องค์กรและโครงการภายใต้มูลนิธิฯ

องค์กรภายใต้มูลนิธิฯ

คณะกรรมการศาสนาเพื่อการพัฒนา (ศพพ.)

ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2522 เพื่อประสานความร่วมมือระหว่างกลุ่มและองค์กรที่มีแนวทางในการใช้ศาสนธรรม เพื่อการทำงานทางสังคม รวมทั้ง สนับสนุนเครือข่ายกัลยาณมิตร และการเรียนรู้ของพระสง์ แม่ชี อุบาสก อุบาสิกา ให้มีบทบาทในชุมชนและสังคมอย่างกว้างขวาง จนเมื่อปี พ.ศ. 2533   คณะกรรมการศาสนาเพื่อการพัฒนา (ศพพ.) ได้อาราธนาพระสงฆ์ที่กล่าวถึงหลายรูปมาประชุม เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานช่วยเหลือสังคม และยังถือเป็นโอกาสให้ท่านได้เจริญสมาธิภาวนาร่วมกัน อันจะเป็นการเกื้อกูลกำลังใจต่อกันและกันได้ในโอกาสต่อไป ในการณ์นี้ หลายท่านเห็นพ้องว่า พระสงฆ์และแม่ชีที่ทำงานในลักษณะนี้ ควรรวมตัวเป็นเครือข่ายเพื่อเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน  อันจะทำให้การประยุกต์หลักศาสนธรรมกับชีวิตและสังคมมีความยั่งยืน และสามารถเป็นร่มเงาให้กับสังคมต่อไป จึงได้พร้อมใจกันก่อตั้ง "กลุ่มเสขิยธรรม" ขึ้น ด้วยจุดมุ่งหมายสำคัญ คือส่งเสริมการประยุกต์หลักศาสนธรรมให้เกื้อหนุนต่อการพัฒนาตนเอง สังคม และธรรมชาติ ให้ก้าวพ้นวิกฤตการณ์ทั้งหลายอย่าง เป็นรูปธรรมและสมสมัย และส่งเสริมชีวิตพรมหจรรย์ที่ยั่งยืนและเป็นสุข ส่งเสริมการพัฒนาตนและสังคม โดยคำนึงถึงธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม บนพื้นฐานของศาสนาธรรม โดยเป็นแบบอย่างที่ดีในการใช้ชีวิตที่ประหยัดและเรียบง่าย การใฝ่รู้ใฝ่พัฒนาตนเอง ตามหลักไตรสิกขา เป็นแบบอย่างของการส่งเสริมภูมิปัญญาชาวบ้าน การอนุรักษ์ธรรมชาติ และประเพณีวัฒนธรรมที่ดีงาม

หมายเหตุ หยุดพักการดำเนินงาน

เครือข่ายพุทธศาสนิกสัมพันธ์เพื่อสังคม (INEB)

เป็นเครือข่ายของนักปฏิบัติทางสังคม ผู้นำศาสนา นักวิชาการ และองค์กรพุทธศาสนาจากทั่วโลกและทุกนิกาย ที่ได้ผสานการปฎิบัติธรรมทางพุทธศาสนากับการปฏิบัติการทางสังคมเพื่อสร้างสรรค์โลกที่สงบสุขและยุติธรรม ถือเอาปัญญาและเมตตาในการปฏิบัติพันธกิจต่อชุมชนโลก INEB ก่อตั้งขึ้นจากการประชุมนานาชาติ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2532 โดยอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ โดยปัจจุบันมีกองเลขา อยู่ที่มูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป ได้จัดกิจกรรมสัมมนา และประชุมนานาชาติที่แตกต่างหลากหลาย เช่น การสร้างสันติภาพ การไกล่เกลี่ยความขัดแย้ง การสร้างสรรค์ชุมชน สิทธิมนุษยชน บทบาทนักบวชในยุคสมัยใหม่ การพัฒนาแบบททางเลือก เป็นต้น

ศูนย์ไทย-ธิเบต

เกิดขึ้นจากการริเริ่มและรวมกลุ่มกันชาว ไทย ผู้สนใจเรื่องราวทางธิเบตศึกษาและพุทธศาสนาฝ่ายวัชรยาน ที่มุ่งหวังศึกษาและเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวัฒนธรรมสังคมของธิ เบต และสร้างความร่วมมือระหว่างพุทธศาสนานิกายต่างๆ ภารกิจสำคัญคือ การเสวนา สัมมนา จัดทำข้อมูลและเอกสารเกี่ยวกับธิเบต เพื่อศึกษา ค้นคว้า วิจัย

หมายเหตุ หยุดพักการดำเนินงาน

สถาบันต้นกล้า​

ก่อรูปร่างมาตั้งแต่ปลายปี 2547 ในระยะแรกมุ่งเน้นไปที่งานเยาวชน นักศึกษาเป็นหลัก จนปลายปี 2548 ได้นำแนวคิดเรื่อง We Change มาเป็นประเด็นหลักในการรณรงค์ และขยายกลุ่มคนออกไป ซึ่งมีงานหลักๆ 3 ส่วนคือ

  1. งานสร้างชุมชน อันเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อน We Change ไปในสังคม ซึ่งจัดเป็นงานค่าย, งานอบรม, จัดกิจกรรมรณรงค์ในที่สาธารณะ ในเนื้หาเช่น การวิเคราะห์ทุนนิยม บริโภคนิยม วิถีชีวิตที่ควรเป็น
  2. การสร้างบรรยากาศ สร้างพื้นที่ให้เกิดการเชื่อมต่อเพื่อการสื่อสารกันอยู่เนือง ในรูปแบบของ เว็บไซต์ ร้านขายของจุลสารรายเดือน
  3. รวบรวมองค์ความรู้ ที่ได้มีการปฏิบัติการหรือการรณรงค์แล้ว ที่นั่นย่อมต้องมีข้อมูลมารองรับเพื่อดึงเนื้อหาสาระไปใช้ต่อไป เช่น เรื่องแนวคิดนิเวศวิทยาเชิงลึก, แนวคิดแบบเชื่อมโยง, วัฒนธรรมแบบ DIY, แอดบัสเตอร์ ขบวนการซาปาติสต้า, การจัดโครงสร้างองค์กรแบบเครือสหาย เป็นต้น

สถาบันสันติประชาธรรม

สถาบันแห่งนี้ตั้งขึ้นใน ปี 2529 เพื่อส่งเสริมประชาธิปไตย ชนิดที่ประชาชนมีอำนาจในการตัดสินชะตาชีวิตของตนเองอย่างแท้จริง โดยต้อง ควบคู่ไปกับความเป็นธรรมในสังคมด้วยเสมอไป งานของสถาบันเน้นหนักไป ในทางปลุกมโนธรรมสำนึกในสังคมโดยจัดปาฐกถาและสัมมนาในประเด็นที่เกี่ยวข้อง กับวัตถุประสงค์อยู่เนื่องๆ รวมทั้งจัดอบรมสันติวิธีเสมอๆ โดยเชิญบุคคลอย่างที่ชำนาญด้านนี้มาจากต่างประเทศด้วย เช่น ยอช วิลโลบี้ และ ยอช เลกี้ เป็นต้น พร้อมๆ กันนั้น ได้จัดโครงการอบรมคนรุ่นใหม่ที่กำลังจะจบมหาวิทยาลัยเพื่อให้ตื่นตัวทาง สังคมการเมืองและเสริมทักษะและความเข้าใจในการทำงานเพื่อสังคม

เสขิยธรรม

การรวมตัวของพระสงฆ์และแม่ชีที่ทำงานเพื่อสังคมเป็นเครือข่ายเพื่อเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน  อันจะทำให้การประยุกต์หลักศาสนธรรมกับชีวิตและสังคมมีความยั่งยืน และสามารถเป็นร่มเงาให้กับสังคมต่อไป จึงได้พร้อมใจกันก่อตั้ง "กลุ่มเสขิยธรรม" ขึ้น ด้วยจุดมุ่งหมายสำคัญ คือส่งเสริมการประยุกต์หลักศาสนธรรมให้เกื้อหนุนต่อการพัฒนาตนเอง สังคม และธรรมชาติ ให้ก้าวพ้นวิกฤตการณ์ทั้งหลายอย่าง เป็นรูปธรรมและสมสมัย

เสมสิกขาลัย

ก่อตั้งเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2538 ตรงกับวันมาฆบูชา มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดกระบวนการเรียนรู้อย่างมีจิตวิญญาณแบบองค์รวม  เสมสิกขาลัย นำกระบวนการเรียนรู้อย่างมีจิตวิญญาณมาเป็นทางเลือกใหม่ให้กับแวดวงการศึกษา ไทย ซึ่งเน้นรูปแบบของการมีส่วนร่วมของผู้เรียน มุ่งเนื้อหาที่กลับมาหาความสุขและความมั่นคงภายในแห่งชีวิต โดยไม่เน้นความสำเร็จทางวัตถุและความสำเร็จภายนอก และสนับสนุนผู้เรียนให้ได้ฝึกฝนตนเองในทุกด้านของชีวิตโดยเฉพาะสามารถผสม ผสานความรู้ทางสมองและหัวใจเข้าด้วยกัน เพื่อเข้าถึงความดี ความงาม และความจริง ซึ่งจะเป็นรากฐานสำคัญที่นำไปสู่ความรักและเข้าใจเรื่องความเป็นธรรมทาง สังคม วัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่น ตลอดจนระบบนิเวศวิทยา

อาศรมวงศ์สนิท

ก่อตั้งอย่างเป็นทางการปี พ.ศ. 2527 โดยความพยายาม ของนักคิด นักอุดมคติ กลุ่มหนึ่ง โดยการนำของอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ที่เห็นว่าควรมีสถานที่พักทางจิตวิญญาณเพื่อจะมีวันแห่งสติร่วมกัน และเป็นชุมชนในอุดมคติที่ผู้คนสามารถดำรงชีวิตได้อย่างเป็นสุขและสมดุล และปัจจุบันกลายเป็นชุมชนทวนกระแสที่บนเนื้อที่กว่า 37 ไร่ที่คลอง 15 อ.องครักษ์ จ.นครนายก ที่นี่สร้างวิถีทางเลือกใหม่ที่เรียบง่ายใกล้ชิดธรรมชาติ มีภาวนาเป็นพื้นฐานในการทำกิจกรรมรับใช้สังคมและเปลี่ยนแปลงสังคม สามารถพึ่งตนเองได้อย่างพอประมาณ พยายามเอื้อให้สมาชิกมีการเรียนรู้เพื่อค้นหาพัฒนาศักยภาพของตน พร้อมกันนั้นก็เป็นแหล่งเยียวยารักษา เพื่อนำมาซึ่งดุลยภาพแห่งชีวิต ซึ่งปี 2552 ถือเป็นวาระสำคัญที่อาศรมวงศ์สนิท ครบ 25 ปี จึงจัดมหกรรม -นิเวศน์ชุมชนสู่คนรุ่นใหม่- ระหว่างวันที่ 13-15 ธันวาคม 2552 ที่อาศรมวงศ์สนิท เพื่อนำเสนอแนวคิดนิเวศชุมชนต่อสังคมโดยมุ่งเน้นไปที่เยาวชนคนรุ่นใหม่อัน เป็นกำลังสำคัญที่จะร่วมกันสร้างสรรค์ สืบต่อภูมิปัญญา และแก้ไขวิกฤตการณ์ของโลก โดยนำเอาระบบคุณค่าและภูมิปัญญาของชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม ผสมผสานกับความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เพื่อออกแบบชุมชนนิเวศที่ผู้คนใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างเกื้อกูล และสอดคล้องกับธรรมชาติ ซึ่งปัจจุบันมีเครือข่ายหมู่บ้านนิเวศน์ระดับสากลขึ้น (Global Eco-village Network-Gen) ด้วย

โครงการภายใต้มูลนิธิฯ

กองทุนกรุณา-เรืองอุไร กุศลาสัย เพื่อความเป็นไทของเด็กและเยาวชน

โครงการที่จัดกิจกรรมเพื่อรำลึกถึงพระคุณของอาจารย์กรุณา และอาจาร์เรืองอุไร กุศลาสัย ที่มีต่อสังคมไทยมาอย่างยาวนานตลอดช่วงชีวิตของท่าน เช่น

  • กิจกรรม "อินเดีย เห็นด้วยตา รู้ด้วยใจ" รำลึกอาจารย์กรุณา กุศลาสัย วันที่ 4 สิงหาคม 2555
  • กิจกรรม "กรุณาแห่งศานติ" 21 สิงหาคม 2553

โครงการเกี่ยวกับ ศ.ดร.ป๋วย อึ้งภากรณ์

โครงการประสานชาติพันธุ์อันดามัน

เมื่อปี พ.ศ. 2551- 2553 โครงการประสานชาติพันธุ์อันดามันก่อตั้งขึ้นภายใต้ร่มของมูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป เนื่องจากได้เห็นปัญหาอันเนื่องมาจากเหตุการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติสึนามิเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547 ซึ่งส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงทั้งต่อคนไทยและชาวต่างชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกลุ่มแรงงานข้ามชาติสัญชาติพม่าซึ่งทำงานอยู่ในพื้นที่ผลกระทบจากภัยพิบัติสึนามิ ล้วนได้รับผล?กระทบทั้งด้านชีวิตและจิตใจอย่างชัดเจน นอกจากปัญหาดังกล่าวแล้ว ยังมีปัญหาความเป็นอยู่ที่ไม่สามารถอยู่ร่วมกันอย่างราบรื่นระหว่างชุมชนไทยและชุมชนแรงงานข้ามชาติสัญชาติพม่า ตลอดเวลา 3 ปีตั้งแต่ปี 2551-2553 โครงการประสานชาติพันธุ์ได้ดำเนินโครงการต่างๆ เพื่อสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างชุมชนไทยและแรงงานข้ามชาติสัญชาติพม่า

หมายเหตุ หยุดพักการดำเนินงาน

โครงการอนุสรณ์อยุธยา-ธนบุรี 250 ปี

มูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป ได้ร่วมเป็นภาคีจัดทำโครงการอนุสรณ์อยุธยา-ธนบุรี 250 ปี เพื่อส่งเสริมให้บุคคลทั่วไปได้กลับมารำลึกถึงความสำคัญและคุณค่าด้านศิลปะวัฒนธรรมของกรุงศรีอยุธยา

ปาจารยสาร

นิตยสารราย 4 เดือน ที่มีจุดประสงค์ในการจัดทำขึ้นเพื่อนำเสนอความดี ความงาม และความจริงของโลก

เรือนร้อยฉนำ

สถานที่ซึ่งเปรียบเสมือนบ้านของชาวมูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป มีจุดประสงค์เพื่อใช้ในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ทั้งภายในองค์กรและเปิดกว้างให้บุคคลหรือองค์กรภายนอกเข้ามาใช้บริการได้เช่นกัน

ห้องสมุดสันติประชาธรรม

ให้บริการค้นคว้าและยืมคืนหนังสือด้วยระบบคอมพิวเตอร์ เปิดบริการ จันทร์-ศุกร์ เวลา 09.00-17.00 น. ห้องสมุดมีความตั้งใจจริงที่จะให้ทุกคนสามารถเข้ามามีส่วนร่วม ทั้งการเข้าใช้บริการ การสมัครเป็นสมาชิก การบริจาคเงินหรือหนังสือที่มีคุณค่า หรือแม้แต่การเป็นอาสาสมัครช่วยงานห้องสมุด

เว็บไซต์ sulak-sivaraksa.org

นำเสนอทุกเรื่องราว ทุกมุมมองความคิดของ ‘ปัญญาชนสยาม’ ซึ่งมีนามว่า สุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือ ส.ศิวรักษ์ ผู้ก่อตั้งมูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป และดำรงตำแหน่งประธานที่ปรึกษาของมูลนิธิฯ