พระยาอนุมานราชธน หัวหน้ากองวรรณคดีคนแรก

พระยาอนุมานราชธน หัวหน้ากองวรรณคดีคนแรก

Author : สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์

พระยาอนุมานราชธน เป็นนักปราชญ์ และราชบัณฑิตของไทยที่ได้สร้างสรรค์ผลงานทางด้านวัฒนธรรมของไทยจำนวนหลายสาขานับเป็นการบุกเบิกงานด้านวัฒนธรรมของชาติทั้งทางด้านภาษาศาสตร์ โบราณคดี ประวัติศาสตร์ และมานุษยวิทยา รวมทั้งการเผยแพร่วัฒนธรรมของไทยให้เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางในหมู่ชาวต่างชาติ และเป็นนักปราชญ์คนที่ 6 ของไทยที่องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก (UNESCO) ประกาศยกย่องให้เป็นบุคคลสำคัญผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรมระดับโลกในวาระครบรอบ 100 ปี ของพระยาอนุมานราชธนเมื่อ พ.ศ. 2531

ประวัติ

พระยาอนุมานราชธน เกิดเมื่อวันศุกร์ที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2431 ในรัชกาลที่ 5 เป็นบุตรคนแรกในจำนวน 7 คน ของนายหลี หรือมะลิ และนางเฮียะ ซึ่งเป็นคนไทยเชื้อสายจีนและเป็นชาวกรุงเทพฯ บรรพบุรุษทั้งทางฝ่ายบิดาและมารดาเป็นจีนนอกชาวแต้จิ๋ว ตามประวัติของท่านเล่าว่า ท่านเกิดที่เรือนไม้หลังหนึ่ง ซึ่งอยู่ติดคูด้านใต้ของวัดพระยาไกร ในบริเวณโรงเลื่อยจักรบริษัทบอร์เนียว อำเภอยานนาวา จังหวัดพระนคร

เดิมนั้นพระยาอนุมานราชธนมีนามเป็นภาษาจีนว่า หลีกววงหยง ซึ่งเป็นชื่อที่ซินแสคนหนึ่งตั้งให้ หลังเป็นชื่อแซ่หรือชื่อสกุลกววงหยง เป็นชื่อตัว คำว่า “หยง” แปลว่า “ยั่งยืนมั่นคง” ตรงกับคำว่า “ยง” ในภาษาไทย ญาติผู้ใหญ่เรียกท่านว่ากลวงหยง หรือหยง และท้ายที่สุดกลายเป็นชื่อ ยง ซึ่งเป็นชื่อที่พระยาอนุมานราชธนคิดแปลงขึ้นเองเมื่อเข้ารับราชการ ส่วนนามสกุลได้รับพระราชทานว่า “เสฐียรโกเศศ”

ในวัยเยาว์ อายุราว 3-4 ปี ผู้ใหญ่ของท่านย้ายบ้านไปอยู่ในสำเพ็ง เพราะลาออกจากงานที่โรงเลื่อยจักรข้างวัดพระยาไกร ไปเข้าหุ้นกับชาติตั้งโรงรับจำนำในสำเพ็ง ท่านเล่าว่าในวัยเด็กท่านไว้เปียเช่นเด็กชาวจีนทั่วไป ต่อมาเมื่อครอบครัวย้ายไปอยู่ที่ปากถนนสาทรใต้ต่อถนนเจริญกรุง พระยาอนุมานราชธนได้อยู่ใน“สิ่งแวดล้อมทางสังคม” ที่ท่านคิดว่าเป็นการปั้นท่านในทางวัฒนธรรม โดยได้เห็นศาลเจ้าชาวแต้จิ๋ว ซึ่งมีคนจีนเข้าทรง และมีการแสดงหุ่นและงิ้วไหหลำด้วย

การศึกษา

พระยาอนุมานราชธนได้เข้ารับการศึกษาเมื่ออายุ 8-9 ปี ที่โรงเรียนบ้านพระยานานาจังหวัดธนบุรี ต่อมาจึงย้ายไปเรียนที่โรงเรียนอัสสัมชัญ พระยาอนุมานราชธนเรียนวิชาภาษาอังกฤษ มีผลการเรียนที่ดี รวมทั้งวิชาภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์ เมื่อเรียนชั้นประถมได้ปีหนึ่งในปีที่ 2 เลื่อนข้ามชั้นเตรียมไปเรียนชั้นหนึ่ง ซึ่งเรียกกันว่าแสตนดาร์ดวัน (Standard one)

ในวัยเยาว์นี้เอง พระยาอนุมานราชธนชอบอ่านหนังสือ ประกอบกับบิดาเป็นคนสะสมหนังสือ และเมื่ออ่านแล้วมักนำมาเล่าให้ลูกๆ ฟัง ในระหว่างรับประทานอาหารเย็น ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญอย่างหนึ่งสำหรับความเป็นนักปราชญ์ของพระยาอนุมานราชธนในเวลาต่อมา

ทำงาน

ในพ.ศ. 2448 พระยาอนุมานราชธนได้ลาออกจากโรงเรียนอัสสัมชัญ ขณะที่ได้เลื่อนชั้น 4ไปอยู่ชั้น 5 เมื่ออายุ 17 ปี แล้วไปฝึกงานที่โอสถศาลารัฐบาล โดยฝึกผสมยาได้ประมาณ 2-3 เดือน แต่ไม่ได้รับเบี้ยเลี้ยง พระยาอนุมานราชธนจึงได้ลาออกมาสมัครงานที่โรงแรมโอเรียนเตล โดยได้รับเงินเดือนเดือนละ 60 บาท

รับราชการ

ต่อมาหลังจากที่ทำงานในโรงแรมโอเรียนเตลได้ไม่ถึงปี พระยาอนุมานราชธนได้สมัครเข้ารับราชการที่โรงภาษี หรือกรมศุลกากร โดยได้รับเงินเดือนเดือนละ 50 บาท ตำแหน่งเสมียนโท เมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2448 ระหว่างที่รับราชการที่กรมศุลกากรนี้เอง พระยาอนุมานราชธนได้ศึกษาภาษาอังกฤษกับพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ และได้เรียนภาษาอังกฤษเพิ่มเติมจากนายนอร์แมน แมซเวลล์(Norman Masewell) ซึ่งทำให้พระยาอนุมานราชธนใช้ภาษาอังกฤษได้ดี

ออกจากราชการ

พระยาอนุมานราชธนรับราชการในกรมศุลกากรจนกระทั่งได้เลื่อนตำแหน่งเป็นผู้ช่วยอธิบดีใน พ.ศ. 2465 และออกจากรับราชการฐานรับราชการนานในวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ.2476 หลังจากที่รับราชการนาน 26 ปีเศษ และได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ตามลำดับ คือ

ขุนอนุมานราชธน เมื่อวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2454 ขณะอายุ 23 ปี
หลวงอนุมานราชธน เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2459 ขณะอายุ 28 ปี
พระอนุมานราชธน เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2463 ขณะอายุ 31 ปี
พระยาอนุมานราชธน เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2467 ขณะอายุ 36 ปี

กลับเข้ารับราชการ

ในพ.ศ. 2478 หลวงวิจิตรวาทการได้ชวนให้พระยาอนุมานราชธนกลับเข้ารับราชการในตำแหน่งหัวหน้ากองศิลปวิทยาการ กรมศิลปากร โดยในขณะนั้นราชบัณฑิตยสภาได้เปลี่ยนแปลงเป็นกรมศิลปากร และหลวงวิจิตรวาทการได้รับแต่งตั้งเป็นอธิบดีคนแรก

ต่อมาเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2481 ได้มีประกาศพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการในกรมศิลปากรใหม่ กองศิลปวิทยาการและกองหอสมุดแห่งชาติรวมกันเป็นกองวรรณคดีพระยาอนุมานราชธนได้ดำรงตำแหน่งหัวหน้ากอง ในวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2482 ก็ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยอธิบดีกรมศิลปากรอีกตำแหน่งหนึ่ง จนกระทั่งวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2485 ได้โอนไปรับราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรีและเลื่อนเป็นข้าราชการชั้นพิเศษในตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญ

ในวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2485 คณะรัฐมนตรีโดยจอมพล ป.พิบูลสงครามได้กราบบังคมทูลขอพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งพระยาอนุมานราชธนให้มาดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมศิลปากร ซึ่งตลอดเวลาที่ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมศิลปากร พระยาอนุมานราชธนมีผลงานจำนวนมาก เช่น เป็นผู้ร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งโรงเรียนศิลปากรแผนกช่างชั้นเป็นมหาวิทยาลัยศิลปากร

เมื่อรับราชการมาจนอายุ 55 ปี ซึ่งขณะนั้นกำหนดให้เกษียณอายุราชการ แต่เนื่องจาก พระยาอนุมานราชธนเป็นผู้มีความรู้ความสามารถทางราชการจึงต่ออายุราชการให้จนอายุครบ 60 ปี และเกษียณอายุราชการเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2491
ตลอดชีวิตราชการ พระยาอนุมานราชธนรับราชการด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และด้วยความวิริยะอุตสาหะ ท่านได้รับพระราชทานนามสกุลว่า เสธียรโกเศศ แต่ต่อมาท่านได้เปลี่ยนมาใช้นามสกุลว่า อนุมานราชธน ตามราชทินนาม