ไว้อาลัยอาจารย์เบน แอนเดอร์สัน

ไว้อาลัยอาจารย์เบน แอนเดอร์สัน

Author : ส.ศิวรักษ์

อาจารย์เบน แอนเดอร์สัน

(๒๖ สิงหาคม ๒๔๗๙ – ๑๓ ธันวาคม ๒๕๕๘)

การจากไปอย่างกะทันหันของอาจารย์เบน แอนเดอร์สัน ทำให้พวกเราต้องตั้งสติและเจริญมรณานุสติว่าความตายนั้นเกิดขึ้นได้ง่าย ๆ โดยที่การตายของอาจารย์เบนนับเป็นการสูญเสียอย่างสำคัญสำหรับชาวไทยและชาวเทศแทบทั่วทั้งโลก

มหาวิทยาลัยคอร์แนลเคยเป็นสถาบันอุดมศึกษาที่สำคัญ โดยเฉพาะทางด้านเอเชียอาคเนย์ คณาจารย์ทางด้านเอเชียอาคเนย์นั้นมีคนสำคัญ ๆ หลายท่าน และในหลายแขนงวิชาการ เช่นทางด้านประวัติศาสตร์ มานุษยวิทยา และรัฐศาสตร์ เป็นต้น โดยที่ในบรรดาอาจารย์เหล่านั้น อาจารย์เบนเป็นคนที่มีหัวก้าวหน้ามากที่สุด และเป็นบุคคลซึ่งศิษยานุศิษย์เคารพมากที่สุด แม้ศิษย์นั้น ๆ จะไม่ไปเรียนวิชาสาขารัฐศาสตร์ของอาจารย์เบน ก็ไปมั่วสุมอยู่กับอาจารย์เบนซึ่งเป็นพลังให้ศิษย์นั้น ๆ แสวงหาความเป็นเลิศ โดยมุ่งทางวิชาการอย่างน่าสนใจนัก

อาจารย์เบนเคยเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านอินโดนิเซียศึกษามาก่อน และเขาศึกษาหาความรู้อย่างเจาะลึกด้วยความกล้าหาญทางจริยธรรม จนรัฐบาลอินโดนิเซียไม่ยอมให้เขาเข้าประเทศ เขาจึงหันมาเอาดีทางไทยคดีศึกษา โดยที่ภาษาอินโดนิเซียของเขานั้นนับว่าเป็นเลิศ ส่วนภาษาไทยซึ่งเขามาเรียนภายหลังจึงไม่ช่วยให้เขาพูดไทยได้ชัด แต่เขาก็แตกฉานในทางภาษาและวัฒนธรรมไทยอย่างหาใครเปรียบได้ยาก โดยเขาเจาะลึกทางการเมืองไทยโดยอาศัยวรรณคดีไทยร่วมสมัยอย่างน่าสังเกต

งานเขียนของเขาเกี่ยวกับไทยคดีศึกษานั้นน่าทึ่งมาก โดยที่ต่อมาเขายังศึกษาภาษาตากาล็อก และสนใจประเทศฟิลิปปินส์อีกด้วย พร้อมกันนั้น บทบาทของอาจารย์เบนก็เป็นสากลไปพ้นเอเชียอาคเนย์ โดยเฉพาะก็เรื่อง Imagined Communities [“ชุมชนจินตกรรม”, มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ จัดพิมพ์เป็นภาษาไทย**] นั้นถือว่าเป็นอมตะในระดับสากลเอาเลย มีแปลเป็นภาษาต่าง ๆ แทบทั่วทั้งโลก แต่แล้วเจ้าตัวก็เป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตน คบกับผู้คนทุกชนชั้นอย่างเปิดกว้าง

ศิษยานุศิษย์ของเขา กล่าวจำเพาะในเมืองไทยนี้เองต่างก็เทิดทูนบูชาเขาเป็นอย่างยิ่ง แม้ตัวผมเองจะไม่ได้เป็นศิษย์ของเขา แต่เราก็เป็นกัลยาณมิตรซึ่งกันและกัน ให้กำลังใจแก่กันและกัน เพราะฉะนั้น การจากไปของเขา ผมจึงถือเป็นการสูญเสียส่วนตัวด้วย และเป็นการสูญเสียสำหรับนักวิชาการที่รักสัจจะ รักสันติประชาธรรม

หวังว่าพวกเราจะร่วมใจกันทำอะไรบางอย่าง เพื่อเป็นอนุสรณ์ถึงอาจารย์เบนอย่างที่ไปพ้นอนุสาวรีย์ที่เป็นวัตถุ ควรจะเป็นอนุสรณีย์ที่กระตุ้นเตือนให้คนรักวิชาการ ให้มีความกล้าหาญทางจริยธรรม ยืนหยัดอยู่เพื่อสัจจะและความยุติธรรมในสังคม ถ้าอนุสรณีย์ที่ว่านี้จะช่วยให้คนรุ่นใหม่ดำเนินรอยตามวิถีทางของอาจารย์เบน ได้ นั่นจะเป็นคุณูปการที่สำคัญ แม้ผลงานของเขาจะเป็นอมตะอยู่แล้ว แต่ถ้าเราช่วยกันสร้างให้คนรุ่นใหม่ได้เข้าสู่กระแสแห่งอมตธรรมของอาจารย์ เบนได้ นี่จะเป็นการแสดงกตัญญูกตเวทีต่ออาจารย์เบนอย่างสมควรยิ่ง

ชีวิตไม่มีการเรียนรู้ที่สิ้นสุด

ชีวิตไม่มีการเรียนรู้ที่สิ้นสุด

Author : ท่านชุติปัญโญ

ชีวิตมีหลายอย่างที่ซ่อนเงื่อนอยู่ลึก ๆ ข้างใน ซึ่งต้องอาศัยความใส่ใจในการเรียนรู้ด้วยความแยบคาย สิ่งที่เกิดขึ้นจึงจะแจ่มแจ้งได้ ถือว่า เป็นการเว้นพื้นที่ให้ความรู้ต่าง ๆ สามารถเข้าไปเติมเต็มได้ด้วยภาวะที่ลงตัว

คนส่วนมากมักจะถามหาความสมบูรณ์แบบ เพื่อมอบให้กับชีวิตของตัวเองอยู่เสมอ ทั้งที่ความเป็นจริงแล้ว ชีวิตไม่มีสิ่งที่มาคอยเติมเต็มให้สมบูรณ์พร้อมได้ทั้งหมดแต่อย่างใด ทว่าคนเราก็มักจะยื้อว่า มันต้องถูกเติมเต็มได้แน่นอน

เมื่อมีความหวังแต่ไร้ความเข้าใจ เราจึงแสวงหาในสิ่งที่คิดว่า ใช่มาทับถมใจให้เต็มอยู่ตลอดเวลา ยอมทำทุกอย่างเพื่อจะได้สิ่งที่ต้องการมาครอบครอง และเพื่อบอกตัวเองให้ได้ว่า “เราสมบูรณ์พร้อมแล้ว เรามีครบทุกอย่างแล้ว”

ทุกอย่างที่ได้มาในด้านวัตถุและเกียรติยศที่ต้องการ เป็นเสมือนสิ่งที่มีอยู่จริงในมิติของชาวโลก ประหนึ่งว่ามีชีวิตที่เพียบพร้อมกว่าใครหลาย ๆ คน ซึ่งน่าจะทำให้มีความสุขได้อย่างที่ใจใฝ่หา

ทว่าเมื่อมองความสุขที่ได้รับจากสิ่งที่เพรียกหา กลับปรากฎว่า ความสุขที่ซ่อนอยู่ในใจ อันเป็นความสุขสงบที่ทำให้เรายิ้มได้ด้วยความรู้สึกผ่อนคลาย กลับหายไปอย่างน่าใจหาย เหลือเพียงความคิดที่เข้าข้างตัวเองว่า เรามีความสุขเท่านั้น

หน้าตาของความสุขจากวัตถุและเกียรติยศที่ได้มา ช่างเป็นอะไรที่เปล่ากลวงเหลือเกิน เป็นความสุขที่แห้งแล้งเกินกว่าที่จะตอบตัวเองได้ว่า เรามีความสุขดั่งที่ชีวิตต้องการจริง ๆ

เพราะความจริงของชีวิตในการเกี่ยวข้องกับความสุขแบบฉบับของชาวโลกทั่วไป เป็นสิ่งที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความไม่แน่นอน ทุกสรรพสิ่งจะถูกลดทอนลงตามกาลเวลา และเปลี่ยนสภาพไปอย่างไม่มีข้อยกเว้น อยู่ที่ว่าจะเปลี่ยนแปลงไปในวันใดเท่านั้นเอง

ความสุขที่เราคาดหวังในสิ่งที่เคยอยากจับจอง จึงเป็นความบกพร่องในสิ่งที่คิดว่า เป็นความสมบูรณ์สำหรับเรา จึงเป็นความบกพร่องในสิ่งที่คิดว่าเป็นความสมบูรณ์สำหรับเรา สิ่งที่ได้มาจึงตอบสนองให้ใจสมอยากเพียงชั่ววูบเท่านั้น แล้วทุกอย่างที่จะกลายเป็นภาระใหม่ที่เราอาจจะไม่ต้องการ แต่ก็ต้องยอมก้มหน้าที่จะแบกรับมัน

แต่มีอยู่สิ่งหนึ่งที่เราสามารถแสวงหา และก่อให้เกิดเป็นความพร้อมในการดำเนินชีวิตได้ เป็นสิ่งที่มาเพิ่มเติมแล้วทำให้ชีวิตบกพร่องน้อยลง เป็นความลงตัวท่ามกลางความบกพร่องที่มีนั่นคือ การเรียนรู้ชีวิตด้วยความเข้าใจ

เพราะความเข้าใจมิใช่การคิดเอา หรือเดาสุ่มตามความรู้สึกที่เราสร้างขึ้นมา แต่เป็นการกลับไปดูสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างรู้เท่าทันในทุกเรื่องของความจำเป็นที่มีต่อชีวิต เป็นภาวะที่เข้าไปช่วยทำให้ชีวิตมีความสมดุล ตั้งแต่จุดเริ่มต้นทั้งในด้านวัตถุภายนอกและจิตใจภายใน เพื่อให้กระบวนการศึกษาที่มีอยู่ ได้ทำหน้าที่ดูแลชีวิตทุกมิติที่เราเกี่ยวข้องให้มีความลงตัว

ถือว่า เป็นการรู้จักสร้างวิธีที่ก่อให้เกิดความเหมาะสมในทุกมิติที่ชีวิตต้องทำการศึกษา แม้จะอยู่ในภาวะทีเป็นความบกพร่องในหลาย ๆ ด้าน แต่ความสมดุลอันเกิดจากความเข้าใจด้วยปัญญา ย่อมประคองให้สิ่งต่าง ๆ เคลื่อนไปด้วยความราบรืนได้

ดังนั้น การศึกษาชีวิตไม่ว่าในแง่ของวัตถุและจิตใจ หรือในทุกเรื่องที่ผ่านเข้ามา เราไม่ควรประมาทว่า เรารู้แล้วหรือเข้าใจทุกอย่างโดยสมบูรณ์แบบแล้ว

เพราะในรายละเอียดของชีวิต มีหลายอย่างที่ซ่อนเงื่อนอยู่ลึก ๆ ข้างใน ซึ่งต้องอาศัยความใส่ใจในการเรียนรู้ด้วยความแยบคาย สิ่งที่เกิดขึ้นจะแจ่มแจ้งได้ ถือว่าเป็นการเว้นพื้นที่ให้ความรู้ต่าง ๆ สามารถเข้าไปเติมเต็มได้ด้วยภาวะที่ลงตัว

ด้วยเหตุนี้ สิ่งสำคัญจึงอยู่ที่การรู้จักสร้างวิธีเรียนรู้ด้วยความเข้าใจเป็นหลัก เป็นการประสานระหว่างความบกพร่องและความเพียบพร้อมให้มีการสัมพันธ์ต่อกัน เพื่ออำนวยประโยชน์สุขให้แก่กันและกันตราบนานเท่านาน

เพราะชีวิตเป็นสิ่งที่ต้องอยู่กับการเรียนรู้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด

เราจึงต้องใส่ใจทุกรายละเอียดที่ผ่านเข้ามาในชีวิตโดยไม่มีข้อยกเว้น แม้จะอยู่ในสถานการณ์ที่น่าเบื่อหน่ายก็ตาม

มีพระหนุ่มรูปหนึ่งได้อยู่ศึกษาธรรมะกับอาจารย์เซนนามว่า อู๋เต๋อ เมื่อแรกเริ่มนั้น เขามีความกระตือรือร้นในการศึกษาเป็นอย่างมาก ทุกการเรียนรู้เต็มไปด้วยความพากเพียรพยายาม

หนึ่งปีผ่านไป พระหนุ่มมีความรู้สึกว่า ตนมีความรู้มากแล้วจึงมีความคิดที่จะออกธุดงค์ เพื่อแสวงหาความรู้ใหม่ ๆ ด้วยตัวเอง เพราะเขาคิดว่า หนึ่งปีที่อยู่กับอาจารย์นั้น ตนมีความรู้สมบูรณ์พร้อมแล้ว

ช่วงขณะที่รอเวลาออกธุดงค์ เขาจึงแสดงอาการเบื่อหน่ายต่อการศึกษาเป็นอย่างมาก เวลาฟังธรรมบรรยายก็ไม่สนใจเหมือนในอดีตที่ผ่านมา แถมยังแสดงอาการเบื่อหน่ายให้อาจารย์เห็นอยู่บ่อย ๆ

อยู่มาวันหนึ่ง หลังจากที่อาจารย์ให้โอวาทแก่บรรดาลูกศิษย์จบลง จึงพูดกับภิกษุหนุ่มด้วยความเป็นห่วงว่า

“ดูเธอไม่ค่อยใส่ใจในการศึกษาธรรมะเลยนะ ไม่ทราบว่า เป็นเพราะเหตุใด ?”

เมื่อลูกศิษย์เห็นว่า อาจารย์ต้องการทราบเหตุผลในเรื่องนี้จึงกล่าวความในใจที่ตนมีแก่ท่านว่า

“ท่านอาจารย์ครับ หนึ่งปีที่อยู่ศึกษาที่นี่ มันเป็นอะไรที่รู้หมดแล้ว ผมจึงคิดว่าจะออกธุดงค์ เพื่อหาประสบการณ์อย่างอื่นต่อไป การศึกษาที่นี่มันเป็นอะไรที่พอแล้วสำหรับผม”

“อะไรที่เธอว่าเป็นความพอของเธอ ?”

“พอก็คือเต็มแล้ว คือ บรรจุไม่ลงแล้วครับ”

เมื่ออาจารย์ได้ฟังลูกศิษย์กล่าวเช่นนั้น จึงหยิบถังไม้มาหนึ่งใบ แล้วนำก้อนกรวดเล็ก ๆ เทลงไปจนเต็มถัง หลังจากนั้นจึงถามลูกศิษย์ผู้คิดว่า การศึกษาของตนนั้นเพียงพอแล้วว่า

“ก้อนกรวดในถังใบนี้เต็มหรือยัง ?”

“เต็มแล้วครับท่านอาจารย์”

เมื่อลูกศิษย์กล่าวเช่นนั้น อาจารย์ก็นำทรายละเอียดมาเติมลงไปอีกสามกำมือ ปรากฎว่า ทรายก็สามารถเล็ดลอดก้อนกรวดลงไปได้ทั้งหมด ซึ่งดูเหมือนว่าถังจะมีพื้นที่เต็มไปด้วยก้อนกรวดและทรายแล้ว ท่านมองหน้าลูกศิษย์แล้วถามว่า

“สิ่งของในถังนี้เต็มหรือยัง ?”

“เต็มแล้วครับ”

ฝ่ายอาจารย์ก็นำผงหินปูนโรยลงไปในถังอีกหนึ่งกำมือ ปรากฎว่า หินผงก็หายลงไปในถังได้ทั้งหมด อาจารย์จึงถามลูกศิษย์อีกว่า

“คราวนี้เต็มหรือยัง ?”

“ดูเหมือนคราวนี้เต็มแน่นอนแล้วครับ”

แต่แทนที่อาจารย์จะหยุดอยู่แค่นั้น ท่านก็นำน้ำมาเทลงไปในถัง ปรากฎว่า น้ำก็ไหลลงไปได้อีก สามารถไหลผ่านทั้งก้อนกรวด ทราย และผงหินปูนทั้งหมด

“เธอคิดว่า เต็มหรือยัง ?”

เมื่ออาจารย์แสดงให้ดูเช่นนี้ แทนที่ลูกศิษย์จะตอบเหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา กลับนั่งคุกเข่าลงต่อหน้าอาจารย์ แล้วกล่าวอย่างผู้เข้าใจบางสิ่งบางอย่างที่เกิดขึ้นในใจของตน

“ท่านอาจารย์ครับ ศิษย์กราบขอบพระคุณท่านมาก และเข้าใจในสิ่งที่อาจารย์สอนอย่างแจ่มแจ้งแล้วครับ”

ฝ่ายอาจารย์ก็ยิ้มให้ต่อการแสดงออกของเขา และกล่าวให้ข้อคิดแก่ลูกศิษย์ด้วยความเมตตาว่า

“ก็ดีแล้วที่เธอเข้าใจได้ จงจำไว้นะว่ามีหลายอย่างในชีวิตที่เรายังไม่รู้ เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็อย่าปิดตัวเองที่จะศึกษาสิ่งที่เกิดขึ้น แต่จงตั้งใจศึกษาในทุกเรื่องที่ผ่านเข้ามาในชีวิตของเรา และรักษาจิตที่จะเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ อย่างรู้เท่าทัน แล้วเธอจะรู้ว่าทุกสิ่งที่เกิดขึ้น ทุกความรู้สึกที่ผ่านเข้ามาในใจ คือ สิ่งที่ผ่านเข้ามาเพื่อให้เราได้เรียนรู้โดยไม่มีคำว่า สิ้นสุด”

เล่าให้ฟังจากหนังสือ ชื่อ “ชีวิตวันนี้ที่วุ่นวาย มีที่พักใจหรือยัง ?” เขียนโดยท่านชุติปัญโญ

Source : https://www.gotoknow.org/posts/173243

พ่อแม่รังแกฉัน (บาป 14 ประการของมารดาบิดา)

พ่อแม่รังแกฉัน (บาป 14 ประการของมารดาบิดา)

Author : ว.วชิรเมธี

พ่อแม่บางคน (๑)

ทำร้ายลูกด้วยการรักเขามากเกินไป ผลก็คือเกิดภาวะรักจนหลง ลูกของตนถูกทุกอย่าง ลูกของตนดีกว่าคนอื่นเสมอ อันส่งผลให้ลูกกลายเป็นคนมีอัตตาสูง เชื่อมั่นตนเองในทางที่ผิด ชอบดูถูกคน เป็นตัวปัญหา แต่ไม่ยอมรับว่าตนเป็นคนสร้างปัญหา

พ่อแม่บางคน (๒)

ทำร้ายลูกด้วยการตามใจเขามากเกินไป ผลก็คือพ่อแม่กลายเป็นข้าช่วงใช้ของลูก ส่วนลูกกลายเป็น “ลูกบังเกิดเกล้า” ที่พ่อแม่ต้องยอมให้เขาทุกอย่าง ที่หนักกว่านั้นก็คือ ถ้าพ่อแม่ไม่ยอมตามที่ลูกต้องการลูกบางคนก็ถึงขั้นทุบตีทำร้ายพ่อแม่

พ่อแม่บางคน (๓)

ทำร้ายลูกด้วยการไม่กล้าห้ามปรามสั่งสอนเมื่อลูกทำผิด ทำเลว ทำบาป ผลก็คือ ลูกสูญเสียสามัญสำนึก แยกแยะถูกผิดดีชั่วไม่เป็น มองไม่เห็นเส้นแบ่งทางจริยธรรมว่า ดีเป็นอย่างไร ชั่วเป็นอย่างไร จึงกลายเป็นนักเลงอันธพาล ระรานคนเขาไปทั่ว

พ่อแม่บางคน (๔)

ทำร้ายลูกด้วยการให้เงินลูกเพียงอย่างเดียว ผลก็คือ ลูกไม่รู้จักคุณค่าของเงิน ไม่เห็นคุณค่าของผู้ที่หา/และให้เงิน ยิ่งได้เงินมาก ยิ่งผลาญเงินเก่ง มีเงินเท่าไหร่ก็ไม่พอใช้ และทั้งๆที่ใช้จ่ายเงินสูง แต่กลับมีคุณภาพชีวิตต่ำ

พ่อแม่บางคน (๕)

ทำร้ายลูกด้วยการไม่ยอมให้ลูกเรียนรู้ที่จะพึ่งตนเอง เกรงว่าหากให้ลูกทำอะไรด้วยตนเองแล้วเขาจะลำบาก ผลก็คือเมื่อโตขึ้นลูกกลายเป็นลูกแหง่ที่พึ่งตนเองไม่ได้ ทำอะไรด้วยตนเองไม่เป็น ยิ่งเติบโตยิ่งเป็นตัวปัญหาของสถาบันครอบครัว

พ่อแม่บางคน (๖)

ทำร้ายลูกด้วยการไม่ยอมส่งเสริมให้ลูกได้รับการศึกษาที่ดี มัวแต่สนใจลงทุนในการทำธุรกิจเป็นร้อยเป็นพันล้าน แต่ไม่รู้จักลงทุนในการสร้างลูกให้เป็นปัญญาชน ผลก็คือลูกเติบโตแต่ตัว แต่ทว่ามีสติปัญญาที่ต่ำต้อย ขาดทักษะการคิด การใช้เหตุผล การทำงาน การเข้าสังคม เขาไม่เพียงแต่ไม่สามารถร่วมเป็นสมาชิกที่ดีของสังคมเท่านั้นแต่ยังสร้างปัญหาให้สังคมอีกต่างหาก

พ่อแม่บางคน (๗)

ทำร้ายลูกด้วยการทำแต่งานสังคมสงเคราะห์นอกบ้าน โดยลืมไปว่าคนที่ตนต้องสงเคราะห์ก่อนดูแลก่อนต้องให้ความรักก่อนก็คือลูก ผลก็คือแม้จะกลายเป็นนักสังคมสงเคราะห์ที่ประสบความสำเร็จนอกบ้าน สังคมสรรเสริญ แต่กลับเป็นพ่อแม่ที่ล้มเหลวในบ้าน และลูกกลายเป็นเด็กที่ขาดความรัก ความอบอุ่น ไม่พร้อมจะแบ่งปันความรักและความอบอุ่นให้ใคร

พ่อแม่บางคน (๘)

ทำร้ายลูกด้วยการไม่รู้จักยกย่องชมเชยลูกเมื่อเขาประสบความสำเร็จในการเรียน ในการทำงาน หรือในการทำกิจกรรมใดๆก็ตาม ผลก็คือลูกกลายเป็นคนใจคอคับแคบ ยกย่องชมเชยใครไม่เป็น เมื่อเห็นคนอื่นได้ดีมีความสำเร็จ เขาจึงเป็นนักอิจฉาริษยาตัวฉกาจ ที่จ้องแต่จะหาทางทำลายคุณงามความดีของคนอื่น

พ่อแม่บางคน (๙)

ทำร้ายลูกด้วยการไม่รู้จักสอนเขาให้รู้จักบาปบุญคุณโทษ ผลก็คือ เมื่อโตขึ้น เขาจึงพร้อมผละหนีพ่อแม่ไปอย่างไม่รู้สึกผิด ไม่เห็นความจำเป็นว่า การเป็นลูกที่ดีนั้น จะต้องกตัญญูกตเวทีต่อพ่อแม่ของตนอย่างไร

พ่อแม่บางคน (๑๐)

ทำร้ายลูกด้วยการไม่สอนลูกให้รู้จักการบำเพ็ญตนเป็นผู้ให้ ผลก็คือเมื่อโตขึ้นเขาจึงกลายเป็นคนเห็นแก่ตัวอย่างร้ายกาจ คิดแต่จะกอบโกย คิดถึงแต่ประโยชน์ส่วนตัวจนมองไม่เห็นหัวคนอื่น แทนที่จะถือหลัก “ยิ่งรวยยิ่งให้ ยิ่งได้ยิ่งแบ่ง”กลับถือหลัก “ยิ่งรวยยิ่งคอร์รัปชั่น ยิ่งแบ่งปันยิ่งสูญเสียเปล่า”

พ่อแม่บางคน (๑๑)

ทำร้ายลูกด้วยการไม่ยอมให้ลูกรู้จักตัดสินใจด้วยตนเอง ผลก็คือ ลูกกลายเป็นคนขาดความเชื่อมั่นในตนเอง ไม่กล้าคิด ไม่กล้าพูด ไม่กล้าทำอะไร ส่งผลให้ไร้ภาวะผู้นำ ต้องเดินตามคนอื่นโดยดุษฎี

พ่อแม่บางคน (๑๒)

ทำร้ายลูกด้วยการไม่สอนให้ลูกรู้จักสมบัติของผู้ดี ผลก็คือเขากลายเป็นคนหยาบกระด้างทั้งทางกาย ทางใจ ใจคอโหดหินทมิฬชาติ ขาดความสุภาพอ่อนน้อม ขาดสัมมาคาราวะ ไม่รู้จักกาลเทศะ ไม่รู้จักประมาณตน ครองตน ครองงานไม่เป็น ไม่เห็นคุณค่าของระเบียบประเพณี กฎหมาย จรรยาจารีตของสังคม ไม่เคารพในศักดิ์ศรีแห่งความเป็นคนดีของเพื่อนมนุษย์

พ่อแม่บางคน (๑๓)

ทำร้ายลูกด้วยการไม่แนะนำให้ลูกรู้จักคบเพื่อนที่เป็นกัลยาณมิตร (เพื่อนแท้) ผลก็คือรอบกายของเขาจึงมีแต่บาปมิตร (เพื่อนเทียม) คอยประจบสอพลอ คอยหลอกล่อให้ทำความเลวทรามต่ำช้า ติดสุรา ยาเสพติด นำพาชีวิตไปในทางเสียหาย ตกอยู่ใต้วังวนของอบายมุข สนุกสนาน ไม่สนใจหาแก่นสารให้กับชีวิต

พ่อแม่บางคน (๑๔)

ทำร้ายลูกด้วยการไม่รู้จักสร้างสภาพแวดล้อมให้ลูกเป็นคนรักการอ่าน รักการเขียน รักการเรียนรู้ รักการเดินทาง ปล่อยให้เขาศึกษาหาความรู้ด้วยตัวเองไปตามยถากรรม ผลก็คือเขากลายเป็นคนหูตาคับแคบ ขาดความรู้พื้นฐาน ขาดความรู้รอบตัว ขาดความกระตือรือร้น ไม่มีแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ การคิด พูด ทำ ไม่เฉลียวฉลาดปราดเปรื่อง ขาดความแหลมคม ตามไม่ทันโลก ตกข่าว เป็นคนว่างเปล่าทางความรู้ (รอบตัว) ความคิด จิตใจ และไม่มีรสนิยมอย่างอารยชน

ส.ค.ส. 2558 ของ ส.ศิวรักษ์

ส.ค.ส. 2558 ของ ส.ศิวรักษ์

อภิณหปัจจเวกขณ์ ABHINHAPACCAVEKKHANA

ข้อที่สตรีก็ตาม บุรุษก็ตาม คฤหัสถ์ก็ตาม บรรพชิตก็ตาม ควรพิจารณาเนืองๆ
Ideas to be constantly reviewed; facts which should be again and again contemplated

1. ชราธัมมตา Jaradhammata
ควรพิจารณาเนืองๆ ว่า เรามีความแก่เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความแก่ไปได้
He should again and again contemplate; I am subject to decay and I cannot escape it.

2. พยาธิธัมมตา Byadhidhammata
ควรพิจารณาเนืองๆ ว่า เรามีความเจ็บป่วยเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความเจ็บป่วยไปได้
I am subject to disease and I cannot escape it.

3. มรณธัมมตา Maranadhammata
ควรพิจารณาเนืองๆ ว่า เรามีความตายเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้
I am subject to death and I cannot escape it.

4. ปิยวินาภาวตา Piyavinabhavata
ควรพิจารณาเนืองๆ ว่า เราจักต้องมีความพลัดพรากจาก ของรักของชอบใจ ทั้งสิ้น
There will be division and separation from all that is dear and belove to me.

5. กัมมัสสกตา Kammassakata
ควรพิจารณาเนืองๆ ว่า เรามีกรรมเป็นของตน เราทำกรรมใด ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม จักต้องเป็นทายาทของกรรมนั้น
I am the owner of my deeds, whatever deeds I do, whether good of bad, I shall become heir to it.

ความเป็นอนิจจังของสังคม

ความเป็นอนิจจังของสังคม

Author : สุรพศ ทวีศักดิ์

อนุสติส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ แด่ HYPER ROYALISTS และชนชั้นกลางวัฒนธรรม

อ่านที่จิตร ภูมิศักดิ์ เขียนไว้ใน “โฉมหน้าศักดินาไทย” ตอนหนึ่งว่า

การศึกษาของศักดินาเป็นการศึกษาที่สอนให้คน “ยอมรับ” (accept) กล่าวคือ ไม่ได้เปิดโอกาสให้ศิษย์คิดเสียก่อน เมื่อเห็นจริงแล้วจึงเชื่อ หากสอนให้เชื่อโดยไม่ต้องคิด ทั้งนี้เพื่อปิดทางความคิดริเริ่มทั้งปวงอันจะนำไปสู่ความหายนะแห่งชนชั้นศักดินา

…แต่เล่ห์เหลี่ยมและความจัดเจนของศักดินาที่สั่งสมมานับพันๆ ปี มีสูงกว่าชนชั้นกลาง และประกอบกับชนชั้นกลางมีท่าทีประนีประนอม ศักดินาจึงสามารถแทรกแซงเข้าไปในสถาบันการศึกษาของชนชั้นกลางได้อย่างลอยชาย ศักดินาซากเดนยังคงกำเอาหลักสูตรและการหันเหจุดหมายปลายทางแห่งการศึกษาไว้ได้ในกำมือ วิชาประวัติศาสตร์ก็ยังคงตกอยู่ในกำมือและในอิทธิพลของชนชั้นศักดินาต่อไป (หน้า 65-66)

จนบัดนี้การศึกษาไทยยังคงเป็นการสอนให้ “ยอมรับ” อยู่เหมือนเดิม “ชนชั้นกลางวัฒนธรรม” ก็ยังมีท่าทีประนีประนอมกับศักดินาอยู่เหมือนเดิม หรืออาจมากกว่าเดิมด้วยซ้ำเมื่อมองจากปรากฏการณ์ของ “ลัทธิ เจ้านิยมล้นเกิน” (Hyper Royalism) ที่มีพวก Hyper Royalists ออกมาตั้งคำถามเหมือนท่องตามกันมาว่า “คุณเป็นคนไทยหรือเปล่า” หรือ “เห็นว่ากฎหมายไม่ยุติธรรม ไม่เสมอภาค ก็ออกจากประเทศไทยไปเลย ไปอยู่ต่างประเทศได้เลย”

แต่อย่างไรก็ตาม ข้อเขียนของปรีดี พนมยงค์ ที่พูดถึง “ความเป็นอนิจจังของสังคม” ข้างล่างนี้ บรรดา Hyper Royalists ควรนำมาเป็น “ข้อคิด” ทบทวนพฤติกรรมของตนเองเท่าที่เป็นมาในปีนี้บ้าง คือ

ในระยะหัวเลี้ยวหัวต่อระหว่างระบบเก่ากับระบบใหม่นั้น เราอาจเห็นในบางสังคมว่าระบบเก่าที่สลายไปแล้วได้กลับฟื้นคืนชีพขึ้นมาอีกทั้งระบบ หรือส่วนใดส่วนหนึ่งของระบบ ดูประหนึ่งว่าระบบเก่า หรือส่วนของระบบเก่าจะวกกลับมาตั้งมั่นอยู่ต่อไป และคล้ายกับเป็นวิถีที่แย้งกฎแห่งอนิจจัง

แต่สิ่งลวงตาเช่นนั้นเป็นสิ่งชั่วคราว ตามวิถีแห่งการปะทะในระยะหัวต่อหัวเลี้ยว ทั้งนี้ก็เพราะระบบเก่ายังคงมีพลังตกค้างอยู่ จึงดิ้นรนตามกฎที่ว่า “สิ่งที่กำลังจะตายย่อมดิ้นรนเพื่อคงชีพ” …แต่ในที่สุดพลังเก่าพร้อมทั้งระบบก็หลีกเลี่ยงไปไม่พ้นจากกฎแห่งอนิจจัง และระบบใหม่ที่ได้ชัยชนะนั้น ก็ดำเนินไปตามกฎอันเดียวกัน โดยมีระบบที่ใหม่ยิ่งกว่ารับช่วงเป็นทอดๆ ต่อไป ดังที่ปรากฏตามรูปธรรมของมนุษยสังคมมากหลายในสกลโลก (หน้า 32-33)

การเบียดเบียนกันและข่มเหงกันย่อมไม่คงอยู่กับที่ คือจะต้องเสื่อมสลายไปในที่สุด โดยการต่อสู้ของสมาชิกส่วนมากแห่งสังคม ซึ่งอาจเป็นวิธีสันติเช่นในปัจจุบัน คือ “วิธีรัฐสภาชนิดประชาธิปไตยสมบูรณ์” สังคมก็จะได้กำจัดการเบียดเบียนให้หมดไปในทางปริมาณทีละน้อยๆ ถ้าสมาชิกในสังคมมีทางประนีประนอมกันได้ ในที่สุดสมาชิกส่วนมากของสังคมก็จะต้องได้ชัยชนะ เพราะประชาธิปไตยย่อมถือเอาเสียงข้างมาก (หน้า 85)

สำหรับพวก Hyper Royalists ในบ้านเราส่วนใหญ่นั้นมักอ้างธรรมะอ้างพุทธศาสนาเพื่ออวยเจ้า และรับรองการปกป้อง “ระบบเก่า” ของพวกตนว่าถูกต้องชอบธรรม ในแง่ว่าพวกตนกตัญญูรู้คุณสถาบันและประณามฝ่ายที่คิดต่างว่าอกตัญญูเป็นต้น ผมอยากชวนให้ทบทวนอย่างน้อย 2 ประการ ต่อไปนี้

1. พุทธศาสนาสอน “หลักกาลามสูตร” ซึ่งเป็นหลักเสรีภาพทางความคิดที่เรียกร้องให้เราตั้งข้อสงสัยต่อข้อมูล ความรู้ ความคิดเห็นจากทุกแหล่งที่มา ตั้งแต่เรื่องเล่า ตำรา การคาดเดา ระบบตรรกะนิรนัย/อุปนัย กระทั่งครูที่เราเคารพ ซึ่งหมายความว่า ตามหลักการของพุทธศาสนานั้น นอกจาก “ไม่มีการบังคับความเชื่อ” แล้ว ยังเรียกร้องให้เราตั้งข้อสงสัยต่อทุกแหล่งความรู้อีกด้วย ฉะนั้นจึงเป็นหลักการที่ให้ “เสรีภาพทางความคิด” อย่างยิ่ง

เมื่อพิจารณาระบบการศึกษาแบบครอบงำทางความคิดตามที่จิตรเขียนไว้ ซึ่งยังดำรงอยู่ในยุคปัจจุบัน ย่อมเป็นระบบการศึกษาที่ขัดแย้งกับหลักกาลามสูตรอย่างสิ้นเชิง และยิ่งสังคมนี้มีกฎหมายที่ปิดกั้น free speech เช่น ม.112 ที่ห้ามวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบประมุขของรัฐซึ่งเป็น “บุคคลสาธารณะ” ที่มีอำนาจเหนือกองทัพ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ โครงการพระราชดำริต่างๆ เป็นต้น ยิ่งเห็นได้ชัดว่าเป็นกฎหมายที่ขัดต่อหลักกาลามสูตรอย่างสิ้นเชิง เนื่องจากประชาชนไม่มีสิทธิสงสัย และวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบได้ ในสิ่งที่พวกเขาควรมีสิทธิสงสัยและวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบ

ฉะนั้น Hyper Royalists ที่มักอ้างธรรมะ อ้างพุทธศาสนาจะยอมให้มีกฎหมายที่ขัดต่อหลักการสำคัญของพุทธศาสนา คือหลักเสรีภาพทางความคิดและการแสวงหาความจริงได้อย่างไร เพราะการที่หลักกาลามสูตรเรียกร้องให้เราสงสัยทุกแหล่งความรู้ก็เพื่อให้เราตรวจสอบทุกแหล่งความรู้เพื่อให้สามารถค้นพบ “ความจริงที่เชื่อถือ” ได้มากที่สุดนั่นเอง

หลักกาลามสูตรจึงให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการแสวงหา “ความจริง” ในบรรยากาศของการมีเสรีภาพ แต่ ม.112 คือกฎหมายที่ห้ามพูดความจริงด้านที่ตรงข้ามกับการสรรเสริญ หากชาวพุทธ Hyper Royalists ที่ชอบอ้างธรรมะ อ้างพุทธศาสนามีความเชื่อ หรือศรัทธาในสิ่งที่พวกตนกล่าวอ้างจริง การออกมาปฏิเสธ กล่าวหา ใส่ร้าย ประณามฝ่ายที่เรียกร้องให้แก้ไขหรือยกเลิก ม.112 ว่าล้มเจ้าและอื่นๆ ย่อมเท่ากับปฏิเสธหลักธรรมะ หรือหลักการของพุทธศาสนาที่พวกตนชอบกล่าวอ้างนั่นเอง เพราะข้อเรียกร้องของฝ่ายสนับสนุนให้แก้ไขหรือยกเลิก ม.112 (เป็นต้น) คือข้อเรียกร้องให้สังคมนี้มีเสรีภาพทางความคิด และเสรีภาพในการแสวงหาความจริงนั่นเอง

2. ที่สำคัญคือ พุทธศาสนาสอนหลักอนิจจังว่า “สรรพสิ่งย่อมเปลี่ยนแปลง ไม่คงที่” และ “ความเป็นอนิจจังทางสังคม” ย่อมเป็นไปตามที่ปรีดีเขียนไว้ การขัดขวางความเปลี่ยนแปลย่อมไม่อาจสำเร็จได้ รัฐประหาร 19 กันยา และการสลายการชุมนุมปี 2553 คือตัวอย่างของความรุนแรงและความล้มเหลวของการต่อต้านกระแสการเปลี่ยนแปลงภายในประเทศที่คล้อยตามการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก ซึ่งให้คุณค่าสูงต่อสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย

เมื่อคนจำนวนมากตาสว่างแล้ว เราจะปิดตาให้เขาลืมสิ่งที่เขาได้มองเห็นแล้วได้อย่างไร เมื่อเขาเห็นชัดแจ้งแล้วว่าอะไรคือปัญหา จะปิดปากไม่ให้เขาพูดถึง “ความจริงของปัญหา” เพื่อหาทางแก้ให้ถูกจุดได้อย่างไร

มีแต่วิถีทางประชาธิปไตยคือ วิธีสันติเช่นในปัจจุบัน คือ “วิธีรัฐสภาชนิดประชาธิปไตยสมบูรณ์” ตามที่ปรีดีเสนอไว้เท่านั้น จึงจะเป็นทางออกที่ไม่รุนแรงนองเลือด และเป็นประโยชน์ทั้งแก่สถาบันเก่าแก่ และประชาชนทั้งประเทศอย่างแท้จริง

สำหรับ “ชนชั้นกลางวัฒนธรรม” ผมขอฝากข้อเขียนของปรีดี (ในหนังสือเล่มเดียวกัน) เป็นการสรุปท้าย ดังนี้

…มีบุคคลซึ่งดูเหมือนจะเป็นวรรณะใหม่ แต่ไม่เข้าใจกฎแห่งอนิจจัง โดยถือว่า “สภาวะเก่าเป็นของถาวร” และไม่พอใจในความพัฒนาของสภาวะใหม่ที่ต้องเป็นไปตามกฎธรรมชาติ บุคคลจำพวกนี้อาจไม่ใช่หน่อเนื้อเชื้อไขของวรรณะเก่า แต่บำเพ็ญตนเป็นสมุนของพลังเก่า ยิ่งกว่าบุคคลแห่งอันดับสูงของวรรณะเก่า…ฉะนั้น จึงดำเนินการโต้กฎธรรมชาติและกฎแห่งอนิจจัง ดึงสังคมให้ถอยหลังเข้าคลอง…แต่อย่างไรก็ตาม การดึงให้สังคมถอยหลังก็เป็นเพียงชั่วคราว เพราะในที่สุดกฎแห่งอนิจจังก็ต้องประจักษ์ขึ้น (หน้า 34)

บังเอิญว่าข้อเขียนของจิตรและปรีดี ตามที่ยกมา ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี พ.ศ.2500 เช่นเดียวกัน จนบัดนี้กว่าครึ่งศตวรรษแล้ว ยังคงเหมาะกับยุคปัจจุบันที่ควรนำมาเป็น “อนุสติ” ส่งท้ายปีเก่า 2554 เพื่อเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงในปีใหม่ 2555 ได้เป็นอย่างดี