวตายเป็นทางออก แต่ในทางกลับกัน การกล่าวถึง หรือการถามว่า มีความคิดฆ่าตัวตายบ้างไหม เป็นการช่วยเหลือมากกว่า การชี้นำอีกด้วย

อาจกล่าวได้ว่า บทสนทนาเรื่องการฆ่าตัวตายนั้น แน่นอนว่า เป็นหัวข้อที่อ่อนไหว และบทสนทนาอาจจะไม่ราบรื่นเท่าไรนัก แต่อยากจะเชิญชวนให้เป็นอีกหนึ่งในหัวข้อที่ให้มองว่าเป็น “เรื่องปกติ” ที่สามารถพูดคุยได้ในบทสนทนา เพื่อให้ได้มีการช่วยเหลือ สนับสนุน รวมถึงได้แบ่งปันแนวทางช่วยเหลือให้คู่สนทนาอีกด้วย

ความกังวล ความกลัว ที่เกิดขึ้นในบทสนทนา ในหัวข้อ “การฆ่าตัวตาย” อาจทำให้รู้สึกอึดอัด ไม่กล้าพูดถึง หรือแบ่งปันได้ แต่อยากให้เชิญชวน ให้มองว่าเป็นหนึ่งในเรื่องที่เกิดขึ้นได้ เป็นเรื่องปกติ ให้มองว่า “การฆ่าตัวตายพูดได้” เพื่อให้ได้รู้ว่า ถึงจะเป็นเรื่องที่หนักหนา แต่ให้ได้รู้ว่ามีคนพร้อมรับฟัง ช่วยเหลือ พร้อมสนับสนุน รวมถึงผู้ที่รับฟัง ให้ได้รับรู้ว่าอย่ากังวลว่าจะทำให้คู่สนทนานั้นเครียดมากขึ้น แค่มีเจตนาที่จะช่วยเหลือ สนับสนุน แค่นี้ก็เป็นการช่วยเหลือที่สุดยอดมากแล้วครับ

หากมีการพูดคุย แล้วไม่แน่ใจว่าจะช่วยเหลือได้อย่างไร เบื้องต้นสามารถรับฟัง และส่งเสริมให้ได้รับการช่วยเหลืออย่างถูกต้อง ไม่ว่าจะพบเจอกับ จิตแพทย์ นักจิตวิทยาการปรึกษา และอีกมากมาย เพื่อให้ได้รับการช่วยเหลือได้อย่างถูกต้อง

มือที่มองไม่เห็นของ อดัม สมิธ: คำถามใหญ่ว่าด้วย ‘ธรรมชาติของมนุษย์’

มือที่มองไม่เห็นของ อดัม สมิธ: คำถามใหญ่ว่าด้วย ‘ธรรมชาติของมนุษย์’

วลี “มือที่มองไม่เห็น” ของอดัม สมิธ ผู้ได้รับการยกย่องให้เป็นผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาเศรษฐศาสตร์ เป็นวลีที่เข้ามาอยู่ความรู้สึกนึกคิดราวกับว่าภาษาได้แทรกซึมไปถึงความเป็นมนุษย์ลึกๆ ของเรา โดยแก่นของวลีนี้เป็นความคิดหลักของสายธารความคิดแบบเสรีนิยมที่เชื่อว่า ระบบในสังคมสามารถปรับตัวได้เองโดยไม่ต้องมีการบังคับ และการตัดสินอย่างเสรีของปัจเจกที่มุ่งหวังประโยชน์ส่วนตนจะสร้างประโยชน์ให้กับสังคมส่วนรวม

การที่วลีนี้ติดหูและอยู่ในสำนึก ทำให้บ่อยครั้งวลีนี้ถูกพูดขึ้นเพื่อสนับสนุนแนวคิดที่ต่างๆ กันไปทั้งในหมู่ฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวาทางเศรษฐกิจการเมือง[1] บทความนี้จึงพาไปสำรวจวลี “มือที่มองไม่เห็น” ที่สมิธเขียนในย่อหน้าหนังสือจริงๆ ตามตัวอย่างต่างๆ อีกครั้ง เพื่อชี้ให้เห็นว่าสมิธใช้วลี “มือที่มองไม่เห็น” ในการยึดโยงถึงความเป็นไปตาม ‘ธรรมชาติของมนุษย์’ ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดทางปรัชญาของเขา

วลี “มือที่มองไม่เห็น” ปรากฏเพียงแค่ครั้งเดียวในหนังสืออันโด่งดังของสมิธ The Wealth of Nations โดยปรากฏในเล่มที่ 4 บทที่ 2 เมื่อสมิธต้องการยกตัวอย่างถึงการลงทุนในประเทศและนอกประเทศ เขาชี้ว่าการตัดสินใจลงทุนมีผลต่อความมั่งคั่งและเข้มแข็งของประเทศนั้นๆ โดยในอัตรากำไรที่เท่าๆ กัน เราจะเลือกลงทุนในประเทศมากกว่านอกประเทศ เพราะว่าการลงทุนในประเทศดึงดูดมากกว่า เนื่องจากความคุ้นเคย สะดวก ปลอดภัย จากนั้นเมื่อปัจเจกบุคคลลงทุนในประเทศแล้ว ก็จะทำให้ประเทศรวยขึ้น มีการจ้างงาน มีการสะสมกำลังการผลิต แล้วความมั่งคั่งที่เพิ่มขึ้นมาก็จะทำให้ประเทศมีความสามารถสามารถป้องกันประเทศได้มากขึ้น ดังนั้นการตัดสินใจของแต่ละปัจเจกบุคคลจากประโยชน์ส่วนตนก็กลายเป็นประโยชน์ส่วนรวมโดยไม่ต้องควบคุม พวกเขาถูกนำโดยมือที่มองไม่เห็นให้ทำประโยชน์กับสังคมโดยที่ไม่จำเป็นต้องมาจากเจตนา (เน้นโดยผู้เขียน)

วลี “มือที่มองไม่เห็น” ยังปรากฏใน The Theory of Moral Sentiments (หนังสือเล่มแรกของสมิธ) ในส่วนที่ 4 บทที่ 1 สมิธเขียนถึงปัจเจกบุคคลยากไร้ที่ทำงานสร้างตัวเองเพื่อการดำรงชีวิต ถึงแม้ว่าปัจเจกบุคคลนั้นจะไม่ได้โลภหรือต้องการจะอวดร่ำอวดรวย แต่ทรัพย์สินและการทำงานจะทำให้ชีวิตสุขสบายขึ้น การสะสมทรัพย์และการผลิตนั้นเป็นธรรมชาติของมนุษย์ ในทำนองเดียวกัน คนมั่งมีเจ้าของที่ดินก็ต้องทำการผลิต แม้จะมีมากอยู่แล้ว แต่ขนาดกระเพาะของเขาก็ไม่ได้ทำให้พวกเขาหยุดทำการผลิตและจ้างงานผู้คน ส่วนคนงานก็คาดหวังส่วนแบ่งจากความเป็นมนุษย์และความยุติธรรมจากคนมั่งมี ผลผลิตจากผืนดินนั้นจึงถูกแบ่งปันไปให้ทุกผู้คน โดยที่คนมั่งมีเลือกเก็บเพียงกองที่ดีที่สุด ใช้จ่ายมากกว่าคนอื่นเพียงเล็กน้อย นอกนั้นจะแบ่งให้คนงานที่ทำการผลิต แบ่งผลผลิตไปเท่าๆ กัน (“nearly the same distribution”) พวกเขาถูกนำโดยมือที่มองไม่เห็นให้กระจายปัจจัยการดำรงชีวิตไปอย่างเสมอภาค สร้างประโยชน์ส่วนรวมโดยที่ไม่ได้เจตนา[2]

เห็นได้ว่าสมิธเน้นไปที่ประโยชน์ส่วนตนซึ่งนำไปสู่ประโยชน์ส่วนรวม กระนั้นผมก็อยากจะให้ผู้อ่านตั้งข้อสงสัยเคลือบแคลงคำกล่าวอ้างของสมิธไว้ให้มากๆ วิธีการเขียนของสมิธนั้นเป็นวิธีอธิบายแบบเป็นขั้นเป็นตอนที่เป็นลักษณะแบบจำลองทางความคิด ใช้ตรรกะในการอธิบายอย่างเป็นลำดับขั้น จากหนึ่งไปสอง สองไปสาม และไปเรื่อยจนถึงบทสรุป แต่ถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นว่า สมิธสรุปแบบสั้นมาก แล้วที่จริงการเขียนของเขาก็มีการข้ามตรรกะและละข้อเท็จจริงบางอย่าง เช่น ในตัวอย่างการลงทุนในประเทศ สมิธอ้างอัตรากำไรระหว่างการลงทุนภายในและภายนอกประเทศ ซึ่งเอาเข้าจริงแล้วไม่แน่ว่าจะต้องเท่ากันๆ และในตัวอย่างการผลิตและการกระจายผลผลิตก็อ้าง ‘ความเป็นมนุษย์’ กับ ‘ความยุติธรรม’ ที่ก็ไม่แน่ว่าจะได้จากคนที่มั่งมี ในความกำกวมนั้น สมิธยกเอาวลี “มือที่มองไม่เห็น” สรุปว่าประโยชน์ส่วนตนในที่สุดจะเป็นประโยชน์ส่วนรวม

บทสรุปของสมิธนั้นมาจากบริบทที่มีข้อจำกัดอย่างมาก เป็นสิ่งที่มีแต่ในทฤษฎีความคิดและความหวัง แต่ไม่ได้อยู่ในความเป็นจริงระยะสั้น เราเห็นอยู่ว่า ปัจจัยที่กำหนดการลงทุนของประเทศต่างๆ รวมทั้งประเทศไทย ไม่ได้มีแค่เรื่องอัตรากำไร (ซึ่งก็ไม่เท่ากันสักเท่าไหร่) และการลงทุนภายในหรือภายนอกประเทศเท่านั้น แต่ยังมีปัจจัยอื่นประกอบอีกมาก มากไปกว่านั้นปัญหาความเหลื่อมล้ำก็เพิ่มขึ้นๆ จนกลายเป็นวิกฤตในทุกเศรษฐกิจการเมือง คนงานคาดหวังความเป็นมนุษย์และความยุติธรรมจากคนที่มั่งมีไม่ได้[3] การกระจายรายได้ไม่ได้แบ่งไปอย่างเท่าๆ กันหรือเสมอภาคอย่างที่สมิธบอก การทำเพื่อประโยชน์ส่วนตนไม่ได้นำไปสู่ประโยชน์ส่วนรวม ความเป็นจริงในปัจจุบันสวนทางกับสิ่งที่สมิธบอกกล่าวกับเรา

อย่างนั้นสมิธพูดถึงอะไรหากมันเป็นสิ่งที่ไม่จริง

สิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์จำนวนมากไม่ทราบก็คือ สมิธยังใช้วลีมือที่มองไม่เห็นอีกในทางเทววิทยา[4] เพราะพื้นฐานของสมิธนั้นแท้จริงแล้วมาจากวิชาปรัชญา แถมเขายังเป็นนักปรัชญาแบบในยุครู้แจ้งสก็อตติช (Scottish Enlightenment) ที่เน้นในความเป็นมนุษย์ การให้เหตุผล ความเป็นจริง กฎเกณฑ์ธรรมชาติ ฯลฯ สมิธจึงใช้หลักปรัชญาวิธีนี้ในการคิดและสื่อสารสิ่งที่เขารู้และเข้าใจ เราสามารถตีความวลี “มือที่มองไม่เห็น” ในฐานะกฎเกณฑ์ธรรมชาติบางอย่างที่มนุษย์หลีกเลี่ยงไม่ได้

สมิธเขียนไว้ว่า พหุเทวนิยมเป็นที่บูชาแต่โบราณก็เพราะปรากฏการณ์ธรรมชาติที่มีลักษณะผิดแผกไป โดยไฟแผดเผา น้ำชะล้าง ของหนักตกลงพื้น หรือของเบาลอยขึ้น ล้วนเป็นไปตามธรรมชาติของมัน แต่ฟ้าคะนอง สายฟ้าฟาด และพายุ ที่เป็นปรากฏการณ์ผิดปรกตินั้นมาจากมือที่มองไม่เห็นของจูปิเตอร์ มนุษย์ไม่สามารถสร้างปรากฏการณ์แบบนั้นได้ มนุษย์มีพลังเพียงแค่หักเหใช้ประโยชน์จากปรากฏการณ์ที่ธรรมชาติกำหนดมาเท่านั้น

สมิธเปรียบเปรยว่ามือที่มองไม่เห็นนั้นเป็นของจูปิเตอร์ เทพแห่งสายฟ้า เป็นการอ้างถึงกฎเกณฑ์ธรรมชาติบางอย่างที่ไม่ได้มีมนุษย์กลุ่มหนึ่งกลุ่มใดสามารถควบคุมได้ เน้นในกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ (natural order) แล้วมาปรับใช้กับสังคมมนุษย์ เป็นวิธีการคิดอิงหลักการแบบรู้แจ้งที่ว่าในสังคมมนุษย์นั้นมีกฎเกณฑ์ธรรมชาติที่แยกออกมาจากทางกายภาพแตกต่างออกไป มีธรรมชาติของมนุษย์ที่เป็นเอกลักษณ์ ทำให้เราไม่เหมือนสิ่งมีชิวิตที่มีสติสัมปชัญญะอื่นๆ

ในระเบียบธรรมชาติของมนุษย์นั้นมีมือที่มองไม่เห็นผลักดันเราเข้าไปสู่ปลายทางที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้วันนี้จะเห็นข้อเท็จจริงว่าผลประโยชน์ส่วนตนขัดกับประโยชน์ส่วนรวม แต่ในระยะยาวแล้วสิ่งนี้ไม่สามารถคงอยู่ได้ตามธรรมชาติ เพราะสิ่งที่เป็นจริงวันนี้อาจจะไม่มีสาระ ในระยะสั้นระบบไม่ปรับตัวมนุษย์เรียนรู้ไม่ทัน มีการคิดหวังเรียนรู้หาทางแก้ไปสู่ระยะยาว ที่เป็นระเบียบตามธรรมชาติของมือที่มองไม่เห็น

ดังนั้น “ธรรมชาติของมนุษย์” จึงเป็นจุดสำคัญที่สุดที่จะตัดสินความเป็นไปของระบบ สำหรับสมิธแล้วธรรมชาติของมนุษย์มีลักษณะที่ขยายต่อขนาด (increasing returns) การร่วมมือทำงานของมนุษย์สร้างผลผลิตที่เพิ่มพูนไม่สิ้นสุด ดังนั้นจึงเลือกหาทางออกได้ แต่น่าเสียดายที่สมิธไม่ได้พูดเรื่องการปรับตัวในระยะสั้น เป็นที่รู้กันในหมู่ผู้ศึกษาความคิดอดัมสมิธว่าเขาล้มเลิกและตายลง ก่อนที่จะรวบรวมความคิดสำเร็จในเรื่องธรรมศาสตร์ ‘Lectures on the Jurisprudence’ ซึ่งทั้งหมดเป็นโปรเจ็กต์รู้แจ้งของสมิธที่โดยรวมเรียกว่า ‘วิทยาศาสตร์ของมนุษย์’ (The Science of Man)[5]

ในแง่นี้ การถกเถียงกันทางการเมืองทั่วโลกในการคิดแบบนี้จึงมีใจกลางอยู่ที่ว่า ธรรมชาติของมนุษย์คืออะไร ซึ่งเราต้องระวังให้มาก เพราะหากเข้าใจธรรมชาติของมนุษย์ผิด ก็จะทำให้ความเป็นมนุษย์ของเราทุจริตโดยที่ไม่รู้ตัว มีหลายครั้งที่เราเข้าใจผิด โดยนำธรรมชาติของสัตว์[6] (natural selection) มาปนกับธรรมชาติของมนุษย์ การปรับตัวจึงหลงทางและไปในทางเลวร้ายซึ่งออกไปจากธรรมชาติ เพราะไม่มีใครกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งสามารถเข้ามาคุมระเบียบธรรมชาติของมนุษย์ได้[7] และที่สุดแล้ว การปรับตัวในระยะสั้นจะเป็นไปตามกฎเกณฑ์ระยาวที่อยู่ในธรรมชาติของมนุษย์

นี่คือแง่มุมที่เราสามารถเรียนรู้วิธีการคิดนี้ได้จากวลี “มือที่มองไม่เห็น” ของอดัม สมิธ

[1] Grampp, W. D. (2000). What did Smith mean by the invisible hand?. Journal of Political Economy, 108(3), 441-465.

[2] ในส่วนภาษาอังกฤษที่สมิธเขียนจริง ผู้เขียนต้องขออภัยแนะนำให้ผู้อ่านไปค้นใน https://en.wikipedia.org/wiki/Invisible_hand เลยก็จะได้ประโยชน์ แล้วหากยิ่งอยากอ่านเต็มๆ ก็จะดีใจมาก ซึ่งหนังสือของสมิธทั้งสองเล่มก็สามารถหาดาวน์โหลดได้ฟรีตามอินเทอร์เน็ต แต่ก็เป็นภาษาโบราณซึ่งอ่านยากมากๆ

[3] มีข้อถกเถียงว่า TWN กับ TMS นั้นขัดกันหรือเปล่า เพราะใน TWN สมิธพูดเป็นกลไกตรรกะเศรษฐกิจ ส่วนใน TMS นั้นสมิธใช้กลไกสังคมมนุษย์เสียมาก โดยส่วนตัวและที่ถูกสอนมาผู้เขียนคิดว่าทั้งสองเล่มส่งเสริมกัน

[4] Macfie, A. (1971). The invisible hand of Jupiter. Journal of the History of Ideas, 32(4), 595-599.

[5] แนะนำหนังสือประวัติชีวิตและความคิดครับ Phillipson, N. (2010). Adam Smith: an enlightened life. Penguin UK.

[6] ดูมัจฉานัยยะ ของอมาตยา เซน ที่บอกว่าความคิดแบบปลาใหญ่กินปลาเล็กใช้กับเราไม่ได้

[7] สมิธ วิจารณ์แนวคิด elitism แบบแมคคิเอเวลี่ไว้แสบๆ คันๆ ทางด้านศีลธรรม เขากล่าวถึงการตัดสินใจทางการเมืองของ Cesare Borgia ที่โหดร้าย ใน TMS ส่วนที่ 6 บทที่ 1 และในประวัติศาสตร์ซีซาร์ บอเจียนั้นแพ้ในระยะยาว วิธีการที่แมคคิเอเวลี่ยกย่องนั้นก็รวมอิตาลีไม่ได้

LGBTQ+ ในศาสนาพุทธ ‘ไม่ว่าคุณจะเป็นเพศไหน คุณก็สามารถได้รับการช่วยเหลือ’​

LGBTQ+ ในศาสนาพุทธ ‘ไม่ว่าคุณจะเป็นเพศไหน คุณก็สามารถได้รับการช่วยเหลือ’

Author : SPECTRUM

“ในฐานะที่เป็นพระในศาสนาพุทธ ฉันเชื่อว่าทุก ๆ คนสามารถได้รับความช่วยเหลืออย่างเท่าเทียมกัน ฉันอาจจะใช้ทั้งเครื่องสำอางและใช้หลักคำสอนอันเก่าแก่ของศาสนาพุทธไปในเวลาเดียวกัน แต่ฉันก็ใช้ทั้งคู่ด้วยจิตวิญญาณอันเป็นหนึ่งเดียว”

นี่คือสิ่งที่ ‘Kodo Nishimura’ (โคโดะ นิชิมูระ) พระเกย์ชาวญี่ปุ่นกล่าวเพื่อแสดงจุดยืนของเขาที่ได้พิสูจน์ให้โลกได้เห็นแล้วว่า LGBTQ+ กับการบวชในศาสนาพุทธนั้น เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ โดยชี้ว่า “สารที่สำคัญที่สุดของศาสนาพุทธ คือการที่ทุก ๆ คนสามารถได้รับความช่วยเหลืออย่างเท่าเทียมกันโดยที่ไม่เกี่ยวกับเพศวิถีหรือเพศสภาพใด ๆ ทั้งสิ้น”

SPECTRUM OF HUMAN: Kodo Nishimura – ผู้เป็นทั้งเกย์ ช่างแต่งหน้า และพระภิกษุสงฆ์ในญี่ปุ่น

“ฉันเติบโตมาในวัดแห่งหนึ่ง ณ กรุงโตเกียว พ่อกับแม่ของฉันเป็นพระ ในตอนเด็ก ๆ ฉันต้องปกปิดตัวตนที่แท้จริงของฉันเพราะฉันกลัวว่าคนอื่นจะคิดอย่างไร ฉันจึงตัดสินใจไปเรียนต่อที่นิวยอร์กและมันทำให้ฉันได้รู้ว่า การเป็นเกย์มันไม่ได้ผิดอะไรเลย และเพราะเหตุนี้ฉันจึงได้มีโอกาสได้เรียนรู้โลกแห่งสีสันผ่านการใช้เครื่องสำอางเพื่อแต่งหน้า จนฉันมีแรงผลักดันเพื่อศึกษาต่อจนได้ไปเป็นช่างแต่งหน้าให้กับ มิส ยูนิเวิร์สของประเทศญี่ปุ่น”

“หลังจากอยู่ที่สหรัฐฯ ได้ 7 ปี ฉันอยู่ห่างบ้านเกิดของฉันนานพอที่จะทำให้ฉันหวนนึกถึงรากเหง้าของฉันเอง และฉันคิดว่าการกลับไปครั้งนี้จะทำให้ฉันมีอาวุธที่ทรงพลังที่สุด การศึกษาศาสนาพุทธในวัฒนธรรมของฉัน ทำให้ฉันสามารถหาเอกลักษณ์ของตัวเองได้และฉันอยากหาคำตอบที่ว่าฉันคือใครกันแน่ ทำไมเราถึงควรทำดีต่อผู้อื่น ทำไมเราถึงมีชีวิต อะไรคือความหมายของชีวิต ฉันอยากจะค้นหาคำตอบในทางพระพุทธศานา ฉันเลยตัดสินใจเข้ารับการฝึกฝนเป็นพระตอนอายุ 24 ”

ช่างแต่งหน้า-เกย์-พระ – สามอย่างนี้เป็นไปได้พร้อม ๆ กันในญี่ปุ่น ด้วยบริบทของศาสนาพุทธในญี่ปุ่นที่มีความหลากหลายของนิกายที่แตกแขนงออกมา ต่างจากไทยที่เป็นส่วนมากเป็นนิกายเถรวาท ทำให้สถานะของพระญี่ปุ่นจึงเป็นเพียงอาชีพหนึ่งเท่านั้น หรือที่มักเรียกกันว่า ‘อาชีพพระ’ ซึ่งการเป็นพระในวัดเล็ก ๆ อย่างญี่ปุ่นมักไม่มีรายได้ที่เพียงพอ ดังนั้นจึงเห็นพระที่มีอาชีพ พนักงานออฟฟิศ หมอ คุณครู และอาชีพอื่น ๆ ทั่วไป รวมถึงยังมีการอนุญาตให้สามารถแต่งงานใช้ชีวิตได้เหมือนคนทั่วไป ทำให้สถานะของพระญี่ปุ่นมีความยืดหยุ่นได้มากกว่าสถานะความเป็น ‘พระ’ ในไทย

มากไปกว่านั้นบทบาทหน้าที่ของพระในญี่ปุ่นนั้น มีความแตกต่างจากไทย กล่าวคือ ในพุทธศาสนาแบบไทยคนส่วนใหญ่มักจะมองว่า พระ คือ ผู้ที่สละแล้วทางโลก ทว่าสำหรับมุมมองเรื่องพระในญี่ปุ่นแล้ว จุดมุ่งหมายหลักของพวกเขาไม่ใช่การละทางโลก แต่จะมุ่งเน้นไปที่ ‘การช่วยให้ผู้คนพ้นทุกข์’ ดังนั้นเมื่อรวมกับสถานะของพระในญี่ปุ่นที่มีความเป็นอิสระมากกว่า หน้าที่ในการหาหนทางให้การช่วยเหลือผู้อื่นของพระนั้น จึงสามารถทำได้หลากหลายรูปแบบที่ทันสมัย และเข้าถึงผู้คนได้ง่าย

สิ่งนี้ส่งผลให้นิชิมูระ สามารถเป็นพระ ที่สามารถให้ความช่วยเหลือผู้คนได้โดยเป็นอิสระมากขึ้น โดยเฉพาะการที่เขาทำงานจิตอาสาให้กับชุมชน LGBTQ+ ด้วยการสอนแต่งหน้าให้ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ให้ได้ค้นพบตัวตนที่มีเอกลักษณ์ของตัวเอง เหมือนกับการที่เขาเองได้ค้นพบเอกลักษณ์ในตัวตนของเขาจากการศึกษาพุทธศาสนา ในฐานะพระผู้ที่รักในพุทธศาสนาและมีความเชี่ยวชาญในการแต่งหน้าในเวลาเดียวกัน

“ฉันอยากจะให้ผู้คนได้รู้ว่าการเป็นพระไม่ได้หมายความว่าคุณต้องใช้ชีวิตอย่างเข้มงวดอยู่ในกรอบ แต่มันคือการที่คุณซื่อสัตย์กับตัวเองและการที่คุณทำในสิ่งที่คุณคิดว่าถูกต้อง การมีความสุขนั้นสำคัญกว่าพิธีรีตอง ข้อบัญญัติ หรือกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ที่อาจทำให้คุณไม่อาจมีความสุขได้ ฉันอยากจะสร้างแรงบันดาลใจให้คนอื่น ๆ ได้รู้ว่าพวกเขาสามารถเป็นตัวของพวกเขาเองได้ ผ่านการทำในสิ่งที่ฉันรัก”

นอกจากพระนิชิมูระแล้ว ยังมีพระอีกมากมายที่ปรับการเผยแผ่ศาสนาและช่วยเหลือผู้คน โดยการใช้วิธีที่ทันสมัย เข้ากับบริบททางสังคม และเข้าถึงได้ง่ายมากขึ้น เช่น Gyosen Asakura (เกียวเซ็ง อาซาคุระ) อดีตดีเจที่หันมาเป็นพระ และใช้เพลงเทคโนมาผสมกับบทสวด พร้อมใช้แสงนีออนสีฉูดฉายมาฉายลงพระพุทธรูป เพื่อดึงดูดให้คนรุ่นใหม่หันเข้าวัด และสนใจในพุทธศาสนามากขึ้น

แม้ว่าตอนแรก ๆ พระนิชิมูระจะมีความกังวลในการแสดงออกทางเพศของตนเองในฐานะพระ จนทำให้เขาคิดว่าอาจจะทำให้เกิดภาพที่ดูไม่ดีหรือไม่เหมาะสมเกี่ยวกับศาสนาพุทธในญี่ปุ่นได้ แต่พระอาจารย์บอกกับเขาว่า จุดประสงค์ของการมีพระ LGBTQ+ ในศาสนาพุทธคือการทำให้ทุก ๆ คนรู้ว่า ‘ไม่ว่าคุณจะเป็นเพศไหน คุณก็สามารถได้รับการช่วยเหลือได้’ และถ้าพระนิชิมูระสามารถทำหน้าที่ช่วยเหลือผู้คนได้ เพศวิถี และลักษณะภายนอกของเขาก็ไม่ได้เป็นปัญหาแต่อย่างใด

จากการบวชพระของนิชิมูระ สะท้อนให้เห็นถึงความเปิดกว้างในระดับหนึ่งของศาสนาพุทธในบริบทของสังคมญี่ปุ่นที่ LGBTQ+ สามารถเข้ารับการฝึกฝนมาเป็นพระ เพื่อช่วยเหลือผู้คนในสังคม ในเมื่อจุดประสงค์ที่มีร่วมกันของทุก ๆ ศาสนาคือการช่วยให้ศาสนิกชนพ้นทุกข์ ดังนั้นคงจะเป็นเรื่องดีไม่น้อยหากศาสนาอื่น ๆ หรือศาสนาพุทธนิกายอื่น ๆ นั้นเปิดโอกาสให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศที่มีจิตกุศลที่ดีอย่างพระ โคโดะ นิชิมูระ เข้ามาเป็นฟันเฟืองหนึ่งที่จะทำให้ศาสนาเป็นที่พึ่งทางจิตใจ และการใช้ชีวิตของทุก ๆ คนอย่างเท่าเทียม และทั่วถึง

“ฉันไม่อยากจะวิจารณ์ หรือเปรียบเทียบกับศาสนาใด ๆ แต่อย่างน้อยฉันก็อยากให้ผู้คนได้รู้ว่า พุทธศาสนา มีอยู่เพื่อโอบอุ้มทุก ๆ เพศ คุณจะเป็นอะไรก็ได้ ทุก ๆ คนจะได้รับการดูแลอย่างเท่าเทียมกัน”

และทั้งหมดนี้คือเรื่องราวของ ‘โคโดะ นิชิมูระ’ ผู้เป็นทั้งช่างแต่งหน้า เกย์ และ พระ ที่เชื่อมั่นว่าพุทธศาสนาพร้อมจะปฏิบัติต่อทุก ๆ เพศอย่างเท่าเทียมกัน

“ภาวนากับประชา” น้อมส่งครูผู้ปลูกเมล็ดพันธุ์แห่งโพธิในชีวิตผู้คน

“ภาวนากับประชา” น้อมส่งครูผู้ปลูกเมล็ดพันธุ์แห่งโพธิในชีวิตผู้คน

บทสัมภาษณ์โดย THANYA วัชรสิทธา


ในวันที่ครูคนหนึ่งจากไป เราจึงได้ตระหนักว่า เมล็ดพันธุ์ที่เขาถูกปลูกทิ้งไว้กระจายไปงอกงามมากมายและกว้างไกลแค่ไหน

หากคุณทำงานในแวดวงศาสนา จิตวิญญาณ การศึกษาทางเลือก พุทธศาสนาเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม กระบวนกร กระบวนทัศน์ใหม่  ถึงแม้คุณจะไม่เคยเจอเขาตัวเป็นๆ แต่อย่างน้อยที่สุดคุณจะต้องเคยได้ยินชื่อ “ประชา หุตานุวัตร” และมีความเชื่อมโยงกับเขาไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง 

วันนี้ที่อาจารย์ประชาจากไปมีความสำคัญไม่แพ้วันที่เขายังมีชีวิตอยู่ มันเป็นดั่งหมุดหมายต่อชีวิตของผู้คนที่เกี่ยวข้อง ช่วงเวลาแห่งการอาลัยและรำลึกถึงประสบการณ์ที่ผ่านมา แรงบันดาลใจที่มีร่วมกัน และการสานต่องานที่ยังไม่สิ้นสุด

จุดสิ้นสุดการเดินทางของอ.ประชา เป็นจุดเปลี่ยนแปลงที่มีนัยยะสำคัญ
คุยกับ พระอั๋น เอกวีร์ มหาญาโณ

“ยุคสมัยของเราเป็นยุคสมัยที่คนที่มองหาสิ่งใหม่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันบางอย่าง มีคนบางคนที่มีน้ำหนักต่อคนจำนวนมาก เวลาที่เกิดจุดเปลี่ยนขนาดใหญ่ในชีวิตของเขา ก็จะส่งผลสะเทือนต่อผู้คนเป็นวงกว้าง”

“การที่ อ.ประชา จากไปในช่วงเวลานี้มีนัยสำคัญ เช่น กลุ่มเพื่อนประชา เพิ่งจัดงานรำลึก มีการรวมรวม ทบทวนทุกอย่างที่คนคนหนึ่งได้บุกเบิกวงการจิตวิญญาณในสังคมไทย งานนี้จัดในบ่ายวันที่ 12 พฤษภาคม วันสุดท้ายก่อนที่อ.ประชาจะจากไป เหมือนเรื่องบังเอิญที่ อ.ประชาก็ป่วยมานาน แต่ ณ วันที่เพื่อนๆ ตัดสินใจจัดงานรำลึกผลงานและส่งกำลังใจให้ ซึ่งในวันนั้น อ.ประชา ก็ได้ฟังด้วย เป็นจังหวะเวลาที่จู่ๆ ก็แข็งแรงขึ้นมาฟังได้ รับรู้ได้ เมื่อจบการย้อนระลึกคุณความดีที่ได้ทำมาตลอดทั้งชีวิต อ.ประชาก็จากไปอย่างสงบ”

“เป็นวันเดียวกับที่มีอีกกลุ่มตั้งใจทำเรื่องการมองความตายอย่างไม่ปฏิเสธ กลุ่ม peaceful death เขาทำเรื่องชุมชนกรุณา ก็เป็นวันเดียวกับที่อ.ประชาจากไป เหมือนเป็น blessing ให้งานดำเนินต่อไปข้ามภพภูมิ เหมือนอาจจะมีรุ่นพี่เราไปรอช่วยอยู่อีกฝั่งหนึ่งก็ได้นะ”

“การเปลี่ยนผ่านพลังงานก้อนใหญ่ของสังคมในทางการเมืองก็เป็นช่วงเดียวกัน อ.ประชาเสียชีวิตหนึ่งวันก่อนการเลือกตั้ง”


เมล็ดพันธุ์ที่พร้อมจะงอกงาม สู่การเดินทางต่อไปข้างหน้า

มีนิมิตหมายของการเปลี่ยนแปลงบางอย่างที่เรารู้สึกว่ามันสัมพันธ์กัน วันแรกที่เรามานั่งอยู่ในงาน มีคำพูดคำนึงผุดขึ้นมาในใจ นั่นคือคำว่า “รับไม้ต่อ” ซึ่งไม่ใช่คนคนเดียวที่จะรับไม้ต่อได้ เหมือนมีคนที่กรุยทางมา ได้เปิดทางมา และถึงช่วงเวลาที่เราจะรับไม้ต่อ”

“ในความรู้สึกของเรา ราวกับว่าบทตอนของยุคสมัยนึงกำลังเริ่มปิดตัวไป อาจไม่ทั้งหมด แต่บทต่อไปแห่งการงอกเงยของยุคสมัยถัดไปกำลังก่อตัวขึ้น เรารู้สึกว่ามันเป็นนิมิตหมายที่ร้อยเรียงไปในทุกๆ มิติ ทั้งสังคม การเมือง ทั้งเทคโนโลยี ทั้งชุมชน ทั้งกลุ่มคนที่สนใจเรื่องจิตวิญญาณ”

“คุณค่าของชีวิตกำลังจะถูกนิยามขึ้นใหม่ มันเกิดขึ้นไปแล้วล่ะ แต่ยังไม่ถูกนิยามใหม่อย่างชัดเจนว่าคุณค่าของชีวิตจริงๆ คืออะไร เรารู้สึกว่ายุคนี้ คนที่สนใจมิติทางจิตใจได้เดินบนเส้นทางมาพอสมควร และก็พร้อมที่จะเปลี่ยนจากผู้ลองเดินมาเป็นผู้รู้ทาง แม้จะยังไม่เป็นผู้สุดทาง แต่เหมือนเราเริ่มมีรุ่นพี่ที่รู้ทางมาประมาณนึงกรุยทางไว้ให้บ้างแล้ว เราจะมาค้นหาคุณค่าการดำรงอยู่ร่วมกันของพวกเราในยุคนี้ จากการแบ่งปันกัน มันจะไม่ได้เป็นคุณค่าเดียว หรือคนเดียว ไม่ว่าใครจะมีคุณค่าแบบไหน เรามาหาวิธีในการอยู่ร่วมกัน เป็นยุคแห่งการหลอมรวมเข้าด้วยกัน เป็นการสานต่อเส้นทางจากผู้ที่เดินมาก่อน”

ครูจะยังดำรงอยู่และให้พร

“การจากไปของอ.ประชาคล้ายๆ กับเหตุการณ์ครอบครัวใหญ่ที่พ่อเสีย แล้วลูกหลานก็กลับมานั่งคุยกันว่าพ่อทิ้งมรดกอะไรไว้ให้บ้าง เราไม่ได้บอกว่าพี่ประชาเป็นพ่อของแผ่นดินอะไรอย่างนั้นนะ แต่ในความหมายว่าครูที่เราเคารพนับถือ เขาทิ้งอะไรไว้ให้พวกเราบ้าง ผู้คนที่เคยเรียนรู้กับอ.ประชา ได้มาใคร่ครวญ ทบทวน และแบ่งปันกันว่า บทเรียนชีวิตที่เราได้รับจากชีวิตคนคนนี้มีอะไรบ้าง เขาทิ้งอะไรไว้ให้พวกเราได้สานต่อบ้าง อะไรที่เวิร์ค อะไรที่ไม่เวิร์ค เห็นพี่ประชาดื้อทำแล้วไม่สำเร็จก็ไม่ต้องเอามา ให้มันเป็นบทเรียน เป็นโอกาสที่เหล่าลูกศิษย์หรือเพื่อนทางจิตวิญญาณจะได้มาแลกเปลี่ยนกัน แล้วก็เติบโตจากการตายของเขา”

“เราว่าพี่ประชาไม่ได้หายไปไหน อยู่ในทุกอณูการเติบโตทางจิตวิญญาณของทุกคน และคงไปทำหน้าที่ปกปักรักษาอยู่ข้างบน และเป็นกำลังใจให้พวกเราเดินทางกันต่อ”

ในงานศพของอ.ประชา โอกาสที่ผู้คนจะได้มาส่งครูเป็นครั้งสุดท้าย วันที่สามของงานศพที่วัดทองนพคุณ คลองสาน มีการจัดงาน “ภาวนากับประชา” ที่ชวนทุกคนมาร่วมภาวนา นำโดย อัญชลี คุรุธัช และ ณฐ ด่านนนทธรรม และสวดมนตร์บทสุขาวดี นำโดยอ.กฤษดาวรรณ อ.เยินเต้น และสมาชิกสังฆะพันดารา ที่ให้ทุกคนได้เป็นส่วนหนึ่งของการส่งครูด้วยความรัก


“แล้วเรามาภาวนากันอีก”
สนทนากับ วิจักขณ์ พานิช

“ก่อนที่พี่ประชาจะเสีย เรามีโอกาสได้ไปเยี่ยมและนำภาวนาให้พี่ประชาสองสามครั้ง วันสุดท้ายก่อนที่พี่ประชาจะไป เราได้ไปนำภาวนาให้แกอีกรอบ วันนั้นแกดูดีมาก หน้าตาสดใส แก้มเป็นสีชมพูเลย เป็นวันเดียวกับที่มีการจัดงานให้พี่ประชาที่สวนโมกข์กรุงเทพฯ มีการส่งความรักความปรารถนาดีถึงแก ก่อนจะจากกันวันนั้นเราบอกพี่ประชาว่า “เดี๋ยวผมจะมาภาวนากับพี่อีก” เลยรู้สึกว่าการได้จัด “ภาวนากับประชา” วันนี้ เหมือนได้มาทำตามสัญญา ได้มาภาวนากับแกอีกครั้งนึง”


การภาวนา หนทางในการสื่อสารกับผู้ตายด้วยจิตอาลัย

“เมื่อผู้ที่ล่วงลับจากร่างนี้ไป จะเกิดกระบวนการที่ดวงจิตคลี่คลายตัวเองไปสู่ธรรมชาติเดิม และไปสู่การเกิดใหม่ ซึ่งในธิเบตเขาเรียกว่าช่วง “บาร์โด” หรือช่วงเปลี่ยนผ่าน เป็นช่วงที่จิตจะเปิดกว้างและอ่อนไหวต่อการรับรู้ที่สุด ช่วงนี้แหละเป็นโอกาสของการอาลัย คำว่า “อาลัย” ในพุทธศาสนา เป็นวิญญาณหรือจิตรับรู้ที่อยู่ลึกที่สุด เดิมอยู่ในร่างกายในระดับจิตใต้สำนึก แต่เมื่อร่างกายไม่มีแล้ว อาลัยวิญญาณก็จะทำงานพ้นไปจากร่างกาย ช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านนี้เป็นช่วงสำคัญที่ดวงจิตเองจะได้ทบทวนประสบการณ์ที่ผ่านมา และญาติมิตรที่สัมพันธ์กับผู้ตายก็มีโอกาส “อาลัย” ด้วยเช่นกัน เราสามารถเชื่อมโยงกับดวงจิต ส่งกำลังหนุนนำจิตให้เดินทางต่อไปยังภพภูมิที่ดีด้วย gratitude ด้วยความรัก และด้วยการให้อภัยต่อเขา ช่วงเวลาแห่งการอาลัยคือ โอกาสในการระลึกถึงคุณงามความดี การขออโหสิกรรม การภาวนา และอุทิศบุญกุศลให้ผู้ตาย ซึ่งช่วงนี้ จิตอาลัยจะสามารถเปิดรับรู้กันได้อย่างเต็มที่ทั้งสองทาง”

“ฉะนั้นในงานศพ หากมีช่วงเวลาให้ได้อยู่กับความนิ่งสงบ ได้ภาวนา หรือระลึกนึกถึงผู้ตายด้วยจิตที่เป็นกุศล จิตที่ภาวนา จะมีพลังมาก ส่งผลดีต่อทั้งผู้ตายและต่อตัวเราเองด้วย แทนที่เราจะไปงานศพไปนั่งคุยกัน พูดอะไรกันก็ไม่รู้ หรือนั่งฟังพระเทศน์เบลอๆ การที่เราหยุดนิ่งและอยู่กับผู้ตาย อยู่กับพื้นที่ของงานราวกับผู้ตายอยู่ตรงนั้น เราว่าแบบนี้จะเป็นการสื่อสารที่ดีที่สุดและได้ประโยชน์สูงสุดจากการมางานศพ”


ประชา หุตานุวัตร ชีวิตอันเป็นภาพใหญ่ที่เบิกทางให้ยุคสมัยต่อไป

“โอเค พี่ประชาก็มีสองด้าน ด้านที่เป็นผู้ชายมุทะลุ เลือดร้อน เป็นมาร์กซิส เป็นคนที่อาจจะเรียกได้ว่าดื้อมากๆ หลายคนอาจจะไม่ชอบด้านนี้ของเขา บางคนอาจเคยมีปัญหากับนิสัย วิธีคิด พฤติกรรมอะไรบางอย่างของพี่ประชา ซึ่งการกระทบกระทั่งในระดับตัวตนมันก็เกิดขึ้นได้กับทุกคน แต่เราคิดว่า ประชา หุตานุวัตร ในส่วนลึกที่สุด ในระดับที่เป็นเจตจำนง แรงบันดาลใจ หรือสิ่งที่เป็นสมาธิในดวงจิตของเขา คือแสงสว่างและความดีงามแน่นอน ไม่ว่าพี่ประชาในฐานะศิษย์ใกล้ชิดของอาจารย์พุทธทาส เคยบวชอยู่หลายปี ทำบทสัมภาษณ์ชิ้นเลิศที่ชื่อว่า “เล่าไว้เมื่อวัยสนธยา” งานแปล งานกระบวนกร งานภาวนาเพื่อสังคม การนำครูบาอาจารย์ที่น่าสนใจในสายปฏิบัติต่างๆ เข้ามาในประเทศไทย การเชื่อมโยงกับกลุ่มต่างๆ ที่ทำงานเพื่อความเป็นธรรม การรับใช้อาจารย์สุลักษณ์ การตั้งสถาบันการเรียนรู้ หลักสูตรต่างๆ เพื่อฝึกฝนผู้คน ฯลฯ ถ้าเรามองชีวิตของ ประชา หุตานุวัตร ในภาพใหญ่ทั้งหมด เราจะเห็นสิ่งที่งดงามและทรงพลังมากๆ เป็นสิ่งที่พิเศษมากๆ ที่คนคนหนึ่งจะมีความมุ่งมั่นในการทำสิ่งที่ดีแก่ผู้คนและโลกใบนี้ได้ขนาดนี้”

“พี่ประชาเป็นบุคคลที่มีคุณูปการมากต่อพุทธศาสนาแบบฆราวาส การนำเสนอกระบวนทัศน์ใหม่ หรือการเคลื่อนไหวทางจิตวิญญาณที่มีผลต่อการสร้างความตื่นรู้ทางสังคม พี่ประชาทิ้งอะไรไว้เยอะมาก และมันส่งผลต่อคนรุ่นเราและรุ่นใหม่ๆ ที่ตามมา ต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้”

“อยากให้ตระหนักว่า เวลาคนเรามีปณิธานในการทำอะไรเพื่อผู้อื่น มันเป็นภาพที่ใหญ่มาก ให้มองภาพใหญ่ๆ เข้าไว้ ไม่ได้จบในชีวิตเดียวด้วย มันอาจจะเหมือนตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว แต่มันสะเทือนจริงๆ นะ มันสร้างแรงกระเพื่อมจริงๆ จากอาจารย์พุทธทาส จากอาจารย์สุลักษณ์ ถึงพี่ประชา ถึงคนรุ่นเรา ถึงคนรุ่นถัดไป มองภาพใหญ่นี้ไว้ มันเป็นข้อเตือนใจว่าทุกสิ่งเอื้ออิงอาศัยกัน ชีวิตของคนคนหนึ่งสามารถทำอะไรที่เป็นแรงกระเพื่อม สร้างความเปลี่ยนแปลง ออกดอกออกผลได้มากมาย และบ่อยครั้งอาจต้องตายก่อนถึงจะได้เห็น ดังนั้นอย่าทดท้อ ทำเต็มที่ที่สุดที่จะทำได้” 

“มันยังทำให้เห็นว่าการเกิดมาเป็นมนุษย์ชีวิตนึงนั้นมีค่ามากๆ แต่ละวินาทีที่มีชีวิตอยู่ก็ใช้มันให้เต็มที่ พี่ประชาเป็นคนที่เห็นคุณค่าของการภาวนา เป็นภาวนาที่ไม่แยกขาดจากการทำงานเพื่อสังคม ภาวนาเพื่อเป็นพลังในการยังประโยชน์ให้แก่เพื่อนมนุษย์และสรรพสัตว์ เราไม่รู้หรอกว่าอริยบุคคลหน้าตาเป็นยังไง แต่พี่ประชาเป็นคนนึงที่สร้างแรงบันดาลใจให้เรา เป็นตัวอย่างของคนที่เดินบนเส้นทางนี้ที่มีคุณค่า มีความงาม และเป็นผู้ประเสริฐ”


ขอขอบคุณภาพถ่ายโดย CHIRO

ต่าง ‘Gen’ต่างใจ! คลี่ปมวิวาทะร้อน ‘การเมือง’

ต่าง 'Gen'ต่างใจ! คลี่ปมวิวาทะร้อน 'การเมือง'

เปิดผลการศึกษามุมมองทางสังคมและ “การเมือง” ของวัยรุ่น ที่แสดงให้เห็นว่าต่าง “Gen” ก็ต่างความคิด วัยรุ่นยุคนี้ไม่ได้ก็อปปี้ความคิดจากพ่อแม่อีกแล้ว และไม่มีทางที่จะเป็นเช่นนั้น

เราไม่ควรวาดหวังด้วยพู่กันเบอร์เดียว 

………………………………………..

เชื่อว่าคนวัยผู้ใหญ่จำนวนไม่น้อยที่มีอารมณ์ร่วมกับเหตุการณ์บ้านเมืองในช่วงนี้ ไม่พอใจการเคลื่อนไหวของนักเรียนนักศึกษาเอามากๆ ทำให้เราได้เห็น การด่าทอ ตำหนิติเตียน บางคนลุกลามไปถึงการข่มขู่ อาฆาต อยู่เกลื่อนโซเชียลมีเดีย

ความขัดแย้งทางความคิดและการแสดงออกทางการเมืองในวันนี้ ทำให้สังคมไทยได้เห็นภาพของการแบ่งรุ่น แยกวัย แตกความคิด อย่างชัดเจน ฝ่ายหนึ่งยืนยันสถานะของตัวเองที่มีมาแต่ดั้งเดิม ขณะที่อีกฝ่ายยึดมั่นในสิทธิของการเป็นมนุษย์ที่สามารถกำหนดอนาคตของตัวเองได้

ไม่ต้องสงสัย ฝ่ายแรกคือคนวัยผู้ใหญ่ รุ่นพ่อรุ่นแม่ เรามักจะอ้างเสมอว่าการได้รับบทบาทหน้าที่ของการเป็นพ่อเป็นแม่นั้น คือการเป็นผู้ให้หรือผู้หยิบยื่นสิ่งดีๆ ให้กับลูก ไม่เว้นแม้คำสั่งสอน ลูกจะต้องเชื่อฟังโดยดี เพราะทุกๆ คำสอนมีแต่เรื่องดีๆ ที่ได้มาจากความรู้และประสบการณ์มานับไม่ถ้วน ดังนั้นจงอย่าปฏิเสธในสิ่งที่พ่อแม่สอน

ขณะเดียวกันผู้ใหญ่จำนวนไม่น้อย มักอ้างสิทธิของความเป็นเจ้าเข้าเจ้าของ ใครหรือผู้ใดมาแตะต้อง เปลี่ยนแปลงหรือรื้อสร้างสิ่งที่ตัวเองเชื่อมาแต่เดิม ก็จะแสดงออกดังปีศาจร้ายขึ้นมาทันที

ฝ่ายคนรุ่นใหม่นั้น ดังที่เราเห็นกัน คือแรงดี มีอารมณ์ร่วมสูง เสียงดัง พูดชัด ข้อเสนอง่ายๆ ตรงๆ ไม่ต้องตีความให้เยิ่นเย้อเสียเวลา ซึ่งความแรงเหล่านี้เองที่ชวนให้เกิดอาการหมั่นไส้ในหมู่คนรุ่นเก่าๆ ทั้งหลาย ที่ไม่เข้าใจว่าจะออกมาเรียกร้องทำไมกัน

การด่าทอว่า “ไอ้ลูกพ่อแม่ไม่สั่งสอน” หรือ “ถ้าพวกแกคิดได้แค่เสี้ยวหนึ่งอย่างพ่ออย่างแม่ ก็คงไม่เป็นแบบนี้” ซึ่งคำพูดเหล่านี้มาจากข้อสันนิษฐานที่เราเชื่อต่อๆ กันมาว่า ลูกไม้ย่อมหล่นไม่ไกลต้น รวมถึงความคิดอ่าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสังคมหรือการเมือง มักได้รับการถ่ายทอดจากพ่อแม่ของตัวเอง

ถ้าเป็นเมื่อก่อน หรือกับคนรุ่นพ่อสมัยยังเป็นวัยรุ่นนั้น ข้อสันนิษฐานนี้ยังใช้ได้ หรือถ้าย้อนไปซัก 10 ก่อนก็ยังคงใช้ได้อยู่ ดังเช่นการสำรวจมุมมองทางสังคมและการเมืองของวัยรุ่นอเมริกัน โดย Gallup เมื่อปี 2005 พบว่า 1 ใน 5 (21 เปอร์เซ็นต์) บอกว่าพวกเขาเป็นลิเบอรัลมากกว่าพ่อแม่ และอีก 7 เปอร์เซ็นต์ บอกว่าเป็นพวกอนุรักษ์นิยม ขณะที่วัยรุ่น 7 ใน 10 คน (71 เปอร์เซ็นต์) กล่าวว่า อุดมการณ์ทางสังคมและการเมืองของพวกเขาเหมือนกับพ่อแม่

แต่เมื่อเวลาผ่านไป 10 ปี อะไรๆ ก็เกิดการเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเทคโนโลยีการสื่อสาร ทำให้องค์ความรู้ต่างๆ หาได้ง่ายๆ

American Sociological Review จึงนำเสนอรายงานการสำรวจเมื่อปี 2015 พบว่าวัยรุ่นมากกว่าครึ่ง ไม่รับรู้หรือสัมผัสถึงอุดมการณ์ทางการเมืองของผู้เป็นพ่อแม่ได้เลย หรือพูดง่ายๆ วัยรุ่นยุคปัจจุบัน ไม่สนใจอีกต่อไปว่าพ่อแม่ของตัวเองจะมีอุดมการณ์แบบไหน

การศึกษานี้แสดงให้เห็นว่าวัยรุ่นไม่ได้ก็อปปี้ความคิดจากพ่อแม่อีกแล้ว เพราะพวกเขาเข้าถึงแหล่งข้อมูลต่างๆ ได้หลากหลายช่องทาง พวกเขาจึงมีความเป็นตัวของตัวเองสูง สามารถติดตั้งกรอบคิดของตัวเอง และเมื่อถึงจังหวะจึงแยกตัวออกจากพ่อแม่ด้วยวิธีการที่พวกเขาเลือกเอง

อย่างไรก็ตามในรายงานฉบับดังกล่าว ได้ให้ข้อเสนอแนะว่า การปฏิเสธที่จะเป็นอย่างพ่ออย่างแม่ หรือการค้นหาตัวตน ล้วนเป็นเรื่องธรรมชาติของการเจริญเติบโต หากลูกๆ ของคุณ เติบโตมาเป็นแบบนี้ พ่อแม่ต้องภูมิใจในตัวเอง ว่าเลี้ยงลูกมาถูกทางแล้ว

เหตุนี้ “เพียงเพราะพวกเขายังเด็ก จึงไม่ใช่เหตุผลว่าสิ่งที่พวกเขาเชื่อนั้น ผิดโดยอัตโนมัติ ซึ่งการยอมรับฟังในเสียงของคนหนุ่มสาวเป็นสิ่งสำคัญ เราไม่ควรเลือกปฏิบัติต่อพวกเขาเพียงเพราะอายุ

แม้การศึกษานี้ เป็นของคนฝากฝั่งอเมริกา แต่สามารถนำมาอธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในบ้านเราได้เป็นอย่างดี อย่างน้อยคำว่า “เบ้าหลอม” ที่ใช้กันบ่อยๆ เพื่อให้เด็กๆ และเยาวชนคนรุ่นใหม่อยู่ในรูปในรอยอย่างผู้ใหญ่ต้องการนั้น อาจจะต้องทบทวนกันใหม่ ว่ามีสิ่งใดที่เหมาะกับยุคสมัยบ้าง

ผู้ใหญ่อย่าได้หลอกตัวเองเลยว่าเก่ง เด็กๆ รุ่นใหม่เก่งกว่าเราเยอะมาก หากนึกไม่ออกว่าเก่งอย่างไร ก็ลองนึกถึงวันที่สอนการบ้านลูก เชื่อว่าพ่อแม่ผู้ปกครองจำนวนไม่น้อย ต้องอยู่ในอาการตะลึง นึกไม่ถึงว่าลูกตัวเองจะเรียนอะไรขนาดนี้ และแน่นอน! เราช่วยลูกแก้โจทย์ยากๆ แบบนี้ ไม่เคยได้

ยังไม่นับรวมการใช้แอพพลิเคชั่นยากๆ บนโทรศัพท์มือถือ หรือการตัดต่อวิดีโอที่ทำได้อย่างน่าทึ่ง ซึ่งสิ่งเหล่านี้หาได้ยากมากๆ ในคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ แต่สำหรับคนรุ่นใหม่ในปัจจุบันแล้ว เรื่องพวกนี้ คือทักษะพื้นฐานมากๆ

ดังนั้นช่วงเวลานับจากนี้ จึงเป็นเวลาของพวกเขา ผู้ใหญ่เป็นเพียงอดีตที่ให้เด็กๆ ได้ก้าวผ่านและเรียนรู้ เราจึงไม่ควรวาดหวังในตัวเด็กๆ หรือลูกๆ ของเราด้วยพู่กันเบอร์เดียว เพราะมันไม่เข้ายุคเข้าสมัย และไม่เอื้อต่อการใช้ชีวิตในอนาคตของพวกเขา

ต่อไปข้างหน้า เราไม่มีทางรู้ได้ว่าโลกจะเปลี่ยนไปแค่ไหน การโอบกอดโลกใบเก่าที่ผุพังและไม่เอื้อต่อการใช้ชีวิตของคนรุ่นต่อไป นับเป็นการเห็นแก่ตัวอยู่ไม่น้อย ทั้งๆ ที่รักษาไว้ก็หาใช่จะได้ประโยชน์อะไร วันๆ ได้แต่นับถอยหลังรอวันจากไป-แค่นั้น

หนทางที่สวยงามและพึงทำ คือการประคับประคองเด็กๆ ของเราให้มีก้าวย่างที่มั่นคง รับฟังพวกเขาอย่างมีวุฒิภาวะ พูดคุยและแลกเปลี่ยนอย่างสร้างสรรค์

อนาคตเป็นของพวกเขา เราคือผู้เฝ้ามอง