แด่นายกรุณา กุศลาสัย

แด่นายกรุณา กุศลาสัย

Author : ส.ศิวรักษ์

นายกรุณา กุศลาสัย (10 พฤษภาคม 2463 – 13 สิงหาคม 2552) ตายจากไป ณ บ้านลูกชาย ทางฝั่งธนบุรี เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2552 ซึ่งตรงกับวันพระ แรม 8 ค่ำ เดือน 9 ปีฉลู ค.ศ. 2009 นับอายุได้ 89 ปีเศษ โดยไม่ได้เจ็บไข้ได้ป่วยเอาเลยก็ว่าได้ คือสิ้นลมปราณไปอย่างสงบ เพราะสิ้นอายุขัย นับว่าเป็นกุศลสมาจาร ซึ่งหาได้ยากในสมัยปัจจุบัน และการจากไปของบุรุษอาชาไนยของสยามผู้นี้ ก็ดูจะไม่เป็นที่สนใจของผู้คนในกระแสหลักของสังคม ซึ่งคงลืมเขาไปเสียแล้วก็ได้ ทั้งๆ ที่เขามีคุณูปการกับบ้านเมืองมามิใช่น้อย และวิถีชีวิตของเขาก็เป็นแบบอย่างในทางของปูชนียบุคคลที่หาได้ยาก หากสมัยนี้ เราไม่ยกย่องเชิดชูคนดีกันอีกแล้ว เราสนใจแต่คนเด่นคนดังและคนที่มีชาติวุฒิอันจอมปลอม หรือคนที่สวมหัวโขนอันโก้หรูไว้ หากภายในหน้ากากนั้นเต็มไปด้วยความกักขละและโสมม มากบ้างน้อยบ้างแทบทุกคน พร้อมกันนั้น เราก็ต้องตราไว้ว่า นายกรุณาไม่ต้องการเกียรติยศชื่อเสียงใดๆ ไม่ต้องการอนุสาวรีย์ หรือคำยกย่องสรรเสริญใดๆ ตามสมัยนิยม หากเขาปิดทองหลังพระมาเกือบจะโดยตลอด และเขาต้องการให้ชื่อเสียงของเขาจางหายไปตามทางของพระอนัตตลักษณะ โดยเขาเป็นคนที่ติดยึดในตัวตนน้อย พร้อมที่จะยกย่องเชิดชูผู้อื่น โดยที่เขาเคยได้รับเกียรติยศจากภารตประเทศ ยิ่งกว่าจากประเทศบ้านเกิดเมืองนอนของเขา ซึ่งนอกจากจะเนรคุณเขาด้วยการจำจองเขาเป็นเวลานาน โดยหาความผิดไม่ได้แล้ว ยังเมินเขาเสียอีกก็ว่าได้ ทั้งนี้รวมถึงสถาบันที่เขามีส่วนร่วมปลุกปั้นมาแต่แรกด้วย เช่น มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และอาศรมไทยภารตะ  

การที่เขาได้เป็นศิลปินแห่งชาติ หรือรางวัลศรีบูรพานั้น ก็หามีความสำคัญอันใดไม่ เพราะการยกย่องผู้คนในสังคมไทย ขาดมาตรฐานอันมุ่งที่ความเป็นเลิศอย่างแท้จริง

อัตชีวประวัติของเขาเรื่อง ชีวิตที่เลือกไม่ได้ นั้น เขียนเล่าให้ลูกๆ ฟัง อย่างอ่อนน้อมถ่อมตน และอย่างน่ารับฟัง แถมเขายังแปลเป็นภาษาอังกฤษให้ได้รับรู้กันในวงกว้างออกไปยังนานาชาติอีกด้วย แต่ถ้าเราอ่านในระหว่างบันทัดก็จะเห็นได้ ว่าชีวิตของเขา เป็นชีวิตที่เขาเลือกได้ และเลือกแล้ว ที่จะเป็นคนเอาชนะอุปสัค และความยากจน หากเขาเลือกเดินตามทางของสาธุชน ด้วยวิริยะ อุตสาหะ โดยเขาแสวงหากัลยาณมิตรได้มาตลอด และเขามองคนในแง่ดี  แม้จะเห็นข้อบกพร่องของบุคคลนั้นๆ เขาก็เข้าใจและให้อภัย ประกอบไปด้วยความอดทน ความอดกลั้น และความเมตตากรุณาที่มีอยู่ในตัวเขา สมกับชื่อที่เขาตั้งให้ตัวเอง จากชื่อเดิมว่ากิมเฮง และนามสกุลของเขา ก็ยืนยันว่าเขาพึ่งพิงอยู่กับกุศลสมาจารอย่างแท้จริง

การที่เขาบวชเณรเมื่ออายุ 13 ปี แล้วเดินตามพระโลกนาถ (ภิกษุอเมริกัน เชื้อสายอิตาเลี่ยน) ไปจนถึงอินเดียนั้น นับว่าเป็นความวิเศษมหัศจรรย์อันไม่มีผู้ใดเหมือน เพราะพระเณรที่ตามพระโลกนาถไปเป็นจำนวนมากนั้น ไม่ว่าจะปัญญานันทะภิกขุ หรือใครก็ตาม ล้วนเลิกล้มความตั้งใจกันกลางคันทั้งนั้น โดยมักจะกล่าวหาว่าพระฝรั่งหูเบา เพื่อนสหธรรมิกปราศจากสามัคคีธรรม หรือต่างก็ปราศจากขันติธรรมจนถึงขนาดก็ได้ แต่นายกรุณาไม่เคยโอ้อวดถึงความมหัศจรรย์ที่เขาเดินทางจนถึงจุดหมายปลายทาง แม้ญาติโยมทางพม่าจะชวนให้เณรน้อยสึกหาลาเพศ แถมจะยกลูกสาวให้ที่ประเทศนั้นเสียด้วยซ้ำไป

ทัศนะของนายกรุณาที่มีต่อพระโลกนาถนั้นเป็นไปในทางบวก อย่างเคารพนับถือ และยกย่องสรรเสริญ  จนตลอดชีวิต ในขณะที่พระไทยส่วนใหญ่ไม่เห็นคุณค่าของพระคุณท่าน ดังพระไทยส่วนใหญ่ก็ไม่ได้เห็นคุณค่าของพระฝรั่งมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว เพราะถือตนว่าสูงส่งกว่าท่านนั้นๆ ดังท่านพระญาณดิลก (ชาวเยอรมัน) ก็เขียนเล่าไว้ในอัตชีวประวัติท่านอย่างน่าพิจารณา โดยที่เราเพิ่งมาเห่อพระฝรั่งสายท่านพระอาจารย์ชา สุภัทโทกันเมื่อเร็วๆ นี้เอง แต่พระมหาเถระที่อิจฉาท่านนั้นๆ ก็ยังมีอีกมาก และฆราวาสที่เห่อพระฝรั่งสายนี้ ก็ดูจะเป็นคุณหญิงคุณนาย และพวกที่ชอบความทันสมัยเสียแหละมากกว่าอะไรอื่น ที่จะให้ใครพวกนี้สนใจถึงโครงสร้างทางสังคมอันอยุติธรรมและรุนแรง แทบจะหาไม่ได้เอาเลย และพระสายนี้ก็ไม่เคยสอนธรรมในแนวนี้ ทั้งๆ พุทธมามกะซึ่งเป็นชนชั้นสูงในสังคมไทยนี้แลคือเป็นส่วนที่สำคัญอันธำรงโครง สร้างอันอยุติธรรมดังกล่าวไว้ ถ้าตีประเด็นนี้ไม่แตก ศีลจักเป็นความเป็นปกติของบุคคลและสังคม ตามความหมายที่แท้ ที่พระบรมศาสดาตรัสสอนไว้ได้ละหรือ

ว่าจำเพาะนายกรุณา เมื่อยังบรรพชาเป็นสามเณรอยู่ในชมภูทวีปนั้น ได้เรียนภาษาฮินดี บาลี สันสกฤต และอังกฤษ อย่างลำบากยากเข็ญ และด้วยวิริยะอุตสาหะ ประกอบกับสติปัญญาซึ่งแฝงความเป็นเลิศไว้ จนสอบได้ภาษาฮินดีเป็นที่หนึ่งของประเทศเอาเลย และได้เข้าเรียนในสันตินิเกตันของท่านรพินทรนาถ ฐากูร ร่วมสมัยกับนายเฟื้อ หริพิทักษ์ ดังอาจถือได้ว่ารัตนมณีของไทยทั้งคู่นี้ได้รับการเจียรไนที่สถาบันการศึกษานอกระบบของอินเดียอย่างเหมาะสมยิ่ง และอาจกล่าวได้ว่าคนที่ไปเรียนอินเดียต่อแต่นั้นมา จะหาใครที่เข้าถึงอารยธรรมของภารตประเทศอย่างถ่องแท้ดังนายกรุณา คงหาได้ยาก ส่วนมากไปรับเอากากเดนการศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ของประเทศนั้นมาอย่างกึ่งดิบกึ่งดี โดยที่หาความเป็นเลิศได้ยากเต็มที นี้นับว่าน่าละอายยิ่งนัก

ในสมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่แล้ว คนสำคัญของไทย เกือบจะไม่ไปอินเดียกัน มีสองท่านผู้ใหญ่ที่ไปและได้พบสามเณรกรุณา โดยที่ทั้งสองท่านนี้ชื่นชมเณรหนุ่มรูปนี้ทั้งคู่ ดังสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต ถึงกับทรงรับเป็นโยมอุปัฎฐาก และสมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ ตรัสชวนให้สามเณรไปอยู่วัดบวรนิเวศ โดยไม่ทรงรังเกียจความเป็นมหานิกายของเธอ ส่วนพุทธทาสภิกขุนั้นได้ติดต่อทางจดหมายกับเณรน้อยรูปนี้ อย่างต่างก็รับฟังจากกันและกัน และได้เป็นกัลยาณมิตรกันตลอดมา

น่าเสียดายที่สามเณรกรุณาต้องลาสิกขา เพราะไทยประกาศสงครามกับอังกฤษ ซึ่งปกครองอินเดีย นายกรุณาจึงถูกจองจำในฐานะชนชาติศัตรู เฉกเช่นนายเฟื้อ หริพิทักษ์ด้วยเหมือนกัน

ในค่ายกักกันนี้แล ที่หนุ่มกรุณาพบรักครั้งแรกกับสาวญี่ปุ่น ที่เป็นชนชาติศัตรูของอังกฤษเช่นเดียวกับไทย หากแล้วก็แคล้วคลาดกันไป โดยที่นายเฟื้อนั้นถูกพรากไปจากศรีภรรยา คือ ม.ร.ว. ถนอมศักดิ์ กฤดากร จนเกิดอาการวิกฤตศรัทธา ถึงกับไปรับเอาพระนารายณ์เป็นเจ้ามาเป็นสรณะ ดังได้เปลี่ยนนามสกุลจากทองอยู่ มาเป็นหริพิทักษ์

เมื่อเสร็จสงครามแล้ว อังกฤษเอาเชลยไทยส่งคืนประเทศ แต่อ่าวไทยยังเต็มไปด้วยทุ่นระเบิด อังกฤษจึงปล่ยนายกรุณาไว้ที่สิงคโปร์ ให้เดินนับหมอนไม้รถไฟกลับกรุงเทพฯ ผ่านประเทศมลายู ซึ่งเขาเล่าว่าได้รับความเมตตาปราณีจากเพื่อนมุสลิมในประเทศนี้อย่างดียิ่ง

นายกรุณาเริ่มทำงานให้สถานทูตอินเดียที่กรุงเทพฯ เมื่อประเทศนั้นเปิดสัมพันธไมตรีกับไทย หลังจากที่อินเดียได้รับเอกราช และเขาร่วมสอนภาษาสันสกฤตและฮินดีให้ที่อาศรมไทยภารตด้วย และจากการสอนภาษาฮินดีนี้แล ที่ศิษย์สาวคนหนึ่งเกิดสมัครรักใคร่กับครู จนได้เป็นสามีภรรยากัน และอยู่กินด้วยกันอย่างเป็นคู่ชีวิตที่หาคู่อื่นใดเสมอเหมือนได้ยาก ดังต่อมานางเรืองอุไร  ผู้ภริยาตาบอด สามีก็ปรนนิบัติวัตถากอย่างใกล้ชิด เวลาภริยาไปประชุมที่ราชบัณฑิตยสถาน สามีก็พาไปส่งและรับกลับ หากทั้งคู่ไม่ยอมสมัครเป็นภาคีสมาชิกของสถาบันดังกล่าว เพราะทั้งคู่เห็นว่าการเป็นราชบัณฑิตด้วยการกระเสือกกระสนไปให้เขาเลือกมาอีกทีนั้น เป็นเกียรติยศที่จอมปลอม แม้ทั้งคู่จะเก็บความข้อนี้ไว้อย่างเงียบๆ ก็ตาม ดังทั้งคู่นี้ไม่ยอมเปิดปากวิพากษ์วิจารณ์อะไรๆ ให้เป็นที่อื้อฉาว แต่ก็อดบอกความในใจให้กัลยาณมิตรวงในรับทราบไว้ด้วยเนืองๆ

ดังมติเกี่ยวกับการตั้งเจ้าอาวาสวัดชลประทานรังสฤษดิ์เป็นรูปแรกนั้น กัลยาณมิตรของนายกรุณาก็มีส่วนอย่างสำคัญ ดังท่านผู้นั้นก็ยอมรับว่า เขาเลือกพระผิดเสียแล้ว ที่จริงเขาเสนอชื่อพระอาจารย์ขาว แต่ท่านรูปนั้นปฏิเสธโดยที่คนในสมัยนี้ก็คงลืมพระอาจารย์ขาวไปแล้ว ดังที่คนก็จะลืมชื่อนายกรุณา ซึ่งได้รับใช้ใกล้ชิดเจ้าคุณพระพิมลธรรม (อาจ) แต่สมัยท่านมีบทบาทกับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในยุคบุกเบิกอย่างสำคัญ โดยพระอาจารย์ขาวก็เป็นอาจารย์สอนกัมมฐานที่สถาบันการศึกษาแห่งนั้นมาแต่สมัยแรกด้วย โดยที่นายกรุณากับเจ้าคุณพระพิมลธรรม (อาจ) นั้น นอกจากจะเป็นศิษย์กับอาจารย์กันแล้ว ยังเป็นกัลยาณมิตรของกันและกันอีกด้วย นายกรุณากล้าเตือนพระคุณท่านได้อย่างจังๆ จนภายหลังข้าพเจ้าก็อาศัยนายกรุณาส่งสารถึงพระคุณท่านได้ง่าย และอาจวิพากษ์วิจารณ์พระคุณท่านได้ด้วย หากพระผู้ใหญ่มีกัลยาณมิตร เป็นปรโตโฆษะ พระเถระนั้นๆ ก็ย่อมเจริญโยนิโสมนสิการได้ น่าเสียดายที่พระมหาเถระร่วมสมัยขาดกัลยาณมิตรกันแทบทั้งนั้น แถมยังไม่เจริญโยนิโสมนสิการอีกด้วย ความเป็นสมีและอลัชชีจึ้งเข้าครอบงำท่านผู้ทรงสมณศักดิ์สูงๆ เหล่านั้นกันอย่างน่าเสียดาย รวมทั้งในมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยอีกด้วย

นายกรุณาเป็นกัลยาณบุคคลที่มีกัลยาณมิตรมาตลอดชีวิต ตั้งแต่พระโลกนาถเป็นต้นมา จนถึงศรีภริยา ส่วนเพื่อนร่วมงานที่เป็นกัลยาณมิตรคนสำคัญนั้นมี 2 คนคือ นายสังข์ พัธโนทัย และนายอารี ภิรมย์  โดยที่ทั้งคู่นี้เคยทำงานอยู่ที่กรมโฆษณาการ ซึ่งต่อมากลายเป็นกรมประชาสัมพันธ์ นายสังข์ ใกล้ชิดกับจอมพล ป. พิบูลสงคราม จนมีชื่อเสียงมัวหมองตามเผด็จการผู้นั้น แต่ด้วยความซื่อสัตย์จงรักภักดีกับเจ้านาย นายสังข์สามารถเกลี้ยกล่อมให้จอมพล ป. หันมาสนใจขบวนการกรรมกร และใช้นายสังข์เป็นนกต่อให้ หาทางสัมพันธ์กับสาธารณรัฐประชาชนจีน นายสังข์จึงต้องมาวานนายกรุณาและนายอารี ซึ่งเป็นเจ้าของโรงเรียนจีนด้วย และมีเส้นสายกับสมาชิกของพรรคคอมมูนิสต์จีน  เป็นเหตุให้นายกรุณาและนายอารี เป็นทูตรุ่นแรกที่ได้ไปเมืองจีน จนได้พบโจเอินไหลและเมาเซตุง ดังทั้งคู่นี้เขียนเล่าไว้แล้ว และบำเหน็จที่ทั้งคู่นี้ได้รับคือการถูกจอมพล ส. ธนรัตน์จองจำไว้ในคุกลาดยาวเป็นเวลานาน ครั้นเมื่อไทยเปิดสัมพันธไมตรีกับจีนอย่างเป็นทางราชการ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช นักฉวยโอกาสที่เคยเกลียดจีนมาอย่างออกหน้า ก็ได้กลายเป็นพระเอกขี่ม้าขาวไปแสดงบทบาทอย่างเป็นที่ชื่นชมของทั้งจีนและไทย ในขณะที่นายอารีและนายกรุณาถูกลืมไปนั้นแล

ทางด้านภารตวิทยานั้น นายกรุณาและนางเรืองอุไร ผู้ภริยา ได้ผลิตผลงานออกมามิใช่น้อย ทั้งยังช่วยคนอื่นๆ ที่ต้องการเรียบเรียงเรื่องทางชมภูทวีปทุกๆ คน ที่ไปขอความอนุเคราะห์ ดังข้าพเจ้าก็ได้เป็นหนี้บุญคุณท่านทั้งสองนี้มาเป็นอันมาก

ใช่แต่เท่านั้น นายกรุณายังเป็นญาติทางข้างภริยาข้าพเจ้า มีอะไรๆ ที่ท่านและภริยาจะช่วยเหลือเกื้อกูลครอบครัวของเรา ท่านเต็มใจทำให้อย่างเต็มที่ ทั้งท่านยังช่วยกิจการของข้าพเจ้าทางมูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป และมูลนิธิโกมลคีมทองอีกด้วย  ยิ่งมูลนิธิที่เอ่ยชื่อมาแต่แรกด้วยแล้ว สามีภริยาคู่นี้เคารพนับถือท่านเสฐียรโกเศศกับท่านนาคะประทีป ทั้งทางส่วนตนและส่วนรวม ดังอาจนับว่าทั้งคู่นี้สืบทอดเจตนารมณ์ของท่านเสฐียรโกเศศ และท่านนาคะประทีป ต่อมาอีกชั่วคนหนึ่งเอาเลยก็ว่าได้ ส่วนมูลนิธิโกมลฯ นั้นเล่า ก็มีเป้าหมายในการอุดหนุนอุดมคติสำหรับคนหนุ่มสาว ย่อมเป็นที่ชอบใจของนายกรุณาและศรีภริยายิ่งนัก

นายกรุณากินอยู่อย่างเรียบง่าย ทำโยคะเป็นกิจวัตรประจำวัน ในบั้นปลายแห่งชีวิต นายกรุณามีอาการหลงลืมบ้าง แต่ก็ไม่เลวร้ายนัก เคยไปพักบ้านคนชราเป็นบางคราว แล้วก็ได้กลับมาอยู่บ้านลูกชาย จนตายจากไปที่นั่นอย่างสงบ

การที่นายกรุณาตายจากไปคราวนี้ ที่น่าสงสัยก็คือ เราจะทำอะไรได้บ้าง เพื่อช่วยกันสรรสร้างให้มีคนอย่างนี้อยู่ร่วมสมัยกับเราต่อๆไป ทั้งในช่วงอายุเราและรุ่นลูกรุ่นหลานของเราด้วย ให้เขาเหล่านั้นได้เป็นทั้งคนดี ที่มีความรู้ และอุทิศตนเพื่อส่วนรวมอย่างปิดทองหลังพระ ดังที่เราสืบทอดวัฒนธรรมดังกล่าวกันมาในบ้านเมืองเราแต่ไหนแต่ไร ถ้าเราไม่อาจหาคนดีที่เป็นปูชนียบุคคลได้ โดยมีแต่คนกึ่งดิบกึ่งดีแล้วไซร้ ก็น่าห่วงอนาคตของสังคมไทยยิ่งนัก

ด้วยเหตุฉะนี้ พวกเราหลายคนที่เคารพท่านทั้งสองนี้ จึงคิดตั้งกองทุนขึ้นในนามว่า กองทุนกรุณา-เรืองอุไร กุสลาศัย เพื่อความเป็นไท ของเด็กและเยาวชน ผู้ที่สนใจใคร่ทราบวัตถุประสงค์ และนโยบายของกองทุนดังกล่าว อาจติดต่อขอรายละเอียดได้จาก www.semsikkha.org,  www.snf.or.th โดยที่จะบริจาคทรัพย์เป็นส่วนกุศลแด่ท่านทั้งสองนี้ก็ได้ ทางบัญชี มูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป เพื่อกองทุนกรุณา-เรืองอุไร กุศลาสัย  ธนาคารไทยพาณิชย์  เลขที่บัญชี 024-269259-0 (หักภาษีได้ด้วย)