“อยากรู้ว่าอะไรมีความสุข” พลิกเปลี่ยนเส้นทางชีวิตศึกษาศาสนา

"อยากรู้ว่าอะไรมีความสุข" พลิกเปลี่ยนเส้นทางชีวิตศึกษาศาสนา

“ทุกวันนี้คนเราทำบุญไม่ได้ทำเพื่อขัดเกลาจิตใจตัวเอง แต่ทำเพื่อหวังอะไรบางอย่าง การทำบุญคือการบริจาค การสละ เพื่อคนที่มีความทุกข์ลำบากมากกว่า คนจนก็จนไป คนทำบุญพระก็รวยไป ต้องยอมรับว่าอดีตพระไม่สะสมเงินทอง ทรัพย์สินกระจายไปสู่คนลำบาก สวนทางกับปัจจุบันคนทำบุญหนึ่งอยากจะเอาล้าน ส่วนพระรับมาสิบ ก็อยากจะได้ร้อยได้พัน จึงกลายเป็นเรื่องธุรกิจทางศาสนา แล้วพระใช้ศาสนาหากินหรือเปล่า”

สําหรับ วิจักขณ์ พานิช ผู้ตัดสินใจพลิกเปลี่ยนเส้นทางชีวิต ทดลองค้นหาตัวเองด้วยการศึกษาระดับปริญญาโท “ประวัติศาสตร์ศาสนา” ที่สถาบันนาโรปะ แหล่งศึกษาทางศาสนาที่รัฐโคโลราโด สหรัฐอเมริกา เป็นคนหนุ่มไฟแรงที่มีแรงบันดาลใจในเรื่องของการเรียนรู้ด้านในและวิถีพุทธธรรมในโลกสมัยใหม่ ซึ่งทำให้ค้นพบวิถีการตีความศาสนาแบบใหม่ที่ให้อิสรภาพมนุษย์ในการเลือกเส้นทางแห่งการหลุดพ้นอย่างเป็นตัวของตัวเองถึงที่สุด

มีคำถามว่าอะไรเป็นแรงขับเคลื่อนให้หันมาสนใจศึกษาเรื่องศาสนา วิจักขณ์ สะท้อนความคิดว่า ทุกคนตั้งคำถามเกี่ยวกับชีวิตตัวเองทุกคน ว่าจะทำอย่างไรให้ชีวิตมีคุณค่า จึงต้องหันมาดูตัวเองว่าติดขัดหรือมีปัญหาเรื่องไหน หรือว่าสับสนตัวเองอยู่ ไม่อย่างนั้นคุณค่าของตัวเองคงไปไม่ไกล ดังนั้นเมื่อคิดว่ามีปัญหาก็ต้องเยียวยาเพื่อให้เข้าใจความสับสนของตัวเองมากขึ้น และอยากรู้ว่าอะไรมีความสุข แล้วสามารถแชร์ให้กับคนอื่นได้ นั่นมาจากคำถามในใจ

“เรียนโรงเรียน เรียนมหาวิทยาลัยมาหลายปีมันตอบไม่ได้เลยว่า เราคือใคร เราเกิดมาทำไม เรามีคุณค่าอะไร พอทำงานก็เริ่มคำนึงถึงเรื่องการอยู่รอด จึงเป็นคำถามของตัวเองมาโดยตลอด กระทั่งมีโอกาสไปเรียนที่ประเทศสหรัฐอเมริกา กระทั่งเจอครู เจอพื้นที่การเรียนรู้บางอย่างที่ตอบโจทย์ส่วนนี้ได้ เลยรู้สึกว่าอยากจะสร้างพื้นที่แบบนี้ที่เมืองไทย ซึ่งเป็นพื้นที่ของการเรียนรู้บางอย่างที่ทำให้คนได้มองเข้าไปภายในตัวเอง คลี่คลายคำถามเกี่ยวกับชีวิตแบบลึกๆ เป็นศาสนาที่ตอบคำถามว่า คุณทำอะไรแล้วมีความสุข แชร์กับคนอื่นได้ เลยกลายเป็นจุดที่มาของการทำงานลักษณะนี้”

ส่วนตัวคิดว่ามีคนที่ต้องเป็นอะไรแบบนี้จำนวนมาก คนที่มีความทุกข์ สับสน หาตัวเองไม่เจอ คนเหล่านี้ต้องการกัลยาณมิตร ต้องการคนที่คุยได้เหมือนเพื่อน มีความเป็นกันเอง คนที่คุยในทางมิติศาสนธรรมที่ไม่ใช่แบบศาสนากับศาสนา แต่เป็นแบบธรรมดาๆ เพื่อแชร์ประสบการณ์ แชร์ความทุกข์ของคนเหล่านั้น

วิจักขณ์ ยังบอกด้วยว่า จากการศึกษาเล่าเรียนฝึกเกี่ยวกับการภาวนา จึงมีการเปิดคอร์สสอนอบรมการภาวนา โดยใช้กระบวนการนั่งสมาธิภาวนามาช่วยเรื่องการขัดเกลาจิตใจ เยียวยาจิตใจ อย่างคนที่มีความทุกข์ ความเครียด เขาต้องการพื้นที่มาเยียวยาหรือต้องการผ่อนคลายปล่อยวางจากความคิด การโทษตัวเองให้อภัยตัวเอง มีความกรุณา มีความรักกับคนอื่นและรอบข้าง คนก็มาฝึกเรียนรู้

กลุ่มที่มาเรียนมีทุกช่วงอายุ ตั้งแต่วัยรุ่น กลางคน คนแก่ คนอายุ 70 ปี เป็นการเรียนลักษณะแบบการศึกษาผู้ใหญ่ใครก็สามารถมาเรียนได้ นอกจากนี้ทุกวันอาทิตย์จะเปิดบ้านพักส่วนตัวที่ใช้ชื่อว่า “ติโรปะ” ทำสมาธิภาวนา มีลูกศิษย์และคนทั่วไปที่สนใจและเปิดรับความหลากหลายทางศาสนา และต้องการภาวนามาปฏิบัติกันพอสมควร

วิจักขณ์ เผยอีกว่า เท่าที่ทำมารู้สึกมีความสุข ยืนยันไม่ต้องการชื่อเสียง แต่คิดว่าอยากจะเป็นแรงบันดาลใจฝึกให้คนทำแบบตนเพิ่มขึ้นอีก มีคนที่ฟังคนอื่นและสอนคนอื่นแบบเปิดกว้าง อยากเห็นครูที่มีจิตวิญญาณ อยากเห็นนักข่าวที่มีจิตวิญญาณ อยากเห็นหมอ พยาบาลมีจิตวิญญาณ มาใช้ในชีวิตจริง ซึ่งมีความหวังมากๆ เนื่องจากมีคนสนใจเรื่องเหล่านี้เยอะ เพราะคนเริ่มเหนื่อยหน่ายกับ “ศาสนาพุทธรูปแบบเดิม” คนเลยหาทางเลือกในหลากหลายแบบเพิ่มขึ้น

สำหรับเรื่องการศึกษา วิจักขณ์ มองว่า ถ้าเรามีจิตใจเปิดกว้างรับฟังคนอื่น ก็จะเป็นพื้นที่ที่ดีมากในทางการศึกษา โดยไม่ยึดมั่นอยู่ในกรอบของตัวเอง และเปิดกว้างกับความเป็นไปได้อื่นๆ อยู่เสมอจนไปสู่การแลกเปลี่ยนแบบพลวัต

ปัจจุบัน วิจักขณ์ รับบท “เรือจ้าง” สอนพิเศษอยู่ที่วิทยาลัยศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ส่วนใหญ่สอนระดับ ปริญญาตรี ส่วนวิชาที่สอนจะเกี่ยวข้องกับวิถีพุทธธรรมในโลกสมัยใหม่ พุทธศาสนากับสังคมสมัยใหม่ จิตวิทยากับพุทธศาสนา เจ้าตัวบอกว่า เป็นอาจารย์สอนหนังสือมาหลายปีและยังได้รับเชิญไปสอนตามมหาวิทยาลัยหลายแห่ง เช่น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ฯลฯ หรือแม้แต่การได้รับโอกาสไปบรรยายพิเศษมานับไม่ถ้วน

นอกจากนี้ยังเป็นคอลัมนิสต์ให้กับมติชน นิตยสาร way และทำหนังสือ แปลหนังสือ เป็นบรรณาธิการสำนักพิมพ์ ปลากระโดด ซึ่งจะพิมพ์หนังสือที่เกี่ยวข้องกับมิติทางจิตวิญญาณ แปลผลงานจากตะวันตกให้เห็นว่า ศาสนธรรม ศาสนาพุทธ เปิดกว้างและหลากหลายได้ขนาดไหน

ทว่าด้วยความเป็นคนพูดจาตรงไปตรงมาการวิพากษ์วิจารณ์อาจไม่เข้าหูเข้าใจคน จนมองตัวของ วิจักขณ์ ไม่เข้าใจเรื่องศาสนาอย่างแท้จริง เรื่องนี้ วิจักขณ์ สวนตอบด้วยน้ำเสียงเข้มแข็งว่า “ผมไม่แคร์” เพราะไม่มีใครเป็นเจ้าของพุทธธรรม ไม่มีใครเป็นเจ้าของพระพุทธเจ้า สำหรับคนที่คิดว่าเป็นเจ้าของศาสนาแล้วต้องปกป้องศาสนาของเขาเอง และการที่คิดว่าแสดงความคิดเห็นที่เห็นต่าง มีจินตนาการที่แตกต่างเป็นการเรื่องการทำลายศาสนา

“ผมว่ามันเป็นปัญหาของเขาไม่ใช่ปัญหาของผม เพราะผมคิดว่าอยู่ในสังคมประชาธิปไตยที่รองรับเสรีภาพในการนับถือศาสนาและคิดว่างานที่ผมทำเป็นงานสร้างสรรค์ไม่ใช่ทำลาย และผมไม่มีอำนาจไปบังคับใครให้เชื่อตามผม ผมมีแค่สติปัญญา และสองมือในการทำงานเชิงสร้างสรรค์”

วิจักขณ์ เล่าต่อว่า อย่างน้อยสิ่งที่สอนและทำก็เป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับคนที่สนใจศาสนา เปิดจินตนาการ ก็เหมือนตนเป็นพระป่า เดินร่อนเร่ ไม่มีสำนักอะไร แต่ว่าพบปะผู้คนตลอด ซึ่งมองว่าพลังศาสนธรรมจะเกิดขึ้นจากตัวปัจเจกบุคคล พลังการตื่นรู้

ภาพใหญ่ในศาสนาพุทธของไทย เป็นแบบสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เหนือมนุษย์ ดังนั้นเวลาคนเข้าหาศาสนาพุทธส่วนใหญ่ก็ไปกราบไหว้พระพุทธรูป ขอหวย กราบไหว้หลวงพ่อที่มีพลังวิเศษดูจิตได้ แก้กรรมได้ และสภาพแบบนี้ทำให้เกิดพระอลัชชี มากกว่าดึงดูดพระที่ดี

“คุณไม่อยากเป็นเหรอ คุณห่มผ้าเหลืองเวลาคุณพูดอะไรทุกคนเชื่อหมดเลย วางตัวให้สุขุม นั่งสมาธิให้ได้นานๆคนก็มากราบคุณ หรือพูดอะไรให้ดูดีนิดนึง ก็กลายเป็นเซเลบขึ้นมา เงินก็ไม่รู้เท่าไหร่ คุณไม่อยากเป็นเหรอ ใครๆก็อยากเป็น มันง่าย”

วิจักขณ์ ย้ำว่า ตนไม่ได้ทำร้ายใคร งานที่ทำมันพิสูจน์ตัวเอง แล้วตัวพุทธธรรมแบบนี้ ถ้าเรามองในมุมที่กว้างจะเห็นเลยว่า สิ่งที่ตนพูดมันนิดเดียว หากเทียบกับสิ่งที่มันเกิดขึ้นบนโลกใบนี้ ศาสนาพุทธที่เปิดกว้างหลากหลาย เกิดขึ้นในตะวันตก อินเดีย เวียดนาม ญี่ปุ่น เต็มไปหมด เชื่อว่าคนที่มองต่างมีปัญหาความคับแคบของตัวเอง ไม่ใช่ปัญหาของตนที่เปิดกว้าง คนที่เรียนกับตนจะรู้เองว่าสิ่งที่สอนมันใช้ได้จริงหรือไม่

เพราะงอกเงยทางศาสนธรรมหรือที่เรียกว่า Spirituality หรือคุณค่าทางจิตวิญญาณ จะสอดคล้องกับชีวิตของผู้คนสมัยใหม่ “ไม่มีใครสนใจแล้วเรื่องศาสนา แต่เขาสนใจเรื่องจิตวิญญาณ” ทำยังไงให้การดำเนินชีวิตมีแรงบันดาลใจ มีคุณค่า ต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม

“เตือนคนที่ทะเลาะกันวนเวียนความขัดแย้งทางศาสนา ขอให้ตระหนักมันไม่ได้เป็นความหวังของคนรุ่นถัดไป แต่คุณกำลังไปทะเลาะกับสิ่งมันจะตาย และสิ่งเหล่านี้ไม่ได้มีอะไรเกี่ยวข้องเลยกับคนรุ่นหลัง แล้วศาสนาพุทธแบบนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับความทุกข์ของผู้คน เพราะฉะนั้นตัวศาสนาพุทธต้องตั้งหลักให้ดี” วิจักขณ์ ฝากถึงสังคม

พระยาอนุมานราชธน หัวหน้ากองวรรณคดีคนแรก

พระยาอนุมานราชธน หัวหน้ากองวรรณคดีคนแรก

Author : สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์

พระยาอนุมานราชธน เป็นนักปราชญ์ และราชบัณฑิตของไทยที่ได้สร้างสรรค์ผลงานทางด้านวัฒนธรรมของไทยจำนวนหลายสาขานับเป็นการบุกเบิกงานด้านวัฒนธรรมของชาติทั้งทางด้านภาษาศาสตร์ โบราณคดี ประวัติศาสตร์ และมานุษยวิทยา รวมทั้งการเผยแพร่วัฒนธรรมของไทยให้เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางในหมู่ชาวต่างชาติ และเป็นนักปราชญ์คนที่ 6 ของไทยที่องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก (UNESCO) ประกาศยกย่องให้เป็นบุคคลสำคัญผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรมระดับโลกในวาระครบรอบ 100 ปี ของพระยาอนุมานราชธนเมื่อ พ.ศ. 2531

ประวัติ

พระยาอนุมานราชธน เกิดเมื่อวันศุกร์ที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2431 ในรัชกาลที่ 5 เป็นบุตรคนแรกในจำนวน 7 คน ของนายหลี หรือมะลิ และนางเฮียะ ซึ่งเป็นคนไทยเชื้อสายจีนและเป็นชาวกรุงเทพฯ บรรพบุรุษทั้งทางฝ่ายบิดาและมารดาเป็นจีนนอกชาวแต้จิ๋ว ตามประวัติของท่านเล่าว่า ท่านเกิดที่เรือนไม้หลังหนึ่ง ซึ่งอยู่ติดคูด้านใต้ของวัดพระยาไกร ในบริเวณโรงเลื่อยจักรบริษัทบอร์เนียว อำเภอยานนาวา จังหวัดพระนคร

เดิมนั้นพระยาอนุมานราชธนมีนามเป็นภาษาจีนว่า หลีกววงหยง ซึ่งเป็นชื่อที่ซินแสคนหนึ่งตั้งให้ หลังเป็นชื่อแซ่หรือชื่อสกุลกววงหยง เป็นชื่อตัว คำว่า “หยง” แปลว่า “ยั่งยืนมั่นคง” ตรงกับคำว่า “ยง” ในภาษาไทย ญาติผู้ใหญ่เรียกท่านว่ากลวงหยง หรือหยง และท้ายที่สุดกลายเป็นชื่อ ยง ซึ่งเป็นชื่อที่พระยาอนุมานราชธนคิดแปลงขึ้นเองเมื่อเข้ารับราชการ ส่วนนามสกุลได้รับพระราชทานว่า “เสฐียรโกเศศ”

ในวัยเยาว์ อายุราว 3-4 ปี ผู้ใหญ่ของท่านย้ายบ้านไปอยู่ในสำเพ็ง เพราะลาออกจากงานที่โรงเลื่อยจักรข้างวัดพระยาไกร ไปเข้าหุ้นกับชาติตั้งโรงรับจำนำในสำเพ็ง ท่านเล่าว่าในวัยเด็กท่านไว้เปียเช่นเด็กชาวจีนทั่วไป ต่อมาเมื่อครอบครัวย้ายไปอยู่ที่ปากถนนสาทรใต้ต่อถนนเจริญกรุง พระยาอนุมานราชธนได้อยู่ใน“สิ่งแวดล้อมทางสังคม” ที่ท่านคิดว่าเป็นการปั้นท่านในทางวัฒนธรรม โดยได้เห็นศาลเจ้าชาวแต้จิ๋ว ซึ่งมีคนจีนเข้าทรง และมีการแสดงหุ่นและงิ้วไหหลำด้วย

การศึกษา

พระยาอนุมานราชธนได้เข้ารับการศึกษาเมื่ออายุ 8-9 ปี ที่โรงเรียนบ้านพระยานานาจังหวัดธนบุรี ต่อมาจึงย้ายไปเรียนที่โรงเรียนอัสสัมชัญ พระยาอนุมานราชธนเรียนวิชาภาษาอังกฤษ มีผลการเรียนที่ดี รวมทั้งวิชาภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์ เมื่อเรียนชั้นประถมได้ปีหนึ่งในปีที่ 2 เลื่อนข้ามชั้นเตรียมไปเรียนชั้นหนึ่ง ซึ่งเรียกกันว่าแสตนดาร์ดวัน (Standard one)

ในวัยเยาว์นี้เอง พระยาอนุมานราชธนชอบอ่านหนังสือ ประกอบกับบิดาเป็นคนสะสมหนังสือ และเมื่ออ่านแล้วมักนำมาเล่าให้ลูกๆ ฟัง ในระหว่างรับประทานอาหารเย็น ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญอย่างหนึ่งสำหรับความเป็นนักปราชญ์ของพระยาอนุมานราชธนในเวลาต่อมา

ทำงาน

ในพ.ศ. 2448 พระยาอนุมานราชธนได้ลาออกจากโรงเรียนอัสสัมชัญ ขณะที่ได้เลื่อนชั้น 4ไปอยู่ชั้น 5 เมื่ออายุ 17 ปี แล้วไปฝึกงานที่โอสถศาลารัฐบาล โดยฝึกผสมยาได้ประมาณ 2-3 เดือน แต่ไม่ได้รับเบี้ยเลี้ยง พระยาอนุมานราชธนจึงได้ลาออกมาสมัครงานที่โรงแรมโอเรียนเตล โดยได้รับเงินเดือนเดือนละ 60 บาท

รับราชการ

ต่อมาหลังจากที่ทำงานในโรงแรมโอเรียนเตลได้ไม่ถึงปี พระยาอนุมานราชธนได้สมัครเข้ารับราชการที่โรงภาษี หรือกรมศุลกากร โดยได้รับเงินเดือนเดือนละ 50 บาท ตำแหน่งเสมียนโท เมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2448 ระหว่างที่รับราชการที่กรมศุลกากรนี้เอง พระยาอนุมานราชธนได้ศึกษาภาษาอังกฤษกับพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ และได้เรียนภาษาอังกฤษเพิ่มเติมจากนายนอร์แมน แมซเวลล์(Norman Masewell) ซึ่งทำให้พระยาอนุมานราชธนใช้ภาษาอังกฤษได้ดี

ออกจากราชการ

พระยาอนุมานราชธนรับราชการในกรมศุลกากรจนกระทั่งได้เลื่อนตำแหน่งเป็นผู้ช่วยอธิบดีใน พ.ศ. 2465 และออกจากรับราชการฐานรับราชการนานในวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ.2476 หลังจากที่รับราชการนาน 26 ปีเศษ และได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ตามลำดับ คือ

ขุนอนุมานราชธน เมื่อวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2454 ขณะอายุ 23 ปี
หลวงอนุมานราชธน เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2459 ขณะอายุ 28 ปี
พระอนุมานราชธน เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2463 ขณะอายุ 31 ปี
พระยาอนุมานราชธน เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2467 ขณะอายุ 36 ปี

กลับเข้ารับราชการ

ในพ.ศ. 2478 หลวงวิจิตรวาทการได้ชวนให้พระยาอนุมานราชธนกลับเข้ารับราชการในตำแหน่งหัวหน้ากองศิลปวิทยาการ กรมศิลปากร โดยในขณะนั้นราชบัณฑิตยสภาได้เปลี่ยนแปลงเป็นกรมศิลปากร และหลวงวิจิตรวาทการได้รับแต่งตั้งเป็นอธิบดีคนแรก

ต่อมาเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2481 ได้มีประกาศพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการในกรมศิลปากรใหม่ กองศิลปวิทยาการและกองหอสมุดแห่งชาติรวมกันเป็นกองวรรณคดีพระยาอนุมานราชธนได้ดำรงตำแหน่งหัวหน้ากอง ในวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2482 ก็ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยอธิบดีกรมศิลปากรอีกตำแหน่งหนึ่ง จนกระทั่งวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2485 ได้โอนไปรับราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรีและเลื่อนเป็นข้าราชการชั้นพิเศษในตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญ

ในวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2485 คณะรัฐมนตรีโดยจอมพล ป.พิบูลสงครามได้กราบบังคมทูลขอพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งพระยาอนุมานราชธนให้มาดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมศิลปากร ซึ่งตลอดเวลาที่ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมศิลปากร พระยาอนุมานราชธนมีผลงานจำนวนมาก เช่น เป็นผู้ร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งโรงเรียนศิลปากรแผนกช่างชั้นเป็นมหาวิทยาลัยศิลปากร

เมื่อรับราชการมาจนอายุ 55 ปี ซึ่งขณะนั้นกำหนดให้เกษียณอายุราชการ แต่เนื่องจาก พระยาอนุมานราชธนเป็นผู้มีความรู้ความสามารถทางราชการจึงต่ออายุราชการให้จนอายุครบ 60 ปี และเกษียณอายุราชการเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2491
ตลอดชีวิตราชการ พระยาอนุมานราชธนรับราชการด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และด้วยความวิริยะอุตสาหะ ท่านได้รับพระราชทานนามสกุลว่า เสธียรโกเศศ แต่ต่อมาท่านได้เปลี่ยนมาใช้นามสกุลว่า อนุมานราชธน ตามราชทินนาม

สงคราม ความขัดแย้ง สะท้อนปัญหาการศึกษาของมนุษยชาติ

สงคราม.. ความขัดแย้ง.. สะท้อนปัญหาการศึกษาของมนุษยชาติ

Author : พระอาจารย์อารยวังโส dhamma_araya@hotmail.com

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. ติดตามดูข่าวรอบบ้านผ่านเมือง ยามนี้ก็มีแต่รบราฆ่าฟัน ที่กำลังยกระดับเข้าสู่สงครามโลกกลายๆ.. เพียงแต่ปรับเปลี่ยนรูปแบบไปตามชั้นเชิงความคิดนึกของมนุษยชาติ…

ในภาวะรูปแบบของสงครามที่เปลี่ยนไป แต่เจตนายังคงไว้ไม่ผันแปร.. จึงไม่สิ้นซึ่งความหายนะของสัตว์สังคม.. ที่นำเอาความเจริญรุ่งเรืองทางเทคโนโลยีไปสู่การเข่นฆ่าทำลายกัน..

อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้การแสวงหาความเจริญรุ่งเรืองทางด้านการศึกษาวิทยาการของชาวโลกกลับตาลปัตร ผกผันกลับไปสู่การแสดงความป่าเถื่อน ตามล่าฆ่ากันอย่างไร้ความเมตตาปรานี แม้ในหมู่สัตว์ประเภทเดียวกัน!?

คำตอบมีในคำสอนพระพุทธศาสนาที่สรุปไว้ชัดเจนว่า.. เพราะมี อวิชชา เป็นเหตุปัจจัย…

 

เรื่อง อวิชชา สร้างโลก.. สร้างภพ.. สร้างชาติ.. และสร้างทุกข์.. ทั้งที่ปรารถนาซึ่งความสุข จึงเป็นเรื่อง ผกผัน วิปลาส คลาดเคลื่อน ที่น่านำมาศึกษา.. ในวิถีธรรมชาติแห่งชีวิต..

เมื่อพูดถึงวิถีชีวิต.. ก็คงต้องกล่าวถึง ความรัก ความต้องการในการดำเนินชีวิต.. ที่เราเรียกว่า ความปรารถนา..

ความปรารถนา.. ความต้องการ กลับกลายเป็นแรงผลักดันในการขับเคลื่อนชีวิต.. เพื่อมุ่งสู่จุดมุ่งหมายตามเป้าประสงค์

ยามใดที่.. ความปรารถนา ความต้องการ มีกำลังแก่กล้า จนเกินขีดการควบคุมด้วยสติปัญญา..

ในยามนั้น.. กิเลสก็จะปลุกเร้าขึ้นมาควบคุมจิต ให้ดำเนินไปตามความเร่าร้อนและเศร้าหมองด้วยอำนาจความอยาก.. ที่ยากจะหยุดยั้ง..

จึงไม่แปลก.. ที่จะเกิดการเข่นฆ่าทำร้ายทำลายกันในหมู่มนุษยชาติ.. ที่ต่างปรารถนาสันติและความสุขเช่นเดียวกัน..

 

ในพระพุทธศาสนาจึงสั่งสอนให้เราทำสงครามกับกิเลส.. เพื่อการชนะตนเอง ที่ชนะได้ยากที่สุดในโลกนี้

กล่าวคือ.. ไม่มีอะไรที่ยากที่สุด เท่ากับการชนะใจตนเอง..

พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า.. ผู้ชนะตนนั้นหาได้ยาก.. ดังพระภาษิตที่ว่า..

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! จิตนี้เป็นสิ่งที่ดิ้นรนกวัดแกว่งรักษายาก ห้ามได้ยาก.. ผู้มีปัญญาพึงพยายามทำจิตนี้ให้หายดิ้นรน ให้เป็นจิตตรง เหมือนช่างศรดัดลูกศรให้ตรงฉะนั้น…

ภิกษุทั้งหลาย จิตนี้คอยแต่จะเกลือกกลิ้งคลุกเคล้ากับกามคุณ เหมือนปลาเกิดในน้ำ ถูกนายพรานเบ็ดยกขึ้นจากน้ำแล้ว คอยแต่จะดิ้นรนไปในน้ำอยู่เสมอ ผู้มีปัญญาพึงพยายามยกจิตขึ้นจากการอาลัยในกามคุณ ให้ละบ่วงมารเสีย..

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมชาติของจิตเป็นสิ่งที่ดิ้นรน กลับกลอกง่าย บางคราวปรากฏเหมือนช้างตกมัน

ภิกษุทั้งหลาย! พวกเธอจงเอาสติเป็นตะขอสำหรับเหนี่ยวรั้งช้าง คือ จิตที่ดิ้นรนนี้ให้อยู่ในอำนาจ

บุคคลที่มีอำนาจมากที่สุด และควรแก่การสรรเสริญนั้น คือ ผู้ที่สามารถเอาตนของตนเองไว้ในอำนาจได้ สามารถชนะตนเองได้…

ผู้ชนะตนเองได้ชื่อว่า เป็นยอดนักรบในสงคราม

เธอทั้งหลาย จงเป็นยอดนักรบในสงครามเถิด อย่าเป็นผู้แพ้เลย! …

วันแห่งความพ่ายแพ้ของชาวโลก.. คือ วันแห่งความหายนะของมนุษยชาติ.. การรบราฆ่าฟันกันอย่างไม่เคยโกรธเคือง.. ไม่เคยรู้จักกันมาเลย จึงเกิดขึ้นภายใต้การกำหนดทิศทางของผู้มีอำนาจแต่ขาดคุณธรรม.. ไร้สติปัญญา..

สิ่งที่น่ากลัวอย่างยิ่งของชาวโลกในยามนี้.. คือ การแบ่งออกเป็นฝักฝ่าย โดยยึดถือทิฏฐิของตนเป็นใหญ่..

สังคมของมนุษยชาติจึงมีการแบ่งพรรคแบ่งพวก.. กั้นเขตแดน ประกาศเป็นประเทศชาติภายใต้ทิฏฐิความเห็นเป็นอันเดียวกัน.. มีศีลข้อปฏิบัติเสมอกัน ไม่ว่าจะเป็นคนดี.. หรือคนชั่ว!!

เมื่อใด.. การแบ่งฝักฝ่าย ยึดมั่นอยู่ในกรอบศีลธรรม.. มีจริยธรรมเป็นเครื่องชี้วัด.. เมื่อนั้น จะเกิดมวลภาวะทางจิตวิญญาณของสังคมที่ทรงประสิทธิภาพในการขับเคลื่อนไปอย่างสร้างสรรค์..

โลกนี้ย่อมก้าวสู่.. ความสงบ.. ความสุข

แต่เมื่อใด.. เกิดการแบ่งพรรคเล่นพวก โดยวิสัยคนชั่ว.. คนพาล ที่มีทิฏฐิและข้อปฏิบัติเสมอกัน เมื่อนั้น สังคมจะละทิ้งกรอบศีลธรรม คุณความดีสิ้นไป..

ข้ออ้างอิงในการตัดสินใจชี้ขาดของสังคมจะเปลี่ยนกลับไปที่การใช้กำลังอาวุธยุทโธปกรณ์นานาชนิด ที่ผลิตด้วยความรู้ที่เกิดจากการศึกษาเพื่อชีวิต.. อันผิดเพี้ยนไปจากธรรมชาติ

ความรู้ที่เล่าเรียน เพื่อความสำเร็จในชีวิตของชาวโลก กลับกลายเป็นเครื่องมือทำลายสันติภาพของโลกอย่างเลวร้ายที่สุด.. ด้วยอำนาจมิจฉาทิฏฐิจากการเรียนรู้ที่วิปลาสธรรมนั้น

มันเป็นไปได้อย่างไร… ที่ การศึกษาของมนุษยชาติ จะกลายเป็น อาชญากร ที่เลวร้ายที่สุด!!

แม้ว่าแผนการจัดการศึกษาจะเขียนไว้สวยหรู ด้วยคำว่า เพื่อพัฒนาให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งร่างกาย จิตใจ สติปัญญา ความรู้ และคุณธรรม เพื่อการมีจริยธรรมและวัฒนธรรมในการดำรงชีวิต

สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข..

แต่ในปรากฏการณ์แห่งความจริง.. กลับเห็นผลที่เกิดขึ้น กลับตรงข้ามอย่างสิ้นเชิง..

อะไร .. ที่เป็นเหตุปัจจัยให้เกิดขึ้นและเป็นไปเช่นนั้น.. จึงเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกันวิเคราะห์ สืบสาวค้นหา

เมื่อย้อนกลับมาพิจารณาดูการศึกษาในพระพุทธศาสนา ที่กล้าหาญประกาศว่า.. เป็นการศึกษา เพื่อพัฒนาชีวิตไปสู่ความสงบสุขอย่างยั่งยืน.. ด้วยการอ้างอิงหลักไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ที่ดำเนินการไปด้วยการอบรมวิธีแห่ง การเจริญสติปัฏฐานธรรม.. ยิ่งเห็นความแตกต่าง ระหว่างการศึกษา เพื่อมีชีวิตอย่างไม่เข้าใจชีวิตของชาวโลก กับ การศึกษา เพื่อเข้าใจชีวิตของพุทธศาสนา..

จึงเห็นในความแตกต่างของการจัดการศึกษา เพื่อมีชีวิตอยู่ในโลกนี้ ด้วยหวังความอุดมสมบูรณ์ในโลกธรรม กับการจัดการศึกษา เพื่อรู้ เข้าใจ ในบริบทของชีวิต เพื่อปรารถนาสันติและความสุขอันเกิดแต่ภายใน คือ จิตใจ .. ของพระพุทธศาสนา

โดยเฉพาะความแตกต่างในวิธีการศึกษา เล่าเรียน ปฏิบัติ.. เพื่ออบรม กาย วาจา ใจ และทิฏฐิ ให้เป็นไปตามหลักคำสั่งสอน..

ดังที่พระพุทธศาสนามีแนวทางการสั่งสอนให้พึ่งตนเองและพึ่งธรรมเป็นสำคัญที่สุด.. โดยเน้นการเรียนรู้ที่มุ่งสู่การปฏิบัติด้วยตนเอง.. เพื่อการพัฒนาให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ที่พรั่งพร้อมด้วยสติปัญญาและความเพียรชอบเป็นธรรมลักษณะ

การศึกษาในพุทธศาสนา .. จึงทำให้ มนุษยชาติลดละความเห็นแก่ตัวลง ที่เรียกว่า อหังการ–มมังการ อันเป็นเป้าหมายสำคัญในพระพุทธศาสนา

การลดละตัวกู ของกู.. (อหังการ–มมังการ) จึงเป็นผลทางเดียวที่จะทำให้มนุษย์สามารถยกระดับจิตวิญญาณตนเองขึ้นสู่ภูมิธรรม ได้อย่างรู้เข้าใจในธรรมชาติของชีวิต.. จนสามารถอยู่ร่วมกับเพื่อนมนุษยชาติ.. สัตว์ทั้งหลาย ตลอดจนสังคมสิ่งแวดล้อมได้อย่างสันติ.. อันเนื่องจากการเรียนรู้ เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ โดยคำนึงถึงประโยชน์โดยธรรมเป็นที่สุด..

พระพุทธศาสนา จึงมีหลักการสั่งสอนที่จะชี้แจงให้ผู้ฟังได้เข้าใจอย่างแจ่มแจ้ง ชัดเจน เห็นจริง ที่เรียกว่า สันทัสสนา.. โดยจะอธิบายให้ผู้เรียนได้เห็นว่าเรื่องที่สั่งสอนเป็นความจริง ที่เรียกว่า สมาปทา.. และจะมีวิธีการสอนปลุกเร้าใจให้ผู้เรียนได้ตื่นรู้อยู่ตลอดเวลา มีฉันทะ วิริยะ ด้วยจิตใจที่จดจ่อ ต่อเนื่อง ใส่ใจ และรู้ใคร่ครวญ ที่จะนำไปสู่การมีศรัทธา ที่จะนำไปสู่การปฏิบัติตามหลักธรรม เพื่อความสัมฤทธิผลแห่งการศึกษา เพื่อเข้าใจในชีวิต.. ว่าเป็นธรรมในธรรมชาตินั้น.. ดังที่เรียกว่า สมุตเตชนา

สำคัญที่สุดของการจัดการศึกษาในพระพุทธศาสนา คือ การนำไปสู่ความเข้าใจในธรรมชาติของชีวิต.. ก่อนเข้าสู่การพัฒนาชีวิตให้ถึงความสมบูรณ์พร้อมด้วยคุณธรรมอย่างมีสติปัญญา.. คือ การสั่งสอนให้รู้จักคิด.. รู้จักใช้วิธีคิด.. รู้จักการสร้างความคิดที่ถูกต้องอย่างมีปัญญา.. มิใช่การแสวงหาแต่คำตอบเฉพาะจากตำรับตำรา ความเชื่อที่ผูกกับทิฏฐิของผู้สอน.. เจ้าลัทธิ.. ศาสดา เจ้าของคำสั่งสอนนั้นๆ

เราต้องยอมรับว่า.. การศึกษา เพื่อสนองความต้องการของชีวิต.. อย่างไม่เข้าใจในธรรมชาติของชีวิต จึงกลายเป็นโจทย์ปัญหาใหญ่ต่อการพัฒนาชีวิตของมนุษยชาติ โดยเฉพาะการศึกษาที่มุ่งแสวงหาแต่คำตอบ.. ตามทิฏฐิของผู้สอน.. ที่ชี้ขาดว่า ถูกหรือผิด.. สำเร็จการศึกษาหรือไม่!!

ปัญหาในโลกนี้จึงไม่จบสิ้น เพราะการศึกษาของมนุษยชาติ.. ที่วิปลาสไปจากธรรม  นี่เอง.. เป็นมูลเหตุอันสืบเนื่องมาถึงวันนี้…… เอวัง .. มนุสโสสิ!!

เจริญพร

ผู้หญิง : ไม่ต้องบวช ไม่ต้องห่มจีวรก็เป็นสงฆ์ได้

ผู้หญิง : ไม่ต้องบวช ไม่ต้องห่มจีวรก็เป็นสงฆ์ได้

Author : สนิทสุดา เอกชัย อดีตบรรณาธิการบทความหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์

เคยคิดไหมว่าการที่ผู้หญิงมีฐานะต่ำต้อยในพุทธศาสนาของไทย ส่วนหนึ่งอาจมาจากการสวดมนต์ของเราเองก็ได้

ทุกครั้งที่เรากราบพระรัตนตรัย เรานึกถึงอะไร กราบครั้งแรกระลึกถึงพระพุทธเจ้า ครั้งที่สองกราบพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ ครั้งที่สามนึกถึงคุณของพระสงฆ์

แล้วเมื่อกล่าวคำว่า ‘พระสงฆ์’ เรานึกถึงอะไร

พระสงฆ์ในความคิดของเราคือนักบวชเพศชายเท่านั้น ภาพในใจเราเช่นนี้หรือเปล่าที่ทำให้พุทธศาสนาของไทยไม่มีที่ให้นักบวชที่เป็นเพศหญิงและทำให้ไม่ยอมรับภิกษุณี

แน่นอน คณะสงฆ์เถรวาทของไทยมีคำอธิบายทางวิชาการยืดยาวที่จะบอกว่าทำไมถึงให้ผู้หญิงบวชไม่ได้ ย้ำแล้วย้ำอีกว่าคณะสงฆ์ไม่ได้ใจแคบ แต่ต้องทำให้ถูกต้องตามกฎเกณฑ์การบรรพชาภิกษุณีที่พระพุทธองค์ทรงกำหนดไว้

คณะสงฆ์อธิบายว่าตามพระวินัยนั้น การบวชภิกษุณีนั้นต้องมีพิธีบวชสองครั้ง ครั้งแรกจากคณะสงฆ์ของฝ่ายภิกษุณีเอง ตามด้วยพิธีบวชอีกครั้งโดยพระภิกษุจึงจะเสร็จสิ้นสมบูรณ์ ในเมื่อปัจจุบันภิกษุณีในพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทได้สูญสิ้นไปนานแล้ว จึงไม่สามารถจะรื้อฟื้นการบวชภิกษุณีได้

แต่พอมีผู้ไปบวชภิกษุณีจากศรีลังกาเพราะที่นั่นฟื้นฟูได้สำเร็จ คณะสงฆ์ไทยก็โกรธเกรี้ยวอย่างหนัก นอกจากจะโจมตีต่างๆ นานาแล้ว ยังห้ามพระสงฆ์มีสังฆกรรมใดๆ กับภิกษุณี พร้อมขู่ทำโทษผู้ฝ่าฝืนคำสั่ง

เมื่อหลายปีก่อนคณะสงฆ์วัดป่าสายหนึ่งถึงกับขับไล่พระภิกษุชื่อดังรูปหนึ่งออกไปจากสายของตน เพราะสนับสนุนการบวชของสตรีอย่างเปิดเผย ระหว่างการจัดแถลงข่าวเพื่อประณามพระภิกษุรูปนั้น ได้มีโอกาสถามพระภิกษุอาวุโสรูปหนึ่งว่าทำไมถึงบวชภิกษุณีไม่ได้ ท่านตอบว่าขืนผู้หญิงบวชได้ก็มีพระผู้หญิงเต็มเมืองน่ะสิ

ซาโตริเลยคราวนั้น

เข้าใจทันทีว่าการต่อต้านภิกษุณีไม่ใช่แค่เรื่องยึดมั่นกฎเกณฑ์การบวชหรือการเลือกปฎิบัติทางเพศ แต่เกี่ยวกับผลประโยชน์มหาศาล ไม่ใช่แค่ด้านวัตถุ แต่เป็นเรื่องอำนาจ เพราะเจ้าของอำนาจและศรัทธาไม่ต้องการให้สตรีเข้ามามีส่วนร่วม

สตรีจะบวชเป็นแม่ชี หรือเป็นอุบาสิกาจำวัดก็ได้ แต่ต้องอยู่ใต้อำนาจของพระภิกษุ จะมาหวังเทียบเท่านั้น อย่าได้บังอาจ

ได้ยินพระอาวุโสซึ่งเป็นที่เคารพของลูกศิษย์ลูกหาคิดเช่นนี้ ในแง่หนึ่งเป็นสิ่งที่ดีมาก ทำให้เข้าใจว่าอคติหรือกิเลสนั้นมันซับซ้อนหลายเชิงชั้น มีเล่ห์กลหลอกลวงลึกซึ้งยิ่งนัก สำหรับนักบวชที่อยู่ในสังคมที่เบียดขับสตรีจนเป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่ใครจะก้าวข้ามกับดักของอคติอันรุนแรงนี้ได้

ความเข้าใจเรื่องพระสงฆ์ของชาวพุทธในประเทศไทยเองก็เป็นแรงสนับสนุนส่งให้คณะสงฆ์ยืนยันว่าพระภิกษุเท่านั้นที่เป็นส่วนหนึ่งของพระรัตนตรัย เพราะเมื่อชาวพุทธกล่าวถึงพระสงฆ์ก็หมายถึงแต่พระภิกษุเท่านั้น

ทำให้มีคำพูดว่า “เห็นแก่ผ้าเหลือง” หรือ “ชั่วช่างชีดีช่างสงฆ์” คือถือว่าการตำหนิภิกษุเป็นเรื่องบาป ควรเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ เพราะอย่างไรท่านก็เป็นผู้สืบทอดพระพุทธศาสนา เป็นหนึ่งในรัตนตรัย

เราเข้าใจอะไรผิดไปหรือ

ในการสวดมนต์ หลังจากกล่าวสรรเสริญพระพุทธองค์และพระธรรมคำสั่งสอนแล้ว เมื่อถึงบทสรรเสริญพระสงฆ์ หมายถึงพระภิกษุเท่านั้นหรือ

เมื่อคณะสงฆ์ประสบคำครหามากมายอย่างที่รู้ๆ กัน ก็มีการตีความบทสวดตอนนี้ให้กว้างขึ้น โดยอธิบายว่าคำว่า ‘สงฆ์’ ไม่ได้หมายพระภิกษุทั่วไป แต่หมายถึงพระภิกษุที่ปฎิบัติดีปฎิบัติชอบเท่านั้น แต่ถึงอย่างไรก็ยังหมายถึงนักบวชที่เป็นเพศชายอยู่ดี

แล้วจริงๆ สงฆ์หมายถึงอะไรกันแน่

สงฆ์หรือ Sangha ในภาษาบาลี มีความสองระดับ ระดับแรกคือชุมชนนักบวชในพระพุทธศาสนา ซึ่งรวมทั้งภิกษุและภิกษุณี ระดับที่สองหมายถึงใครก็ตามไม่ว่าจะเป็นภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ที่ได้ปฎิบัติตามพระธรรมคำสั่งสอน

หนังสือธรรมะแนวสนทนาธรรม ‘ธัมมานุธัมมปฎิปัตติ’ ซึ่งถือกันว่ามีความลุ่มลึกและสอดคล้องกับพระไตรปิฎก กล่าวถึงความหมายของพระสงฆ์โดยไม่ต้องตีความใดๆ ว่าพระสงฆ์หมายถึง “หมู่ผู้ฟังคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า” ไม่ได้จำกัดอยู่ที่เพศใด และแบ่งได้เป็นสองกลุ่มคือ สมมติสงฆ์ กับ อริยสงฆ์

สมมติสงฆ์ คือนักบวชในพระศาสนาทั้งภิกษุและภิกษุณีซึ่งยังไม่บรรลุมรรคผล ส่วน อริยสาวก หรือ อริยสงฆ์ คือผู้ที่ปฏิบัติจนบรรลุธรรมตามลำดับขั้นต่างๆ จากโสดาบันขึ้นไปจนบรรลุมรรคผลนิพพาน “แม้เป็นคฤหัสถ์หรือบรรพชิต สตรี บุรุษ เทวดา อินทร พรหมก็ดี เหล่านี้คือพระอริยสงฆ์”

ทำไมต่อมาความหมายของสงฆ์จึงได้แคบลงจนหมายถึงพระภิกษุสงฆ์อย่างเดียว

คงเป็นคำตอบเดียวกันกับที่ทำไม ‘ธัมมานุธัมมปฎิปัตติ’ ซึ่งไม่ปรากฏชื่อผู้แต่งนั้น จึงเชื่อกันอย่างแพร่หลายว่าเป็นธรรมนิพนธ์ของอริยสงฆ์หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ด้วยคิดว่าผู้มีภูมิธรรมระดับท่านเท่านั้นจึงจะถ่ายทอดความลุ่มลึกและแม่นยำทางธรรมะได้เช่นนี้ เป็นผลให้มีการพิมพ์แจกกันอย่างกว้างขวาง

ถ้าไม่ใช่เป็นเพราะการสืบค้นของนักวิชาการสองท่านคือ Dr.Martin Seeger และนริศ จรัสจรรยาวงศ์ ความจริงคงไม่ปรากฏ

ผู้เขียน ‘ธัมมานุธัมมปฎิปัตติ’ ที่แท้จริงนั้นไม่ใช่ภิกษุรูปไหนทั้งสิ้น แต่เป็นผู้หญิง เป็นผู้มีความรู้ทางปริยัติธรรมแตกฉาน มีความจำเป็นเลิศ เป็นผู้ปฎิบัติธรรมอย่างเข้มข้น คือคุณหญิงดำรงธรรมสาร (ใหญ่ วิเศษศิริ)

ความรู้ทางธรรมะคุณหญิงใหญ่ วิเศษศิริ (2425-2487) เป็นที่ยอมรับของพระเถระชั้นสูงในสมัยของท่าน แม้แต่ท่านพุทธทาสก็เคยตีพิมพ์บทความของคุณหญิงใหญ่ในหนังสือพิมพ์ ‘พุทธสาสนา’ ของสวนโมกข์ ในช่วงสุดท้ายของชีวิตคุณหญิงใหญ่เข้าสมาทานเป็นแม่ชี อุทิศตนให้แก่การปฎิบัติธรรม เชื่อว่าท่านได้บรรลุธรรมขั้นสูง จนในที่สุดสามารถกำหนดการสละสังขารของตนเองได้

หนังสือ ‘ดำรงธรรม’ โดย Dr.Martin Seeger และนริศ จรัสจรรยาวงศ์ เล่าว่าในวันที่ท่านจะสิ้น คุณหญิงใหญ่ได้ให้คนไปนิมนต์พระมาสวดมนต์ให้ท่านฟัง เป็นบทที่ท่านต้องการฟังเป็นครั้งสุดท้าย หลังสนทนาธรรมท่านได้ก้มลงกราบพระ พร้อมกล่าวลาว่า “ขอทิ้งสังขารไว้ที่นี่” กราบเสร็จท่านก็สิ้นลมในท่านั้น

สตรีที่ปฎิบัติจนมีภูมิธรรมเช่นนี้ เป็นอริยสงฆ์หรือเปล่า เป็นอริยสาวก เป็นส่วนหนึ่งของพระรัตนตรัยซึ่งเป็นที่พึ่งเพื่อการหลุดพ้นหรือไม่ ความจริงย่อมประจักษ์ชัดอยู่แล้

นอกจากคุณหญิงใหญ่ วิเศษศิริแล้ว หนังสือ ‘Gender and the Path to Awakening : Hidden Stories of Nuns in Modern Thai Buddhism’ โดย Martin Seeger ยังได้กล่าวถึงแม่ชีหรืออุบาสิกาอีกหลายท่านที่เชื่อกันว่าเป็นอริยบุคคล เพราะอัฐิกลายเป็นพระธาตุเช่นเดียวกับอริยสงฆ์หลายรูป

ถ้าผู้หญิงไม่ต้องบวชและไม่ต้องห่มจีวรพระก็เป็นพระสงฆ์ได้หากมุ่งศึกษาปฏิบัติธรรม เช่นนี้แล้วการบวชภิกษุณีจึงไม่จำเป็นใช่ไหม เพราะแค่ปฎิบัติให้เข้มข้นก็สามารถขัดเกลากิเลสและบรรลุธรรมได้

พระภิกษุหลายรูปชอบพูดเช่นนี้เพื่อปัดเรื่องการบวชให้สตรี ท่านว่ารูปแบบไม่จำเป็น ทุกอย่างอยู่ที่ใจ อยู่ที่การปฏิบัติของตนเอง แต่ถ้าการบรรพชาไม่สำคัญ การบวชเป็นภิกษุก็ไม่จำเป็น ไม่ต้องทิ้งบ้านเรือนมาอยู่วัดก็ได้ เพราะสามารถปฏิบัติธรรมเองที่บ้านได้เหมือนกัน ใช่หรือไม่

ยังไงก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการบวชจำเป็นต่อการจรรโลงศาสนา เป็นระบบสังคมที่จะเกื้อหนุนให้คนที่มีศรัทธาได้มีโอกาสใช้ชีวิตเป็นนักบวชโดยไม่ต้องกังวลกับความจำเป็นต่างๆ ในทางโลก สามารถอุทิศชีวิตศึกษาพระธรรมและการปฏิบัติธรรมได้เต็มที่ เพื่อพิสูจน์ให้เราเห็นว่าการปฏิบัติตามพระธรรมคำสอนช่วยให้เราได้หลุดพ้นจากทุกข์ได้จริง เพื่อเป็นครู เป็นผู้นำทาง เป็นแรงบันดาลใจให้เราได้มุ่งมั่นต่อไปในทางธรรมได้

แต่บุรุษเท่านั้นที่จะมีโอกาสเช่นนี้

การที่สังคมไม่มีระบบรองรับการบวชของสตรี ทำให้การใช้ชีวิตเป็นนักบวชเพื่อพ้นทุกข์หรือเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นเป็นไปได้ยากมาก มีเพียงสตรีกลุ่มเล็กๆ ที่สถานะทางเศรษฐกิจดีเท่านั้นที่จะใช้ชีวิตเป็นแม่ชีหรือภิกษุณีได้โดยไม่ต้องกังวล สตรีที่ยากจนหรือขาดที่พึ่งส่วนใหญ่จำเป็นต้องเป็นแรงงานให้วัด เช่น ทำกับข้าว ทำความสะอาด หรือช่วยขายดอกไม้ธูปเทียน อย่างที่เราเห็นกัน

สถาบันสงฆ์ช่วยให้เด็กชายหรือบุรุษที่มีฐานะยากจนได้มีโอกาสเล่าเรียน มีอนาคต ไม่ต้องผจญความยากลำบาก ในขณะที่พี่สาวน้องสาวต้องออกจากโรงเรียนหรือต้องทำงานส่งเสียครอบครัว หลายคนต้องเป็นเหยื่อธุรกิจทางเพศ และเป็นเรื่องปกติมากที่คนงานหญิงต้องเก็บเงินหรือกู้หนี้ยืมสินเพื่อส่งเงินให้พ่อแม่จัดงานบวชให้ลูกชายอย่างใหญ่โต เพราะความเชื่อเรื่องเกาะชายผ้าเหลืองขึ้นสวรรค์

ถ้ามีสถาบันภิกษุณีสงฆ์และถ้าสังคมมีศรัทธาว่านักบวชหญิงก็เป็นเนื้อนาบุญได้ เด็กผู้หญิงที่ยากจนจะได้มีโอกาสเหมือนพี่ชายน้องชายตัวเองเสียที สตรีจะใช้ชีวิตเป็นนักบวชได้ง่ายขึ้น การมีสตรีเป็นอริยสงฆ์จะไม่ใช่เรื่องแปลกอีกต่อไป และเมื่ออุบาสิกาต้องการคำปรึกษา พระผู้หญิงก็จะเข้าใจปัญหาของผู้หญิงได้ดีกว่าแน่นอน

หนทางนี้จะเริ่มต้นได้อย่างไร

เห็นทีจะต้องเริ่มด้วยการสวดมนต์ใหม่ เข้าใจความหมายของพระสงฆ์เสียใหม่ ปรับภาพในใจเมื่อสวดถึงพระสงฆ์ให้ถูกต้อง

พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์คือรัตนตรัย เป็นที่พึ่งเพื่อการหลุดพ้นของชาวพุทธ แต่พระสงฆ์ไม่ได้หมายถึงพระภิกษุเท่านั้น แต่แต่รวมถึงภิกษุณี และชาวพุทธทุกคนที่มุ่งปฏิบัติตามพระธรรมคำสอน

ความเข้าใจที่ถูกต้องนี้ไม่ใช่แค่จะช่วยให้ผู้หญิงมีบทบาทและพื้นที่ในศาสนามากขึ้น แต่ช่วยให้ชาวพุทธทุกคนตระหนักถึงพุทธพจน์ที่ว่า “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” ไม่มีใครช่วยเราให้พ้นทุกข์ได้ เราต้องปฏิบัติเอง ไม่จำเป็นต้องมีเครื่องแบบ ไม่จำเป็นต้องผ่านพิธีกรรม เพราะถ้าเราดำเนินชีวิตตามธรรมะ ตัวเรานั่นแหละคือพระสงฆ์

โลกหลังโควิด จะเปลี่ยนไปอย่างไร

โลกหลังโควิด จะเปลี่ยนไปอย่างไร

โลกหลังโควิด จะมีทิศทางเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง เชื่อว่าหลายคนติดตามเรื่องนี้อยู่ คำถามที่ว่า “หลังโควิดสิ้นสุด โลกและธุรกิจจะเปลี่ยนไปอย่างไร และผลที่ตามมาจะเป็นอย่างไร” ในที่นี้เรานำเสมอมุมมองของนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญกับมุมมองที่น่าสนใจ และเรื่องที่ต้องฉุกคิด ภายใต้การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ COVID-19 ที่ส่งผลกระทบทุกมิติของโลก เศรษฐกิจ การเงิน สังคม วิถีชีวิต ซึ่งเปลี่ยนไปจากเดิม ทั้งนี้มีความเป็นไปได้สูงว่า แม้หลังสถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลกคลี่คลาย นักวิเคราะห์ต่างมีความเห็นตรงกันว่า ‘โลกจะไม่เหมือนเดิม’ บางอย่างจะเปลี่ยนไปจากเดิมอัน สืบเนื่องจากสถานการณ์ที่เกิดความเปลี่ยนแปลงโดยฉับพลัน ทำให้เกิดเป็นวิถีปกติใหม่ หรือ New Normal คำถามที่เราต้องเร่งหาคำตอบคือ…อะไรที่จะไม่เหมือนเดิม

 

Globalization สู่ Deglobalization

นายสุพริศร์ สุวรรณิก เศรษฐกรอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่าการทวนกระแสโลกาภิวัตน์ (deglobalization) จะมีความเข้มข้นมากขึ้น และทำให้ห่วงโซ่อุปทานโลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาก่อนเกิดวิกฤตครั้งนี้ เราได้เห็นหลายประเทศใช้นโยบายแบบเน้นตนเอง (inward-looking policy) หรือปกป้องทางการค้า (protectionism) อย่างชัดเจนกันอยู่แล้ว โดยเฉพาะจากสงครามการค้าที่ปะทุขึ้นโดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ที่ส่งเสริมให้บริษัทสัญชาติอเมริกันกลับมาผลิตในประเทศมากขึ้นและกีดกันการค้าจากต่างประเทศ

ประเด็นนี้กลับมาชัดเจนยิ่งขึ้นไปอีกด้วยวิกฤตโควิด-19 ที่กำลังตอกย้ำความเชื่อของฝ่ายขวาจัดและผู้ไม่สนับสนุนโลกาภิวัตน์ว่า การพึ่งพิงระบบการผลิตระหว่างประเทศมากเกินไปเป็นเรื่องอันตราย ซึ่งจะเร่งกระบวนการเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่อุปทานโลกที่มีอยู่แล้วให้ยิ่งรวดเร็วมากขึ้น

 

จาก Free Trade สู่ Protectionism

ทั้งมีความเป็นไปได้อย่างมากว่าประเทศต่างๆ จะหันมาพึ่งพาห่วงโซ่อุปทานในประเทศตนเองเพิ่มขึ้นอีก และกระจายความเสี่ยงด้านการผลิตและขายสินค้าโดยไม่พึ่งพาแต่ประเทศใดประเทศหนึ่งเท่านั้น เพราะเห็นผลกระทบชัดเจนจากขั้นตอนการผลิตหรือตลาดขายสินค้าเมื่อยามที่ต้องปิดตัวลง ซึ่งเป็นผลจากมาตรการต่างๆ อาทิ การปิดเมืองหรือประเทศเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด

นอกจากนี้รัฐบาลประเทศต่างๆ อาจเปลี่ยนวิกฤตครั้งนี้ให้เป็น “โอกาส” ในการคิดทบทวนอย่างรอบคอบว่านโยบายเศรษฐกิจของประเทศจะเดินไปในทิศทางใด โดยจะพยายามกระจายความเสี่ยงทางเศรษฐกิจโดยไม่พึ่งพารายได้ทางใดทางหนึ่งจนเกินไป อาทิ ไม่พึ่งพาแต่การส่งออกหรือการท่องเที่ยวเท่านั้น แต่อาศัยการบริโภคและการลงทุนในประเทศเป็นเครื่องจักรสำคัญด้วย

โครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณสุขจะได้รับการแก้ไข

วิกฤตโควิด-19 สร้างแรงกดดันให้รัฐบาลหลายประเทศ หันมาใส่ใจพื้นฐานด้านสาธารณสุขของประชาชนและไม่ปล่อยให้กลไกตลาดเป็นตัวจัดการอย่างที่เคยเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐฯ ที่ระบบสาธารณสุขไม่มีระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า วิกฤตครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่าการที่บุคคลจะเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้หรือไม่นั้น ไม่ควรเป็นเรื่องของปัจเจกชนอีกต่อไป

เพราะคนคนหนึ่งที่จริงๆ แล้วเป็นพาหะของโรคอยู่ แต่ไม่สามารถไปใช้บริการตรวจไวรัสได้เพราะจ่ายเงินค่าตรวจไม่ไหวทั้งๆ ที่อยากไป และคงใช้ชีวิตแบบเดิมตามปกติ ทำให้แพร่โรคระบาดต่อไปให้ผู้อื่นโดยไม่รู้ตัวได้ จนในที่สุดการควบคุมโรคในภาพรวมจะทำได้ยากลำบาก และเป็นเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้สหรัฐฯ ต้องเผชิญกับวิกฤตการแพร่ระบาดหนักหนากว่าประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ ดังที่ปรากฏในปัจจุบันตามยอดผู้ติดเชื้อในสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วแซงหน้าอิตาลีไปแล้ว ดังนั้นหลังผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ เราอาจได้เห็นบทบาทที่เพิ่มขึ้นของระบบรัฐสวัสดิการในแต่ละประเทศก็เป็นได้

 

New Normal สู่ระบบดิจิทัลเต็มรูปแบบ

ทุกวิกฤตย่อมทิ้งร่องรอย (legacy) ไว้เสมอ ย้อนกลับไปในสมัยการระบาดของโรคซาร์สในปี 2545 ก็สร้างจุดเปลี่ยนสำคัญสำหรับการใช้เทคโนโลยีออนไลน์อย่างอีคอมเมิร์ซในจีน ให้มาเป็นที่นิยมในหมู่ประชาชนอย่างสูง โดยเฉพาะอาลีบาบาและเจดีดอทคอม เพราะผู้คนหลีกเลี่ยงการติดเชื้อจากพื้นที่สาธารณะและหันมาสั่งซื้อสินค้าออนไลน์มากขึ้น มาถึงวิกฤตครั้งนี้ก็จะทิ้งร่องรอยไว้เช่นกัน โดยเป็นการตอกย้ำให้ร้านค้าและห้างสรรพสินค้าแบบดั้งเดิมต้องเร่งพัฒนาอย่างก้าวกระโดด เพื่อช่วงชิงตลาดจากการค้าขายแบบออนไลน์มากขึ้นอีก รวมทั้งเทคโนโลยีดิจิทัลหลายประเภทที่มีมานานแล้วแต่ยังไม่มีคนใช้กันมากนัก วิกฤตครั้งนี้กลับบังคับให้คนต้องหันมาใช้เทคโนโลยีเหล่านี้อย่างจริงจัง และสร้างโอกาสต่อยอดให้มีผู้เล่นในตลาดมากยิ่งขึ้น อาทิแพลตฟอร์มที่ช่วยสื่อสารทางไกล จัดประชุม หรืออีเวนท์ ซึ่งผู้บริโภคจะเกิดความคุ้นเคยและเปลี่ยนพฤติกรรมหันมาใช้เทคโนโลยีอย่างถาวร นอกจากนี้แม้กระทั่งสถาบันการศึกษาก็ต้องพัฒนาไปใช้วิธีการสอนแบบออนไลน์ทดแทนทั้งหมดในช่วงวิกฤต ซึ่งอาจพลิกโฉมระบบการศึกษาโลกไปโดยสิ้นเชิงหลังผ่านพ้นวิกฤตแล้ว

ประเด็นสุดท้ายคือผู้คนอาจจะกลัวการใช้เงินสดหรือธนบัตร เพราะกระดาษอาจเป็นพาหะของเชื้อโรคได้แม้ผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19 ไปแล้ว และจะเริ่มคุ้นชินกับการรักษาสุขอนามัยอย่างเข้มงวด ไปจนถึงการใช้ชีวิตประจำวันที่คำนึงถึงความปลอดภัยต่อสุขภาพ ด้วยปัจจัยเหล่านี้จะทำให้ระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น

 

โลกมุ่งสร้างความมั่นคงด้านอาหารปลอดภัย

ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย ระบุว่า โลกหลังโควิดคงเน้นความเพียงพอของอาหารมากขึ้น เมื่อเร็วๆ นี้ WHO, FAO, และ WTO ออกแถลงการณ์ร่วมกันห่วงใยการขาดแคลนอาหารในโลก ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากการปิดพรมแดนจากการล็อกดาวน์ของประเทศต่างๆ ทำให้การขนส่งอาหารถูกกระทบจากปัญหาด้านสาธารณสุขและเศรษฐกิจ

ดังนั้นหลังโควิด-19 ความมั่นคงทางอาหารยังเกี่ยวโยงกับความมั่นคงทางสุขภาพ สาธารณสุข เช่น เรื่องการผลิตและบริโภคอาหารปลอดภัย อาหารปลอดสารพิษ อาหารที่เสริมภูมิคุ้มกันต่อต้านเชื้อโรค อาหารที่ช่วยให้สุขภาพแข็งแรง อาหารที่ฟื้นฟูสุขภาพ อาหารที่กระบวนการผลิตปลอดจากการปนเปื้อนเชื้อโรคและสารเคมีที่อันตรายต่างๆ เหล่านี้ ที่จะเป็นสิ่งที่ทำให้ต้องมีการศึกษา การวิจัย การเรียนการสอน การปฏิบัติ การรับเอานวัตกรรมต่างๆ เข้ามาใช้อย่างมากในเวลาอันสั้น เรื่องเทคโนโลยีการผลิตยา วิตามิน เวชภัณฑ์ การพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์ น่าจะเป็นทิศทางของกิจกรรมทั้งภาครัฐ เอกชนและประชาชน ประเทศต่างๆ คงพัฒนานักเทคโนโลยีของตนให้มากที่สุด

สำหรับประเทศไทยเองก็คงต้องสร้างระบบนิเวศน์ในการสร้างนวัตกรรม (Eco-System for Innovation) ของคนไทย ที่ชักชวนให้แรงจูงใจคนให้มาร่วมคิดร่วมประดิษฐ์ ร่วมพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ทางการแพทย์ต่างๆ ทั้งยาป้องกันโรค ยารักษาโรค เวชภัณฑ์ต่างๆ ที่เรามีประสบการณ์แล้วว่าที่ผ่านมายามคับขันเขาขาดแคลนอะไร เพียงใด และเราควรส่งเสริมนักเทคโนโลยีไทยอย่างไร เพื่อให้ประเทศไทยมีความมั่นคงทางสาธารณสุข

 

Digital Transformation

วิทยาศาสตร์ของข้อมูลสถิติ (Data Science) ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่จะช่วยหาคำตอบในเรื่องต่างๆ จะมีบทบาทสำคัญยิ่งขึ้นในการคาดการณ์และเข้าใจการระบาดของโรค การแก้ไขการระบาด และระบบการติดตามผู้อาจติดเชื้อ (Test and Trace) เป็นข้อมูลใหญ่ที่ผ่านการวิเคราะห์อย่างลึกซึ้ง (Big Data Analytic) ซึ่งในอดีตหลายประเทศอาจไม่ได้ให้ความสำคัญพัฒนาระบบเหล่านี้ เพราะไม่เคยคาดคิดว่าจะมีสถานการณ์เช่นนี้มาก่อน อาทิเช่น

การใช้เทคโนโลยีในชีวิตประจำวัน จากการสร้างระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) และการปิดสถานที่ต่างๆ ตามมาตรการสาธารณสุขในเกือบ 200 ประเทศทั่วโลก (ถ้ารวมเขตปกครองพิเศษต่างๆ ก็จะถึง 210 แห่ง) ทำให้เทคโนโลยีเข้ามาบงการชีวิตคนอย่างไม่มีทางเลือก ไม่ว่าก่อนหน้านี้จะมีความพร้อมหรือไม่ก็ตาม

การเรียนการสอนออนไลน์ การประชุมของภาครัฐ ภาคเอกชนและประชาสังคมผ่านระบบทางไกล เช่น วิดีโอคอนเฟอเรนซ์ การซื้อของ การสั่งอาหารออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มและบริการต่างๆ การใช้เทคโนโลยีในบริการทางการเงินที่เต็มรูปแบบยิ่งขึ้นเป็นต้น ก็กลายเป็นวิถีชีวิตของคนรวมทั้งคนไทยไปแล้ว แต่ขณะเดียวกันการขนส่ง ส่งมอบสินค้าที่สั่งออนไลน์ (Delivery Service) ก็กลายเป็นธุรกิจที่เติบโตเร็วและต้องการคนทำงานมากขึ้นอย่างมาก

สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ทำให้ธุรกิจบริการที่สนองต่อวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป เฟื่องฟูขึ้นอย่างมาก มีการเติบโตหลายร้อยเปอร์เซ็นต์ ระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์เกิดขึ้นหลายระบบในเวลาอันสั้น และจะมีธุรกิจเหล่านี้เกิดขึ้นไปเรื่อยๆ ทำให้ความจำเป็นในการเดินทางในธุรกิจระหว่างประเทศลดลง

กล่าวได้ว่าเทคโนโลยีในชีวิตของโลกหลังโควิค คงไม่กลับมาสู่ระดับการใช้เทคโนโลยีก่อนโควิดอีกแล้ว แต่จะไปไกลขนาดไหน เทคโนโลยีออนไลน์จะกระทบอาชีพใดบ้าง กระทบธุรกิจห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร อาชีพอิสระ อาคารสำนักงาน จะกระทบธุรกิจที่พึ่งพาการท่องเที่ยว, การเดินทางมากขนาดไหน จะมีรูปโฉมแตกต่างไปอย่างไร

แยกแยะ..ความผิดปกติปัจจุบัน หรือปกติใหม่

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(TDRI) ระบุการไม่แยกแยะ “ความผิดปกติปัจจุบัน” (current abnormal) ในช่วงที่โควิด-19 ระบาด เช่น การรักษาระยะห่างทางสังคม กับ “ความปกติใหม่” (new normal) ใน “โลกหลังโควิด-19” เช่นการประชุมผ่านระบบออนไลน์ที่น่าจะเพิ่มขึ้นในอนาคต เพราะช่วยลดต้นทุนจากการเดินทาง

การไม่แยกแยะประเด็นอาจทำให้เข้าใจผิดไปว่า พฤติกรรมของมนุษย์เราในช่วงผิดปกติในปัจจุบันส่วนใหญ่จะดำรงต่อเนื่องไป ทั้งที่ประวัติศาสตร์ของการเกิดโรคระบาดใหญ่ในอดีตชี้ว่า ในหลายกรณีพฤติกรรมส่วนใหญ่ในช่วงผิดปกติ จะหายไปอย่างรวดเร็วเมื่อเหตุการณ์กลับมาเป็นปกติแล้ว

ดังนั้นก่อนที่เราจะด่วนสรุปว่า “ความปกติใหม่” ใน “โลกหลังโควิด” เป็นอย่างไร และควรดำเนินการอย่างไรนั้น เราควรต้องถามตัวเองอย่างน้อย 5 คำถาม คือ

  • เราใช้ข้อสมมติ (assumption) อะไรในการวาดภาพอนาคต?
  • เราได้พยายามแยกแยะ “ความผิดปกติปัจจุบัน” (current abnormal) ในช่วงที่โควิด-19 ระบาดออกจาก “ความปกติใหม่” (New Normal) ใน “โลกหลังโควิด-19” หรือยัง?
  • “ความปกติใหม่” ที่เราตั้งเป้าอยากเห็นจะมีต้นทุนสูงเพียงใด เราพร้อมจะจ่ายและสามารถจ่ายได้หรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อคำนึงถึงข้อจำกัดใหม่ของระบบเศรษฐกิจไทย ที่น่าจะเติบโตช้าลง ในขณะที่รัฐบาล ธุรกิจ และประชาชนไทย จะมีทรัพยากรน้อยกว่าก่อนเกิดโควิด-19 มาก?
  • การสร้าง “ความปกติใหม่” ตามที่เราจินตนาการไว้ จะต่อยอดจากการลงทุนสร้าง “ความปกติเดิม” ก่อนเกิดโควิด-19 อย่างไร ทั้งทุนกายภาพและทุนมนุษย์ ซึ่งหาก “ความปกติ” ใน 2 ช่วงเวลาแตกต่างกันมาก เราจะทำอย่างไรไม่ให้การลงทุนมหาศาลในอดีตสูญเปล่า?
  • เราเข้าใจบริบทใหม่ (new context) ในเศรษฐกิจการเมืองโลกที่จะเปลี่ยนแปลงไปดีพอหรือยัง ที่จะทำให้เราปรับตัวได้อย่างเหมาะสมกับบริบทใหม่นี้?

ดังนั้นการทำความเข้าใจต่อ “ความปกติใหม่” ใน “โลกหลังโควิด-19” มีความสำคัญต่ออนาคตของประเทศไทยอย่างมาก เราจึงควรช่วยกันศึกษาให้ดี ไม่ควรด่วนสรุปจากการหาคำตอบแบบผิว

แหล่งอ้างอิง

: https://tdri.or.th/2020/04/new-normal-in-post-covid-world/
: http://doh.hpc.go.th/bs/issueDisplay.php?id=390&category=B10&issue=CoronaVirus2019
: https://www.thereporters.co/feature/world-after-covid19-new/

จะปรับตัวอย่างไร…ให้ผ่านพ้นช่วงเวลาแห่งความทุกข์ยากครั้งนี้ไปได้

จะปรับตัวอย่างไร…ให้ผ่านพ้นช่วงเวลาแห่งความทุกข์ยากครั้งนี้ไปได้

เป็นธรรมดาที่ผู้คนล้วนต้องเผชิญช่วงเวลาที่ทุกข์ยาก ลำบากกายใจในบางช่วงขณะของชีวิต และไม่ว่าเราจะชอบหรือไม่ก็ตาม ความทุกข์ยากนับเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตมนุษย์ ประสบการณ์ความยากลำบากต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น สามารถที่จะเปลี่ยนวิธีคิดและมุมมองใหม่ ๆ ของเราที่มีต่อโลกหรืออาจนำไปสู่ความท้อแท้ สิ้นหวังหรือปัญหาทางด้านสุขภาพจิตได้ แต่การเรียนรู้ที่จะรับมือและเอาชนะความทุกข์ยากคือสิ่งที่จะช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งและความยืดหยุ่นทางจิตใจในความยากลำบากที่ผ่านเข้ามาในชีวิต ทำให้เกิดความมั่นใจและสามารถที่จะพิชิตอุปสรรคที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ ดังที่ วอลท์ ดิสนีย์ กล่าวว่า “ความทุกข์ยากทั้งหมด ปัญหาและอุปสรรคทุกอย่างที่ผมเคยประสบมาในชีวิต ทำให้ผมแข็งแกร่งขึ้น… คุณอาจไม่ตระหนักตอนที่มันเกิดขึ้น แต่ความผิดหวังอันแสนเจ็บปวดอาจจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่โลกนี้มอบให้แก่คุณ”

อะไรคือความทุกข์ยากของชีวิต
ความทุกข์ยาก (Adversity) เป็นสถานการณ์หรือเหตุการณ์ที่ยากลำบากหรือไม่พึงพอใจ มีผลกระทบต่อจิตใจ อารมณ์และความรู้สึกอย่างรุนแรง ส่วนใหญ่ไม่เคยพบมาก่อนหรือไม่เคยคาดคิดว่าจะเกิดขึ้น เช่น  ประสบภัยพิบัติ การสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก สูญเสียทรัพย์สิน การตกงาน การเจ็บป่วยเป็นโรคร้ายแรง การหย่าร้าง ฯลฯ เมื่อต้องประสบกับเหตุการณ์ยากลำบากต่าง ๆ เหล่านี้บุคคลไม่สามารถนำวิธีการจัดการหรือแก้ไขปัญหาแบบเดิม ๆ มาใช้อย่างได้ผล ส่งผลให้เกิดความเครียดความทุกข์ใจอย่างรุนแรง

จิตใจที่ยืดหยุ่นเป็นอย่างไร
ความยืดหยุ่นทางจิตใจ (Resilience ) เป็นกระบวนการของการปรับตัวได้เป็นอย่างดี เมื่อเผชิญกับความทุกข์ยาก การบาดเจ็บ โศกนาฏกรรม ภัยคุกคามหรือสาเหตุที่มาของความเครียดที่สำคัญ เช่น ปัญหาครอบครัวและความสัมพันธ์ ปัญหาสุขภาพที่ร้ายแรง หรือปัญหาความเครียดในที่ทำงานและด้านการเงิน ความยืดหยุ่นนั้นเกี่ยวข้องกับ “การฟื้นตัวกลับสู่ภาวะปกติ” หลังจากผ่านประสบการณ์ที่ยากลำบากเหล่านี้ได้มากเท่าที่จะสามารถยืดหยุ่นได้และยังเกี่ยวข้องกับการพัฒนาตนเองอย่างมากด้วยเช่นกัน สิ่งที่เป็นความขัดแย้งในเรื่องของความยืดหยุ่นทางจิตใจ คือ ในการเอาชนะความทุกข์ยากลำบาก คุณต้องช่วยตัวเองเป็นอันดับแรกก่อนเพราะสิ่งที่เป็นตัวกำหนดว่าคุณจะได้รับการ “ช่วยเหลือ” หรือไม่คือวิธีคิดของคุณไม่ใช่เหตุการณ์แวดล้อมภายนอก

ทำไม?…บางคนจึงสามารถฟื้นตัวกลับสู่ภาวะปกติได้ดีกว่าคนอื่น
บางคนอาจรู้สึกว่าชีวิตของตนต้องพบกับสถานการณ์ทุกข์ยากมากกว่าคนอื่น ๆ แต่ในความเป็นจริงแล้วพวกเราทุกคนจะต้องเผชิญกับความทุกข์ยากในสถานการณ์และช่วงเวลาที่แตกต่างกันออกไปในชีวิต ตั้งแต่การสูญเสียคนที่รักและการงานไปจนถึงการประสบกับการเลิกราและความเหงา เมื่อสถานการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นความรู้สึกล้มเหลวหรือพ่ายแพ้ชั่วคราวเป็นเรื่องปกติที่พบได้ ในขณะที่บางคนอดทนก้าวต่อไปข้างหน้าและพัฒนาตัวเองจากความทุกข์ยากนั้น แต่บางคนกลับหยุดชะงักไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ หรือตกอยู่ในภาวะซึมเศร้า ทั้งนี้เนื่องจาก สิ่งที่จะกำหนดว่าเราจะตอบสนองต่อเหตุการณ์ที่ทุกข์ยากที่เกิดขึ้นอย่างไรนั้นมาจากวิธีการที่เราใช้ในการจัดการกับความเครียด

อะไรที่จะช่วยส่งเสริมให้เราสามารถปรับตัวต่อความทุกข์ยากได้ดี

เมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ตึงเครียด บางคนดูเหมือนจะเข้มแข็งกว่าคนอื่น การศึกษาชี้ให้เห็นว่าความเข้มแข็งทางอารมณ์ก่อให้เกิดความยืดหยุ่นทางจิตใจในเรื่องความเจ็บป่วยทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ เพราะบางคนสามารถเผชิญกับความเครียดโดยไม่เจ็บป่วยในขณะที่บางคนเจ็บป่วยเพิ่มมากขึ้น
ซูซาน โกบาซา ( Susan Kobasa :1979 ) นักจิตวิทยา กล่าวว่าความเข้มแข็งอดทน (Hardiness) เป็นลักษณะบุคลิกภาพของบุคคลซึ่งทำหน้าที่เสมือนกันชน เมื่อประสบกับภาวะเครียดจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตและเป็นสิ่งที่สามารถพัฒนาให้เกิดขึ้นได้ โกบาซา ได้จำแนกองค์ประกอบความเข้มแข็งทางจิตใจออกเป็น 3 องค์ประกอบ ดังนี้

1.ความท้าทาย (Challenge) เป็นความเชื่อของบุคคลว่าชีวิตมีการเปลี่ยนแปลงและการเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นสิ่งท้าทาย คนที่มีความเข้มแข็งอดทน จะเปลี่ยนความยากลำบากให้เป็นความท้าทาย แทนที่จะพยายามต่อสู้กับความเป็นจริงที่เกิดขึ้น ในทางกลับกันพวกเขากลับเผชิญหน้ากับมันโดยไม่ได้ตัดสินเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่มุ่งที่จะค้นหาความหมายและบทเรียนที่อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์เหล่านั้น
2. ความมุ่งมั่น (Commitment) หมายถึงความความตั้งใจของเราที่จะยึดมั่น ให้ความสำคัญและคุณค่าในสิ่งที่ตนกระทำอยู่ให้สำเร็จลุล่วงโดยไม่คำนึงถึงอุปสรรคที่อาจเกิดขึ้น โดยการกำหนดเป้าหมายที่สำคัญและมีความหมายต่อชีวิต และแบ่งกระบวนการออกเป็นขั้นตอนย่อยๆแล้วลงมือทำจนกว่าเราจะบรรลุเป้าหมายนั้น
3. การควบคุมตนเอง (Control) คือการตระหนักว่าคุณเป็นเจ้าของการกระทำของคุณเอง คุณไม่สามารถจัดการกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นได้ แต่คุณสามารถควบคุมอารมณ์และการตอบสนองของตนเองได้ คุณมีทางเลือกที่จะเสียพลังงานไปกับการเล่นเป็นเหยื่อของเหตุการณ์แสดงให้เห็นว่าตนไม่ใช่คนผิดเพื่อได้รับความสงสาร เห็นอกเห็นใจ หรือมุ่งเน้นไปที่การช่วยตัวเองให้หลุดออกจากความทุกข์ยาก
องค์ประกอบทั้งสามของความความเข้มแข็งอดทนนี้เป็นลักษณะหรือคุณสมบัติภายในที่สำคัญที่ช่วยส่งเสริมให้บุคคลสามมารถจัดการกับสถานการณ์ที่ตึงเครียดในชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงควรที่เราจะต้องพัฒนาให้เกิดขึ้นในจิตใจและบำรุงรักษาไว้ให้คงอยู่ตลอดช่วงอายุขัยของเรา

ทำอย่างไรจึงจะผ่านความทุกข์ยากครั้งนี้ไปได้

คุณสามารถที่จะเรียนรู้ในการช่วยเหลือตัวเองให้ก้าวข้ามผ่านออกจากความทุกข์ยากนั้นไปได้ สิ่งที่เป็นตัวกำหนดชะตากรรมของคุณนั้นไม่ใช่เรื่องของความอดทนแต่กลับเป็นความสัมพันธ์ของคุณที่มีต่อความเป็นจริง ต่อตัวคุณเองและต่อคนอื่น วิธีคิดและวิธีการที่คุณจะสามารถนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ในการเผชิญกับความทุกข์ยากที่เกิดขึ้นนั้นเป็นคุณสมบัติทางจิตใจที่ทุกคนมีอยู่แต่อาจมีมากไม่เท่ากัน ซึ่งความจริงแล้วเราสามารถพัฒนาให้มีมากขึ้นและเพียงพอที่จะช่วยให้เราผ่านพ้นความยากลำบากไปด้วยดี ด้วยการปรับตัวเองดังต่อไปนี้

  • ปรับความคิด
    • ยอมรับความจริงว่าความทุกข์ยากเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้และเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต การพยายามหลีกเลี่ยงหรือต่อต้านจะยิ่งทำให้มันคงอยู่กับเราอีกนาน ถ้ามองให้ดีจะเห็นว่าในโลกนี้ล้วนเป็นเรื่องราวของชีวิตที่ต้องมีการต่อสู้ดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดอยู่ทุกหนแห่ง ความทุกข์ยากเป็นของสาธารณะที่สามารถพบได้ทั่วไปในสถานการณ์ต่างๆทั่วโลก เช่น น้ำท่วม สึนามิ สงคราม การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด–19 และภัยพิบัติทุกประเภท หรือแม้แต่ในครอบครัวของเราและของเพื่อน ก็ยังมีเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความตาย การสูญเสียและ เหตุการณ์ร้ายแรงต่างๆเกิดขึ้น
    • ยอมรับว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต สิ่งที่คาดหวังและตั้งใจจะทำบางอย่างอาจไม่สามารถกระทำได้เนื่องจากมีเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดได้เกิดขึ้นในชีวิตของคุณ และการยอมรับว่าสิ่งที่เกิดขึ้นก็ได้เกิดขึ้นแล้วเราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ จะช่วยให้คุณจดจ่ออยู่กับสภาพสถานการณ์ในปัจจุบันที่คุณจะสามารถเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้นได้
    • จัดการกับความคิดอัตโนมัติ การพยายามทำความเข้าใจว่าเราคิดอย่างไรต่อสถานการณ์ทุกข์ยากที่เราไม่รู้ว่าจะมีผลลัพธ์เป็นอย่างไรเป็นสิ่งที่มีประโยชน์มาก ถ้าสังเกตความคิดที่เกิดขึ้นจะพบว่าเราจะมีความคิดอัตโนมัติมากมายเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและส่วนใหญ่จะเป็นความคิดลบซึ่งเป็นความคิดที่ไม่ผ่านกระบวนการของการใช้เหตุผล และไม่เกิดผลดีต่อการแก้ไขปัญหาขณะเดียวกันก็อาจรบกวนต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน ขัดขวางการนอนหลับและการมีสุขภาพกาย-ใจที่ดี เราควรปล่อยวางความคิดอัตโนมัติด้านลบเหล่านี้โดยการฝึกสติสังเกตรับรู้ลมหายใจที่ปลายจมูก พยายามอย่างดีที่สุดเท่าที่จะทำได้เพื่อให้มีสติจดจ่ออยู่กับลมหายใจของเรา ถ้าใจเผลอไปคิดเรื่องอื่นก็ดึงกลับมารับรู้ลมหายใจใหม่ หรือฝึกสติรับรู้ว่ากายกำลังทำอะไร ยืน เดิน นั่ง เคี้ยวอาหาร ฯลฯทำไปเรื่อยๆไม่ว่าเราจะทำอะไรอยู่ จนรู้สึกว่าหลุดออกจากการหมกมุ่น ครุ่นคิดในเรื่องเดิมๆและรู้สึกผ่อนคลาย การฝึกดังกล่าวถือเป็นการฝึกกล้ามเนื้อแห่งการปล่อยวาง เพื่อช่วยให้เราหลุดออกจากวงจรของความคิดลบ การหมั่นฝึกฝนเป็นประจำจะช่วยให้เรามีทางเลือกในการออกจากความคิดลบได้ทุกขณะเมื่อเราต้องการ
    • มองโลกในแง่ดีเข้าไว้ แม้ดูเหมือนจะเป็นการยากที่จะคิดบวกเมื่อชีวิตไม่เป็นไปตามที่คุณต้องการ แต่การมองโลกในแง่ดีจะช่วยให้คุณจัดการกับสถานการณ์ที่ตึงเครียดได้ดีขึ้น ช่วยลดผลกระทบของความเครียดต่อสุขภาพกาย ขณะเดียวกันก็ช่วยให้เรายอมรับความเป็นจริงได้เร็วขึ้น เพราะความยืดหยุ่นเป็นเรื่องของการสงบใจไว้ได้และประเมินสิ่งต่าง ๆ แทนที่จะเพียงแค่มีปฏิกิริยาตอบสนองต่อสิ่งที่เกิดขึ้นเท่านั้น จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า (COVID-19) ในประเทศไทยในขณะปัจจุบัน จะเห็นว่ามีผลกระทบต่อบุคคลหลากหลายอาชีพทำให้ตกงาน แต่การมองโลกในแง่บวกทำให้คนบางกลุ่มเกิดการปรับตัวมองเห็นว่าความทุกข์ยากครั้งนี้ เป็นความท้าทายของชีวิต และหางานใหม่ทำ เช่น เทรนเนอร์ฟิตเนสต้องผันชีวิตมาขายทุเรียน จากนักบินมาเป็นพ่อค้าก๋วยเตี๋ยวริมทาง สจ็วตผันชีวิตมาเย็บหน้ากากผ้าขาย วิศวกรการบินต้องปรับชีวิตหันมารับจ้างล้างแอร์ พระเอกลิเกปรับตัวมาขายส้มตำ ฯลฯ การมองโลกในแง่ดีและมีความหวังจะช่วยให้คุณคาดหวังว่าสิ่งดี ๆ จะเกิดขึ้นกับคุณ ลองนึกภาพว่าคุณต้องการอะไร แทนที่จะหมกมุ่นครุ่นคิดอยู่กับสิ่งที่คุณกลัวหรือกังวล
  • การปรับอารมณ์
    • พูดระบายความรู้สึกทุกข์ใจออกมา อย่าพยายามเก็บกด ปิดกั้นที่ความรู้สึกหรืออารมณ์เศร้าที่เกิดขึ้น และถ้าหากคุณยังหาใครสักคนที่ยินดีและพร้อมที่จะรับฟังความรู้สึกอัดอั้นตันใจในขณะนั้นไม่ได้ คุณสามารถพูดกับหมา แมว ต้นไม้ พืชผักต่างๆ หรือแม้กระทั่งการพูดออกมาดังๆกับตัวเองเมื่ออยู่ตามลำพัง เพราะการพูดเป็นสิ่งที่ดีต่อจิตใจ คำพูดที่สอดแทรกความรู้สึกออกไปด้วยจะช่วยทำให้ความตึงเครียดทางอารมณ์ลดลง
    • รักษาอารมณ์ขันไว้ ถ้าคุณสามารถหัวเราะเยาะกับความทุกข์ที่เกิดขึ้นได้ คุณก็จะมีภูมิคุ้มกันต่อความเครียดและความทุกข์เพิ่มขึ้น ทั้งนี้เพราะอารมณ์ขันช่วยเว้นระยะห่างระหว่างจิตใจกับความทุกข์ที่เผชิญอยู่ ช่วยปรับเปลี่ยนมุมมองให้คุณเห็นสถานการณ์ในสภาพที่ตรงจริงยิ่งขึ้นทั้งในแง่บวกและแง่ลบ และรู้สึกว่าตัวเองตกอยู่ในภาวะที่ถูกคุกคามลดลง
  • การปรับการกระทำ
    • พัฒนาความเข้มแข็งภายในตนเอง คนที่เชื่อมั่นว่าความสามารถในการควบคุมจัดการกับปัญหามีศูนย์กลางจากความเข้มแข็งภายในตนเอง ย่อมผ่านพ้นความทุกข์ยากได้ดีกว่า คนที่คิดว่ามาจากคนอื่นหรือปัจจัยภายนอก ขณะเดียวกันคนที่มีความยืดหยุ่นทางจิตใจจะมองโลกตรงกับความเป็นจริงและเชื่อว่าแม้เราจะไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ แต่เรายังสามารถควบคุมชีวิตของตนเองได้ จากการเลือกใช้วิธีการในการตอบสนองต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างเหมาะสม และสามารถรับมือกับความเครียดในชีวิตในเชิงรุกมากขึ้น มีแนวทางการแก้ปัญหามากขึ้น และรู้สึกควบคุมได้มากขึ้นจะทำให้เกิดความเครียดน้อยลง
    • คงไว้ซึ่งสัมพันธภาพที่ดีกับผู้อื่น ผู้คนที่ยังคงติดต่อสื่อสาร มีสัมพันธภาพที่ดีกับผู้อื่นย่อมสามารถเผชิญกับช่วงเวลาแห่งความทุกข์ยากได้ดีกว่าคนที่รู้สึกว่าตัวเองโดดเดี่ยวอ้างว้าง ทั้งนี้เพราะสัมพันธภาพที่ดีกับคนรอบข้างไม่ว่าจะเป็น แฟน สามี ภรรยา เพื่อนๆ ญาติพี่น้อง เพื่อนบ้าน หรือแม้แต่กลุ่ม/ชมรมที่เป็นสมาชิกอยู่ อาจเป็นโอกาสในการได้ระบายความรู้สึก ได้รับขวัญกำลังใจและแรงบันดาลใจที่ดีที่จะช่วยให้ผ่านพ้นความทุกข์ยากในครั้งนี้ได้ดีกว่าการแยกตัวอยู่กับความวิตกกังวลอย่างเพียงลำพัง
    • ดูแลเอาใจใส่ตัวเอง ความเจ็บปวดทางอารมณ์อย่างรุนแรงอาจทำให้คุณละเลยไม่ใส่ใจเรื่องการกิน การนอน หรือการออกกำลังกาย แต่ร่างกายและจิตใจของคุณจะไม่สามารถรับมือกับช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ไปได้อย่างมีประสิทธิภาพได้เลย หากคุณไม่ได้ให้การดูแลพวกมันอย่างเหมาะสม พยายามให้โอกาสตัวเองอย่างดีที่สุดในการฟื้นตัวกลับสู่สภาพปกติ โดยการให้ความสำคัญในเรื่องของการนอนหลับ รับประทานอาหารตามปกติ และออกกำลังกายให้มาก ไม่ว่าการจูงใจตัวเองให้กลับมาใส่ใจในการดูแลร่างกายจะยากแค่ไหนก็ตาม คุณก็สามารถทำได้โดยการให้กำลังลังใจตัวเอง
    • แสวงหาความช่วยเหลือ คนจำนวนมากสามารถใช้ความเข้มแข็งภายในจิตใจของตนเองและวิธีการดังกล่าวข้างต้นก็อาจเพียงพอสำหรับการก้าวข้ามผ่านความทุกข์ยากในชีวิตไปได้ แต่ในบางคนอาจยังคงติดขัดหรือมีปัญหาในการฟื้นตัวกลับสู่ภาวะปกติ การแสวงหาความช่วยเหลือจากบุคลากรผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตนับเป็นสิ่งสำคัญและเป็นประโยชน์ในการช่วยส่งเสริมให้บุคคลสามารถผ่านพ้นช่วงเวลาแห่งความยากลำบากนี้ไปได้

ความยืดหยุ่นทางจิตใจไม่ได้เป็นลักษณะที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิดแต่เป็นสิ่งที่เราสามารถที่จะเรียนรู้และพัฒนาให้เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา โดยการฝึกจิตใจให้คุ้นเคยกับการเผชิญกับความยากลำบากในชีวิตประจำวัน เผชิญกับสถานการณ์ใหม่ที่ไม่เคยพบมาก่อนหรือไม่มีแนวทางแก้ไขมาก่อน และพยายามพัฒนานิสัยในการเอาชนะอุปสรรค ซึ่งเมื่อใดถึงคราวที่ต้องเผชิญกับความทุกข์ยากแสนสาหัสในชีวิต ความยืดหยุ่นทางจิตใจนี่แหละจะช่วยให้เราสามารถผ่านพ้นช่วงสถานการณ์วิกฤตินั้น ๆ ไปได้ด้วยดี และโปรดระลึกไว้เสมอว่า…มีเพียงจิตใจของคุณเท่านั้นที่จะสามารถเยียวยารักษาสิ่งที่จิตใจของคุณสร้างขึ้นมาได้…

แหล่งที่มา :
1. 5 Steps to Find Resilience in the Face of Adversity. https://www.foundationscounselingllc.com/blog /5-steps-to-find-resilience-in-the-face-of-adversity.php
2. Marcos LR. Overcoming Adversity: the power of resilience. https://vimeo.com/34266600
3. 7 Famous People on How Adversity Made Them Stronger. https://www.uschamber.com/co/stategy/ quotes-about –overcoming- adversity
4. Building your resilience. https://www.apa.org/topics/resilience
5. Resilience: How to Rescue Yourself from Adversity. https://www.fearlessculture.design/blog-posts/resilience-how-to-rescue-yourself-from-adversity
6. Kobasa SC. Stressful life events, personality, and health: an inquiry into hardiness. J Pers Soc Psychol. 1979 Jan;37(1):1-11.

ขอบคุณรูปภาพจาก www.freepik.com

กรรมของคนไทย เผชิญยุคแพงทั้งแผ่นดิน ค่าแรงไม่ขึ้น เงินไม่พอ รายจ่ายเพิ่ม

กรรมของคนไทย เผชิญยุคแพงทั้งแผ่นดิน ค่าแรงไม่ขึ้น เงินไม่พอ รายจ่ายเพิ่ม

คนไทยรับกรรมไปเต็มๆ ซ้ำเติมโควิดระบาดส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง เมื่อราคาสินค้าหลายชนิดโดยเฉพาะในหมวดของสดทยอยปรับขึ้น ทั้งเนื้อหมู เนื้อไก่ เนื้อเป็ด ไข่ไก่ และอื่นๆ อีกมากมายจ่อขยับขึ้น จนแฮชแท็ก #แพงทั้งแผ่นดิน ติดเทรนด์ยอดนิยมในทวิตเตอร์
สะท้อนความเดือดร้อนของคนไทยที่ได้รับผลกระทบอย่างสาหัส ในยุคข้าวยากหมากแพง คงต้องหันมาวางแผนใหม่ในการใช้ชีวิต ด้วยการใช้จ่ายอย่างจำเป็น เพื่อให้อยู่รอด ยิ่งค่าแรงขั้นต่ำเท่าเดิม หลายคนงานหดรายได้ลด ถูกลดเงินเดือน และอีกหลายชีวิตตกงานไม่มีรายได้ จะใช้ชีวิตต่อไปอย่างไร
แม้ยุคนี้ข้าวไม่ได้หายาก แต่ราคาข้าวเปลือกกลับตกต่ำ ชาวนาได้รับผลกระทบต่อค่าครองชีพ สวนทางกับสินค้าหลายรายการราคาแพงขึ้น ขณะที่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ได้อธิบายภาวการณ์ “ข้าวยากหมากแพง” เป็นการขาดแคลนไปเสียทุกสิ่งทุกอย่าง เช่น ในช่วงสงคราม เกิดภัยธรรมชาติร้ายแรงในวงกว้าง หรือเกิดโรคระบาดร้ายแรง จนสิ่งของเครื่องใช้ขาดแคลน หาซื้อยาก หรือหาซื้อได้ก็มีราคาแพงมาก
ในปี 2565 ไทยกำลังเข้าสู่ยุคข้าวยากหมากแพงอีกครั้ง แม้หาซื้อได้แต่แพงทั้งแผ่นดิน จริงหรือ? “ดร.นณริฏ พิศลยบุตร” นักวิชาการอาวุโส ด้านนโยบายเศรษฐกิจส่วนรวมและเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ยอมรับ สินค้าหลายชนิดขยับแพงขึ้น ก็น่าจะใช่ที่ไทยเข้าสู่ยุคข้าวยากหมากแพง เป็นสถานการณ์ทางโครงสร้างประเทศตามหลักเศรษฐศาสตร์ จากราคาสินค้าแพงขึ้น แต่รายได้ไม่ได้ขึ้นตาม นั่นหมายถึงคนระดับรากหญ้าทั่วไป ได้รับผลกระทบและเดือดร้อน ส่วนคนในตลาดหุ้นและคนรวย ยังอยู่รอดอยู่สบาย
ดร.นณริฏ พิศลยบุตร
ดร.นณริฏ พิศลยบุตร
เมื่อรายได้ของคนรากหญ้าหรือคนระดับล่าง ไม่ได้ปรับขึ้นมา ทำให้เดือดร้อน เกิดความเสี่ยงมากขึ้นเพราะปกติเป็นหนี้อยู่แล้ว แต่ถ้าเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นสินค้าแพงเพราะรายได้เพิ่มขึ้น จะไม่เกิดปัญหาและเป็นวิกฤติเหมือนในขณะนี้ อย่างในต่างประเทศเมื่อคนรายได้มากขึ้นเพราะเศรษฐกิจดี ก็จะจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น จนสินค้าหมดและแพงขึ้น ซึ่งไม่น่ากังวลใจ และวิธีแก้ต้องปรับดอกเบี้ยนโยบาย ทำให้คนออมเงินมากขึ้น เป็นเครื่องมือในการจัดการ
ขณะที่เศรษฐกิจของไทยยังไม่ฟื้นตัว ตั้งแต่ปี 2562 จนมาปี 2564 จีดีพีโตเพียง 1% และในปี 2565 คาดจีดีพีจะโต 3-4% เมื่อคิดรวมแล้ว ยังไม่เท่ากับระดับปี 2562 แต่อย่างน้อยในไตรมาส 1 ปี 2566 ก็น่าจะดีขึ้น และสินค้าต่างมาจากต่างประเทศ มีการนำเข้าและผ่านกระบวนการต่างๆ ทำให้ราคาสินค้าสูงขึ้นตามมา และยิ่งไทยมาเจอโรคระบาดในสุกร ยิ่งทำให้ไทยไม่พ้นจากเหว มีความสุ่มเสี่ยงที่เศรษฐกิจอาจชะลอตัว
“เป็นโจทย์ที่ภาครัฐ ต้องแก้ปัญหาแบ่งเป็น 2 เฟส ภายใน 2 ไตรมาส หลังเจอภาวะเงินเฟ้อของแพงทั้งหมู ไก่ ไข่ ขึ้นราคา ทั้งๆ ที่คนยังเป็นหนี้ เริ่มจากไปตรวจสอบว่าคนไหน ควรเข้าไปช่วยเหลือก่อน เมื่อรู้แล้วว่าเป็นใคร ควรช่วยด้วยวิธีใด เริ่มจากกลุ่มเปราะบาง คนไม่มีรายได้ ไม่มีเงินเก็บ คนหาเช้ากินค่ำ ต้องช่วยมากกว่าปกติ โดยเติมสวัสดิการให้มากขึ้น และทำให้สถานการณ์โควิดโอมิครอน จบให้เร็วที่สุด น่าจะคลี่คลายปัญหาได้พอสมควร”
การแก้ปัญหาในเฟสแรก ไม่ควรใช้เวลานาน จากนั้นในเฟสหลังต้องทำให้คนออกจากกับดักหนี้ ด้วยการสร้างรายได้ให้กับประชาชน และการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำให้ได้มาตรฐานทั่วประเทศ ซึ่งภาครัฐควรหากิจกรรมที่จะทำให้ภาคธุรกิจต่างๆ ยินดีจะเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ และต้องการแรงงานทักษะอย่างไร เพื่อรัฐจะแก้ปัญหาในการขึ้นค่าแรง หรืออาจฝึกอบรมแรงงานรุ่นใหม่ ให้มีทักษะ รวมถึงสร้างแรงงานคืนถิ่น เพื่อให้เศรษฐกิจเติบโต หากขยายตัวได้ 3% ก็สามารถขึ้นค่าแรงขั้นต่ำให้ใกล้เคียงสอดคล้องกับจีดีพี
แม้ปริบทของสถานการณ์ข้าวยากหมากแพงในอดีต มีความแตกต่างกับปัจจุบัน ซึ่งสินค้ามีราคาแพงเพราะขึ้นอยู่กับอุปสงค์และอุปทาน จากความต้องการซื้อสินค้าและความต้องการขาย รวมถึงการปรับขึ้นของราคาน้ำมัน ทำให้ค่าขนส่งและต้นทุนการผลิตแพงขึ้น จนราคาสินค้าต้องปรับราคา
หรือเมื่อใดก็ตามหากสินค้าตัวใดขึ้นราคา ผู้บริโภคจะหันไปใช้สินค้าอย่างอื่น ทำให้ราคาแพงขึ้นตามมา อย่างคนมากินไก่แทนหมู ทำให้ราคาไก่แพงขึ้นตามความต้องการของตลาด และจากสถานการณ์สินค้าขึ้นราคา นอกจากภาครัฐจะเข้ามาช่วยเหลือแล้ว คนไทยต้องช่วยตัวเองในการวางแผนในอนาคต เช่น หากปลูกข้าว จะต้องบริหารเรื่องน้ำให้เป็น เพื่อวางแผนการปลูก
“หัวใจสำคัญอีกอย่าง ไม่ให้เป็นกรรมจากการกระทำของเราเอง ต้องรู้จักออมเงิน ไม่ให้เป็นหนี้ชนักติดหลังของคนไทย เพราะนิสัยไม่คิดให้มากๆ ไม่รู้จักเพียงพอ เมื่อมีรายได้มากก็ใช้มากขึ้น ไม่คิดเก็บออมเผื่อเกิดวิกฤติ ให้สามารถมีเงินใช้ได้อย่างน้อย 3-6 เดือน และการที่รัฐเอาเงินมาช่วยเรื่องหมู ก็จะเป็นภาระของประชาชนในอนาคต จึงไม่สามารถเอาเงินมาแทรกแซงได้ทั้งหมด ต้องช่วยเหลือเท่าที่จำเป็นเท่านั้น”.

ถอดบทเรียน โควิด สอนอะไร

ถอดบทเรียน โควิด... สอนอะไร

Author : ดร.ดนัย จันทร์เจ้าฉาย

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่มีแนวโน้มว่ามนุษย์โลกจำเป็นต้องเรียนรู้ที่จะมีชีวิตอยู่กับเชื้อโรคที่มีความสามารถในการพัฒนาสายพันธุ์ เพื่อหลบหลีกภูมิคุ้มกันจากวัคซีนไปอีกระยะหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นอีกกี่เดือนหรือกี่ปีก็ตาม เราลองมาสงบจิตใจและประเมินว่า สิ่งที่เราได้เรียนรู้จากโควิด-19 นั้นมีอะไรบ้าง

โควิด-19 : ทำไมเราจึง ด้านชา ต่อตัวเลขคนตายจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ภัยธรรมชาติ หรือโรคระบาด

โควิด-19 : ทำไมเราจึง "ด้านชา" ต่อตัวเลขคนตายจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ภัยธรรมชาติ หรือโรคระบาด

Author : BBC Thai

“หากฉันมองไปที่คนหมู่มาก ฉันจะไม่มีวันทำอะไรเลย หากฉันมองไปที่คนคนเดียว ฉันจะลงมือทำ”

คำพูดของแม่ชีเทเรซาข้างต้นสะท้อนการตอบสนองของมนุษย์เราได้ดีเวลาเห็นคนอื่นกำลังตกทุกข์ได้ยาก

คนส่วนใหญ่เห็นการตายของคนหนึ่งคนเป็นโศกนาฏกรรม แต่บ่อยครั้ง พอตัวเลขผู้เสียชีวิตเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ มันกลับกลายเป็นแค่เลขสถิติ อย่างที่เราเคยเห็นมาแล้วเวลาเกิดเหตุภัยพิบัติ ภาวะอดอยาก และล่าสุด วิกฤตโควิด-19

การระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ทำให้มีผู้เสียชีวิตทั่วโลกกว่า 5 แสนราย และมีผู้ติดเชื้อมากกว่า 11 ล้านคนแล้ว เมื่อเดือน มิ.ย. มีผู้เสียชีวิตในสหรัฐฯ กว่า 100,000 ราย นับว่ามีชาวอเมริกันเสียชีวิตมากกว่าตอนสงครามเวียดนามถึง 2 เท่าด้วยกัน

การเสียชีวิตแต่ละกรณีเป็นโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ของแต่ละครอบครัว แต่ยากที่เราจะมีความรู้สึกร่วมได้หากเราถอยออกมามองจำนวนผู้เสียชีวิตโดยรวมเป็นภาพใหญ่

An African child standing among adults and looking into the camera
Getty Images
“ความด้านชาทางจิตใจ” หรือ “psychic numbing” คือยิ่งคนเสียชีวิตมากขึ้น เราก็จะยิ่งให้ความสนใจน้อยลง

 

ผู้เชี่ยวชาญเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า “ความด้านชาทางจิตใจ” หรือ “psychic numbing” คือยิ่งคนเสียชีวิตมากขึ้น เราก็จะยิ่งให้ความสนใจน้อยลง

ตอนนี้ มีหลักฐานให้เห็นแล้วว่าคนเริ่มเบื่อหน่ายที่จะเสพข่าวเกี่ยวกับไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่

พอล สโลวิค นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยออริกอนในสหรัฐฯ ผู้ศึกษาเรื่อง “ความด้านชาทางจิตใจ” มาหลายทศวรรษ บอกว่า ความรู้สึกที่เกิดขึ้นรวดเร็วและมาจากสัญชาตญาณมนุษย์มีความวิเศษในหลายด้าน แต่ก็มีจุดบกพร่อง

“จุดบกพร่องหนึ่งคือ มันไม่สามารถจัดการกับตัวเลขจำนวนมาก ๆ ได้ดีนัก”

Man looking at pictures of some of the victims of the 1994 Rwandan genocide
Getty Images
ในปี 1994 ภายในช่วงเวลาแค่ 100 วัน กลุ่มหัวรุนแรงเชื้อสายฮูตูได้สังหารผู้คนไปราว 8 แสนคน มุ่งเป้าไปที่ชาวทุตซี ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยในรวันดา

 

“หากเราพูดถึงชีวิต ชีวิตหนึ่งชีวิตสำคัญมากและมีค่า เราจะทำทุกอย่างเพื่อรักษาชีวิตนั้น แต่เมื่อตัวเลขสูงขึ้น ความรู้สึกเราไม่ได้เพิ่มขึ้นเท่า ๆ กัน”

งานวิจัยของสโลวิคชี้ว่า เมื่อตัวเลขการสูญเสียจากโศกนาฏกรรมสูงขึ้น มนุษย์เราจะมีการตอบสนองทางอารมณ์น้อยลง

เฉยชาต่อการระบาดใหญ่

นี่เป็นผลทำให้เรามีแนวโน้มที่จะเคลื่อนไหวน้อยลง ในการเรียกร้องให้หยุดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ให้ส่งความช่วยเหลือไปยังพื้นที่ประสบภัยธรรมชาติ หรือให้ผ่านกฎหมายเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

หรือในกรณีของโควิด-19 คนก็อาจจะเลิกใส่ใจเรื่องการรักษาความสะอาด ล้างมือและใส่หน้ากากอนามัยกันน้อยลง

Three people hug at a cemetery
Getty Images
งานวิจัยของสโลวิคชี้ว่า เมื่อตัวเลขการสูญเสียจากโศกนาฏกรรมสูงขึ้น มนุษย์เราจะมีการตอบสนองทางอารมณ์น้อยลง

 

“หากมองเรื่องนี้จากมุมมองด้านวิวัฒนาการ คนเรามุ่งความสนใจไปยังสิ่งที่คุกคามจะฆ่าเราตรงหน้า” เมลิซา ฟินูเคน กล่าว เธอเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านพฤติกรรมและสังคมมนุษย์จากองค์กรวิจัยแรนด์คอร์ปอเรชัน และเธอก็ศึกษาด้านการตัดสินใจและการประเมินความเสี่ยงด้วย

เธอบอกว่าคนทั่วไปที่ไม่ได้เป็นนักวิเคราะห์ด้านสถิติหรือนักระบาดวิทยาไม่มี “เครื่องมือ” ที่จะตัดสินเรื่องที่ใหญ่และซับซ้อนอย่างการระบาดใหญ่ได้

ในงานวิจัยจากปี 2014 สโลวิค และเพื่อนร่วมวิจัย ให้ผู้เข้าร่วมการทดลองมองดูภาพเด็กยากจนหนึ่งคน เทียบกับภาพเด็กยากจนสองคน

แทนที่จะรู้สึกสงสารเพิ่มเป็นสองเท่า ผู้เข้าร่วมการทดลองกลับบริจาคเงินให้น้อยกว่าเมื่อเห็นภาพเด็กยากจนสองคน

สโลวิคบอกว่า นี่เป็นเพราะมนุษย์รู้สึกเห็นอกเห็นใจคนคนเดียวได้ง่ายที่สุด

“คุณสามารถคิดว่าคนคนนั้นเป็นใคร คิดว่าเขาเป็นเหมือนลูก พอเพิ่มมาเป็นสองคน ความสนใจและความรู้สึกคุณกลับเริ่มลดน้อยลง… ความรู้สึกเป็นตัวขับเคลื่อนพฤติกรรมของคนเรา”

การทดลองของสโลวิคยังค้นพบอีกด้วยว่าความรู้สึกดีที่ได้บริจาคเงินให้เด็กยากจนคนหนึ่ง ถูกบั่นทอนลงเมื่อเราบอกกับผู้เข้าร่วมการทดลองว่ายังมีเด็กคนอื่น ๆ ที่พวกเขาไม่สามารถช่วยได้

หลังจากให้ผู้เข้าร่วมการทดลองดูรูปเด็กยากจนหนึ่งคน นักวิจัยให้ผู้เข้าร่วมการทดลองครึ่งหนึ่งดูข้อมูลสถิติด้วยว่ามีเด็กคนอื่น ๆ ในภูมิภาคเดียวกันที่กำลังหิวโหยอีกมากแค่ไหน

อย่างไรก็ดี คนกลุ่มนี้กลับให้เงินบริจาคน้อยลงแม้ว่าจะเห็นปัญหาเป็นภาพใหญ่กว่า

เหตุผลหนึ่งคือมนุษย์มีความเห็นแก่ตัว

“เราบริจาคเพราะเราอยากจะช่วย และก็เพราะเราอยากจะรู้สึกดีกับตัวเองด้วย” สโลวิคกล่าว

“มันรู้สึกไม่ดีเท่าเมื่อคุณตระหนักว่าคนที่ให้การช่วยเหลือเป็นแค่หนึ่งในล้าน คุณรู้สึกไม่ดีที่ไม่สามารถช่วยทุกคนได้ และก็รู้สึกแย่”

ในการทดลองอีกชิ้นหนึ่ง สโลวิคและเพื่อนนักวิจัยให้กลุ่มอาสาสมัครจินตนาการว่าพวกเขาเป็นผู้ดูแลค่ายผู้ลี้ภัย และให้ตัดสินใจว่าจะช่วยให้ผู้ลี้ภัย 4,500 คนเข้าถึงน้ำสะอาดได้หรือไม่

นักวิจัยบอกผู้เข้าร่วมการทดลองครึ่งหนึ่งว่าค่ายผู้ลี้ภัยมีคนทั้งหมด 250,000 คน และบอกอีกครึ่งหนึ่งว่ามีผู้ลี้ภัยอยู่ 11,000 คน

“[ผลคือ]คนอยากจะช่วยเหลือคน 4,500 คนจากค่ายที่มีคน 11,000 คน มากกว่าในค่ายที่มีคนทั้งหมด 250,000 คน เพราะว่าพวกเขาตอบสนองกับสัดส่วนมากกว่าตัวเลขจริง ๆ”

ทำอย่างไรให้ไม่รู้สึกเฉยชา

A protest against the death of George Floyd in the US
Getty Images
การเสียชีวิตของนายจอร์จ ฟลอยด์ ชายอเมริกันเชื้อสายแอฟริกัน ที่ทำให้เกิดกระแสประท้วงไปทั่วโลก

 

ตัวเลขกลม ๆ อย่างเช่น 100 1,000 หรือ 100,000 มักจะทำให้คนทั่วไปฉุกคิดขึ้นได้

เช่นเดียวกับที่นักข่าวพยายามบอกเล่าเรื่องโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ ๆ ผ่านตัวละครเพียงคนเดียว และหนังสือพิมพ์มักเลือกเล่าข้อมูลที่ดูเหมือนไม่สำคัญของเหยื่อ ไม่ว่าจะเป็นอายุ อาชีพ หรือว่าคน ๆ นั้นมีลูกหรือไม่ เพื่อให้เรื่องราวเหล่านั้น “มีความเป็นมนุษย์” มากขึ้น

เราจะเห็นว่าโศกนาฏกรรมของคนหนึ่งคนทรงพลังแค่ไหนจากกรณีการเสียชีวิตของนายจอร์จ ฟลอยด์ ชายอเมริกันเชื้อสายแอฟริกัน ที่ทำให้เกิดกระแสประท้วงไปทั่วโลก

ในทางเดียวกัน ในปี 2015 ภาพของอลัน เคอร์ดี เด็กผู้ลี้ภัยชาวซีเรียวัย 3 ขวบ ที่จมน้ำตายในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ขณะครอบครัวเขาพยายามอพยพหนีสงครามในซีเรียไปยังยุโรป ก็ทำให้เกิดกระแสไปทั่วโลก

แต่สงครามซีเรีย เริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2011 และถึงปี 2015 มีคนเสียชีวิตไปแล้วถึง 250,000 ราย

Drawing of Aylan Kurdi painted on a wall in Germany
Getty Images
สภากาชาดสวีเดน (Swedish Red Cross) ได้รับเงินบริจาคเพิ่มขึ้น 100 เท่าหลัง เคอร์ดี เด็กผู้ลี้ภัยชาวซีเรียวัย 3 ขวบ เสียชีวิต

 

สโลวิคบอกว่านั่นเป็นแค่ตัวเลขสถิติสำหรับคนส่วนใหญ่จนกระทั่งคนทั่วโลกได้เห็นรูปของอลัน เคอร์ดี

สโลวิคบอกว่า สภากาชาดสวีเดน (Swedish Red Cross) ได้รับเงินบริจาคเพิ่มขึ้น 100 เท่าหลังจากรูปดังกล่าวถูกเผยแพร่ และเมื่อผ่านไป 6 สัปดาห์ ยอดบริจาคจึงได้ลดลงมาอยู่ในระดับปกติ

นี่ทำให้เกิดคำถามว่า เราจะสามารถคงความสนใจต่อโศกนาฏกรรมต่าง ๆ ได้อย่างไร หากไม่มีรูปหรือเรื่องราวที่ทำให้คนสะเทือนใจเหมือนการตายของจอร์จ ฟลอยด์ หรือเด็กผู้ลี้ภัยชาวซีเรีย

เรายอมรับได้หรือหากยอดผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนเราเฉยชา และกลายเป็นเลิกระมัดระวังตัวเอง

การสื่อสาร

ฟินูเคน จากองค์กรวิจัยแรนด์คอร์ปอเรชัน บอกว่ารัฐบาลและหน่วยงานสาธารณสุขต้องฉลาดเรื่องการสื่อสาร เพราะการรายงานจำนวนผู้ติดเชื้อว่าเพิ่มจาก 2 ล้าน เป็น 2.1 ล้าน คงไม่สามารถกระตุ้นให้คนเลี่ยงพื้นที่แออัดหรือใส่หน้ากากได้

เธอบอกว่าทางการควรสื่อสารถึงคนในระดับรายบุคคลมากกว่าเดิม และพยายามกระตุ้นอารมณ์คน นอกจากนี้การเลือกเวลาสื่อสารอย่างเหมาะสมก็สำคัญเช่นกัน

ด้านสโลวิค ยกคำพูดดังของอาเบล เฮอร์ซเบิร์ก ชาวยิวผู้รอดชีวิตจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่พูดว่า “ไม่ใช่มีคนยิว 6 ล้านคนถูกฆ่า [แต่]มีเหตุการณ์การฆาตกรรมเกิดขึ้น 6 ล้านครั้ง”

“คุณต้องใช้วิธีครุ่นคิดช้า ๆ เพื่อให้เห็นบุคคลต่าง ๆ ที่อยู่ภายใต้ตัวเลขสถิติ” สโลวิคกล่าว และบอกว่าแม้ว่านั่นอาจทำให้เรารู้สึกไม่สบายใจ แต่ก็ไม่ควรปิดตาไม่ใส่ใจต่อสิ่งที่เกิดขึ้น

จุดอ่อนของคนไทย 10 ประการ

จุดอ่อนของคนไทย 10 ประการ

Author : วิกรม กรมดิษฐ์

หลังเห็นข่าวคราวบนหน้าหนังสือพิมพ์และตามรายการเล่าข่าวที่โพล่มา 3 เวลาก่อนอาหารแล้ว อดให้นึกถึงบทความของคุณวิกรม กรมดิษฐ์ ที่เคยเขียนเกี่ยวกับจุดอ่อนของคนไทยไว้เมื่อปลายปี 2553 เสียไม่ได้ เพราะหลังจากได้เห็นเหตุการณ์ปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นด้านสังคม การเมือง เศรษฐกิจ แล้วอดคิดไม่ได้ว่า ไม่ว่าจะผ่านมากี่ปีประเทศก็แทบไม่ก้าวไปไหนเลย หรือถ้าใครจะเถียงคุณก็ลองหาคำตอบให้ 10 จุดอ่อนของคนไทย ต่อไปนี้ดูแล้วกันครับ

(1) คนไทยไม่รู้จักพอ
สังคมไทยสมัยใหม่เป็นสังคมประเภท “มือใครยาว สาวได้ก็สาวเอา” และไอ้อาการมือยาวที่ว่านี่ ก็ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในระดับประเทศเท่านั้น แต่ยังกระจายไปถึงระดับฐานรากของสังคมอย่างครอบครัวด้วยเช่นกัน ที่ต่างก็แข่งขันกันเพื่อความสุขสบายของตัวเอง โดยไม่สนว่าคนรอบข้างจะเป็นอย่างไร เอาแค่ตัวเองรอดก่อนเป็นพอ

(2) การศึกษาอยู่ในกะลา
เรามีคนเก่งๆ ที่ไปแข่งขันระดับโลกทุกปี แต่เทียบกันแล้ว นั่นเป็นเพียงชัยชนะของเศษเสี้ยวที่ทิ้งห่างระดับมาตรฐานอย่างชัดเจน และยังไม่มีนโยบายใดๆ ที่แก้ไขปัญหานี้อย่างเป็นรูปธรรม ที่สำคัญคือคนไทยส่วนใหญ่ยังเก่งแค่ในพื้นที่ของตัวเอง แต่พอหลุดไปด้านนอกเมื่อไหร่ก็ขาดความมั่นใจไปซะดื้อๆ และที่แย่ยิ่งกว่าคือเรายังไม่กล้ายอมรับความจริงในเรื่องนี้

(3) มองอนาคตระยะสั้น
คนไทยส่วนมากทำงานแบบไร้เป้าหมาย วางอนาคตแบบวันต่อวัน แก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปวันๆ น้อยคนนักที่จะทำงานแบบเป็นระบบ เป็นขั้นเป็นตอน และมีเป้าหมายในอนาคตที่ชัดเจน

(4) ไม่จริงจังต่อหน้าที่
คนไทยไม่ชอบอยู่ฉากหลัง ทุกคนล้วนอยากเสนอ แม้จะมีความสามารถที่ไม่ถึงก็ตามที จึงทำให้งานส่วนใหญ่กลายเป็นผักชีโรยหน้าหรือทำไปด้วยความเกรงใจผู้อำนาจ แต่ในใจไม่ได้อยากทำเลยสักนิด ซึ่งต่างกับหลายๆ ชาติที่เขาจะให้ความสำคัญกับหน้าที่ จรรยาบรรณอาชีพ และข้อตกลงมากกว่า

(5) การกระจายความเจริญ
ถ้าไม่ใช่เมืองหลวงหรือเมืองใหญ่ๆ การลงทุนแทบเดินทางไปไม่ถึง จึงไม่แปลกที่คนส่วนมากพยายามหนีเข้ามาในเมืองใหญ่เพื่อมองหาโอกาสในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของตัวเอง และเปลี่ยนให้เมืองกลายเป็นชุมชนแออัดไปซะดื้อๆ ในขณะเดียวกันก็ทำให้สังคมชนบทค่อยๆ หายไป

(6) กฎหมายไม่เข้มแข็ง
อาจไม่ใช่แค่ประเทศไทยที่นามสกุลและตัวเงินสามารถปิดหูปิดตา และสร้างทางลัดได้ แต่ยังไงซะเราก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นกัน ว่าสังคมไทยกำลังประสบปัญหาเช่นนี้อยู่

(7) ขี้อิจฉา
สังคมไทยไม่เคยพอใจสิ่งที่ตัวเองมี คิดแต่ว่าเขามีได้ เราก็ต้องมีได้ แต่ดันไม่เคยตั้งคำถามว่า “จะมีไปทำไม” หรือ “ทำไปทำไม”

(8) ค้านลูกเดียว
คำว่า “ติเพื่อก่อ” เป็นสิ่งที่นำมาใช้ได้จริงยากมากในสังคมไทย เพราะส่วนมากชอบให้คนอื่นชื่นชม แต่มักไม่ชอบชมใครก่อน ส่วนมากมันจึงตั้งคำถามเชิงลบมากกว่าการทำความเข้าใจกับประโยชน์ที่ได้ แถมยังเป็นการค้านแบบหัวชนฝา และไม่ฟังเหตุผลของอีกฝ่าย

(9) ยังไม่พร้อมในเวทีโลก
เราใช้คำว่า AEC กันจนเกร่อ แต่ไม่เคยเข้าใจว่ามันคืออะไร หรือต่อให้พร้อม เราก็คงไปไม่ได้ง่ายๆ เพราะเรายังขาดทักษะในการทำงานเป็นทีม เพราะคนส่วนใหญ่ไม่ชอบเป็นหาง แถมพอให้เป็นหัวก็ยังไม่อยากเป็นเหมือนกัน ประมาณว่าอยากเสนอหน้าแต่ไม่กล้านำ

(10) คนรุ่นใหม่ไร้คุณภาพ
เด็กไทยขาดภูมิคุ้มกันด้านความอดทน เพราะถูกเลี้ยงมาแบบไข่ในหิน ไม่เคยรู้จักความลำบาก และมักถูกสปอยในเรื่องที่ไม่ค่อยเข้าท่า ต่างกับเด็กในอีกหลายๆ ชาติที่เขาเลิกงอมืองอ TEEN และดิ้นรนด้วยตัวเองตั้งแต่อายุยังน้อย แถมเด็กๆ ในบ้านเขายังถูกสอนให้รับผิดชอบต่อสังคมมากกว่าของเราซะอีก

อาจจะขัดใจใครหลายๆ คนนะครับ แต่ถ้าคิดว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ปัญหาของคนไทยก็ลองหาคำตอบมาหักล้าง หรือถ้าหาไม่ได้ ก็ลองแก้ไข 10 จุดอ่อนเหล่านี้ ให้หายไปจากตัวคุณซะ เพราะปัญหาของคนไทยคงไม่มีใครแก้ได้ดีไปกว่าคนไทยอีกแล้ว

Source : http://articles.spokedark.tv/2013/06/09/10-weakness/#.UeI4PNLfAb0