จากปฏิบัติการช่วย 13 ชีวิต สู่บทเรียน

จากปฏิบัติการช่วย 13 ชีวิต สู่บทเรียน

Author : กาแฟดำ

ในที่สุดข่าวดีที่คนไทยทั้งชาติรอคอยก็มาถึง หลังจากทีมชุดประดาน้ำต่างชาติสื่อสารออกมาจากคลิปว่า พบตัวน้องๆ ทีมฟุตบอลเยาวชนหมูป่า อะคาเดมี และโค๊ชรวม 13 ชีวิต ที่หายตัวไปในถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน จังหวัดเชียงราย เป็นเวลาเกือบ 10 วัน หรือ 222 ชั่วโมง 22 นาที ตามสถิติที่มีการระบุกันออกมา โดยหายตัวไปตั้งแต่วันเสาร์ที่ 23 มิถุนายน2561 และพบตัวเป็นๆ ราวสี่ทุ่มของวันที่ 2 กรกฎาคม ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เชื่อว่าทุกคนคงถอนหายใจอย่างโล่งอก

แม้ปฏิบัติการค้นหาจะสิ้นสุดแล้ว แต่ภารกิจจะลุล่วงก็ต่อเมื่อนำตัวทั้งหมดกลับคืนสู่อ้อมกอดครอบครัวอย่างปลอดภัยในอีกไม่กี่วันข้างหน้า

เหตุการณ์ครั้งนี้นอกจากจะขอแสคงความยินดีกับน้องๆ 13 คนและครอบครัวแล้ว ยังต้องขอบคุณเจ้าหน้าที่รัฐทุกท่าน อาสาสมัครทั้งไทยและต่างประเทศ ที่ทุ่มเททำงานอย่างเต็มที่ จนบรรลุผลที่น่ามหัศจรรย์ รวมทั้งชื่นชมในความเป็นนำ้หนึ่งใจเดียวกันของสังคมไทย ถือเป็นอีกปรากฏการณ์หนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงน้ำใจของคนไทยที่ไม่เคยขาดหายแล้ว โดยส่วนตัวยังเห็นว่ามีประเด็นที่น่าเรียนรู้จากเหตุการณ์ดังกล่าว 5 เรื่อง เพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่อาจเกิดในอนาคต ดังนี้

1. ความรับผิดชอบของวนอุทยานถ้ำหลวง – ขุนน้ำนางนอน และกรมอุทยานแห่งชาติ

การเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าเยี่ยมชมถ้ำได้ และมีการติดป้ายประกาศด้านหน้าว่า “อันตราย ห้ามเข้า ก่อนได้รับอนุญาต เนื่องจากเป็นฤดูน้ำป่าไหลหลาก ซึ่งจะมีน้ำเข้าออกจากถ้ำปริมาณมากในระหว่างเดือนกรกฎาคม-พฤศจิกายน” พร้อมข้อความภาษาอังกฤษว่า “DANGER FROM JULY-NOVEMBER THE CAVE IS FLOODING SEASON” แสดงให้เห็นว่าทางอุทยานรับทราบถึงอันตรายจากธรรมชาติที่จะเกิดขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว แต่มีสิ่งที่น่าจะนำมาคิดเพิ่มเติมอย่างน้อยสองประเด็นเพื่อไม่ให้เกิดเหตุซ้ำรอยอีกคือ

– นอกจากการปิดป้ายประกาศเตือนแล้ว ควรมีรั้วกั้นในลักษณะปิดถ้ำ ป้องกันคนที่ไม่เชื่อคำเตือนแล้วเข้าไปจนเกิดอันตรายเพิ่มเติมหรือไม่

– การกำหนดเวลาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม-พฤศจิกายน ควรขยับเวลาออกมาไหม เพราะกรณีที่เกิดขึ้นเป็นช่วงปลายเดือนมิถุนายน จะบอกว่าน้อง ๆ ทีมฟุตบอลทำผิดไม่สนใจป้ายเตือนก็ไม่ถูก เนื่องจากยังไม่ถึงเดือนกรกฎาคม แต่ก็เกิดเหตุน้ำหลากจน 13 ชีวิตเสี่ยงต่ออันตราย และทำให้โกลาหลกันไปทั้งบ้านทั้งเมือง

สิ่งที่ทางอุทยานควรพิจารณาเพื่อแก้ปัญหาในอนาคตคือ ควรปิดถ้ำห้ามนักท่องเที่ยวเข้าตั้งแต่เข้าหน้าฝนเลยหรือไม่ ก็ห้ามเข้าหลังเดือนเมษายนไปจนถึงเดือนพฤศจิกายน เป็นต้น

– บุคลากรของอุทยานแห่งชาติ ควรมีการสำรวจ ศึกษาข้อมูล พื้นที่ทางกายภาพ รวมถึงภูมิศาสตร์ของพื้นที่ที่ตัวเองดูแลอย่างจริงจัง มีภูมิความรู้มากพอที่จะใช้ในการแก้ปัญหาในยามที่เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันได้ เพราะเท่าที่เห็นจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น คนที่เป็นผู้เชี่ยวชาญคอยชี้แนะกลับกลายเป็นนักสำรวจจากภายนอก โดยเฉพาะปราชญ์ชาวบ้านและผู้ชำนาญการหรือนักสำรวจจากต่างประเทศ

– ป้ายบอกทาง คำเตือนทั้งด้านนอกและภายในถ้ำ ต้องมีการดูแล บำรุงรักษาให้ใช้งานได้ตลอดเวลา ไม่ปล่อยปละละเลยให้ชำรุดเสียหายจนใช้การไม่ได้

การดูแลอุทยานแห่งชาติที่เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าเยี่ยมชม ต้องได้รับการสังคายนาทั้งระบบ ไม่ใช่ทำให้อุทยานแห่งชาติในแต่ละพื้นที่มีความหมายเพียงแค่เป็นสถานที่รับรองนาย หรือเพื่อรายได้ในระบบเพื่อนำส่งรัฐ หรือรายได้นอกระบบที่พึงมี เพราะเมื่อเปิดให้ท่องเที่ยวแล้ว ต้องมีความพร้อมที่จะรับผิดชอบต่อชีวิตของนักท่องเที่ยวด้วย โดยเจ้าหน้าที่ต้องมีความรู้ด้านภูมิศาสตร์ ฤดูกาลที่มีผลกระทบ ต้องมีการสำรวจพื้นที่อย่างละเอียด เพื่อจะได้เข้าใจสภาพธรรมชาติ และดูแลให้การท่องเที่ยวเป็นไปอย่างปลอดภัย

2. สำนึกของนักท่องเที่ยว

ผู้ที่นิยมท่องเที่ยว รักธรรมชาติ ต้องตระหนักด้วยว่า ความสวยงามของธรรมชาตินั้น มีอันตรายซ่อนตัวอยู่ด้วย การไปเที่ยวในสถานที่ใดก็ตามควรศึกษาข้อมูลก่อนเดินทางและเชื่อฟังคำเตือนของเจ้าหน้าที่ รวมทั้งป้ายเตือนภัยที่ติดไว้ด้านหน้า เพื่อไม่ให้เกิดเหตุสลดใจกับตัวเองจนนำไปสู่ความโศกเศร้าของญาติพี่น้อง หรือกลายเป็นภาระที่ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องระดมสรรพกำลังเข้าไปช่วยเหลือ ระบบและความรู้ต้องถูกปลูกฝังในระบบการศึกษาของเยาวชนไทย

3. สำนึกความรับผิดชอบของสื่อสารมวลชนในการนำเสนอข่าว

เมื่อเกิดเหตุการณ์ใหญ่ลักษณะนี้ เป็นเรื่องธรรมดาที่จะเกิดการแข่งขันระหว่างสื่อมวลชน เพื่อช่วงชิงการนำเสนอข่าว แต่สิ่งที่แตกต่างจากในอดีตคือปัจจุบันมีสื่อใหม่ คือโซเชียลมีเดีย ซึ่งบางครั้งไม่ได้มีแหล่งที่มาที่ไป

แต่มีประเด็นดราม่า หวือหวา post truth หรือ fake news แพร่กระจายออกมา เพื่อดึงดูดความสนใจของประชาชน สื่อหลักนอกจากต้องไม่ตกเป็นเหยื่อของกระแสโซเชียลแล้ว ยังต้องทำหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อนำเสนอข้อมูลที่ถูกต้องให้กับประชาชนด้วย ไม่ใช่นำมาขยายผลต่อโดยไม่มีการตรวจสอบ จนทำให้เรื่องราวยิ่งบานปลายออกไป

นอกจากนี้ ต้องยึดถือเสมอว่าการนำเสนอข่าวเหตุการณ์ลักษณะนี้ ต้องไม่เชื่อข่าวลือ และ ไม่มั่วข่าวเอง ทุกรายงานต้องให้น้ำหนักกับแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้ รับผิดชอบโดยตรง เป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนั้น ๆ โดยตรง ก่อนคำบอกเล่า แต่ก็ไม่ควรละเลยคำบอกเล่าจากชาวบ้านในพื้นที่ ซึ่งอาจมีประสบการณ์ตรงและคุ้นชินกับ ภูมิศาสตร์ในพื้นที่ โดยสามารถนำไปต่อยอดเพื่อขยายประเด็นการนำเสนอข่าวได้

ที่สำคัญควรระมัดระวังประเด็นสิ่งลี้ลับ การดราม่ากับญาติผู้สูญหาย ต้องคำนึงถึงความรู้สึกของคนเหล่านี้มากกว่าแค่การขยายประเด็น เพื่อขายข่าว หากสื่อทุกสังกัดยึดหลักเช่นนี้ การนำเสนอข่าวก็จะเป็นไปอย่างสร้างสรรค์ ตรงไปตรงมา เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะอย่างแท้จริง

4. สติของผู้เสพสื่อ

การรับข่าวสารของประชาชนต้องมีสติ ไม่แชร์มั่ว ต้องชัวร์ก่อนแชร์ เพื่อไม่ให้ตัวเองกลายเป็นหนึ่งในห่วงโซ่ข่าวลือ ที่สร้างความโกลาหล จนอาจกลายเป็นภาระของเจ้าหน้าที่ที่กำลังปฏิบัติงาน หรือไปซ้ำเติมความรู้สึกของญาติผู้สูญหายได้ ที่สำคัญคือต้องไม่หลงเชื่อมิจฉาชีพ ที่แฝงตัวเข้ามาหาประโยชน์จากเหตุการณ์นี้ผ่านโลกออนไลน์ ก่อนตัดสินใจอะไรควรหาข้อมูลและใช้สติพิจารณาอย่างรอบคอบจะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อของคนเลว

5. การจัดการของภาครัฐ

เท่าที่เห็นภาครัฐมีการตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ เพื่อตั้งรับกับสถานการณ์ที่เกิดแบบเฉียบพลันนี้ได้ทันท่วงที แต่การตั้งศูนย์ข้อมูลกลางเพื่อเป็นฐานข้อมูลหลักให้กับสื่อมวลชน เพื่อให้ข้อมูลที่ถูกต้อง เท่าที่จำเป็น และตรงประเด็น

สิ่งที่ภาครัฐพึงทำเป็นอันดับแรกหลังเกิดเหตุคือ ประกาศให้ชัดเจนว่าใครจะเป็นคนให้ข่าว เพื่อสรุปปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ในภาพรวมทั้งหมด และแยกย่อยให้ชัดว่า ใครจะให้ข่าวที่เกี่ยวข้องกับปฏิบัติการในถ้ำ การสำรวจ การขุดเจาะ ฯลฯ เพื่อเป็นข้อมูลที่เป็นทางการ

ส่วนสื่อจะไปสัมภาษณ์ใครเพิ่มเติมก็จะเป็นความรับผิดชอบของสื่อนั้น ๆ ในการนำเสนอ เพราะถือว่าไม่ใช่ข้อมูลที่ทางการให้ ที่สำคัญคือผู้ใหญ่ในบ้านเมืองถ้าไม่ได้รับผิดชอบโดยตรง ไม่ควรโหนกระแสไปให้เป็นภาระของเจ้าหน้าที่ที่ยุ่งอยู่แล้วต้องมาต้อนรับจนเสียเวลาในการปฏิบัติหน้าที่

อีกประเด็นหนึ่งที่ภาครัฐควรจะพิจารณาเพิ่มเติมคือ ที่ผ่านมาเรามักจะตั้งผู้บัญชาการเหตุการณ์ จากโครงสร้างทางอำนาจตามความรับผิดชอบในพื้นที่ โดยไม่ได้คำนึงถึงลักษณะเฉพาะของปัญหา ที่อาจจำเป็นต้องมีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเป็นผู้ตัดสินใจ ในแต่ละเหตุการณ์ เช่น ในอดีตไทยเคยเกิดโศกนาฏกรรมจากสึนามิ

ตอนนั้นเหตุการณ์วุ่นวาย การจัดการปัญหาของภาครัฐก็เป็นไปด้วยความยากลำบาก ในฐานะที่เป็นคนพื้นที่เห็นภาพชัดเจนว่า การกุมสถานการณ์แบบบูรณาการในยามเกิดภัยพิบัติ ถือได้ว่าอ่อนด้อยมาก

ขณะนั้นนายทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรี ประกาศไม่รับความช่วยเหลือจากต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็นจากสาเหตุใดก็ตาม แต่ถือเป็นการปิดกั้นโอกาสของประเทศ แตกต่างจากเหตุการณ์ในครั้งนี้ ที่เราเปิดรับความช่วยเหลือจากนานาชาติอย่างเต็มที่ ทำให้ได้บุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญมาช่วยเหลืออย่างมีประสิทธิภาพ

แต่เราจะหวังพึ่งพาภายนอกเพียงอย่างเดียวไม่ได้ ถึงเวลาแล้วที่ควรมีการจัดเตรียมบุคลากร ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะให้พร้อม สำหรับสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับภัยธรรมชาติ

เมื่อเกิดเหตุสามารถส่งตรงลงพื้นที่ไปควบคุมสถานการณ์ ในฐานะผู้บัญชาการเหตุการณ์ได้ทันที โดยไม่จำเป็นต้องยึดติดกับการตั้งผู้บัญชาการเหตุการณ์จากโครงสร้างอำนาจปกติ เพราะถือว่าเป็นสถานการณ์พิเศษ ซึ่งน่าจะช่วยให้กุมสภาพได้ดีกว่า คนในโครงสร้างอำนาจปกติที่ไม่มีความรู้เฉพาะด้าน

นอกจากนี้ ต้องมีการจัดเตรียมอุปกรณ์ที่จำเป็น การฝึกอบรม และซักซ้อมการป้องกันภัยอย่างจริงจัง ไม่ใช่ทำแบบไฟไหม้ฟาง พอเหตุการณ์จบก็ปล่อยปละละเลย เหมือนระบบเตือนภัยสึนามิ ที่ในวันนี้ก็หละหลวมไป จนน่าหวั่นใจว่าหากเกิดเหตุวิกฤตอีกครั้งประเทศไท ยจะผ่านพ้นไปได้ดีกว่าครั้งที่ผ่านมาอย่างไร

กรณี 13 ชีวิตที่สูญหายในถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน อาจเรียกได้ว่า โชคดีที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายคนนี้ดูแล ถือว่ามีภาวะผู้นำและการตัดสินใจที่ดี อีกทั้งมีความรู้ด้านวิศวกรรมด้วยก็ถือว่าช่วยได้มาก แต่การจัดการปัญหาเราไม่ควรอาศัยโชคอย่างเดียว เพราะเป็นเรื่องที่เราสามารถกำหนดและบริหารจัดการได้ เพียงแต่ต้องคิดนอกกรอบเพื่อรับกับสถานการณ์ที่คาดไม่ถึงเอาไว้ล่วงหน้าด้วยเท่านั้น

นี่คือ 5 เรื่องหลักที่คิดว่าสังคมไทยควรจะได้เก็บเกี่ยวแล้วนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์จากสถานการณ์นี้ และหวังว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะเป็นเครื่องเตือนใจทุกฝ่าย ให้ตระหนักถึงภัยจากธรรมชาติ รวมทั้งการวางแผนรับมือของภาครัฐ ที่ต้องดำเนินการได้อย่างทันท่วงทีที่เกิดเหตุ เพื่อร่วมกันสร้างสังคมที่ปลอดภัยต่อไป

แต่สิ่งที่น่าจะกล่าวว่าเป็นปาฎิหาริย์ที่สุดคือ การร่วมมือร่วมใจที่ช่วยกับภาวนาและจิตใจที่เมตตาของคนไทย ที่มีมาอย่างท่วมท้นในทุกคราวที่ชาติบ้านเมืองมีภัยภิบัติเสมอนั่นเอง

อำนาจ ความชอบธรรม และความฉ้อฉล

อำนาจ ความชอบธรรม และความฉ้อฉล

Author : สมคิด พุทธศรี

“Power tends to corrupt and absolute power corrupts absolutely”
John Emerich Edward Dalberg-Acton (1834–1902)

ความสัมพันธ์เชิงอำนาจเป็นหนึ่งในความสัมพันธ์พื้นฐานที่สุดของการอยู่รวมกันของสิ่งมีชีวิต สำหรับสิ่งชีวิตที่ไม่ใช่มนุษย์ อำนาจมักจะแสดงออกมาในรูปธรรมง่าย เช่น หากสัตว์ตัวใดมีความแข็งแรงมากที่สุด สัตว์ตัวนั้นก็มักจะมีอำนาจและกลายเป็นจ่าฝูงของกลุ่มไป ทว่า สำหรับสังคมมนุษย์แล้ว อำนาจมักจะแสดงออกมาในรูปแบบที่หลากหลาย ยิ่งสังคมมนุษย์พัฒนาและมีความซับซ้อนมากขึ้นเท่าไร รูปแบบของอำนาจก็จะยิ่งมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น

ด้วยเหตุนี้ ‘อำนาจ’ จึงเป็นเรื่องที่มีการศึกษามากที่สุดเรื่องหนึ่งในสาขาวิชาทางสังคมศาสตร์ นักปราชญ์ชื่อก้องเรืองนามทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น อริสโตเติล โสเครติส มาเคียเวลลี ขงจื๊อ หานเฟยจื๊อ หรือเล่าจื๊อ ก็ล้วนแล้วแต่ศึกษาและพูดถึงเรื่องอำนาจ (ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม) ทั้งสิ้น ในโลกปัจจุบัน ถ้าหากสืบค้นคำว่า “power social science” ในเครื่องมือสืบค้นข้อมูลงานวิชาการอย่างกูเกิลสกอลาร์ (google scholar) จะพบว่ามีวรรณกรรมทางวิชาการกว่า 2.4 ล้านชิ้นที่มีความสัมพันธ์กับหัวข้อนี้

ตัวผมเองเคยได้ลองอ่านงานวิชาการบางชิ้นที่ศึกษาเกี่ยวกับเรื่องอำนาจอยู่บ้าง แต่ด้วยภูมิหลังการศึกษาและความสนใจส่วนตัว ทำให้งานวิชาการส่วนใหญ่ที่ผมอ่านมักจะเป็นงานวิชาการในสาขาเศรษฐศาสตร์การเมือง หรือไม่ก็รัฐศาสตร์เสียมาก จนเมื่อเร็วๆ นี้ ผมมีโอกาสได้ลองอ่านงานวิทยานิพนธ์ของเพื่อนคนนึงที่ทำการศึกษาเรื่องอำนาจในมิติของจิตวิทยาสังคม (social psychology) แม้จะเป็นการได้อ่านโดยบังเอิญ แต่เมื่ออ่านในส่วนสำรวจวรรณกรรมดูแล้ว ผมเห็นว่ามีความน่าสนใจจึงอยากนำมาเล่าให้ท่านผู้อ่านฟังในที่นี้ครับ

ในการศึกษาเรื่องอำนาจ หนึ่งในคำถามพื้นฐานที่นักจิตวิทยาสังคมสนใจคือคำถามที่ว่า อำนาจนั้นส่งผลต่อความสัมพันธ์ทางสังคมของผู้มีอำนาจและผู้ที่อยู่ใต้อำนาจหรือไม่ อย่างไร หรือ พูดอีกแบบก็คือ อำนาจมันทำให้คนเราเปลี่ยนไปจริงหรือ

นักจิตวิทยาสังคมเองได้ข้อสรุปกันมานานแล้วครับว่า มนุษย์ไม่ได้ได้เพียงแต่เป็นผู้ใช้อำนาจเท่านั้น แต่ยังถูกอำนาจ ‘กระทำด้วย’ กล่าวคือ อำนาจนั้นสามารถแปรสภาวะทางจิตวิทยา (psychological state) ของบุคคลที่มีอำนาจได้ และเปลี่ยนได้อย่างทรงพลังมากด้วย ที่น่าสนใจคือ งานวิจัยเชิงประจักษ์จำนวนมากยืนยันว่า อำนาจสามารถเปลี่ยนคนได้โดยที่คนคนนั้นไม่จำเป็นต้องมีอำนาจจริงๆ (having power) หรือใช้อำนาจจริงๆ (using power) ก็ได้ เพียงแค่การคิดถึงอำนาจ (think of power) เช่น การนึกถึงเรื่องราวหรือประสบการณ์ที่ตัวเองเคยมีอำนาจ หรือการมองเห็นสัญลักษณ์ของอำนาจ อิทธิพลของอำนาจในการเปลี่ยนแปลงคนก็จะถูกกระตุ้นให้ทำงานทันที

คำถามที่ว่า “อำนาจส่งผลต่อผู้ใช้อำนาจอย่างไร” นั้นยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน ในวรรณกรรมทางด้านจิตวิทยาสังคมที่ผ่านมาก็พบทั้งผลกระทบด้านบวกและผลกระทบด้านลบของอำนาจที่มีต่อผู้ที่ถือครองมัน ดังนั้นจึงเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่ประวัติศาสตร์โลกบันทึกเรื่องราวด้านมืดของอำนาจ (เช่น อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ผู้นำแห่งนาซี หรือโรเบิร์ต มูกาเบ แห่งซิมบับเว) ไว้มากพอๆ กันกับด้านสว่างของมัน (มหาตมะ คานธี หรือว่าอับราฮัม ลินคอล์น)

สำหรับพฤติกรรมทางด้านบวก มีการศึกษาพบว่า อำนาจนั้นจะทำให้ผู้ที่ครอบครองมันมีพฤติกรรมในเชิงรุก เช่น มีพลังงานมากขึ้น กระฉับกระเฉงขึ้น แสวงหาโอกาสใหม่ๆ อยู่เสมอ มักจะใช้อำนาจที่มีในการให้รางวัลมากกว่าทำโทษ รวมไปถึงการมองโลกในแง่ดีด้วย นอกจากนี้ การได้มาซึ่งอำนาจยังสัมพันธ์กับผลในทางจิตวิทยาอื่นๆ อีกด้วย อาทิ ทำให้มีอารมณ์ในด้านบวก ความสุข ความพอใจ และความรู้สึกรัก (affection) มากยิ่งขึ้น

ในทางตรงกันข้าม อำนาจนั้นนำไปสู่ความฉ้อฉลได้เช่นเดียวกัน การศึกษาเชิงประจักษ์พบว่า เมื่อบุคคลมีอำนาจและได้ลองใช้อำนาจแล้ว อัตราการใช้อำนาจของเขาก็มักจะมีความถี่และบ่อยครั้งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และหากต้องมีการประเมินผลงานของกลุ่ม คนที่มีอำนาจมีแนวโน้มที่จะมองว่าผลงานที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเพราะตนเองมากกว่าที่จะยกความดีความชอบให้แก่ลูกน้องของตน นอกจากนี้ อำนาจยังทำให้ผู้มีอำนาจนั้นเข้าใจสังคมและคนอื่นได้ยากมากขึ้น งานวิจัยบางชิ้นที่ศึกษาเรื่องอำนาจกับพฤติกรรมทางเพศพบว่า การมีอำนาจที่มากขึ้นอาจนำไปสู่พฤติกรรมทางเพศที่ไม่เหมาะสมได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การใช้อำนาจเพื่อข่มขู่ทางเพศ ที่สำคัญคือ อำนาจอาจส่งผลถึงขั้นที่ทำให้ผู้มีอำนาจนั้นลดทอนความเป็นมนุษย์ (dehumanized) ของบุคคลอื่น ด้วยการมองว่าบุคคลอื่นนั้นเสมือนเป็นสัตว์หรือสิ่งของทั่วไป รวมถึงการคิดถึงบุคคลอื่นในเชิงนามธรรมมากกว่าที่จะเป็นรูปธรรม ในแง่นี้ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่เราจะเห็นผู้มีอำนาจใช้อำนาจของตนในการกีดกัน กดทับ บังคับ ผู้ที่อยู่ใต้อำนาจของตน

ควรกล่าวในที่นี้ด้วยครับว่า การพูดถึง ‘พฤติกรรมด้านบวกและด้านลบ’ นั้นเป็นเพียงแค่การแบ่งประเภทของพฤติกรรมอย่างกว้างเท่านั้น ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับประสิทธิผลและความสำเร็จของการใช้อำนาจ ถ้าเราถกเถียงกันเรื่องประสิทธิผลของการใช้อำนาจ ย่อมมีผู้ที่เสนอว่า การลดทอนความเป็นมนุษย์นั้นเป็น ‘ปีศาจร้ายจำเป็น’ ของผู้มีอำนาจ เพราะผู้มีอำนาจมักจะต้องเผชิญกับการตัดสินใจที่ต้องใช้ความ ‘เลือดเย็นและมีเหตุมีผล’ อยู่บ่อยๆ กลไกดังกล่าวข้างต้นจะช่วยลดความเจ็บปวดทางจิตวิทยาที่เกิดขึ้นจากการใช้อำนาจทำร้ายผู้อื่นได้

แล้วอะไรล่ะ ที่เป็นปัจจัยคอยกับกำกับว่าเมื่อใดที่อำนาจจะส่งผลทางบวก และเมื่อใดที่อำนาจส่งผลในทางลบ นักจิตวิทยาสังคมเองก็พยายามตอบคำถามนี้อยู่เช่นกันครับ บ้างก็ให้ความสำคัญกับบุคลิกภาพของผู้ใช้อำนาจ บ้างก็ให้ความสนใจกับปัจจัยเชิงวัฒนธรรมและสถานการณ์แวดล้อม ของการใช้อำนาจ แต่ปัจจัยที่ผมเห็นว่าน่าสนใจเป็นพิเศษและควรจะกล่าวถึงในที่นี้ก็คือ ความชอบธรรมของอำนาจ (legitimacy)

หากนิยามอย่างกว้างๆ อำนาจที่ชอบธรรม (legitimate power) หมายถึง อำนาจมีฐานมาจากการยอมรับร่วมกันของกลุ่มหรือสังคม โดยกลุ่มหรือสังคมนั้นๆ จะเป็นผู้กำหนดร่วมกันว่า ใครคือผู้ที่สมควรจะมีอำนาจและกลุ่มหรือสังคมจะยอมเป็นผู้อยู่ใต้อำนาจ ตัวอย่างเช่น หน่วยรักษาความปลอดภัยในสนามบินมีอำนาจที่ชอบธรรมในการสั่งให้ผู้โดยสารถอดรองเท้า อาจารย์มีอำนาจในการไม่อนุญาตให้นักศึกษาที่มาสายเข้าชั้นเรียน เป็นต้น ทั้งนี้โดยทั่วไปแล้ว อำนาจที่ชอบธรรมนั้นยึดโยงอยู่กับหลักการเรื่องความเป็นธรรม (fair) ความยุติธรรม (justice) และความถูกต้อง (righteous)

คุณสมบัติเด่นของความชอบธรรม คือ ผู้ที่อยู่ใต้อำนาจที่ชอบธรรมนั้นจะยอมรับอำนาจนั้นอย่างสมัครใจมากกว่าที่จะเกิดจากความกลัวที่จะถูกทำโทษหรือว่าความอยากได้รางวัล ดังนั้น ถ้าความสัมพันธ์ของอำนาจนั้นเกิดขึ้นภายใต้เงื่อนไขของความชอบธรรมแล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างผู้มีอำนาจและผู้อยู่ใต้อำนาจก็จะเป็นไปได้ด้วยดี ในทางตรงกันข้าม ถ้าความสัมพันธ์เชิงอำนาจเกิดขึ้นภายใต้เงื่อนไขแบบไม่ชอบธรรม ความสัมพันธ์ก็จะไม่ราบรื่น เพราะผู้อยู่ใต้อำนาจย่อมเกิดความรู้สึกต่อต้านหรือไม่เห็นด้วยกับผู้มีอำนาจ

คุณสมบัติเด่นของความชอบธรรมข้างต้นนี้เองที่เป็นปัจจัยกำกับว่าผลลัพธ์ของอำนาจนั้นจะเป็นด้านบวกหรือด้านลบ เมื่อใดที่ผู้มีอำนาจรับรู้ว่าอำนาจของเขาเป็นอำนาจที่ไร้ความชอบธรรม (illegitimate) อำนาจนั้นจะนำไปสู่ความฉ้อฉล เพราะเขาเองจะมีความรู้สึกกระอักกระอ่วนใจและวิตกกังวลต่ออำนาจที่มี ซึ่งท้ายที่สุดอำนาจจึงมักจะลงเอยด้วยพฤติกรรมด้านลบในที่สุด

ล่าสุด นักจิตวิทยาสังคมเริ่มที่จะพบหลักฐานเชิงประจักษ์บ้างแล้วว่า ความชอบธรรมของอำนาจนั้นส่งผลต่อพฤติกรรมของผู้มีอำนาจอย่างมีนัยสำคัญ การศึกษาพฤติกรรมเชิงทดลองพบว่า เมื่อกระตุ้นให้คนนึกถึงสถานการณ์ที่ตัวเองมีอำนาจที่ชอบธรรม (เช่น การได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้าเพราะทำคะแนนทดสอบวัดคุณสมบัติได้ดี) พฤติกรรมด้านบวกที่กล่าวมาข้างต้น ไม่ว่าจะเป็น ความสุข ความพึงพอใจ ความกระตือรือร้น ความมั่นใจตัวเอง การเน้นการให้รางวัลมากกว่าที่จะข่มขู่ ฯลฯ ก็จะเกิดขึ้นเป็นปกติ แต่เมื่อใดที่กระตุ้นให้คนนึกถึงสถานการณ์ที่ตัวเองมีอำนาจที่ไร้ความชอบธรรม (เช่น การได้รับเลือกตำแหน่งให้เป็นหัวหน้าเพราะเพศ หรือ ‘เส้น’) ผลกลับกลายเป็นว่า ผู้มีอำนาจนั้นกลับแสดงพฤติกรรมในด้านลบ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การประเมินผู้ใต้บังคับบัญชาในทางไม่ดี ขี้ระแวง ชอบรับฟังคนขี้ประจบมากกว่าคนวิจารณ์ รวมถึงการมักจะชอบใช้อำนาจในการข่มขู่บังคับมากกว่าที่จะใช้วิธีการแบบให้รางวัล

แม้จะเพิ่งเคยอ่านงานวิชาการในสาขาจิตวิทยาสังคมและมีความรู้ในเรื่องนี้ค่อนข้างจำกัด แต่ในความเห็นของผม ‘จุดเด่น’ ของงานวิชาการทางจิตวิทยาสังคม คือ การศึกษาพฤติกรรมของมนุษย์ใน ‘ห้องทดลอง’ เพื่อพยายามควบคุมตัวแปรต่างๆ ให้ได้มากที่สุด เช่น การสร้างสถานการณ์จำลองให้ผู้เข้าร่วมการทดลองสวมบทบาทเป็นหัวหน้างานที่ต้องให้รางวัลหรือทำโทษลูกน้องของตน จากนั้นก็จะเฝ้าสังเกตพฤติกรรมที่เกิดขึ้นในสถานการณ์จำลองนั้นๆ ซึ่งการศึกษาในลักษณะนี้มักจะทำให้เราเห็นพฤติกรรมของมนุษย์ในระดับปัจเจกบุคคลได้ดี

ลองคิดดูสิครับ อำนาจมันหอมหวนชนิดที่ว่าถ้าคิดถึงมันก็ทำให้เราเปลี่ยนไปได้แล้ว การมีอำนาจเล็กๆ อย่างการได้เป็นหัวหน้าคนในสถานการณ์จำลองก็ยังทำให้คนเปลี่ยนไปได้ นับประสาอะไรกับโลกแห่งความจริงที่เวลาเราพูดถึงผู้มีอำนาจทีไร เราหมายถึงคนที่มีอำนาจอันล้นเหลือที่สั่งเป็นสั่งตายกับคนอื่นได้จริง

ข้อค้นพบทางจิตวิทยาสังคมบอกเราว่า ความชอบธรรมของอำนาจนั้นจะเป็นตัวกำกับว่าอำนาจจะเปลี่ยนคนอย่างไร ในแง่นี้ จึงไม่แปลกที่เวลาสังคมใดมีปัญหาความขัดแย้งเรื่องความชอบธรรมของผู้มีอำนาจ สังคมนั้นมักจะหลีกเลี่ยงความรุนแรงได้ยาก เพราะท่ามกลางความขัดแย้ง อำนาจมีแนวโน้มที่จะชักนำให้ผู้ที่ครอบครองมันแสดงพฤติกรรมแบบกดทับ ข่มขู่ บังคับ ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับตนอยู่แล้ว

สิ่งที่น่าคิดต่อไปคือ ใช่หรือไม่ว่า สำหรับผู้มีอำนาจทั้งหลายที่ใช้การข่มขู่ การกดทับ กระทั่งลามปามไปถึงการใช้ความรุนแรงกับคนที่ไม่เห็นด้วยกับตน เอาเข้าจริงแล้ว พวกเขาเองก็รู้สึกอยู่ลึกๆ ว่า อำนาจของตนมันไม่ชอบธรรม

Source : https://waymagazine.org/gender_event/

99 บทเรียนชีวิต จาก 9 ผู้อาวุโสมากประสบการณ์

99 บทเรียนชีวิต จาก 9 ผู้อาวุโสมากประสบการณ์

Author : A Day Bulletin

บทเรียนชีวิตจากเหล่าผู้อาวุโสที่เดินทางผ่านกาลเวลา ผ่านร้อนผ่านหนาวมาเนิ่นนาน ประสบการณ์ชีวิตที่บ่มเพาะจนกลายเป็นแนวคิดดีๆ ให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้จากความสำเร็จและข้อผิดพลาด . ทุกคนมีเส้นทางชีวิตเป็นของตัวเอง บางครั้งหนทางอาจราบเรียบโรยด้วยกลีบกุหลาบ หรือบางครั้งเต็มไปด้วยอุปสรรค ขวากหนาม ก้าวเดินไปบนเส้นทางชีวิตด้วยจิตใจที่แน่วแน่ สวัสดีปีใหม่ไทย

นายแพทย์ เฉก ธนะสิริ (อายุ 91 ปี)
เจ้าของผลงานหนังสือ อายุ 120 ปี ทำไมจะทำให้ไม่ได้

  1. ผมเริ่มหันมาดูแลตัวเองอย่างจริงจังตั้งแต่อายุ 35 ปี ผมเป็นนักกีฬา ไม่เคยป่วย ไม่เคยเจ็บ ตอนทำงานคนอื่นเขาลาป่วยกัน ผมไม่เคยลา ผมวิ่ง ว่ายน้ำ ขึ้นเขาลงห้วยมาหมด พอเป็นอย่างนั้นผมก็มาตั้งเป้าหมายของตัวเองว่าอยากมีอายุยืนยาวถึง 120 ปี
    .
  2. ที่ผมตั้งเป้าหมายว่าอยากมีอายุถึง 120 ปี ก็เพราะ หนึ่งผมเป็นหมอ เลยอยากทดลองกับตัวเอง และสอง เป็นการทำให้ตัวเองไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ ไม่นอนป่วย ถ้าเป็นคนอื่นที่มีอายุขนาดนี้เขาป่วยตายกันไปเเล้ว แต่ผมยังเเข็งแรง ขับรถทางไกลไปหัวหิน ไปไหนมาไหนได้สบายๆ
    .
  3. ผมกินแบบช้าง ม้า วัว ควาย ไม่ได้กินแบบเสือ สิงโต หมา แมว เนื้อสัตว์ผมจะกินให้น้อยที่สุด กินเเต่ผัก กินผลไม้ ก็ทำให้แข็งแรงน่ะสิ ตลอดชีวิตผมให้เลือดไปทั้งหมด 114 ครั้ง ได้เลือดรวม 60 ลิตร ผมให้เลือดจนถึงอายุ 70 กว่าปีเพราะแข็งแรง คนปกติแค่อายุ 60 เขาก็หยุดให้เเล้ว เพราะกรุ๊ปเลือดผมเป็นเอบี หายาก มีน้อย
    .
  4. สุขภาพที่ดีมาจากการออกกำลังกายสม่ำเสมอ น้ำหนักส่วนสูงต้องเป๊ะ คนอ้วนๆ ตายเร็วทั้งนั้นแหละ สังเกตดีๆ คนอายุยืนรูปร่างจะสูงเพรียว แต่ถ้าอ้วน ความดัน เบาหวาน โรคไต โรคตับ โรคอะไรร้อยแปด สุดท้ายก็ตายเร็ว
    .
  5. ถ้าอยากดูแลสุขภาพตัวเอง เริ่มต้นง่ายๆ แค่ดูน้ำหนักกับส่วนสูง ผู้ชายสูงกี่เซนติเมตรให้เอา 100 ลบ แก้ผ้าชั่งน้ำหนักเลยนะ สมมติสูง 170 หัวเด็ดตีนขาดอย่าเกิน 70 กิโลกรัม ถ้าจะให้ดียิ่งไปอีกเอา 105 ลบ ส่วนผู้หญิงให้เอา 110 ลบ หุ่นนางงามอย่าง อาภัสรา หงสกุล สูง 170 น้ำหนัก 50 กิโลกรัม เห็นไหมเขาถึงได้เป็นมิสยูนิเวิร์ส
    .
  6. การวิ่งเป็นการออกกำลังกายที่ง่ายที่สุด ไม่ต้องมีสระว่ายน้ำ ไม่ต้องมีอุปกรณ์อะไร นอกจากไปซื้อรองเท้ามาคู่หนึ่ง คนวัยทำงานควรหาเวลาออกกำลังกายอย่างน้อยๆ 3-4 วันใน 1 สัปดาห์ ก็ไปวิ่งสิ ให้ได้สักวันละ 5 กิโลเมตร วิ่งแล้วหัวใจก็แข็งแรง กล้ามเนื้อเเข็งแรง เหงื่อออก น้ำหนักตัวก็จะลดลง
    .
  7. คนเราก็มีอยู่สองอย่าง มีคิดผิดกับคิดถูก ที่บอกว่ายิ่งแก่ยิ่งหมดไฟในการมีชีวิต ก็คนแบบนั้นมันคิดไม่เป็นไง หรือไม่ได้คิด เอาแต่เที่ยวเตร่ กินเหล้าเมายา สูบบุหรี่ เที่ยวหามรุ่งหามค่ำ แต่ผมไม่ ทุกวันนี้สนุกจะตาย ทดลองใช้ชีวิตไปเรื่อยๆ
    .
  8. คำว่า ‘ความสุข’ กับ ‘อายุยืน’ นั้นมาคู่กัน สุขอื่นใดยิ่งกว่าความสงบไม่มี พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ เพราะฉะนั้น เราก็ทำจิตใจให้สบาย สงบ ไม่เครียด ไม่จุ้นจ้าน ไม่หาเรื่อง ไม่โกรธ จิตใจมันก็สบาย แล้วสร้างแต่บุญสร้างแต่กุศล คนชั่ว คนใจบาปหยาบช้าไม่มีทางมีความสุขและอายุยืนยาวได้เลย คุณต้องทำจิตใจให้สบาย สร้างแต่บุญกุศล และทำแต่ความดี
    .
  9. ผมแทบไม่มีเรื่องที่เสียดายในชีวิต เพราะผมวางแผนไว้หมดทุกอย่าง ผมเริ่มต้นดูแลสุขภาพมาตั้งแต่อายุยังน้อยๆ วางแผนทุกอย่างตั้งแต่การออกกำลังกาย การกินอาหาร และพักผ่อนนอนหลับ เรื่องที่เสียดายเกือบจะไม่มี เพราะชีวิตมันคือการวางแผน ผมวางแผนไว้ตั้งแต่หนุ่มๆ และมันเป็นไปตามแผนหมดทุกอย่าง หนังสืองานศพก็มี ความหมายของการมีหนังสืองานศพของตัวเองคือการเตรียมตัวเตรียมใจ พูดง่ายๆ ว่าเตรียมพร้อมทุกอย่างไว้แล้ว คนเขียนคำไว้อาลัยให้เสร็จสรรพเรียบร้อยหมด
    .
  10. สิ่งที่มีคุณค่าสำหรับคนวัยผมก็คือการเห็นความก้าวหน้าของลูกหลานและเหลน ลูกทุกคนมีครอบครัวที่ดี เหมือนกับเราปลูกต้นไม้ เห็นต้นไม้ออกดอกผล ไม่มีด้วงไม่มีแมลงมาเกาะมันก็คือความสุข
    .
  11. ชีวิตคนเราไม่ต้องมีต้นแบบ ตัวเราเป็นต้นแบบของตัวเองได้ อย่างผมไง ผมดูแลสุขภาพ วางแผนชีวิตตัวเองมาตลอดตั้งแต่ยังหนุ่มๆ ไม่จำเป็นต้องหาต้นแบบจากที่ไหน

อัจฉราพรรณ ไพบูลย์สุวรรณ (อายุ 64 ปี)
นักแสดง, ครูสอนโยคะ และผู้พิพากษาสมทบศาลเยาวชนและครอบครัว ปทุมธานี

  1. คนเราไม่ควรจะปล่อยเวลาให้ผ่านไปโดยที่ไม่ทำอะไรเลย อย่างชีวิตป้าบางทีเหมือนจะไม่มีอะไร ก็ยังมีอะไรให้ทำ ให้ตื่นเต้นอยู่ทุกวัน แต่ไม่ต้องไปมองหาความตื่นเต้นหรอก เพราะมันจะกลายเป็นการเสแสร้ง แค่เอาใจใส่ไปกับทุกสิ่งที่เราทำ อย่าคิดว่ามันเป็นแค่หน้าที่ที่ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป
    .
  2. พอมาถึงวัยนี้แล้ว มันทำให้ป้ารู้ว่าเรื่องเงินไม่ใช่สิ่งสำคัญในชีวิต แต่สิ่งสำคัญคือทุกกิจกรรมในชีวิตและผลประโยชน์ที่คนอื่นได้รับจากการกระทำของเราต่างหาก
    .
  3. ถ้าเรารู้ตัวดีว่ากำลังทำอะไรอยู่ และสิ่งที่ทำเป็นเรื่องที่ดีก็ไม่ต้องไปแคร์ว่าคนอื่นจะคิดอย่างไรหรอก ไม่ต้องห่วงหน้าตาเลย เพราะเราไม่ได้ทำเพื่อหน้าตา เราทำเพราะเป็นงาน เป็นหน้าที่เป็นสิ่งที่ควรทำ คุณค่ามันเกิดจากหลายๆ อย่างรวมกัน ทั้งผลงาน การมีเงินไว้เลี้ยงชีพ ไปจนถึงประโยชน์ที่เกิดกับตัวเองและผู้อื่น
    .
  4. เราทุกคนมีบทบาท มีหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบร่วมกัน
    อย่าไปคิดว่า ‘มันไม่ใช่เรื่องของฉัน’ บางเรื่องในสังคมเกิดมาจากช่องว่างเล็กๆ ที่เราอาจจะแก้ไขได้ด้วยตัวเอง
    .
  5. บางคนเจอปัญหาเลวร้ายในชีวิต อยากฆ่าตัวตาย ไม่ต้องฆ่าตัวตายตอนนี้หรอกเชื่อสิ เดี๋ยวสักวันก็ต้องตายเหมือนกันหมด ทำวันนี้ให้ดีที่สุดดีกว่า จะได้ไม่ต้องเสียดายอะไร
    .
  6. มันเป็นเรื่องสำคัญมากที่คนเราจะต้องใส่ใจกันทุกวัน อย่ารอไปเสียใจในวันที่เขาจากไปแล้ว บางทีเราช่วยคนไม่ได้ทั้งหมดหรอก แต่คนเราต่างก็ต้องการมีใครรับฟัง มีใครทำให้เขารู้สึกไว้วางใจและอบอุ่นใจ
    .
  7. ป้าไม่อยู่กับความฝัน ป้าอยู่กับความจริง เพราะไม่รู้ว่าความฝันจะเกิดขึ้นจริงไหม แต่ความจริงมันเกิดขึ้นแน่ๆ มันมาอยู่ตรงหน้าแล้ว ถ้ามัวแต่อยู่กับความฝันและความคิดที่ว่า ‘ฉันน่าจะทำอย่างโน้น ฉันน่าจะทำอย่างนี้’ ก็ไม่ได้เต็มที่กับสิ่งที่กำลังทำอยู่สักที
    .
  8. เวลามีอะไรเข้ามา ป้าจะพิจารณา ถ้าเหมาะสมที่จะทำก็ทำเลย วิธีการใช้ชีวิตแบบนี้ทำให้ป้าไม่เสียดาย อย่างตอนนี้ถ้าถามว่าอยากย้อนกลับไปในช่วงวัยไหนหรือเปล่า คำตอบก็คือ ไม่ เพราะในทุกๆ ช่วงชีวิตเหล่านั้น ป้าได้เต็มที่กับมันแล้ว
    .
  9. ชีวิตป้าไม่มีคำว่า ‘เดี๋ยว’ มีแต่ ‘เดี๋ยวนี้’ ‘ทันที’ เพราะเมื่อเวลามันผ่านไปแล้ว เราไม่สามารถเรียกเวลานั้นกลับมาได้ ฉะนั้น เวลาจะทำอะไรต้องทำทันที
    .
  10. เราต้องรู้จักรักตัวเอง เห็นคุณค่าตัวเอง มีศักดิ์ศรี แล้วก็รักพ่อแม่ เรามักจะคิดว่าคนที่อยู่ใกล้ตัวเป็นหมูในอวย จะพูดให้เขาชอกช้ำยังไงก็ได้ เขารักเรา เขาทนเราได้ ในขณะที่คนอื่นที่เดินผ่านเข้ามาในชีวิตเราเดี๋ยวเดียว กลับพุ่งทั้งตัวไปหาเขา กลัวเขาอยากเอาใจเขา ก็ลองคิดดูว่าที่เราทำแบบนั้น เราให้เกียรติตัวเองพอหรือยัง
    .
  11. สำหรับเด็กๆ รุ่นใหม่ อย่าไปเซ็ง อย่าไปเบื่อ ช่วงชีวิตตอนนี้เป็นเวลาสำหรับการเรียนและการงาน เต็มที่กับมัน ถ้าผ่านช่วงของการเรียนไปแล้ว มันผ่านแล้วผ่านเลยนะ ช่วงเวลาที่ลุ้นว่าจะได้เงินเดือนเท่าไหร่ในตอนทำงานแรกๆ ก็ผ่านแล้วผ่านเลยนะ มันจะมันเฉพาะช่วงเวลานั้น เข้มข้นเฉพาะช่วงเวลานั้น และถ้าผ่านไปแล้วก็ผ่านไปเลย

รองศาสตราจารย์ ดร. ชัยวัฒน์ คุประตกุล (อายุ 76 ปี)
นักวิทยาศาสตร์ นักเขียนเจ้าของนามปากกา ‘ชัยคุปต์’
ที่มีผลงานเขียนทางด้านวิทยาศาสตร์มากมาย

  1. ผมอยากขอบคุณความยากจนตอนเป็นเด็ก การซื้อหนังสือเป็นเรื่องที่ยากมาก ผมต้องเก็บเงินประมาณหนึ่งเดือนถึงจะซื้อหนังสือได้หนึ่งเล่ม ดังนั้น ด้วยความที่เราไม่มีเงินจะซื้อหนังสือแต่อยากอ่านหนังสือ จะให้ทำยังไงล่ะ ก็อ่านแหลก ผมได้เงินไปโรงเรียนวันละสลึงเอง ผมก็จะกินไม่เกิน 15 สตางค์ ที่เหลือก็หยอดกระปุก เดือนหนึ่งก็ได้สองบาท ก็พอซื้อหนังสือได้
    .
  2. การอ่านหนังสือทำให้ผมไปเจอข้อความที่เป็นประโยชน์กับผมมากๆ ก็คือพุทธวจนะ ‘อัตตา หิ อัตตโน นาโถ ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตน’ มันโดนใจผมมากจนต้องจดไว้เลย อีกข้อความคือ ‘การเป็นหนี้เป็นทุกข์อย่างยิ่ง’ และสองประโยคนี้ก็เป็นหลักของผมมาตั้งแต่เด็ก ทุกอย่างที่ผมอยากได้ผมต้องหามา แล้วหาโดยไม่ต้องเบียดเบียนใคร
    .
  3. ทุกวันนี้ผมซื้อของไม่ว่าจะซื้อของบาทสองบาท เป็นพัน เป็นหมื่น เป็นล้าน ซื้อบ้าน ผมก็จะซื้อเงินสดหมดเลย ทุกวันนี้ผมก็ยังยึดนิสัยตรงนี้อยู่ แล้วผมก็ไม่เคยเป็นหนี้แม้แต่บาทเดียว มีคนสงสัยว่าทำได้ยังไง ก็มีวินัยในการใช้เงิน วางแผนในการใช้เงิน แต่ผมก็ไม่ได้แนะนำให้ทุกคนทำตามผมนะครับ ผมไม่มีทั้งบัตรเครดิต ไม่มีทั้งเอทีเอ็ม มันเป็นการทดลองของผมว่าเราจะทำได้ไหม จะอยู่ได้ไหม
    .
  4. ต้องระวังสิ่งที่เป็นเหตุแห่งทุกข์สามข้อ โลภ โกรธ หลง บางทีเราไม่รู้ตัว คิดว่าเรื่องธรรมดา ใครๆ ก็อยากมีเงินเยอะ ผมจึงมีอีกข้อคิดคอยเตือนใจว่า ระวังของขวัญจากชาวกรีก Beware of Greek bearing gifts. มันคืออะไร ก็คือของขวัญรางวัลอะไรที่มีคนเสนอมาแล้วดีเกินไป อย่ารับเด็ดขาด ที่มาของคำนี้ก็คือ วรรณกรรมระดับโลก อีเลียด หรือ สงครามกรุงทรอย
    .
  5. เราต้องสังเกตตัวเอง ถ้าไม่สบายบ่อยโดยไม่มีสาเหตุ หงุดหงิดบ่อย เราตั้งใจทำงานแต่ทำไมไม่มีคนชอบเราเลย เอาล่ะ ถึงเวลาต้องทบทวนตัวเองแล้ว สาเหตุมันจะมาจากสองอย่าง หนึ่ง จากตัวเราเอง หรือสอง จากคนอื่น แต่สาเหตุที่คนส่วนใหญ่จะมองไม่เห็นก็คือสาเหตุจากตัวเอง แต่ถ้าทบทวนตัวเองก็จะเห็น
    .
  6. ชีวิตไม่ต้องไปเคร่งครัดมากมายนักหรอก ยังมีสีสันในชีวิตได้ ยังดูหนัง ฟังเพลง สนุกกับชีวิตได้ แต่บางเรื่องผมก็จะไม่ทำ เช่น กินเหล้า สูบบุหรี่ ไปในที่ที่ไม่ควรไป เที่ยวกลางคืนไม่เอา
    .
  7. สำหรับความรัก เรื่องใหญ่ที่สุดก็คือ ต้องจริงใจต่อกัน ต้องมีความปรารถนาที่อยากให้อีกฝ่ายมีความสุข ไม่อยากให้อีกคนเป็นทุกข์ พูดง่ายๆ ก็คือ ต้องคิดถึงอกเขาอกเรา คิดถึงจิตใจของเขา จะคิด จะทำ จะพูดอะไร ให้คำนึงถึงความรู้สึกของอีกคนหนึ่งเสมอ เราไม่ชอบแบบไหน เราก็อย่าไปทำ
    .
  8. ผมเชื่อว่า คนจำนวนมากกลัวตาย กลัวตกนรก กลัวคิดถึงเรื่องราวในอดีตที่ตัวเองเคยทำไม่ดี และนั่นคือช่วงที่ทรมานมาก ผมว่าการเตรียมตัวตายยิ่งเร็วยิ่งดี โดยขึ้นอยู่กับว่าเราใช้ชีวิตอย่างไร เรามีสิ่งดีๆ ให้นึกถึงไหม ถามว่ากลัวตายไหม ไม่กลัวนะ มันยิ่งทำให้ผมมีสติในการใช้ชีวิตมากขึ้น เวลาจะคิดจะพูดก็ต้องไตร่ตรอง คำพูดเมื่อพูดไปแล้วต้องรักษา
    .
  9. สิ่งที่ผมกลัวอย่างเดียวก็คือ กลัวอยู่ในภาวะที่ช่วยตัวเองไม่ได้ และเป็นภาระให้กับคนอื่น ทุกวันนี้ก็ยังกลัวอยู่ ผมก็เลยเข้าใจในบริบทของต่างประเทศที่มีการการุณยฆาต ที่ให้หมอช่วยคนป่วยที่หมดสภาพและอยากตาย ถ้าถามผม ในวันที่ผมหมดสภาพแล้ว ไม่มีประโยชน์แล้ว ผมก็อยากจะไปโดยที่ไม่ทรมาน
    .
  10. ในยุคของผม เรามีสถาบันสังคมที่สำคัญมากๆ 4 สถาบัน ได้แก่ สถาบันผู้ใหญ่ หมายถึงผู้หลักผู้ใหญ่ในสังคม ในครอบครัว, สถาบันสงฆ์, สถาบันครู และสถาบันเพื่อน ศักดิ์สิทธิ์มาก แต่ก่อนผู้ใหญ่ก็เป็นที่น่าเคารพจริงๆ เราไหว้ได้อย่างสนิทใจ อย่างสถาบันครูก็สำคัญ ผมยังจำครูในสมัยเด็กๆ ได้ดี อย่างพระสงฆ์เราก็นับถือได้จริงๆ คนไทยสมัยก่อนเวลาต่อยกัน ถ้าพระผ่านมายังหยุดไหว้แล้วค่อยต่อยกันต่อ สถาบันเพื่อนคือ เมื่อก่อนเพื่อนจะไม่หากินกับเพื่อนนะครับ เพื่อนที่คิดไม่ดีกับเพื่อนจะไม่มี แต่เดี๋ยวนี้…
    .
  11. เงินสำคัญ แต่ไม่สำคัญที่สุด เราต้องมีเงินเพื่อดูแลตัวเอง ดูแลคนที่เรารับผิดชอบได้ และถ้าเราขยันเราก็รวยได้ แต่อย่าไปบ้าเงิน วิธีไหนได้เงินเอาหมด อย่าไปทำ แล้วจะเสียใจ ซื่อกินไม่หมด คดกินไม่นาน เป็นสัจจะวาจาที่จริงเสมอ

อุดม ทรงแสง หรือ อุดม ชวนชื่น (อายุ 80 ปี)
นักแสดง, นักดนตรี

  1. ทุกวันนี้ความสุขของพ่อคือการเป็นนักดนตรี อายุขนาดนี้ก็ยังฝึกดนตรีอยู่ เครื่องดนตรีก็มีเต็มบ้าน พอว่างๆ ก็มานั่งเล่นเปียโน เป่าแซกโซโฟน หรือเขียนเพลง ขายได้ไม่ได้ไม่สน เพราะความสุขคือการได้นั่งเขียนเพลง แล้วเขียนเสร็จก็ไม่ขายใครอยากได้ก็เอาไปร้องเลย จะให้เงินหรือไม่ให้เงินก็ไม่เป็นไร
    .
  2. ชีวิตคนเราไม่ต้องไปมองคนอื่น มองแค่ตัวเราเองนี่แหละ คนอื่นจะร่ำรวยล้นฟ้ายังไงก็ช่างเขา เรามุ่งไปแค่สิ่งที่เราต้องการ ทำให้ได้ ทำให้สำเร็จ ไม่ต้องไปเปรียบเทียบกับใคร ชอบอะไรก็ทำไปอย่างที่ตัวเองชอบ แต่ต้องทำให้สำเร็จนะ ถ้าไม่สำเร็จก็ลองเปลี่ยนไปทำอย่างอื่นดู
    .
  3. สมัยก่อนคนจีนเขามาจากแผ่นดินใหญ่เขาไม่มีอะไรเลย บางคนก็มาขายไม้ขีด ขายยาดม ขายลูกอม แต่เขาก็ยังตั้งตัวเป็นเถ้าแก่ขึ้นมาได้ เพราะเขาทำจริง รักในงานที่ทำ และทำในงานที่รัก ถ้าเราไม่รัก เราก็จะไม่อยากทำ ต่อให้จะสำเร็จหรือไม่สำเร็จ ถ้าได้ทำในสิ่งที่รักก็จะไม่เสียดายที่ลงแรงไป เพราะถือว่าได้ทำเต็มที่แล้ว
    .
  4. ทุกวันนี้ไม่เคยเสียดายอะไรเลย ตอนนี้ถือว่าได้กำไรชีวิตมา 20 ปีแล้ว ชีวิตพ่อไม่เคยมีความเศร้า ไม่เคยร้องไห้ แต่เสียใจอยู่อย่างเดียวตอนที่พ่อแม่ตาย แต่เราไม่มีอะไรจะให้แก แกเลี้ยงเรามา ไม่ได้ตอบแทนบุญคุณเลย เพราะออกจากบ้านมาทำงานด้วยตัวเองตั้งแต่อายุ 15 เข้ากรุงเทพฯ โดยไม่รู้จักใครเลย
    .
  5. พ่อไม่เคยทำตามอย่างใคร เห็นคนนี้เขาเก่งทางนี้ เราก็ไม่ต้องไปแข่งกับเขา แต่ให้ไปหาทางอื่นเอา แล้วจะเจอทางที่เป็นของตัวเอง ส่วนคนไหนเก่งก็อย่าถือว่าตัวเองเก่ง จงนึกเสมอว่าเรายังไม่เก่ง ถ้าถือว่าเก่ง เราก็จะหยุดอยู่แค่ตรงนี้
    .
  6. คนที่เรียนมาเยอะๆ หลายคน พอมาปฏิบัติจริงก็ใช้ไม่ได้ เพราะไม่เคยลงมือทำ เหมือนเวลาเป่าแซกโซโฟน ถ้าเน้นแต่จะเป่าให้ตรงโน้ตอย่างเดียว สำเนียงก็จะใช้ไม่ได้ ทางที่ถูกคืออ่านโน้ตแล้วต้องจำด้วย จากนั้นค่อยหาทางเป่าให้มันเป็นทางของเรา แล้วเสียงที่ออกมาจะไม่เหมือนใคร เหมือนการใช้ชีวิตนั่นแหละ เราอยากใช้ชีวิตแบบไหนก็ใช้ให้มันเป็นตัวเรา อย่าไปเชื่อหรือฟังเสียงคนอื่นมาก
    .
  7. โซเชียลมีเดียก็เหมือนกัน อย่าไปฟังมันมาก เพราะแป๊บเดียวมันก็ทำให้เราพังได้ ถ้าเราไปฟังเสียงคนไม่รู้จักเยอะๆ ประสาทเราก็จะเสีย พอประสาทเสียก็ทำอะไรไม่ถูก และจะไม่กล้าทำอะไรเลย
    .
  8. คนเรามีได้ก็ต้องมีเสีย จะมาได้อย่างเดียวได้ยังไง เหมือนเวลาซื้อรถดีๆ มาขับ พอขับไปชนตู้มเดียว รถแพงแค่ไหนก็หมดค่า บางคนตายไปก็มี เพราะฉะนั้น ใช้ชีวิตให้ถูกต้อง เสียแล้วเสียไป คิดดีๆ ว่าสิ่งที่เสียไป เราเคยได้มาเยอะกว่านี้อีก
    .
  9. พ่อไม่เคยถือว่าความรักเป็นเรื่องอมตะ เพราะความรักเป็นสิ่งเลื่อนลอย รักได้ก็จากได้ ไม่เคยร้องไห้กับการที่เมียจากไป อยากไปก็ไป ฉันไม่ว่า ไม่รักก็ไม่ต้องรัก มันเป็นเรื่องขี้หมา บางคนเลิกกับเมียร้องไห้จะเป็นจะตาย จะบอกว่าปล่อยเขาไปเถอะ เพราะคนไม่รักทำยังไงเขาก็ไม่รัก
    .
  10. ที่อารมณ์ดีได้ตลอดเวลาเพราะเป็นคนไม่คิดมาก เรื่องเครียดๆ ก็ขำได้ ลูกเมียจะเครียด เราก็ขำว่าจะเครียดกันทำไมวะ ถ้าลูกทะเลาะกันก็จะเดินออกจากบ้านเลยไม่อยู่ฟัง เพราะถ้าเราฟังแต่เรื่องดีๆ ชีวิตก็จะมีแต่เรื่องดีๆ แต่ถ้าฟังเรื่องร้ายๆ ชีวิตมันก็ร้าย พอมีคนมาพูดเรื่องร้ายๆ ให้ฟังก็จะแกล้งทำหูทวนลม ใครพูดตลกๆ ถึงจะคุยด้วย ยกเว้นคนเมา เพราะคุยกับมันไม่รู้เรื่อง
    .
  11. พ่อไม่เคยกลัวแก่ เพราะคนเราถึงเวลาก็ต้องแก่ เขาให้พ่อไปดึงหน้าก็ไม่เอา ไม่ต้องไปดึง คนเราความแก่ไม่ได้อยู่ที่หน้าตาหรอก มันอยู่ที่ใจกับปาก ถ้าปากไม่ดีใครก็ไม่มอง ส่วนใจก็ต้องทำตัวให้ไม่แก่ ทุกวันนี้ก็ไม่เคยคิดว่าตัวเองแก่ ถ้าคิดว่าแก่ก็คงต้องอยู่บ้าน ไม่ต้องทำอะไรแล้ว แบบนั้นไม่ใช่พ่อ

สุชาดี มณีวงศ์ (อายุ 71 ปี)
ผู้ก่อตั้งรายการสารคดีโทรทัศน์ กระจกหกด้าน
กรรมการผู้จัดการบริษัท ทริลเลี่ยนส์ แอนด์ ทรีไลอ้อนส์ จำกัด

  1. ที่บอกว่าเรายังมีไฟในการทำงานอยู่ทุกวันนี้ ก็เพราะว่าเราทำตัวให้ไม่แก่ เราอยากมีชีวิตอยู่อย่างแข็งแรง ตายไม่กลัว แต่กลัวป่วย เพราะฉะนั้น ก็จะดูแลตัวเองทุกอย่าง กำหนดอาหาร กินวิตามิน พักผ่อนมากๆ ตรวจร่างกายเสมอ และที่สำคัญคือ ‘ไม่โกรธ’ เลย
    .
  2. เมื่อก่อนเป็นคนที่ใจร้อนมาก ทุ่มเป็นทุ่ม เขวี้ยงเป็นเขวี้ยง ต่อยเป็นต่อย เพราะเราทำงานสื่อ มีลูกน้องผู้ชายเยอะ ถ้าเราไม่เด็ดขาด ลูกน้องก็จะไม่เกรงใจ แต่เดี๋ยวนี้ก็ปรับตัว สืบเนื่องมาจากการรักตัวเอง กังวลเรื่องสุขภาพตัวเอง เริ่มละวาง ธรรมะก็มีส่วน ตั้งแต่อายุสามสิบกว่าๆ ก็นั่งสมาธิภาวนา รักษาศีล และทำทาน
    .
  3. เราเพิ่งจะฝึกตัวเองให้ไม่โกรธเลยได้สักสองปี ไม่มีความโกรธเลย สมัยก่อนเดือดมาก ทะเลาะกับตำรวจ ทะเลาะกับทหาร บอกเลยไม่กลัวหรอก แต่เจอครูบาอาจารย์ดี ท่านก็สอนว่าอย่าถืออัตตา อย่ายึดมั่นถือมั่น ก็เริ่มลดทุกอย่างลง ข้อดีของการไม่โกรธคือทำให้เราสบายใจ และไม่เป็นมะเร็ง (หัวเราะ)
    .
  4. สิ่งที่น่าห่วงสำหรับเด็กยุคนี้คือสังคมหมุนไปเร็วเหลือเกิน บางครั้งเขาก็รับเทคโนโลยีใหม่ๆ กระแสวัฒนธรรมใหม่ๆ โดยไม่กลั่นไม่กรอง เขาเสพทุกอย่างด้วยความรวดเร็วและไม่มีภูมิต้านทาน เพราะฉะนั้น น้อยรายที่เอาตัวรอด และควบคุมตัวเองได้ เพราะเวลาที่อยู่ในสังคม ถ้าเราควบคุมตัวเองไม่ได้ เราจะไปใหญ่โตในโลกนี้ได้อย่างไร
    .
  5. การเสพสิ่งใหม่ๆ ไม่ใช่เรื่องผิด เสพไปเถอะ ถ้ามีภูมิต้านทาน เมื่อตัวเองมีภูมิต้านทานก็จะรู้ว่าอันนี้ถูก อันนี้ไม่ถูก ทุกวันนี้เราเองก็ยังให้วัคซีนตัวเองตลอดเวลา ในทางโลกเราก็ต้องฉีดวัคซีนหวัด อย่างตอนที่ระบาด เราเองก็แค่แสบๆ คันๆ คอ แล้ววัคซีนของใจเราเองล่ะ ทาน ศีล ภาวนา เราต้องมีให้กับตัวเอง
    .
  6. การจะสอนคนมีสองแบบ หนึ่ง สอนปาวๆ เข้าหูซ้ายทะลุหูขวา สอง เราทำให้เขาดู แบบนี้มันซาบซึ้งกว่ากัน สมัยเราสูบบุหรี่ ลูกหัดสูบตาม เราก็ไม่ต้องไปว่าเขา แต่พอเราเลิก เขาก็เลิกไปเอง
    .
  7. ทุกวันนี้สนุกกับชีวิตจะตาย คติพจน์เรามีมาตั้งแต่เด็กๆ แล้วว่าต้อง ‘รักตัวเองให้เป็น’ ถ้าเธอไม่รักตัวเองเธอจะรักใครไม่ได้ในโลกนี้ คนที่เอาแต่ดูแลแต่คนอื่นแต่ไม่ดูแลตัวเองเลย นั่นไม่ถูกต้อง
    .
  8. เรื่องของความรักก็เช่นกัน ความรักคือการทำให้คนที่เรารักมีความสุขอย่างถูกทำนองคลองธรรม สมมติ สมัยเด็กๆ ถ้าลูกจะขอซื้อรถ เราบอกเลยไม่ให้ เพราะว่าไม่ถูกทำนองคลองธรรม เดี๋ยวเธอก็ไปเสยยายแก่ตาย อย่าใจอ่อน เราบอกเลยว่า ขอโทษนะ บางทีเธออาจฟังแล้วไม่ถูกหู แต่เป็นหน้าที่ของฉันที่ต้องสอน
    .
  9. ข้อดีของอายุที่มากขึ้นคือ ทำให้เราฉลาด ตอนนี้ให้กลับไปเป็นสาวเอ๊าะๆ ผิวเต่งตึง ไม่เอา ขออยู่อย่างนี้ เพราะฉลาด เรามองโลกอย่างคนฉลาด ไม่ได้มองอย่างคนโง่ ไม่กลัวไอ้โน่นกลัวไอ้นี่ รักไอ้โน่นโกรธไอ้นี่ แต่ตอนนี้อารมณ์เรามันราบเรียบ รู้ว่าสิ่งรอบตัวเรามันไม่ใช่ของจริง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
    .
  10. วิชาชีวิตเป็นสิ่งที่เราต้องเรียนรู้ด้วยตนเอง สิ่งนี้ไม่มีใครสอน อย่างเราผ่านชีวิตมาหมดแล้ว แก่ตัวไปก็มีสตางค์ดูแลตัวเอง มีบ้านอยู่ ไม่มีหนี้สิน เราต้องเรียนรู้และพอใจกับตัวเอง อย่าไปมองคนที่เขาดีกว่าเรา อย่าไปมองเสี่ยแสนล้าน เสี่ยสองแสนล้าน
    .
  11. เราไม่เคยบอกว่าตัวเองเป็นคนดีเลยนะ แต่เราจะบอกว่าตัวเองเป็นคน ‘เลวน้อย’ คนอื่นเขาเลวกันสุดกู่ แต่เราเลวนิดเดียว ถามว่าเป็นมนุษย์มันไม่เลวได้ไหม ไม่ได้หรอก อย่างไรมนุษย์ก็ต้องมีความเลวอยู่บ้าง

สุลักษณ์ ศิวรักษ์ (อายุ 83 ปี)
นักคิดนักเขียนฝีปากกล้าคนสำคัญของไทย
เจ้าของนามปากกา ‘ส.ศิวรักษ์’ ที่ทุกคนรู้จักกันดี

  1. ข้อดีของคนแก่ คือ เราได้ผ่านกาลเวลามามาก กาลเวลาเหล่านั้นก็เป็นประสบการณ์ให้เราได้เรียนรู้ข้อดีข้อเสียข้อบกพร่องของเรา นี่คือสิ่งที่เราจะได้ประโยชน์ยิ่งกว่าคนหนุ่มคนสาว เพราะคนหนุ่มคนสาวเขายังวัยไม่ถึง เขาก็ยังเห็นไม่พอ ยังฟังมาไม่พอ แต่ขณะเดียวกันเวลาคุยกับคนหนุ่มคนสาว เราก็ได้ประโยชน์จากคนหนุ่มคนสาว
    .
  2. วิธีที่จะทำให้ตัวเองไม่เก่าก็คือ หนึ่ง อ่านหนังสือใหม่ๆ อยู่เรื่อย และสอง พบคนใหม่ๆ อยู่เรื่อย ผมชอบแสวงหาเพื่อนตลอดเวลา การได้พบคนหนุ่มมันทำให้ผมได้รู้อะไรใหม่ๆ เยอะ
    .
  3. คนแก่นับว่าเป็นปัญญาของสังคม เป็นชราธรรม เป็นสิ่งที่คนหนุ่มคนสาวไม่มี ในขณะเดียวกัน คนแก่ก็ต้องไม่คิดว่าตัวเองวิเศษวิโสกว่าคนหนุ่มสาว ต้องพึ่งพาซึ่งกันและกัน เรียนรู้ซึ่งกันและกัน เคารพซึ่งกันและกัน ผู้หญิงเคารพผู้ชาย ผู้ชายเคารพผู้หญิง มนุษย์เคารพสัตว์ เคารพป่าไม้ เคารพต้นไม้
    .
  4. การย้อนไปเสียดายเรื่องในอดีตไม่มีประโยชน์อะไรหรอก แต่ถ้าให้คิดดูก็จะมีว่า ตอนหนุ่มๆ ผมก็ใจร้อนมากเกินไป เอาแต่ใจตัวมากเกินไป บางทีลูกน้องเขาก็เดือดร้อน แต่เราไม่รู้ตัว ผมค่อนข้างเผด็จการ ถ้าแก้ได้ก็อยากจะลดทอนความใจร้อน ให้ใจเย็นลง
    .
  5. ใจเย็นเป็นของดี ศาสนาพุทธยกย่องความใจเย็น นิพพานแปลว่าเย็น ยิ่งหนุ่มยิ่งสาวยิ่งต้องใจเย็นให้มาก มนุษย์เป็นสัตว์ที่ฝึกได้ ต้องฝึกให้เป็นคนประเสริฐ เป็นเลิศ เมืองไทยขาดตรงนี้ กลายเป็นฝึกให้เป็นคนกึ่งดิบกึ่งดี ฝึกคนให้หาเงินหาอำนาจ ไม่ฝึกให้คนเป็นเลิศ
    .
  6. Slow is beautiful. ความช้าเป็นของดี ของงาม จิ๋วแต่แจ๋ว ของเล็กๆ นี่แหละงาม คนไทยเราสมัยก่อนเขาก็มุ่งไปที่ความ-เล็กความน้อย สังคมเดี๋ยวนี้เน้นให้คนทำอะไรเร็วๆ แต่การทำอะไรเร็วๆ มันจะทำลายตัวคุณเองนะ ทำลายร่างกาย ทำลายจิตใจ ทำลายสมอง แล้วเราก็ไปฝังหัวหมดทุกอย่าง ต้องมีรถไฟที่เร็ว เรือบินที่เร็ว หารู้ไม่ว่าเครื่องยนต์กลไกที่เร็วมันให้โทษ เทคโนโลยีกระแสหลักให้โทษมากกว่าให้คุณ
    .
  7. สิ่งที่สำคัญสำหรับชีวิตเรา เรามักจะมองข้าม เพราะเราไปเชื่อฝรั่ง I think therefore I am. คิดเยอะแปลว่าฉลาด แต่คิดเก่งเท่าไหร่ก็ไม่สามารถเป็นคนดีได้นะ มันคนละเรื่องกัน พระพุทธเจ้าท่านตรัสรู้เพราะอานาปานสติ ท่านเดินตามลมหายใจ ถ้าคุณอยากใช้ชีวิตให้ช้า คุณก็เดินลมหายใจให้ช้าลง คุณสังเกตสิว่าถ้าคุณหายใจเร็ว คุณกำลังผิดปกติ เวลาคุณเครียดจัดก็จะหายใจผิดปกติ
    .
  8. ถามว่ากลัวตายไหม เวลาตอบคุณจะตีฝีปากยังไงก็ได้ว่าไม่กลัวตาย แต่มนุษย์มีความกลัวตลอดเวลา คุณต้องฝึกให้ไม่กลัวตาย แล้วมนุษย์เราก็ไม่ได้กลัวตายอย่างเดียว เรากลัวจะตกงาน กลัวคนไม่นับถือ ความกลัวเป็นพื้นฐานของมนุษย์เลยนะ ลึกๆ แล้วเรามีเซ็กซ์ก็เพราะความกลัว เพราะเราคิดว่าอีกฝ่ายจะให้ความอบอุ่นกับเราได้เมื่อมีเพศสัมพันธ์กับเขา
    .
  9. การกราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ก็เหมือนคุณว่ายน้ำไม่เป็นแล้วคุณเกาะหยวกกล้วย เกาะทางมะพร้าว แต่พระพุทธเจ้าท่านสอนว่า คุณต้องว่ายน้ำให้เป็น ท่านสอนให้คุณเอาชนะความกลัวให้ได้ เพราะฉะนั้น เมื่อคุณหมดความกลัว คุณก็จะไม่มีความ-เกลียด แล้วถ้าคุณให้อภัยได้ ก็เพราะคุณไม่มีอะไรจะต้องกลัว
    .
  10. คนถือพุทธต้องภาวนาทุกวัน เรามีความแก่เป็นธรรมดา เรามีความเจ็บเป็นธรรมดา เรามีความตายเป็นธรรมดา เราต้องพลัดพรากจากสิ่งที่รักเป็นธรรมดา เราต้องเผชิญสิ่งที่ไม่รักเป็นธรรมดา เรามีกรรมของเราเอง เราทำอะไรไว้กรรมนั้นก็มาสนองเรา
    .
  11. ชีวิตคู่อย่าไปเชื่อฝรั่งมาก ที่บอกว่าคนสองคนเป็นคนคนเดียวกัน ไม่จริง คนสองคนเป็นคนละคนกัน ผู้ชายต้องรู้จักเคารพผู้หญิง ผู้หญิงต้องรู้จักเคารพผู้ชาย อยู่ด้วยกันกระทบกระทั่งกัน ต้องให้อภัย ทะเลาะกัน รุ่งเช้าต้องดีกัน อย่าปล่อยเอาไว้นาน มันไม่ดี ใครทำผิดก็ขอโทษ เหมือนพระที่ต้องปลงอาบัติ ถึงจะอยู่กันยืด

ชมัยภร แสงกระจ่าง (อายุ 65 ปี)
นักเขียน, ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี พ.ศ. 2557

  1. ทุกวันนี้มีสองอย่างหลักๆ ที่ทำอยู่ คือเขียนหนังสือ กับสอนหนังสือ เขียนหนังสือก็เพื่อทำความเข้าใจชีวิตของตัวเอง สอนหนังสือก็คือสอนเพื่อให้คนอื่นเข้าใจชีวิต การทำความเข้าใจชีวิตจะทำให้เรารู้จักมนุษย์คนอื่นและตัวเราชัดเจนมากขึ้น เพราะว่าเราอยู่คนเดียวไม่ได้ เราจะดำเนินชีวิตอย่างสงบสุขได้ก็ต่อเมื่อรับรู้ว่าคนรอบๆ เรามีอยู่จริง
    .
  2. การเขียนเป็นสิ่งที่มอบความสุขให้เรา เวลาที่เขียนหนังสือเหมือนกับว่าเราได้ทำให้สิ่งที่มีอยู่ข้างในตัวเราได้มีที่ทางอย่างชัดเจน การที่เราสามารถระบายอารมณ์ หรือทำให้ตัวเองรู้สึกอิ่มสมบูรณ์ภายใน เป็นความสุขอย่างยิ่ง มันเป็นการทำความเข้าใจขั้นตอนการมีชีวิตอย่างหนึ่ง
    .
  3. คนมักจะบอกว่าในหนังสือของเราไม่มีตัวร้าย เพราะเราคิดว่าจริงๆ แล้วไม่มีใครอยากเป็นผู้ร้ายในสังคมหรอก ทุกคนอยากเป็นคนดี แต่วิถีชีวิตกดดันให้ต้องทำอะไรที่ไม่ดี ทั้งๆ ที่เขาไม่ได้อยากไม่ดี เวลาเขียนเราจึงแสดงให้เขาได้ดูว่าความไม่อยากหรือความอยากของตัวละครเหล่านั้นคืออะไร พอคนอ่านเข้าใจ มันก็คือการที่มนุษย์เข้าใจมนุษย์ด้วยกัน สิ่งนี้จะทำให้คนเราเห็นใจคนอื่นมากขึ้น
    .
  4. ช่วงชีวิตที่แย่ที่สุดของเราคือช่วงที่รับราชการ และถูกกล่าวหาว่าประพฤติปฏิบัติมิชอบต่อหน้าที่ จนกระทั่งเขาให้ออกจากราชการไว้ก่อน ช่วงนั้นเป็นความมืดดำของชีวิตมืดดำเสียขนาดที่ถ้ารับมันไม่ทัน ทุกวันนี้อาจจะกลายเป็นคนซึมเศร้าไปเลยก็ได้ เราอยู่ในคดีความหรือหลุมดำมายาวนาน 23 ปี แต่ที่เราผลักตัวเองออกมาจากหลุมดำได้ก็เพราะว่าเราไม่มีทางเลือกอื่นเหลือ คือถ้าเราอยู่แต่ในหลุมดำเท่ากับว่าเราไม่ได้ทำอะไรเลย จึงไม่มีทางเลือก ต้องโผล่ออกมาจากหลุมให้ได้
    .
  5. อาจจะเป็นเพราะเราเป็นคนที่มองเห็นประโยชน์จากสิ่งที่เกิดขึ้นได้ง่าย เราไม่ใช่คนประเภทปิดตา ที่คิดว่าฉันตกหลุมแล้วจะก้มหน้าอยู่อย่างนี้ เราไม่ก้มหน้า เราเงยหน้า พอเงยหน้าก็จะเห็นคนที่เขายื่นมือมาหา พอเราจับมือเขาขึ้นไปจากหลุมสุดท้ายก็จะเจอทางเดินในชีวิต
    .
  6. ความทุกข์เป็นสิ่งที่เมื่อมันเข้ามาแล้ว เราต้องหาประโยชน์จากมัน ถ้าความทุกข์เข้ามาแล้วเราจะบอกว่าไม่เอา ไล่มันก็ไม่ไป มันจะอยู่ตรงนั้นแหละ รูปร่างเป็นอย่างไรก็คิดไม่ออก เราต้องนั่งคิดเลยว่าแล้วจะใช้ประโยชน์อะไรต้องยืนสู้กับมันให้ได้ เรียนรู้สิว่ามันคืออะไร
    .
  7. ถ้าไม่อยากย้อนมาเสียดายเวลาในชีวิต สิ่งที่ชัดเจนที่สุดคือเมื่อคุณเลือกอะไรไปแล้ว ให้คุณก้าวต่อไปจากจุดนั้น อย่าถอยหลัง ยกเว้นแต่ว่าถ้าคุณตระหนักรู้ว่าสิ่งที่คุณก้าวเข้ามามันเป็นไฟ และแน่นอน ชีวิตมันย้อนหลังไม่ได้ คราวนี้คุณก็ต้องเลือกว่าจะก้าวไปทางซ้ายหรือทางขวาถึงจะดีที่สุด
    .
  8. การมีอายุมากขึ้นจะทำให้คุณเข้าใจโลก เข้าใจชีวิต คุณจะมีโอกาสให้คนอื่นมากขึ้น ถึงคุณไม่มีทรัพย์สมบัติจะให้เขา แต่คุณให้ประสบการณ์เขาก็ได้ หรือการกระทำบางอย่างที่ตอนเด็กไม่เข้าใจ เราก็เข้าใจมากขึ้น พอแก่เรารู้เลยนะว่าเราหรือเขามีความอยาก ความแก่มันสอนให้เราอ่านชีวิตเป็น อ่านพฤติกรรมมนุษย์เป็น
    .
  9. อีกอย่างที่ความแก่มอบให้ คือทำให้เรากกกอดสิ่งต่างๆ ไว้กับตัวเองน้อยลง เมื่อก่อนสิ่งที่ปล่อยวางไม่ได้เลยก็คือการให้หนังสือคนอื่น (หัวเราะ) เพราะหนังสือเป็นสิ่งที่มีค่ามากที่สุดสำหรับเรา เดี๋ยวนี้ก็โอเค ไม่เป็นไร มีใครมาขอเจ้าชายน้อย ก็เอาไป เราเก็บเวอร์ชันเก่าๆ ไว้พอ หรือใครยืมหนังสือไปไม่คืนก็ไม่เป็นไร เริ่มรู้ตัวว่าไม่มีที่วาง (หัวเราะ)
    .
  10. สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับคนแก่ก็คือการรับมือกับความตายนี่แหละ ซึ่งถ้าเป็นสมัยก่อน มันเข้ามาเป็นวิถีชีวิตอยู่แล้ว ได้เห็นอยู่แล้ว เราก็แทบจะไม่ต้องรับมือเลย เหมือนอย่างตอนเด็กๆ เราดูเขาเผาศพบนกองฟืน ได้เห็นและรู้จักความตาย แต่สมัยใหม่ความตายถูกซ่อนอยู่ในโลงศพอันงดงาม อยู่ในเมรุ ทำให้เราไม่ได้เรียนรู้ ไม่ใกล้ชิด ไม่ตระหนักในความตาย การรับมือจึงทำได้ยากกว่า น่าเสียดาย
    .
  11. นอกจากเรื่องความตาย คนแก่ก็ควรเรียนรู้เรื่องคนแก่ด้วย อันนี้สำคัญมาก เพราะว่าถ้าเราแก่ผิดทางนี่ยุ่งเลย แก่แล้วโมโห แก่แล้วเครียด มีปัญหากับลูกหลาน มันเป็นภาระหมด เราควรเรียนรู้ว่าแก่แล้วทำอย่างไรให้ชีวิตมีความหมาย ทำให้ชีวิตเราสบาย ไม่เป็นภาระกับคนอื่น แก่แล้วสบายๆ ดีที่สุด เพราะว่าแก่แล้วไม่มีอะไรดี เราก็ต้องทำชีวิตให้ดี

คุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์ (อายุ 76 ปี)
ประธานกรรมการโรงพยาบาลจักษุรัตนิน นักเขียนเจ้าของผลงาน เข็นครกตัวเบา ฯลฯ, ที่ปรึกษาสำนักงานสุขภาพแห่งชาติ, ผู้ขับเคลื่อนให้เกิดศูนย์ดูแลเพื่อผู้ป่วยระยะท้าย (Hospice) ในประเทศไทย

  1. ใครว่าความแก่ไม่ดี ป้าสนุกขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่อายุ 53-54 ยิ่ง 70 กว่านี่ดีมากๆ เลย คนแก่รู้ว่าชีวิตเหลือน้อย ก็ยิ่งรู้ค่าของแต่ละวันที่เหลือ
    .
  2. ‘ตัวฉันวันนี้’ ‘ตัวฉันเมื่อปีก่อน’ เป็นคนละคนกันนะ เพราะทุกครั้งที่เราคิดอะไร ทำอะไรลงไป เราก็จะเป็นสิ่งนั้นมากขึ้นเรื่อยๆ ลดละอะไร ก็เป็นอย่างนั้นน้อยลง แล้วจะยึด ‘ตัวฉัน’ คนไหน ใครจะนินทาก็นินทาไป นินทาฉันคนไหนล่ะ ‘ฉันพรุ่งนี้’ ก็มองฉันวันนี้เป็นคนในอดีตไปแล้ว (หัวเราะ)
    .
  3. ป้าเคยทุกข์มาเยอะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงอายุ 40-50 สมองกับใจเหมือนเครื่องซักผ้าที่ข้างในสกปรกมากๆ กลัว โกรธ อยาก ไม่อยาก สารพัน เหมือนผ้าสกปรกที่หมุนวน อัตตาตอนนั้นมันข้นคลั่ก เคราะห์ดีที่ช่วงหนึ่งพอจะมีสติถอยออกมามอง เห็นได้เลยว่าถ้าเป็นอย่างนั้นต่อไป คงไม่ฆ่าตัวตายก็เป็นบ้า
    .
  4. สำหรับป้า ยามนี้ชีวิตมีสมดุลที่การยอมรับ ไม่ใช่การฝืน ป้าเป็นศิษย์พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล ว่าด้วยเรื่องวิถีสู่ความตายอันสงบ เรื่องความตาย ถ้าไม่มีอะไรตายก็ไม่มีอะไรเกิด พืช ผัก สัตว์ ต้องตายเพื่อให้สิ่งมีชีวิตได้กินเพื่ออยู่
    .
  5. ป้าไม่อยากเป็นไอดอลของใคร เพราะตัวเราเองจะเปลี่ยนไปเป็นอย่างไรก็ไม่รู้ ป้าไม่ ‘ชัวร์’ อะไรสักอย่าง เพราะว่ามันไม่มีอะไรที่ ‘ชัวร์’ ได้ ใครอย่ามาถามอะไรกับป้าว่า ‘แน่ใจไหม’ เพราะป้าไม่แน่ใจอะไรสักอย่าง นอกจากเรื่องความ ‘ไม่แน่’
    .
  6. ‘ฉันอาบน้ำร้อนมาก่อน’ ป้าไม่กล้าพูดหรอก แหม เตาต้มน้ำร้อนสมัยป้ากับสมัยนี้เทคโนโลยีมันห่างกันไกล หนุ่มๆ สาวๆ เข้าอาบน้ำร้อนแบบเปิดปุ๊บติดปั๊บ เราต้องนับถือเขา นี่เป็นโลกของคนยุคใหม่
    .
  7. ความแก่ให้ ‘อิสรภาพ’ ทางใจกับเรา เมื่อก่อนจะออกไปไหนต้องผัดหน้าทาปาก อยากให้คนเห็นว่าสวย ตอนนี้มันเหี่ยวหมดแล้ว แค่ดูแลพอไม่ให้ดูทุเรศนัยน์ตาก็พอ
    .
  8. เวลาบอกคนอื่นว่า 76 แล้วนะ เขาก็ยกโทษให้ ขึ้นรถไฟฟ้าหรือใต้ดิน ใครลุกให้เราก็รู้สึกแสนดี เขาไม่ลุกให้ก็แสนดีอีก ฝึกการ-ทรงตัวไง เรายึดติดน้อยลงเพราะไม่รู้ว่าจะยึดไปทำไม (หัวเราะ) ไม่ใช่เพราะว่าเฉลียวฉลาดอะไรหรอก มันเหลือเวลาน้อย
    .
  9. ที่ป้ามีความสุขได้อย่างทุกวันนี้เพราะได้อยู่กับสามีที่แสนดี อยู่กับงานด้านคุณภาพความแก่ และคุณภาพความตาย เป็นงานที่ใครๆ ชื่นชมว่าเป็นงานของการให้ แต่การให้กับการรับเป็นเนื้อเดียวกัน แยกกันไม่ออกหรอก ป้าได้รับความสุขมากมายจากการทำงานนี้ ทำไปเรื่อยๆ ทำไม่ไหวเมื่อใดก็หยุด
    .
  10. การเตรียมรับมือกับความตาย คือไม่คาดหวัง แค่เตรียมพร้อมว่าถ้าจะตายพรุ่งนี้ วันนี้ต้องทำอะไรบ้าง ซึ่งก็ทำได้ไม่หมดหรอก ถึงมันก็ค้างๆ อยู่บ้างก็ช่างมัน ฝึกตัวเองให้พร้อมที่จะอยู่กับความ-ไม่รู้ คนเรามักจะชินกับการควบคุมโน่นนี่ให้เป็นอย่างที่ต้องการ พอควบคุมไม่ได้ก็เครียด แต่ความตายมันควบคุมไม่ได้นะ
    .
  11. ฝากถึงคนรุ่นใหม่ว่า ให้เป็น ‘เพื่อนที่ดีที่สุดของตัวเอง’ อยู่กับเพื่อนที่ดีที่สุดคนนั้นให้ได้ อย่างไม่เบื่อ ไม่เหงา เวลาเขาผิดพลาดทุกข์ร้อน คุณก็แนะนำเขาว่าทำอย่างไรจะดีที่สุด คุณจะไม่ทำร้ายเขา เพราะเขาเป็นเพื่อนที่อยู่กับคุณตลอดเวลา

นิรุตติ์ ศิริจรรยา (อายุ 68 ปี)
นักแสดงที่มีผลงานทั้งภาพยนตร์และละครโทรทัศน์มากว่า 50 ปี

  1. ตราบใดที่ยังมีชีวิตอยู่ ย่อมมีเรื่องตื่นเต้นเข้ามาอยู่เสมอ ซึ่งเราสามารถเก็บเกี่ยวมันได้ในทุกวัน สมมติว่าคุณมีสัตว์เลี้ยงอยู่ตัวหนึ่ง เห็นมันวิ่งกระโดดโลดเต้นหรือทำท่าทางแปลกๆ คุณก็ตื่นเต้นแล้ว หรือวันหนึ่งลูกหลานคุณวิ่งเข้ามาหอมแก้มสักที คุณก็ตื่นเต้นได้เหมือนกัน ฉะนั้น คำพูดที่ว่าอายุมากขึ้นแล้วความตื่นเต้นจะลดถอยลง มันไม่จริงเลย
    .
  2. ประสบการณ์คือข้อดีที่มาพร้อมกับอายุที่มากขึ้น เพราะมันไม่มีอยู่ในตำรา ไม่มีอยู่ในหนังสือ ประสบการณ์ที่แท้จริงเริ่มขึ้นเมื่อเราลงมือทำอะไรสักอย่าง ครูสามารถสอนให้เราอ่านออกเขียนได้ แต่เมื่อพูดถึงเรื่องประสบการณ์ ไม่มีครูคนไหนสามารถสอนได้หรอก
    .
  3. ที่มนุษย์เราวุ่นวายแบบทุกวันนี้เป็นเพราะ ‘ความอยาก’ ทั้งนั้น เพราะมนุษย์ไม่ค่อยมองตัวเอง เวลาบอกว่าอยากทำอย่างโน้นอยากทำอย่างนี้ ถามว่าคุณประเมินตัวเองก่อนหรือยัง ถ้าอยากเป็นอย่างนี้ คุณมีความสามารถพอแล้วหรือเปล่า เพราะแค่ความอยากมันยังไม่พอ ในความอยากมันต้องมีความสุข ความรัก และความพอใจ ทั้งที่เราจะให้กับเขาและเราจะได้จากเขาด้วย
    .
  4. อย่าเสียดายอะไรในโลกนี้หรือในชีวิตคุณเลย เรื่องเดียวที่ควรเสียดายคือ ความรักที่คุณมีต่อพ่อแม่เท่านั้น ผู้ชายบางคนอยู่กับพ่อแม่น้อยกว่าผู้หญิง แต่ไม่ได้แปลว่าเขาไม่ได้รักพวกท่าน แค่การแสดงความรักของผู้ชายมันยากกว่าเท่านั้นเอง
    .
  5. เรื่องความรักแบบหนุ่มสาวมันไม่ใช่เรื่องใหม่ที่เพิ่งมีในสมัยนี้ มันมีมาตั้งแต่โบราณแล้ว ฝรั่งเขามีคำพูดอยู่คำหนึ่งว่า puppy love ไม่ว่าใครที่เห็นลูกหมาก็ใจสลายเพราะความน่ารักของมันทั้งนั้น แต่พอมันโตขึ้น สกปรกขึ้น ซนขึ้น เราก็ไม่มองว่ามันน่ารักเหมือนแต่ก่อน เลยเอาไปปล่อยบ้าง ทิ้งบ้าง ลูกหมาก็เหมือนจิตใจของมนุษย์ เราต้องคิดให้ดีๆ ก่อนตัดสินใจจะเลี้ยงดูมัน ความรักก็เหมือนกัน
    .
  6. หนุ่มสาวหลายคู่แสดงความรักในวันวาเลนไทน์โดยการซื้อกุหลาบราคาแพงไปตามธรรมเนียมที่ฝรั่งเขาทำกัน ถามว่าทุกวันจะรักกันไม่ได้เหรอ ลองสังเกตรุ่นใหญ่ที่แต่งงานกันมาเป็นสิบๆ ปีดู ขนาดแค่ดอกไม้หน้าบ้านเขายังไม่เคยไปเด็ดมาให้กันเลย มันเป็นความเคยชินไปแล้ว เพราะผมรักคุณ ให้คุณไปหมดทุกอย่างแล้ว มันจะสำคัญอะไรนักเชียวกับแค่ดอกไม้ดอกเดียว ตอนนี้คุณคือตัวผม และผมก็คือตัวคุณไปแล้ว
    .
  7. ถ้าให้บอกว่าใครถูกใครผิด ทำไมลูกไม่ดูแลพ่อแม่ ผมว่ามันไม่ค่อยยุติธรรม ตอนเรายังเด็ก เราก็นั่งรอแม่กลับจากทำงานทุกคืน มาตอนนี้ถึงเวลาที่เขาแก่ตัวลง เราก็กลับมีหน้าที่การงานที่ต้องรับผิดชอบ อาจจะไม่มีเวลามาดูแลพ่อแม่เท่าที่ควร แต่การตั้งใจทำงานเก็บเงินเพื่อส่งเสียครอบครัวก็เป็นการแสดงความรักอย่างหนึ่งไม่ใช่เหรอ
    .
  8. เราต้องเข้าใจมนุษย์ว่า เด็กเหมือนคนแก่ คนแก่ก็เหมือนเด็ก พออายุมากขึ้นก็อยากให้คนเอาใจ ต้องการให้มีคนคอยอยู่ด้วย ก็เหมือนกับเด็กนั่นแหละที่ถ้าปล่อยไว้คนเดียวจะร้องไห้บ้านแตก แต่ผู้ใหญ่เขาไม่ร้อง เขาเงียบ แต่บ้านก็แตกได้เหมือนกัน
    .
  9. สิ่งหนึ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตมนุษย์คือ การมีงานทำ ถ้าไม่มีงานทำ ทุกอย่างในชีวิตจะหยุด เพราะการทำงานทำให้เรารู้สึกมีค่า รู้สึกเป็นที่ต้องการ รู้สึกว่ามีหน้าที่ และยังมีความสำคัญกับคนบางกลุ่มอยู่
    .
  10. ถ้าความรู้สึกที่เรามีต่องานที่ทำอยู่ ไม่เหมือนกับความรู้สึกที่มีต่อผู้หญิงที่เรารัก แปลว่ามันมีอะไรไม่ถูกต้องแล้ว
    .
  11. เด็กสมัยนี้โตมากับเทคโนโลยี ประสบการณ์ชีวิตไม่ค่อยมี บางทีคุยกับผมก็ไม่รู้เรื่องแล้ว เขาไม่ได้อะไรจากผม และผมก็ไม่ได้อะไรจากเขา การสอนที่จะช่วยพัฒนาตรงนี้ได้คือ การอบรมบ่มนิสัยจากครอบครัวและโรงเรียน แต่ตอนนี้กลายเป็นว่า เด็กไม่เคยโดนทำโทษ ครูก็ตีไม่ได้แล้ว โดนไล่ออก ถ้าเป็นสมัยผมไปโรงเรียนสาย จะโดนสั่งให้วิ่งรอบสนาม อายเพื่อนทั้งโรงเรียน แต่เทคโนโลยีไม่สอนให้เราอายเวลาทำความผิด เพราะเรื่องน่าอายมีเกลื่อนไปหมด เด็กเลยมองเรื่องน่าอายเป็นเรื่องปกติ ขนาดเรื่องน่าอายกว่านี้ก็ยังเคยมีคนทำมาแล้ว

Source : https://adaybulletin.com/ อ่านบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มได้ ที่นี่

คนทุกคนจะถูกลืม

คนทุกคนจะถูกลืม

Author : สลิลา มหันต์เชิดชูวงศ์

อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ในเสื้อสีขาว ผ้านุ่งสีครีม พร้อมไม้เท้าข้างตัว ยืนรอรับเราอยู่ที่กลางซอยโดยไม่สนใจรถยนต์ที่กำลังขับตรงเข้ามาหา

บุคคลผู้ได้รับสมญานามว่าเป็น ‘ปัญญาชนสยาม’ ความคิดอันลุ่มลึกของท่านถูกถ่ายทอดออกมาในหนังสือมากกว่าสองร้อยเล่ม บทบาทของการเป็นนักคิด นักเขียน นักพูด และนักวิชาการ ล้วนเป็นงานเชิงวิพากษ์วิจารณ์สังคมไทยมที่ถึงแก่นและเฉียบคม การที่ ส.ศิวรักษ์ ในวัยย่าง 82 ปี ออกจากบ้านมายืนรอรับคนทำหนังสือตัวเล็กๆ อย่างเราด้วยตัวเองเป็นเรื่องเกินความคาดหมาย

“ถ้าคุณถามคนแถวนี้คุณก็ไม่หลงแล้ว คนในซอยนี้เป็นเพื่อนกับผมหมด” อาจารย์เดินนำเราลัดเลาะบ้านไม้สีน้ำตาลไปยังโต๊ะกลางโถงบ้าน ไม่มีรอยยิ้มต้อนรับ แต่ก็รับรู้ได้ถึงความไม่ถืออาวุโส

หลังจากได้ลงนั่งดื่มชาที่อาจารย์รินให้เรากับมือ เราเหลือบมองเห็นกรอบรูปของท่านในบางช่วงชีวิตวางประดับอยู่หลายแห่ง งานเชิงวิพากษ์สังคมของท่านมีบทบาทต่อวัยรุ่นยุคแสวงหาอย่างมาก และเป็นส่วนหนึ่งที่นำไปสู่ขบวนการนักศึกษา 14 ตุลาฯ งานเขียนที่เกิดจากความรอบรู้ในเรื่องศิลปวัฒนธรรมไทย เรื่องเจ้าขุนมูลนาย และเรื่องศาสนา ล้วนสร้างคำถามที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมไทย เทียบดูแล้ว บทบาทสมัยหนุ่มของท่านดูจะมีคุณค่ากว่าวัยรุ่นสมัยนี้อยู่มาก

กรอบรูปในวัยหนุ่มของท่านมีอะไรที่ต่างจากกรอบรูปวัยรุ่นยุคนี้บ้าง นั่นคือสิ่งแรกที่เราอยากรู้

“ยุคสมัยต่าง มันก็แตกต่างกัน คุณบอกว่าวัยรุ่นสมัยก่อนดีกว่าสมัยนี้ไม่ได้ บางอย่างดีกว่า บางอย่างก็เลวกว่า เด็กคนหนึ่งประกาศตัวไม่นับถือศาสนา ไม่ไหว้พระ ครูโกรธมาก ลากไปตีที่หน้าเสาธง นี่ผิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานนะ บางคนบอกว่าตัวเองนับถือศาสนา แต่ความจริงนับถือทุนนิยม บริโภคนิยมกันทั้งนั้น ถือพุทธนี่คุณต้องตื่นจากความโลภ โกรธ หลง คนไทยทำได้กี่คน เห็นไหมปัญหาไม่ได้อยู่ที่เด็ก คนแก่เนี่ย ถ้าเราไม่ฟังคนรุ่นใหม่เราก็นึกว่าเราเก่ง ใครนึกว่าตัวเองเก่งอันตรายทั้งนั้น”

อาจารย์เล่าเรื่องความขบถสมัยหนุ่มหลายต่อหลายเรื่องให้เราฟัง ไม่ว่าจะเป็นความหลงใหลในละครชาตรี ความเกลียดที่โรงเรียนบังคับให้ท่องจำ การตกหลุมรักหนังสือของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เหล่านี้หลอมรวมให้อาจารย์เริ่มสั่งสมความรู้และมีความคิดที่เป็นของตัวเอง

“ถ้าได้คิดเป็นตัวเองแล้วคุณจะเติบโต เราลืมไปว่ามนุษย์เราต้องเป็นตัวเองก่อน เพราะระบบสอนให้เราคิดเหมือนกันหมด ต้องเรียนแพทย์ วิศวะฯ ต่อ MBA เหมือนเป็นปศุสัตว์ กฎเกณฑ์บางอย่างมีไว้เพื่อประโยชน์ของเรา เช่น เดินรถซ้ายมือ ไม่งั้นรถชนกัน แต่ไม่จำเป็นต้องเดินตามทุกอย่าง ปัญหาคือเราไปอยู่ใต้กฎเกณฑ์ของสังคมจนหมดความเป็นตัวเอง กล้าคิด กล้าวิจารณ์เป็นสิ่งที่ดี ไม้ซีกทั้งนั้นที่งัดไม้ซุงได้

“ผมโชคดีที่รู้จักเด็กวัยรุ่นพวกนี้เยอะ เขามาหาผม หลายคนเขามาสอนผมนะ เนติวิทย์ (เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล) สอนผมว่า หนึ่ง เราต้องฟังคนที่ต่างจากเรา สอง อย่านึกว่าเขามาหาเราแล้วเขาจะเห็นเราเป็นเทวดา เขามาเพราะเห็นว่าเราฟังเขา เราคุยกันเป็นเพื่อน มนุษย์เราต้องเคารพคนที่คิดต่างจากเรา เท่านั้นเอง นี่คือพื้นฐานที่ทุกคนควรมี ถ้าคุณมี แก่แล้วคุณก็เป็นวัยรุ่นได้”

อาจารย์สุลักษณ์ใช้ชีวิตโดยยึดหลักสัจจะ ความเป็นวัยรุ่นของท่านแสดงออกมาทุกครั้งที่วิพากษ์สิ่งต่างๆ เราเอ่ยปากขอให้ท่านสอนคนรุ่นใหม่ว่า ท่ามกลางโลกแห่งข้อมูลข่าวสารที่ไม่สามารถรู้ได้ว่าอะไรคือความจริง หากคนรุ่นใหม่อยากเติบโตไปเป็นปัญญาชนต้องทำตัวอย่างไร

“ปัญญาเกิดขึ้นจากการฝึก ถ้าฝึกปัญญา มนุษย์ทุกคนเป็นผู้ประเสริฐได้หมด เริ่มจากควรจะฟังให้มาก อย่าด่วนโจมตีคนที่เห็นไม่เหมือนกับเรา ศาสนามีสอนอคติ 4 คือ รัก-ฉัทนาคติ เกลียด-โทสาคติ กลัว-ภยาคติ หลง-โมหะคติ เราต้องถามตัวเองว่าเรารักหรือเกลียดใครสักคนมากๆ นี่เราฉันทาคติหรือเปล่า โมหะคติหรือเปล่า หรือกลัวว่าไม่รักไม่ได้หรือเปล่า พิจารณาดู ทุกคนมีความน่ารักและน่าเกลียด จะตัดสินอะไรต้องใช้ความคิดให้รอบคอบ เรายืนหลายจุดก็ได้ ไม่จำเป็นต้องยืนจุดเดียว”

การไม่มีจุดยืนก็เท่ากับเราไม่สามารถมีบทบาทในสังคมสิคะ-เราเถียง

“ก็มีบทบาทเล็กๆ สิ ผมก็มีบทบาทเล็กๆ ถ้าเรายอมรับว่าเราเป็นคนเล็กๆ เราก็ยอมรับบทบาทเล็กๆ ได้วันก่อนผมนั่งเครื่องบินไปเชียงรายกับคุณพิภพ ธงไชย แอร์โฮสเตสขอลายเซ็นคุณพิภพ ผมก็ถามไปว่า พวกคุณไม่มีใครรู้จักผมเลยหรอ เขาบอก เอ๊ะ ลุงนี่เป็นลูกครึ่งรึเปล่าคะ เห็นไหม ผมยังไม่ทันตายคนก็ลืมไปแล้ว ถ้าคุณยอมรับความจริงข้อนี้ได้คุณอยู่ได้สบายเลย วัยรุ่นต้องเรียนอันนี้ไว้ เพราะสมัยนี้เขาคิดว่าทุกคนต้องเป็นดารา อย่าไปนึกว่าเราเป็นคนสำคัญ จงจำไว้ว่า คนทุกคนจะถูกลืม”

ก่อนลากลับ เราคุยกันเรื่องต้นมะม่วงพันธุ์อกร่องอายุราวหกสิบปีที่ยืนตระหง่านอยู่ในรั้วบ้าน อาจารย์บอกว่าแทบไม่ได้กินผลมะม่วงเลยปล่อยให้กระรอกกินไปเสียหมด เล่าแล้วท่านก็ยิ้ม ก่อนจะชี้ให้ดูรูปโปสเตอร์ปิดผนังใบหนึ่ง เป็นรูปผู้หญิงใส่แว่นผู้มีแววตามุ่งมั่น

“ความสำเร็จทุกอย่างคือความล้มเหลวยังไม่ปรากฏ” อาจารย์พูดชัดถ้อยชัดคำ

“ที่ผมนับถือมด-วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ เพราะเขาต่อสู้เพื่อสมัชชาคนจน เขาไม่เคยต่อสู้เพื่อความสำเร็จ แต่เขาต่อสู้เพื่อความถูกต้อง และหลายต่อหลายครั้งเขาก็แพ้ ผมนี่ต่อสู้มาตลอดชีวิตยังไม่ได้เจอความสำเร็จสักอย่าง แพ้มาตลอด จะทำอะไรอย่าไปนึกถึงความสำเร็จ สำเร็จไม่สำเร็จคนละเรื่อง”

“ศาสนาพุทธสอนว่าท้ายที่สุดแล้วอนัตตา ไม่มีอะไรเลย ผมแปดสิบกว่า อีกไม่เท่าไหร่ผมก็จากชีวิตนี้ไป ความตายคือความล้มเหลวครั้งสุดท้ายของมนุษย์ที่ไม่สามารถเป็นอมตะได้ คนเรานี่อยากเป็นอมตะ ตายแล้วยังทำหนังสืองานศพแจก พิมพ์ทีเป็นแสนๆ ถามจริงๆ ใครอ่านบ้าง หลอกตัวทั้งนั้น ตายแล้วก็ตายไป หมดไปแล้ว” อาจารย์พูดทิ้งท้ายไม่วายจิกกัดได้เฉียบคมเช่นเคย

ขากลับอาจารย์สุลักษณ์ไม่ได้เดินออกมาส่งด้วยตัวเอง แต่คำถามที่ติดตัวเราออกมาหลังเข้าพบปัญญาชนแห่งสยามท่านนี้คือ หากตัวเราตายไป อะไรจะคงอยู่บ้าง

ทำไมเผด็จการจึงยังไม่ตายไปจากสังคมไทย?

ทำไมเผด็จการจึงยังไม่ตายไปจากสังคมไทย?

Author : เอกพล บรรลือ

ในเมื่อหลายประเทศเลิกใช้ระบอบการปกครองนี้ไปแล้ว สงสัยไหมว่าทำไมระบอบเผด็จการทหารถึงยังใช้ได้ในประเทศไทย คำตอบที่ได้คือ…

“เผด็จการจะอยู่ได้ด้วยเครื่องมือ 2-3 อย่าง อย่างแรกคือควบคุมด้วยอำนาจดิบ หรือความกลัว ซึ่งถือเป็นพื้นฐานที่สุด แต่ไม่ยั่งยืนที่สุด เพราะไม่มีใครชอบโดนกดขี่บังคับไปตลอด เมื่อไม่มีทางเลือกอื่นให้ประชาชนเลย สักวันก็ต้องโดนประท้วงขับไล่

“ฉะนั้นจึงต้องมีเครื่องมือตัวที่ 2 คือคุณต้องบริหารจัดการประเทศให้ดี ให้เศรษฐกิจยังพอไปได้ ให้คนรู้สึกว่าต่อให้ไม่มีสิทธิเสรีภาพ แต่ชีวิตด้านอื่นๆ ก็ยังได้รับความสะดวกสบาย แต่เครื่องมือนี้ก็ยังมีความเปราะบาง เพราะวันหนึ่งเมื่อเศรษฐกิจล่มสลาย ชีวิตไม่ได้ดีเหมือนก่อน การบริหารจัดการล้มเหลว คนก็จะออกมาเรียกร้องหาระบอบอื่น เหมือนอินโดนีเซียที่ซูฮาร์โตอยู่มา 31 ปี พอเจอวิกฤตเศรษฐกิจก็เกิดการประท้วงจนอยู่ไม่ได้

“แต่จะอยู่ได้นานต้องใช้เครื่องมือที่ 3 ซึ่งลึกซึ้งที่สุด ถ้าทำได้ก็จะอยู่ได้นานที่สุด คือการควบคุมทางอุดมการณ์ ถ้าคุณสามารถควบคุมความคิดคนให้เห็นว่าการปกครองของคุณ ต่อให้ล้มเหลวทางเศรษฐกิจ ถูกลิดรอนสิทธิเสรีภาพ แต่เป็นทางเลือกเดียวที่ดีที่สุดสำหรับสังคม ไม่มีทางอื่นที่ดีกว่านี้ ถ้าทุกคนถูกดัดแปลงความคิดจนคิดเหมือนกันหมด ไม่มีใครแตกต่างกัน แล้วความคิดนั้นตรงกับรัฐ ก็จะไม่มีสิ่งที่เรียกว่าการเมืองอีกต่อไป จะเหลือแต่การปกครอง ทุกคนจะเป็นพลเมืองเชื่องๆ เหมือนหุ่นยนต์ ถ้าอย่างนั้นคุณก็ปกครองได้ตลอดไป”

 

แล้วเราจะรับมือกับระบอบเผด็จการได้อย่างไร?

ถ้าใครเคยได้อ่านงานเขียนของ จอร์จ ออร์เวลล์ เรื่อง 1984 จะพบว่าสิ่งหนึ่งที่พี่เบิ้ม หรือ Big Brother หวาดกลัวที่สุดก็คือพลเมืองที่สามารถรักษาความคิดอิสระของตัวเองไว้ได้

แม้จะเป็นเพียงนิยาย แต่หลายอย่างใน 1984 ก็ทาบทับได้อย่างพอดิบพอดีกับโลกความเป็นจริง และ Big Brother ในเรื่องก็ไม่ต่างจากระบอบเผด็จการในยุคปัจจุบันมากนัก ดังนั้นวิธีรับมือกับระบอบนี้ได้ดีที่สุดจึงเป็นการรักษาจุดยืนทางความคิดของตัวเองเอาไว้ให้มั่นคง และไม่สั่นคลอนไปตามวาทกรรมชวนเชื่อที่รัฐพยายามปลูกฝัง

“ในฐานะคนสอนหนังสือ ก็ต้องใช้ชีวิตต่อไปตามปกติ โดยที่ยังสามารถรักษาความคิดอิสระของตัวเองไว้ได้ เพราะหน้าที่ของคนที่เป็นนักคิดคือ การชี้ให้คนทั่วไปเห็นว่าโลกไม่จำเป็นต้องเป็นในแบบที่มันเป็นอยู่ มันมีโอกาสที่จะมีสิ่งที่ดีกว่านี้เกิดขึ้นได้ ฉะนั้นถ้าระบอบเผด็จการทำงานอยู่บนฐานของการเปรียบเทียบอดีตกับปัจจุบันให้คุณยอมรับว่าตอนนี้ดีที่สุดแล้ว ความหวังของสังคมไทยก็อยู่ที่นักคิดที่ต้องชี้ให้เห็นว่ามันมีอนาคตที่ดีกว่าปัจจุบัน”

 

ทำไมต้องประชาธิปไตย?

ในทางรัฐศาสตร์ เผด็จการ หรือประชาธิปไตย ไม่ได้เป็นอะไรมากไปกว่าระบอบการปกครองรูปแบบหนึ่งที่ต่างก็มีทั้งข้อดีและข้อเสียในตัวของมันเอง แต่ถ้าเลือกได้คุณอยากจะอยู่ในสังคมที่ปกครองด้วยระบอบไหน

อย่าเพิ่งตอบคำถามนี้จนกว่าได้จะฟังแนวคิดของประจักษ์ที่มีต่อระบอบการปกครองทั้ง 2 แบบ

“ผมไม่ได้มองว่าระบอบประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่เลิศเลอ เผด็จการก็เช่นกัน สำหรับนักรัฐศาสตร์เวลาพูดถึงระบอบการปกครองจะถือว่าเป็นความหมายธรรมดาสามัญมากเลย แค่พูดถึงระบอบการเมืองต่างชนิดกัน เหมือนเป็น OS ทางการเมือง

“ทีนี้ทำไมผมถึงเชื่อในระบอบประชาธิปไตยมากกว่า ก็เพราะอย่างน้อยมันผ่านการพิสูจน์ และทดลองใช้มาแล้วในที่ต่างๆ ทั่วโลก มันเป็น OS ที่มีศักยภาพในการปรับตัวได้มากกว่าระบอบเผด็จการ โดยเฉพาะระบอบเผด็จการแบบทหารซึ่งเป็น OS ที่ล้าหลังที่สุด”

ถึงแม้จะยอมรับว่าระบอบประชาธิปไตยอาจจะยังไม่ใช่ระบอบที่สมบูรณ์แบบที่สุดในปัจจุบัน แต่ข้อดีของมันคือเป็นระบอบที่ยังอัพเดตให้ดีขึ้นได้ ต่างจากระบอบเผด็จการที่อาจเดินทางมาถึงทางตันจนไม่สามารถพัฒนาต่อไปได้

“คุณจะไปคาดหวังให้เขาเป็นในสิ่งที่ไม่ใช่ไม่ได้ ไม่ว่าคุณจะเอาทหารประเทศไหนก็ตามมาบริหารประเทศก็ต้องเจอแบบนี้แหละ เพราะทหารส่วนใหญ่ถูกฝึกมาให้คิดถึงเรื่องความมั่นคงเป็นหลัก นอกนั้นเป็นเรื่องรองหมด ดังนั้นทหารจึงมองทุกอย่างจากเลนส์ของความมั่นคง โปเกมอนโกก็เป็นภัยความมั่นคงได้ ถ้าคุณเป็นนักธุรกิจ โปเกมอนโกอาจเป็นโอกาสทางธุรกิจ ถ้าคุณเป็นวัยรุ่น โปเกมอนโกคือการพักผ่อนหย่อนใจ แต่ถ้าคุณเป็นทหาร คุณจะมองว่าโปเกมอนโกเป็นภัยความมั่นคงหรือเปล่า เพราะโดยธรรมชาติเขาถูกฝึกมาปกป้อง คุ้มครองความปลอดภัยของพวกเรานี่แหละ

“ฉะนั้นพอเราเอาเผด็จการทหารมาใช้ในฐานะระบอบการเมือง นี่คือสิ่งที่คุณจะได้ คุณจะไปคาดหวังในสิ่งที่เขาไม่มีไม่ได้ ทั้งความโชติช่วงทางเศรษฐกิจ เทคโนโลยีสมัยใหม่ การปรับตัวให้เข้ากับโลกภายนอก ในขณะที่ประชาธิปไตยมีความลื่นไหล ยืดหยุ่นมากกว่า แล้วก็มีตัวอย่างให้เห็นเป็นไม่รู้กี่สิบประเทศ ระบอบเผด็จการสร้างแค่ความสงบ แต่เป็นความสงบที่มีต้นทุนสูงมาก และเป็นต้นทุนที่ถูกทำให้มองไม่เห็น เพราะมีการควบคุมข้อมูลข่าวสาร มีปัญหาเราก็พูดไม่ได้อย่างเต็มที่หรอก มันถึงดูสงบสุขดี ต้นทุนก็เลยสะสมมากขึ้นเรื่อยๆ ในการอยู่แบบสงบอย่างนี้”

สุดท้ายถึงวันนี้เราจะเลือกไม่ได้ว่าจะอยู่ภายใต้ระบอบการปกครองรูปแบบไหน แต่สิ่งที่เราพอจะทำได้คือพยายามเรียนรู้จากสิ่งที่เป็นอยู่ให้ได้มากที่สุด เพื่อจะได้รู้เท่าทัน และช่วยกันเฝ้าระวังสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตต่อไป เหมือนที่ประจักษ์ทิ้งท้ายไว้ว่า

“วิกฤติในสังคมตอนนี้ ถ้าจะมีข้อดีอย่างหนึ่งที่ผมเห็นคือ อย่างน้อยสังคมไทยก็เรียนรู้แล้วว่าระบอบประชาธิปไตยมีความบกพร่อง ผิดพลาดได้ รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอาจจะไม่ได้ดีเสมอไป เราจะได้รู้จักตรวจสอบนักการเมือง รัฐบาล หรือใครก็ตามที่ใช้อำนาจประชาชนผ่านการเลือกตั้งในนามของประชาธิปไตย

“แต่สิ่งที่ยังไม่เกิดก็คือ สังคมไทยยังไม่ได้วิพากษ์ หรือรู้เท่าทันระบอบเผด็จการเท่าๆ กับที่เราวิพากษ์ระบอบประชาธิปไตย พูดง่ายๆ คือสังคมไทยเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่ยังโลกสวยกับเผด็จการ เวลาพูดถึงรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เราจะตื่นตัวมาก อยากจะตรวจสอบ

“แต่พอเป็นระบอบเผด็จการ เรากลับบอกว่า ให้เขาบริหารบ้านเมืองไปเถอะ เดี๋ยวทุกอย่างจะดีขึ้นเอง ซึ่งจะว่าไปมันก็ประหลาดนะ”

Source : http://themomentum.co/momentum-feature-dictatorship-prajak

รากเหง้าของความขัดแย้งในโลกปัจจุบัน

รากเหง้าของความขัดแย้งในโลกปัจจุบัน

Author : อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์

เราจะเข้าใจภาพน่าสะพรึงกลัวของความรุนแรงและสงครามที่กระจายไปทุกพื้นที่ของโลกในวันนี้ได้อย่างไร

เมื่อหลายเดือนก่อน ผมได้รับเกียรติไปคุยในการประชุมสัมมนาเรื่อง “ มองไปข้างหน้า …บทเรียนจากอดีต ” จัดโดยศูนย์นโยบายโลกมุสลิม คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประเด็นที่ไปแลกเปลี่ยนยังคงอยู่ในสมอง จึงขออนุญาตินำมาขยายความนะครับ

ความเข้าใจ อดีต ” ช่วยให้มอง/เข้าใจปัจจุบันได้ชัดเจนขึ้น แต่ความรู้ความเข้าใจที่ดีขึ้นนี้จะ “สร้างทาง”ไปสู่อนาคตได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขพลังทางสังคมอื่นๆอีกมากมาย ซึ่งบางปัจจัยก็เป็นเรื่องที่คาดเดาไม่ได้หรือผูกพันความซับซ้อนไว้มากเกินกว่าคนกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดจะแก้ไขได้

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าเราจะ “ สร้างทาง” ไปสู่อนาคตได้หรือไม่ได้ก็ตาม เราก็จำเป็นที่จะต้องเข้าใจความเปลี่ยนแปลงและความขัดแย้งทั้งหลายที่เกิดขึ้นนี้ให้ชัดเจนขึ้น

ความขัดแย้งในปัจจุบันเป็นผลผลิตที่สำคัญของเงื่อนไขพลวัตรทางประวัติศาสตร์อย่างน้อยห้าประการด้วยกัน ได้แก่ 1.การเกิด “รัฐชาติ” ในสภาวะที่ยังไม่มี”ชาติ” (อาณานิคม) 2.การเกิดรัฐชาติกับการแตกตัวทางชนชั้นหลังสงครามโลกครั้งที่สอง 3.สงครามเย็นกับ “ปัญหาความขัดแย้ง”ใต้พื้นผิว 4.การสิ้นสุดสงครามเย็น/ เสรีนิยมใหม่ /จักรวรรดิ์นิยมใหม่ 5.” เศรษฐกิจสงคราม” ต่อต้านจักรวรรดิ

การเกิด รัฐชาติ” ในสภาวะที่ยังไม่มีชาติ” (อาณานิคม) เป็นรากเหง้าพื้นฐานที่สำคัญที่ทำให้เกิดความขัดแย้งในปัจจุบัน กล่าวคือ การขีดเส้นแบ่งอำนาจการปกครองของบรรดาเจ้าอาณานิคมที่ไม่ได้แยแสความแตกต่างของชาติพันธ์ภายใต้อำนาจปกครองของตนเอง ได้ส่งผลให้ “รัฐ” ที่เกิดใหม่หลังสงครามโลกจึงเป็น“รัฐ” ที่ยังไม่มีความสำนึกความเป็น “ ชาติ” ร่วมกัน เจ้าอาณานิคมจะเลือกเอากลุ่มชาติพันธ์บางกลุ่มขึ้นมามีอำนาจเหนือกลุ่มชาติพันธ์อื่นๆใน “รัฐ” ใหม่ที่สถาปนาขึ้น เพื่อที่จะให้เจ้าผู้ปกครองรัฐใหม่เอื้อประโยชน์ให้แก่ตนในลักษณะเดียวกับที่เป็นมาก่อนได้เอกราช ซึ่งทำให้ปัญหาความขัดแย้งอันเกิดจากความแตกต่างทางชาติพันธ์ดำรงอยู่

เมื่อเกิดรัฐชาติใหม่ขึ้นมา เจ้าผู้ปกครองรัฐใหม่ก็จะดำเนินนโยบายที่ยังประโยชน์ให้เฉพาะกลุ่มชาติพันธ์ของตน ส่งผลทำให้เกิดการแตกตัวทางชนชั้นที่ขึ้นอยู่กับชาติพันธ์ชัดเจนมากขึ้นตามลำดับ ซึ่งยิ่งซ้ำเติมให้ปัญหาความขัดแย้งทางชาติพันธ์เดิมคุกรุ่นมากขึ้น ตัวอย่างของโลกอาหรับชัดเจนมากว่าภายใต้เงื่อนไขน้ำมันเป็นสินค้าจำเป็นและมีราคาสูงทำให้เกิดการแตกตัวทางชนชั้นชัดเจนขึ้น ขณะเดียวกับรัฐได้แปรรูปรัฐมาสู่การเป็นรัฐแสวงหาค่าเช้าทางเศรษฐกิจ (rentier-state)ซึ่งเกิดขึ้นพร้อมกับอิทธิพลของบริษัทน้ำมันใหญ่ ๗ บริษัท (Seven Sisters) ซึ่งย่ิงทำให้ช่องว่างทางชนชั้นและชาติพันธ์ถ่างมากขึ้น

ในช่วงเวลาของสงครามเย็นจนถึง ค.ศ.1990 ความขัดแย้งระหว่างชาติพันธ์ได้ปะทุขึ้นแต่อยู่ภายใต้กรอบการคิดและปฏิบัติการณ์ของโลกสองฝ่าย ซึ่งทำให้ปัญหาทางชาติพันธ์ถูกซ่อนเอาไว้ใต้พรมของการต่อสู้ทางอุดมการณ์ แต่ขณะเดียวกัน ก็ได้ทำให้กลุ่มชาติพันธ์ย่อยต่างๆได้มีโอกาสสะสมความชำนาญในการต่อสู้หลายรูปแบบและสามารถที่จะสะสมอาวุธ/ทรัพยากรไว้ได้ไม่น้อยทีเดียว ขณะเดียวกัน ภายใต้เงื่อนไขการต่อสู้ของสงครามเย็น การช่วงชิงพลเมืองด้วยการขยายตัวของการบริการของรัฐขยายตัวมากขึ้น แต่การโอบอุ้มพลเมืองก็เป็นไปตามการแบ่งกลุ่มเชื้อชาติ/ศาสนา/วัฒนธรรม ซึ่งยิ่งซ้ำเติมปัญหาชนชั้นและชาติพันธ์ให้ความเกลียดชังระหว่างกันทวีมากขึ้น

การสิ้นสุดสงครามเย็นจากทศวรรษ 1990 เป็นต้นมาได้ทำให้เกิดการจัดระบบความสัมพันธ์ทางอำนาจภายในรัฐและระหว่างรัฐในรูปแบบใหม่ ความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างพลเมืองกับรัฐได้แปรรูปไปตามลัทธิเสรีนิยมใหม่ที่ลดภาคการบริการของรัฐลง โดยปลดปล่อยปัจเจกชนในดำรงอยู่ในระบบตลาดด้วยตัวเอง ก็ยิ่งทำให้ปัญหาความยากจนทวีสูงขึ้นมาก

พร้อมกันนั้น การจัดระบบความสัมพันธ์ทางอำนาจใหม่ที่ทุนเบื้องหลังรัฐทุกรัฐได้สานสายใยสัมพันธ์ข้ามรัฐเพื่อแสวงหาผลประโยชน์สูงสุดได้ทำให้การขูดรีดทำได้โดยตรงไม่จำเป็นต้องพะวงต่อการปกป้องพลเมืองจากอำนาจรัฐแบบเดิม ซึ่งทำให้การขยายอำนาจข้ามรัฐโดยมหาอำนาจเกิดขึ้นทั่วไปและเกิดขึ้นไม่ยากนัก ซึ่งย่ิงทำให้ความคับแค้นของผู้ยากไร้เกิดขึ้นในอีกมิติหนึ่งที่ไม่ใช่เพียงแค่ผู้ปกครองรัฐตนเองเท่านั้น หากแต่มองข้ามไปถึงจักรวรรดิ์ใหม่ที่ขยายตัวเข้ามาขูดรีดตนเองด้วย

ประวัติศาสตร์” ที่ดำเนินมาดังกล่าวนี้ จึงทำให้รอยปะทุของความคับแค้นของผู้คนเกิดขึ้นได้ง่ายมากขึ้น เมื่อกลุ่มคนผู้ยากไร้และเป็นคนละชาติพันธ์กับผู้ปกครองมีโอกาสในการสร้างหรือสัมพันธ์กับสภาพการเป็น “กองทหาร” ภายใต้เงื่อนไขสงครามเย็นที่ผ่านมา จึงพร้อมที่จะใช้ประสพการณ์และความสามารถต่างๆเพื่อปลดเปลื้องความคับแค้น พร้อมกันนั้น การแสวงหาผลประโยชน์จากการทำสงครามจากกลุ่มทุนอีกมากมายหลายกลุ่มจึงทำให้ “ สงคราม” เป็นที่มาของโภคทรัพย์ การเลี้ยงไข้ “สงคราม” ให้ดำเนินต่อไปเรื่อยๆจึงเป็นเรื่องที่กลุ่มทุนอาวุธให้การสนับสนุนอย่างกึ่งลับกึ่งเปิดเผย

รากเหง้าที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งและสงครามในโลกวันนี้จึงไม่ได้เกิดขึ้นในสุญญากาศ หากแต่เป็นผลต่อเนื่องที่ดำเนินมาจาก “ อดีต” ที่ถักสานกันมาอย่างต่อเนื่อง เรา : คนตัวเล็กตัวน้อยในโลกนี้จึงต้องรับกรรมร่วมไปด้วยกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เขาหาว่าคนไทย มีจุดอ่อน 10 ประการ

เขาหาว่าคนไทย มีจุดอ่อน 10 ประการ

Author : กาแฟดำ

มีคนส่งเรื่องนี้ผ่าน social media มาให้อ่าน อ้างว่าเป็นบทวิเคราะห์ของอดีตผู้บริหาร ของหน่วยงานญี่ปุ่น

ประจำประเทศไทย วิเคราะห์ “จุดอ่อน” ของคนไทย 10 ข้อที่บางคนบอกว่า จี้แทงใจดำกันทีเดียว

ผมไม่แน่ใจว่าคนแสดงความเห็นที่ว่านี้เป็นเจ้าหน้าที่คนที่ว่าหรือไม่ ผมรู้จักเขา และรู้ว่าเขาเป็นคนพูดจาตรงไปตรงมา เอาเป็นว่าเนื้อหาของบทวิเคราะห์นี้น่าสนใจสำหรับคนไทยมาก ไม่ว่าเราจะชอบหรือไม่ชอบ หากคนอื่นเขามองเราอย่างนี้ก็น่าจะมีเหตุที่ทำให้เราต้องคิดใคร่ครวญให้หนักเพื่อจะได้แก้ไขปรับปรุงตัวเองอย่างจริงจัง

เขาบอกว่า “จุดอ่อน 10 ข้อ” ของคนไทยมีอย่างนี้

1. คนไทยรู้จักหน้าที่ของตัวเองต่ำมาก โดยเฉพาะหน้าที่ต่อสังคม เป็นประเภทมือใครยาวสาวได้สาวเอา เกิดธุรกิจการเมือง ธุรกิจราชการ ธุรกิจการศึกษา ทำให้ประเทศล้าหลัง

2. การศึกษายังไม่ทันสมัย คนไทยเก่งแต่ภาษาของตัวเอง ทำให้ขาดโอกาสในการแข่งขันกับต่างชาติในเวทีต่าง ๆ ไม่กล้าแสดงออก ขี้อาย ไม่มั่นใจในตัวเอง จึงตามหลังชาติอื่น คนมีฐานะจะส่งลูกไปเรียนเมืองนอกเพื่อโอกาสที่ดีกว่า

3. มองอนาคตไม่เป็น คนไทยมากกว่า 70% ทำงานแบบไร้อนาคต ทำแบบวันต่อวัน แก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปวัน ๆ น้อยคนนักที่จะทำงานเป็นระบบ เป็นขั้นเป็นตอน มีเป้าหมายในอนาคตที่ชัดเจน

4. ไม่จริงจังในความรับผิดชอบต่อหน้าที่ ทำแบบผักชีโรยหน้า หรือทำด้วยความเกรงใจ ต่างกับคนญี่ปุ่นหรือยุโรปที่จะให้ความสำคัญกับสัญญา ข้อตกลงอย่างเคร่งครัด เพราะหมายถึงความเชื่อถือในระยะยาว คนไทยจึงถูกลดเครดิตความน่าเชื่อถือลงเรื่อย ๆ

5. การกระจายความเจริญยังไม่เต็มที่ ประชากรประมาณ 60-70% ที่อยู่ห่างไกลขาดโอกาสในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของตัวเอง และชุมชนซึ่งเป็นหน้าที่ของภาครัฐที่ต้องส่งเสริม

6. การบังคับใช้กฎหมายไม่เข้มแข็งและไม่ต่อเนื่อง ทำงานแบบลูบหน้าปะจมูก ปราบปรามไม่จริงจัง การดำเนินการตามกฎหมายกับผู้มีอำนาจหรือบริวารจะทำแบบเอาตัวรอดไปก่อน ไม่มีมาตรฐาน

7. อิจฉาตาร้อน สังคมไทยไม่ค่อยเป็นสุภาพบุรุษ เลี่ยงเป็นศรีธนญชัย ยกย่องคนมีอำนาจมีเงินโดยไม่สนใจภูมิหลัง โดยเฉพาะคนที่ล้มบนฟูกแล้วไปเกาะผู้มีอำนาจเพื่อเอาตัวรอด คนพวกนี้ร้ายยิ่งกว่าผู้ก่อการร้าย ดีแต่พูด มือไม่พายเอาเท้าราน้ำ ทำให้คนดีไม่กล้ามาเพราะกลัวเปลืองตัว

8. เอ็นจีโอค้านลูกเดียว บางกลุ่มอิงอยู่กับผลประโยชน์ บ่อยครั้งที่ต้องเสียโอกาสอย่างมหาศาลเพราะการค้านแบบหัวชนฝา เหตุผลจริง ๆ ไม่พูดกัน

9. ยังไม่พร้อมสำหรับเวทีโลก การสร้างความน่าเชื่อถือ ในเวทีการค้าระดับโลกยังขาดทักษะและทีมเวิร์คที่ดี ทำให้สู้ประเทศเล็กๆ อย่างสิงคโปร์ไม่ได้

10. เลี้ยงลูกไม่เป็น เด็กไทยขาดความอดทน ไม่มีภูมิคุ้มกัน เป็นขี้โรคทางจิตใจ ไม่เข้มแข็งเพราะการเลี้ยงลูกแบบไข่ในหิน ไม่สอนให้ลูกช่วยตัวเอง ไม่กระตือรือร้นในการช่วยตนเอง ขวนขวาย แสวงหา ค้นหาตัวเอง และไม่สอนให้สำนึกรับผิดชอบต่อสังคม

ผมไม่ต้องเพิ่มเติมความเห็น ท่านผู้อ่านเห็นด้วยหรือเห็นแย้งอย่างไร ร่วมแสดงความคิดเห็นได้ครับ

ภาวะ “ล้มละลาย ความเป็นมนุษย์” ในสังคมไทย

ภาวะ "ล้มละลาย ความเป็นมนุษย์" ในสังคมไทย

Author : จดหมายข่าวมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์

ข้าพเจ้าเป็นนักมานุษยวิทยารุ่นเก่า การมองโลกแนวคิดทฤษฎีและ วิธีการก็เป็นแบบรุ่นเก่า

ต่างไปจากรุ่นใหม่ที่เรียกว่ารุ่นหลังสมัยใหม่ [PostModern]

ความมุ่งหมายของนักมานุษยวิทยาคือ การศึกษาให้เข้าใจถึงความเป็นมนุษย์ในฐานะที่เป็นสัตว์โลกชนิดหนึ่ง

ที่มีวิวัฒนาการ [Evolution] แตกต่างไปจากสัตว์โลกอื่นที่เป็นเดรัจฉานอย่างไร

 

การต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิในที่อยู่อาศัยแต่เดิมของชาวชุมชนป้อมมหากาฬ เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๕๙

 

โดยอาศัยวิชาที่เป็นสาขาคือ มานุษยวิทยากายภาพ [Physical Anthropology] และวิชาโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์ [Prehistoric Archaeology] เป็นเครื่องมือศึกษาให้เห็นขั้นตอนของวิวัฒนาการมานุษยวิทยากายภาพศึกษาให้เห็นวิวัฒนาการทางร่างกาย   และชีววิทยาที่ทำให้เห็นว่ามนุษย์คือสัตว์คล้ายลิงที่มีวิวัฒนาการเลยเส้นแบ่งของสัตว์เดรัจฉานมาเป็นสัตว์มนุษย์ [Homosapien Sapiens] ที่มีความสามารถในการเรียนรู้สื่อสารกันได้ด้านภาษาเชิงสัญลักษณ์ และเป็นสัตว์สังคม [Social Animal] ชนิดหนึ่ง

 

ในขณะที่วิชาโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์ ศึกษามนุษย์ ในฐานะเป็นสัตว์วัฒนธรรมที่เรียกว่า Tool Maker คือสามารถคิดเครื่องมือเครื่องใช้ เช่น เครื่องมือหินเพื่อการดำรงชีวิตรอด

 

สิ่งที่มนุษย์ในฐานะสัตว์สังคมที่ต้องอยู่ร่วมกันเป็น กลุ่ม เหล่าคิดขึ้นเพื่อการมีชีวิตรอดร่วมกัน นั่นคือ วัฒนธรรม [Culture]

 

วิชาโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์นับเนื่องเป็นสาขาหนึ่งของวิชามานุษยวิทยาวัฒนธรรม   [Cultural Anthropology]   ที่เน้นการศึกษาด้านวัฒนธรรมเป็นหลัก แต่วิชาที่ข้าพเจ้าได้รับการอบรมมาเป็นวิชามานุษยวิทยาสังคม [Social Anthropology] เพราะฉะนั้นเวลาที่พูดถึงวัฒนธรรมในหนทางของข้าพเจ้าจึงต้องมองทั้งวัฒนธรรมและสังคมอย่างแยกกันออกไป เปรียบเสมือนเหรียญที่มีสองด้านในเหรียญเดียวกัน

 

ถ้าหากวัฒนธรรมคือเนื้อหา สังคมก็คือบริบท [Social Context]

 

ยกตัวอย่างเช่นเรื่องประชาธิปไตยในประเทศไทยในขณะนี้ คนส่วนใหญ่สับสนระหว่างประชาธิปไตยลอยๆ แบบอุดมคติ ว่าต้องเป็นเช่นนั้นเช่นนี้แล้วอ้างและเลียนแบบประชาธิปไตยแบบอเมริกามาเป็นสากล ในขณะที่ประชาธิปไตยในสังคมไทยที่อยู่ในบริบททางสังคมคือ ประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หาใช่ประธานาธิบดีแบบอเมริกันเป็นประมุขไม่ เพราะมีรูปแบบและระบบทางสังคมเศรษฐกิจแตกต่างกัน ไม่ควรที่จะคิดค้นเองแบบลอยๆ หรือที่เรียกว่า “มโน” แล้วมาวิวาทกันอย่างในปัจจุบัน

 

วิชามานุษยวิทยาสังคมแบบเก่าๆ ที่ข้าพเจ้าเล่าเรียนมานั้น เรียกได้อีกอย่างหนึ่งว่า สังคมวิทยาเปรียบเทียบ [Comparative Sociology] คือศึกษาเปรียบเทียบสังคมหนึ่งแตกต่างจากสังคมอื่นๆ ในลักษณะเหมือนกัน คล้ายคลึงกัน หรือแตกต่างกันอย่างไร และมักเป็นการศึกษาสังคมขนาดเล็ก เช่น สังคมตามท้องถิ่นที่เป็นเผ่าพันธุ์หรือสังคมแบบประเพณี และปล่อยให้เป็นเรื่องของนักสังคมวิทยาศึกษาสังคมเมืองหรือสังคมใหญ่ๆ ที่มีความซับซ้อนแทน ในลักษณะที่เป็นอีกวิชาหนึ่งที่เป็นเอกเทศ

 

สิ่งที่ข้าพเจ้าสนใจมากในเชิงวิวัฒนาการก็คือ ความเป็นมนุษย์และความล่มสลายทางสังคม วัฒนธรรม และความเป็นมนุษย์ ข้าพเจ้าได้รับการอบรมให้เห็นว่า   มนุษย์นอกจากเป็นสัตว์สังคมที่ต้องอยู่รวมกันในครอบครัวและชุมชนแล้ว   มนุษย์ยังเป็นสัตว์เศรษฐกิจ   สัตว์การเมือง และสัตว์ศีลธรรม [Moral Being] โดยเฉพาะความเป็นสัตว์ศีลธรรมนั้น ถ้าหมดไป ความล่มสลายของความเป็นมนุษย์ก็จะสิ้นสุดลง [Dehumanization]  แต่การล่มสลายของความเป็นมนุษย์นั้นก็หาได้หมายถึงการล่มสลายของสังคมมนุษย์ไม่ เป็นแต่เพียงปรากฏการณ์ของการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมในเวลาและพื้นที่หนึ่งๆ เช่นนั้น

 

เช่น สังคมบุพกาลในสมัยแรกๆ เป็นสังคมแบบเผ่าพันธุ์ [Tribal Society] ที่คนมารวมกลุ่มกันด้วยความสัมพันธ์ทางเครือญาติจากสายเลือดและการแต่งงานของคนที่เป็นชาติพันธุ์เดียวกัน  มาเป็นสังคมชาวนา [Peasant Society] ที่ผู้คนหลายชาติพันธุ์  หลายภาษา และเครือญาติเข้ามาอยู่รวมกันในพื้นที่เดียวกัน ทำให้เกิดความใกล้ชิดและความรู้สึกนึกคิดเป็นคนที่เกิดในพื้นที่หรือบ้านเกิดเดียวกัน

 

ผังโครงสร้างทางสังคม

 

“สังคมชาวนา” [Peasant Society]  แตกต่างไปจาก “สังคมเผ่าพันธุ์” [Tribal Society]  ในแง่ที่เป็น “ส่วนหนึ่งของสังคมใหญ่” [Part Society] คือเป็นส่วนหนึ่งของสังคมเมือง รัฐ  และในที่สุดก็ประเทศชาติ  ที่มีวัฒนธรรมสองระดับ คือ “ประเพณีหลวง”  ของสังคมเมืองหรือรัฐอันเป็นส่วนรวมกับ “ประเพณีราษฎร์” ในระดับท้องถิ่น “ประเพณีหลวง” เป็นวัฒนธรรมของคนในสังคมเมื่อทำหน้าที่บูรณาการให้ “ประเพณีราษฎร์” ที่มีความแตกต่างและหลากหลายในท้องถิ่นเกิดสำนึกเป็นผู้คนในสังคมของแผ่นดินหรือชาติเดียวกัน

 

การเกิดขึ้นของการศึกษาวิชามานุษยวิทยาของนักมานุษยวิทยารุ่นเก่าส่วนหนึ่งนั้น ต้องการศึกษาการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมของความเป็นมนุษย์ที่รวมกันเป็นกลุ่มเป็นพวกเดียวกัน ว่าเปลี่ยนแปลงไปในทางราบรื่นในครรลองของความเป็นมนุษย์ หรือเปลี่ยนแปลงไปในทางขัดแย้งรุนแรงจนเกิดภาวะล่มสลายในความเป็นมนุษย์หรือไม่

 

เพราะสังคมมนุษย์เป็นสังคมที่ไม่หยุดนิ่ง มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาในมิติทางพื้นที่และเวลา เหตุของการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมนั้นเกิดขึ้น ๒ ทาง

 

ทางแรกจากภายในสังคมหรือชุมชนนั้น อันเนื่องมาจากนวัตกรรมใหม่ๆ ที่คนใน [Insider] สังคมนั้นคิดขึ้นมา กับทางที่สอง คือจากการติดต่อเกี่ยวข้องจากภายนอกแล้วรับเอาสิ่งใหม่ๆ แปลกๆ เข้ามา [Culture Contact]

 

ในประวัติศาสตร์การล่มสลายของความเป็นมนุษย์ในสังคมแบบเผ่าพันธุ์และสังคมชาวนาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และในอีกหลายภูมิภาคของโลกนั้น เกิดขึ้นในสมัยล่าอาณานิคมของประเทศทางตะวันตก ที่ทำให้คนในสังคมคิดอะไรที่เหมาะสมไม่เป็นแล้วไปรับเอาสิ่งที่เห็นว่าดีงามจากภายนอกเข้ามา ทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้นภายในประการหนึ่ง และอีกประการหนึ่งก็คือการถูกบังคับจากอำนาจทางการเมืองเศรษฐกิจของผู้มีอำนาจจากภายนอก เช่น จากรัฐหรือจากต่างชาติ ที่เอากฎเกณฑ์ใหม่ๆ สิ่งใหม่ๆ เข้ามาแทนที่ของเก่าที่มีอยู่แล้วในสังคม

 

ในดินแดนประเทศไทย สังคมเผ่าพันธุ์ [Tribal Society] เปลี่ยนแปลงและสูญหายไปเกือบหมดแล้ว อันเนื่องจากการเติบโตของสังคมชาวนาและรัฐที่ทำให้ความเป็นสังคมเผ่าพันธุ์ล่มสลายและคงเหลืออยู่ในพื้นที่ชายขอบของรัฐบางแห่งเท่านั้น ความต่างกันของสังคมเผ่าพันธุ์กับสังคมชาวนานั้นอยู่ที่ สังคมเผ่าพันธุ์ของคนแต่ละกลุ่มเป็นสังคมอิสระมีอำนาจดูแลกันเองภายใน โดยอาศัยความสัมพันธ์กันทางระบบเครือญาติ โคตรเหง้า ตระกูล และครอบครัว ในขณะที่สังคมชาวนาหาเป็นอิสระไม่ แต่เป็นส่วนหนึ่งของสังคมใหญ่ [Part Society] คือต้องพึ่งพิงเมืองและรัฐทางการเมืองและเศรษฐกิจ

 

ความเป็นปึกแผ่นและความมั่นคงทางสังคมไม่ได้เกิดจากโครงสร้างสังคมในระบบเครือญาติ [Kinship] ของเผ่าพันธุ์ หากอยู่ที่พื้นที่ซึ่งผู้คนในชุมชนตั้งถิ่นฐานเป็นชุมชนบ้านและเมืองอยู่ร่วมกัน ในลักษณะแผ่นดินเกิด ซึ่งสะท้อนให้เห็นจากความรู้สึกร่วมของคนว่าเป็นคนบ้านไหนและเมืองไหน เป็นต้น หาได้เอาความเป็นชาติพันธุ์มาเป็นศูนย์รวม

 

การล่มสลายของสังคมเผ่าพันธุ์และสังคมชาวนาในดินแดนประเทศไทยนั้นมีเหตุใหญ่ๆ มาจากการเปลี่ยนแปลงที่มาจากภายนอก คือ เมื่อมีอิทธิพลทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรมเข้ามานั้น คนในสังคมไม่สามารถเลือกเฟ้นและจัดการให้เข้ากันจนเกิดดุลยภาพระหว่างสิ่งใหม่ๆ และของเก่าได้ ก็จะเกิดการขัดแย้ง [Conflict] ขึ้น โดยเฉพาะความขัดแย้งทางศีลธรรมที่ทำให้ศีลธรรมและจริยธรรมในสังคมเสื่อมสลาย [Demoralization] ซึ่งถ้าหากไม่มีการฟื้นฟูให้อยู่ในทำนองคลองธรรมแล้ว จะทำให้ภาวะความเป็นมนุษย์ในสังคมนั้นๆ เกิดความล่มสลายในความเป็นมนุษย์[Dehumanization] จนถึงการใช้ความรุนแรงฆ่าฟันกัน หรือแย่งชิงกันอย่างชั่วร้ายยิ่งกว่าเดรัจฉาน

 

ในกรณีการล่มสลายของเผ่าพันธุ์ [Detribalization] เท่าที่ข้าพเจ้ารับรู้มา แลไม่เห็นความเสื่อมทางศีลธรรมและจริยธรรมที่นำไปสู่การล่มสลายของความเป็นมนุษย์ จนถึงฆ่าฟันกันอย่างล้างเผ่าพันธุ์ แต่แลเห็นการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เศรษฐกิจ จากการเคยอยู่รวมกันเป็นเผ่าพันธุ์ในท้องถิ่นที่ทำมาหากินแบบพึ่งพิงธรรมชาติตามฤดูกาลทั้งการล่าสัตว์ การเพาะปลูกที่ทำให้ต้องเปลี่ยนที่อยู่อาศัย และพื้นที่ทำกิน [Semi-nomadic] มาเป็นการตั้งถิ่นฐานอยู่ติดที่และทำการเพาะปลูกแบบทดน้ำในที่ราบลุ่มแทน โดยอยู่รวมกันกับคนในชาติพันธุ์อื่น ในรูปแบบของสังคมชาวนาที่ประกอบด้วยชุมชนบ้านและเมืองในพื้นที่ซึ่งเรียกว่า “ท้องถิ่น” [Locality] ทำให้ต้องเปลี่ยนระบบความสัมพันธ์ทางสังคมจากระบบเครือญาติ [Kinship]มาเป็นระบบพี่น้องร่วมบ้านร่วมท้องถิ่นเดียวกัน โดยอาศัยความสัมพันธ์ในเรื่องการกินดองหรือการแต่งงานระหว่างกันกับการเป็นเพื่อนบ้าน เช่น ที่มีการผูกเสี่ยวของคนอีสานหรือผูกเกลอของคนใต้ รวมทั้งการเข้าสู่ระบบอุปถัมภ์กับคนที่เป็นชนชั้นในเมืองที่เป็นผู้มีคุณธรรม

 

การล่มสลายของเผ่าพันธุ์ [Detribalization] ดังกล่าวนี้มีที่มาจากการเสื่อมทางศีลธรรมและจริยธรรม [Demoralization] มาก่อน ดังเห็นได้จากการเกี่ยวข้องกับภายนอก ทำให้ความสัมพันธ์ทางสังคมที่เคยพึ่งพิงกันในทางเศรษฐกิจเพื่อมีชีวิตรอดร่วมกัน ความสัมพันธ์เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในระบบความเชื่อทางศาสนาและจริยธรรม ค่านิยมโลกทัศน์ และศักดิ์ศรีของความเป็นเผ่าพันธุ์ที่อยู่รวมกันเป็นกลุ่มอย่างเสมอภาค มาเป็นความรู้สึกแปลกแยกเห็นแก่ตัวในลักษณะที่เป็นปัจเจก ที่รับเอาความเหลื่อมล้ำเข้ามาสร้างปมด้อยให้แก่ตนเอง

 

ดังเช่นคนหลายชาติพันธุ์ไม่ว่าคนชอง คนลัวะ ละว้า คนส่วยแลเห็นชาติพันธุ์ตนเองต่ำต้อยกว่าคนไทยจากภายนอก แล้วพยายามกลบเกลื่อนในความเป็นชาติพันธุ์ของตนไว้ รวมทั้งการแตกแยกไม่อยู่รวมกันเป็นกลุ่มเป็นชุมชนดังเดิม โยกย้ายถิ่นฐานไปอยู่ในที่อื่นๆ ไปเป็นแรงงานในเมือง ไปอยู่ในชุมชนท้องถิ่นของคนที่เป็นชาวนาชาวบ้าน เป็นต้น

 

แต่การล่มสลายทางศีลธรรมและการล่มสลายของเผ่าพันธุ์ดังกล่าวนี้ ก็หาได้ทำลายความเป็นมนุษย์ไม่ หากถูกเปลี่ยนแปลงไปสู่ความเป็นคนในสังคมชาวนา [Peasant Society] ในชุมชนท้องถิ่น [Localization] แทน

 

อย่างย่อๆ ก็คือ กลายเป็น “คนถิ่น” แทน “คนเผ่า” ไป

 

สังคมชาวนาเป็นสังคมของคนที่อยู่ในชุมชนถิ่นหรือท้องถิ่น [Local Communities] ที่ประกอบด้วยบ้านและเมือง มีมาช้านานแต่สมัยกว่าพันปีที่แล้วมา เริ่มเปลี่ยนแปลงแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ อันเป็นเมืองไทยภายใต้อิทธิพลวัฒนธรรมตะวันตก [Westernization] ที่มีมาแต่สมัยรัชกาลที่ ๔

 

การปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดินและการปกครองสมัยรัชกาลที่ ๕   เพื่อให้เป็นรัฐรวมศูนย์แบบสมบูรณาญาสิทธิราชแบบทางประเทศมหาอำนาจทางตะวันตก   คือจุดเริ่มต้นของกระบวนการทำลายความเป็นอิสระของชุมชนท้องถิ่นและชีวิตวัฒนธรรม [Delocalization]

 

ดังเห็นได้จากการนำเอาพื้นที่ทางการบริหาร [Administrative Space] มาแทนที่พื้นที่วัฒนธรรม [Cultural Space] ในรูปแบบของหมู่บ้าน ตำบลและอำเภอมาแทนที่ความเป็นชุมชนบ้านและเมือง แต่เดิม การให้กรรมสิทธิ์ที่ดินแก่ประชาชนโดยทั่วไปและการส่งเสริมการปลูกข้าวเป็นพืชเศรษฐกิจเพื่อการส่งออกได้ทำให้ภูมิวัฒนธรรมของชุมชนบ้านเมืองที่มีวัดเป็นศูนย์กลาง ที่มีธรรมชาติป่าเขา ผสมกับพื้นที่ทำการเพาะปลูก อย่างได้สัดส่วนมาเป็นพื้นที่ทุ่งกว้างเพื่อการทำนา มีโรงสีและตลาดเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจสังคมที่มีคนชั้นกลาง ซึ่งได้แก่พวกพ่อค้าคนจีน เจ้าของนา เจ้าของโรงสี และตลาดเกิดขึ้น

 

การขยายกิจการทางสาธารณูปโภค เช่น ทางรถยนต์ ทางรถไฟ และการชลประทาน ตลอดจนการตั้งสถานที่ทำการของทางราชการ ทำให้ผู้คนแต่เดิมที่ตั้งถิ่นฐานชุมชนอยู่ตามริมน้ำลำคลองย้ายเข้ามาตั้งถิ่นฐานใหม่ตามสองฝั่งถนนและทางรถไฟ ทั้งหมดนี้ทำให้ชุมชนชาวนาแต่เดิมต้องปรับตัวมาอยู่ในพื้นที่ใหม่และสภาพแวดล้อมใหม่

ซึ่งกระนั้นก็ดี รากเหง้าของความเป็นสังคมชาวนาในมิติทางวัฒนธรรมก็ยังไม่หมดสิ้นไป เพราะพื้นฐานเดิมเป็นสังคมเกษตรกรรมเป็นแต่เปลี่ยนจากเกษตรกรรมแบบชาวนามาสู่เกษตรกรรมแบบกสิกร [Farmer] กสิกรเป็นผู้ประกอบการด้วยตนเอง มีที่ดินมีเครื่องมือเครื่องใช้ของตัวเอง ต่างจากชาวนาเดิมที่ต้องอยู่กันเป็นกลุ่ม ช่วยเหลือเกื้อกูล

กันในการดำรงอยู่และการทำมาหากินที่มีลักษณะเป็นปัจเจก ชุมชนเกษตรกรเห็นได้จากการตั้งบ้านเรือนอยู่ในลักษณะกระจายเป็นกลุ่มครอบครัว [Homestead] ติดกับที่ทำกินและที่ดินของตนเอง แต่ก็มีวัด โรงเรียน ป่าช้าและตลาดเป็นศูนย์กลางอย่างสังคมชาวนาและการรับรู้ชีวิตความเป็นอยู่ในสังคมท้องถิ่น [Local Communities] ร่วมกัน

 

โดยย่อสังคมท้องถิ่นยังคงดำรงอยู่แม้ว่าจะเปลี่ยนจากชาวนามาเป็นเกษตรกรหรือกสิกรแล้วก็ตาม

 

เขตเทือกเขาและที่สูงในจังหวัดน่านที่ปลูกพืชแบบเกษตรอุตสาหกรรม เช่น ข้าวโพด

 

การพัฒนาประเทศให้เป็นสังคมอุตสาหกรรม แต่สมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นต้นมา ทำให้สังคมท้องถิ่นเริ่มสลายอัน เนื่องมาจากการเคลื่อนย้ายของผู้คนจากที่ต่างๆ ทั้งภายในภายนอกเข้ามาอยู่และตั้งถิ่นฐาน ทำสถานที่ประกอบการธุรกิจ อุตสาหกรรมและการสร้างถนน สร้างเขื่อนพลังงานไฟฟ้าเกินขีดความสามารถของสังคมท้องถิ่น

 

แต่เดิมจะบูรณาการทางสังคมและวัฒนธรรมให้คนที่เคลื่อนย้ายเข้ามามีสำนึกร่วมในการเป็นคนในท้องถิ่นเดียวกันได้ นับแต่รัฐบาลคึกฤทธิ์ ปราโมช รัฐบาลชาติชาย ชุณหะวัณ ที่เอาเศรษฐกิจ การเมืองมาเป็นตัวนำในการพัฒนาประเทศให้เป็นสังคมอุตสาหกรรม เช่น ระบบเงินผันและการปั่นที่ดิน รวมทั้งการขยายตัวของเศรษฐกิจทุนนิยม ได้ทำให้สังคมท้องถิ่นเริ่มแตกสลาย [Delocalization] ดังเช่น การขยายตัวของบรรดาบ้านจัดสรร คอนโดมิเนียม นิคมอุตสาหกรรม เป็นต้น ทำให้คนอยู่ในพื้นที่ใหม่อย่างไม่มีหัวนอนปลายตีน ต่างคนต่างอยู่ไม่อาทรแก่กัน และการตั้งถิ่นฐานใหม่เมืองใหม่ที่ทำลายลำน้ำ ลำคลอง หนองบึง และพื้นที่ที่ศักดิ์สิทธิ์ได้ทำให้เกิดภาวะล่มสลายทางศีลธรรมและจริยธรรม ความเป็นมนุษย์ในฐานะสัตว์สังคมเริ่มเสื่อมและรับเอาค่านิยมและประเพณีทางโลกที่เป็นวัตถุนิยมบริโภคนิยมและความเป็นปัจเจกเยี่ยงเดรัจฉานเข้ามาแทนที่

 

นับแต่ยุครัฐบาลทักษิณ ชินวัตร เป็นต้นมา เศรษฐกิจโลกเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ยุคโลกาภิวัตน์ที่มีพรมแดนเกิดทุนเหนือรัฐและเหนือตลาด เป็นโครงสร้างไม่มีหัวนอนปลายเท้าแบบทุนนิยมเสรีเข้าครอบงำเศรษฐกิจและการเมืองของประเทศทั้งในเมืองและชนบท

 

ภายใต้โครงสร้างของทุนข้ามชาติที่มีอำนาจเหนือรัฐและตลาด ได้ทำให้สังคมท้องถิ่นทั้งในเมืองและตามชนบทถูกบดขยี้ทั้งการถูกไล่ที่ หลอกลวงให้ขายที่อยู่อาศัยและทำกิน และการแย่งชิงทรัพยากรน้ำและเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมธรรมชาติที่ควรแก่การอยู่อาศัยของมนุษย์แทบทุกหนแห่ง

 

กิจกรรมการอุตสาหกรรมทั้งหนักและเบาและการเกษตร อุตสาหกรรมได้รุกล้ำเปลี่ยนที่ทางการเกษตรแต่เดิมให้หมดไป โดยคนที่เคยเป็นเกษตรกรที่อยู่ติดที่บ้านเกิดเมืองนอน ต้องโยกย้ายไปเป็นแรงงานข้ามถิ่นข้ามบ้านข้ามเมือง จนเกิดภาวะ “สังคมบ้านแตก” ขึ้นแก่บรรดาลูกหลานที่เป็นเยาวชน

 

ความคิดที่ชั่วร้ายของลัทธิทุนนิยมแบบไม่มีหัวนอนปลายเท้าที่ให้คำนิยามความเป็นมนุษย์ใหม่ว่า “ทรัพยากรมนุษย์” นั้น มีผลกระทบไปถึงการศึกษาอบรมตั้งแต่ระดับครอบครัว ชุมชนท้องถิ่น และบรรดาโรงเรียนและมหาวิทยาลัยทั่วทั้งประเทศ

 

การแพร่หลายทางเทคนิคของบรรดาเครื่องมือในการศึกษา   การสอน   และการสื่อสารแทบทุกชนิดขอคอมพิวเตอร์ที่น่าเอาแนวคิดปรัชญาและความรู้ทางวัตถุ ได้ทำลายระบบทางศีลธรรม จริยธรรมและความเป็นมนุษย์ให้แก่ผู้คนในสังคมทุกระดับชั้น รวมทั้งระบบและกระบวนการทางยุติธรรมการออกกฎหมายก็กลับกลายเป็นเหยื่อและเครื่องมือของบรรดาผู้มีอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจในการสร้างความถูกต้องที่ปราศจากมโนธรรมให้แก่พวกตน

 

สังคมท้องถิ่นแทบทุกภูมิภาคกำลังถูกทำลายในกระบวนการสลายพื้นที่ทางสังคมและวัฒนธรรม [De-localization] โดยอำนาจรัฐและอำนาจทุนนิยมมีปรากฏการณ์ให้เห็นแทบทุกเมื่อชั่วยามในขณะนี้ ดังตัวอย่างไกลตัวในภาคเหนือในเขตจังหวัดแพร่และน่าน ที่รัฐยินยอมให้กลุ่มชาติพันธุ์ผสมนายทุนข้ามชาติ ทำการเพาะปลูก ทำไร่ข้าวโพดในพื้นที่ต้นน้ำยมและน้ำน่านที่อยู่บนภูเขาและที่สูง จนเกิดอาการเขาหัวโล้นไปทั่ว

 

การปลูกข้าวโพดอันเป็นเกษตรอุตสาหกรรมเชิงเดี่ยวได้ทำลายความหลากหลายของชีวภาพของนิเวศวัฒนธรรมบนเขาและที่สูงของกลุ่มชาติพันธุ์ที่อยู่ในพื้นถิ่นที่ทำการเพาะปลูกในระบบไร่หมุนเวียนที่เปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมในพื้นที่ทำมาหากิน  ในลักษณะพอเพียง และไม่ทำลายความหลากหลายทางชีวภาพ   และเป็นการเกษตรที่ยั่งยืน   เพราะการหมุนเวียนไปตามที่ต่างๆที่กำหนดไว้ ทางราชการขาดความเข้าใจ ความหมายและระบบการทำไร่หมุนเวียนของกลุ่มชาติพันธุ์ที่อยู่ในท้องถิ่นมาแต่เดิมไม่ต่ำกว่า ๑๐๐ ปีขึ้นไป และสร้างวาทกรรมโดยนักวิชาการโง่ว่าเป็นการทำไร่เลื่อนลอยที่ทำให้พื้นที่ป่าเขาทั้งหมดเตียนโล่ง เลยอ้างกฎหมายและใช้อำนาจยึดครองที่ดินที่อยู่อาศัยให้มาเป็นของรัฐ ขับไล่ชุมชนท้องถิ่นให้ดำรงอยู่ไม่ได้

 

แต่ในขณะเดียวกันก็เปิดหนทางให้กับบรรดานายทุนข้ามชาติที่นำเอาผลิตผลข้าวโพดเข้าสู่อุตสาหกรรมแปรรูปและส่งออกในการสนับสนุนกลุ่มชาติพันธุ์อื่น   และคนจากพื้นราบเข้าทำไร่เลื่อนลอยด้วยการใช้เครื่องจักรเครื่องยนต์แทนการเพาะปลูกตามวิธีการธรรมชาติของคนในท้องถิ่นแต่เดิม ปัจจุบันการครอบงำของการทำไร่เลื่อนลอยของกลุ่มชนบนที่สูงนั้นก้าวไกลเกินสภาพความเป็นไร่เลื่อนลอยสู่ภาวการณ์เป็นไร่ถาวรในระบบเกษตรอุตสาหกรรมที่มีนายทุนข้ามชาติผู้มีอิทธิพลเหนือรัฐและตลาดอยู่เบื้องหลัง

 

ผลที่ตามมาของการทำไร่ข้าวโพดถาวรดังกล่าวนี้ ได้ทำให้เกิดความวิบัติอย่างใหญ่หลวงแก่ชีวิตของผู้คนทั้งอยู่ในที่สูงและที่ลุ่มต่ำในขณะนี้ คือ เมื่อฝนตกเกิดดินถล่ม [Land Slide] น้ำท่วมทำให้บ้านเรือนพังและที่ทำกินเสียหายไร้ที่อยู่เป็นประจำเกือบแทบทุกปีเท่านั้นยังไม่เพียงพอ เพราะในฤดูแล้งกลุ่มคนที่ปลูกข้าวโพดบนเขาและที่สูงเผาซังข้าวโพดเพื่อปรับที่ดินเพาะปลูกใหม่ ทำให้เกิดควันไฟและเขม่าไฟปกคลุมไปทั้งภูมิภาค เกิดมลภาวะทางอากาศที่เป็นภัยต่อระบบการหายใจของมนุษย์

 

ความชั่วร้ายและบาปของนายทุนก็ยังคงดำรงอยู่ ในพื้นที่เขตเมือง เช่น กรุงเทพมหานคร ทั้งนายทุนและรัฐเริ่มสุมหัวกันทำลายชุมชนท้องถิ่นที่มีรากเหง้ามาแต่สมัยการสร้างกรุงเทพฯ ครั้งรัชกาลที่ ๑ และรัชกาลที่ ๓ โดยการอ้างการปรับปรุงผังเมืองและสร้างสถานที่ทางราชการและพื้นที่อยู่อาศัยและการพาณิชย์ใหม่ ให้ดูสวยงามเป็นเมืองประวัติศาสตร์เพื่อการท่องเที่ยวผลที่ตามมาคือ ชุมชนมนุษย์ที่ยังฝังตัวอยู่ในบริเวณเมืองกรุงเทพมหานคร กำลังถูกคุกคาม รื้อถอน และขับไล่โดยไม่มีความชอบธรรมในแทบทุกย่านที่อยู่อาศัยและทำกิน

 

การดำเนินการชั่วร้ายของการสลายท้องถิ่นทางสังคมและวัฒนธรรมที่กำลังจะเป็นการทุบตีทำร้ายผู้คนดั้งเดิมของเมืองกรุงเทพฯ ในขณะนี้ กำลังอยู่ที่ “ชุมชนชานกำแพงเมืองหลังป้อมมหากาฬ” เพราะกรุงเทพมหานครต้องการไล่ชุมชนมนุษย์ออกไป เพื่อเอาพื้นที่ไปทำสวนสาธารณะเพื่อคนรุ่นใหม่และนักท่องเที่ยวที่ไม่มีหัวนอนปลายเท้าแทนที่ชุมชนซึ่งเคยอยู่อาศัยในกรุงเทพมหานครมาแต่เดิม

Source : คอลัมน์ “เปิดประเด็น” จดหมายข่าวมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ฉบับที่ 109 (ม.ค.-มี.ค.2559)
http://lek-prapai.org/home/view.php?id=5155

ความเท่าเทียมไม่ใช่ความเสมอภาคในสังคม

ความเท่าเทียมไม่ใช่ความเสมอภาคในสังคม

Author : กาแฟดำ

‘มือใครยาวสาวได้สาวเอา’

ภาพนี้เคยเห็นมาก่อน แต่ที่เห็นมีเพียงสองภาพทางซ้าย ภาพด้านขวาสุดเพิ่งเห็น ทำให้เห็น สัจธรรม แห่งสังคมเพิ่มอีกมิติหนึ่ง

วิเคราะห์ภาพนี้ให้ดีจะเห็นว่าความขัดแย้งในสังคม และปัญหาของประเทศเกิดจากการที่เราไม่ซาบซึ้ง ถึงความแตกต่างระหว่างคำว่า equality กับ equity

ภาษาไทยมีคนแปลคำว่า equality คือความเท่าเทียม

และคำว่า equity แปลว่าเสมอภาค

คำว่า reality ไม่ต้องแปลให้ยาก มันคือสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้นอย่างที่เห็นและเป็นอยู่

ภาพแรกคือคำอธิบายคำว่า เท่าเทียม นั่นคือการให้ทุกคนได้ทุกอย่างเหมือนกัน แต่ ความเท่าเทียม จะกลายเป็นความเป็นธรรมและความยุติธรรมได้ก็ต่อเมื่อทุกคนเริ่มจากจุดเดียวกัน

ในภาพแรกจะเห็นว่าความยุติธรรมจะเกิดจากความเท่าเทียม ก็ต่อเมื่อทุกคนเกิดมาสูงเท่ากัน หรือในสังคมที่ทุกคนมีอะไรเหมือนกันแล้ว ความยุติธรรมและความเป็นธรรมก็เกิดขึ้นได้

ภาพที่สองเน้น ความเสมอภาค หรือ equity ซึ่งไม่ใช่ “ความเท่าเทียม” เท่านั้น หากแต่หมายความว่าทุกคนจะได้ การเข้าถึงโอกาสเหมือนกัน

เพราะสถานภาพในสังคมของคนไม่เหมือนกัน โอกาสไม่เท่าเทียมกัน ทำให้เกิดอุปสรรคในการเข้าถึงโอกาส เกิดความไม่เสมอภาคกัน ดังนั้นการจะทำให้เกิดความเท่าเทียมนั้นจะต้องให้มีความเสมอภาคกันก่อน

คำว่า “เท่าเทียม” คือการให้อะไรเหมือน ๆ กัน

คำว่า “เสมอภาค” คือความยุติธรรม

ในทางปฏิบัติการจะทำให้เกิดความเสมอภาค เพื่อให้เกิดความเท่าเทียม ก็คือคนที่มีโอกาสน้อยที่สุด ต้องได้รับการช่วยเหลือส่งเสริมมากที่สุด ส่วนคนที่ได้เปรียบอยู่แล้วก็ไม่ต้องได้รับอะไรมาเสริมหรือหนุนเนื่อง ตรงกันข้ามอาจจะต้องเสียสละให้คนอื่นที่ไม่มีโอกาสได้มากกว่าตัวเอง

หากเปรียบเทียบโอกาสคือการสามารถดูฟุตบอลได้เหมือนกัน คนที่สูงอยู่แล้วไม่ต้องมีกล่องช่วยหนุน ขณะที่คนสูงปานกลางอาจได้กล่องช่วยบ้าง แต่คนเตี้ยที่สุดจะต้องได้กล่องหนุนสองชั้นด้วยซ้ำ…. เพื่อให้ทั้งสามคนสามารถดูและเชียร์เกมฟุตบอลได้เหมือนกัน

อย่างนี้จึงจะทำให้ ความเสมอภาค” นำไปสู่ ความเท่าเทียม” และ ความยุติธรรม” อันแท้จริง

สภาพที่เกิดขึ้นในสังคมไทยวันนี้ ส่วนใหญ่จะคิดแต่เพียงว่า “ความเท่าเทียม” ก็คือ “ความเสมอภาค” หรือ equality ก็คือ equity ซึ่งไม่จริง ตรงกันข้ามเมื่อเราตีความเช่นนี้ผิด คิดว่าการให้อะไรเหมือน ๆ กันก็คือความเป็นธรรมและความยุติธรรม, ลงท้ายช่องว่างระหว่างคนรวยคนจนกับคุณภาพชีวิตของคนระดับบนกับระดับล่างก็ยังห่างกันอยู่… และจะห่างต่อไปเรื่อย ๆ จนกลายเป็นวิกฤตของสังคมที่มาในรูปความขัดแย้ง, การแก่งแย่งทรัพยากรและการใช้ไม้วัดเดียวกันประเมินคนในสังคมทุกชนชั้น

จนกลายเป็น ความเป็นจริง หรือ reality อย่างที่เห็นในรูปที่สาม

สะท้อนว่ายิ่งวันคนด้อยโอกาสก็ยิ่งถูกเหยียบย่ำ ขณะที่คนรวยคนได้เปรียบก็อยู่ในสภาพ “มือใครยาวสาวได้สาวเอา”

หากไม่แก้ไขสัจธรรมข้อนี้ หากยังตีความ ความเท่าเทียม” คือ ความเสมอภาค” ก็อย่าได้หวังว่าจะเกิดสังคมเป็นธรรม ที่ยึดหลักความยุติธรรม เป็นเป้าหมายของการสร้างสังคมอันพึงปรารถนาสำหรับทุกคนเลย

คำประกาศเกียรติคุณ ศาสตราจารย์พิเศษเรืองอุไร กุศลาสัย ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์

คำประกาศเกียรติคุณ ศาสตราจารย์พิเศษเรืองอุไร กุศลาสัย ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์