สงคราม ความขัดแย้ง สะท้อนปัญหาการศึกษาของมนุษยชาติ

สงคราม.. ความขัดแย้ง.. สะท้อนปัญหาการศึกษาของมนุษยชาติ

Author : พระอาจารย์อารยวังโส dhamma_araya@hotmail.com

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. ติดตามดูข่าวรอบบ้านผ่านเมือง ยามนี้ก็มีแต่รบราฆ่าฟัน ที่กำลังยกระดับเข้าสู่สงครามโลกกลายๆ.. เพียงแต่ปรับเปลี่ยนรูปแบบไปตามชั้นเชิงความคิดนึกของมนุษยชาติ…

ในภาวะรูปแบบของสงครามที่เปลี่ยนไป แต่เจตนายังคงไว้ไม่ผันแปร.. จึงไม่สิ้นซึ่งความหายนะของสัตว์สังคม.. ที่นำเอาความเจริญรุ่งเรืองทางเทคโนโลยีไปสู่การเข่นฆ่าทำลายกัน..

อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้การแสวงหาความเจริญรุ่งเรืองทางด้านการศึกษาวิทยาการของชาวโลกกลับตาลปัตร ผกผันกลับไปสู่การแสดงความป่าเถื่อน ตามล่าฆ่ากันอย่างไร้ความเมตตาปรานี แม้ในหมู่สัตว์ประเภทเดียวกัน!?

คำตอบมีในคำสอนพระพุทธศาสนาที่สรุปไว้ชัดเจนว่า.. เพราะมี อวิชชา เป็นเหตุปัจจัย…

 

เรื่อง อวิชชา สร้างโลก.. สร้างภพ.. สร้างชาติ.. และสร้างทุกข์.. ทั้งที่ปรารถนาซึ่งความสุข จึงเป็นเรื่อง ผกผัน วิปลาส คลาดเคลื่อน ที่น่านำมาศึกษา.. ในวิถีธรรมชาติแห่งชีวิต..

เมื่อพูดถึงวิถีชีวิต.. ก็คงต้องกล่าวถึง ความรัก ความต้องการในการดำเนินชีวิต.. ที่เราเรียกว่า ความปรารถนา..

ความปรารถนา.. ความต้องการ กลับกลายเป็นแรงผลักดันในการขับเคลื่อนชีวิต.. เพื่อมุ่งสู่จุดมุ่งหมายตามเป้าประสงค์

ยามใดที่.. ความปรารถนา ความต้องการ มีกำลังแก่กล้า จนเกินขีดการควบคุมด้วยสติปัญญา..

ในยามนั้น.. กิเลสก็จะปลุกเร้าขึ้นมาควบคุมจิต ให้ดำเนินไปตามความเร่าร้อนและเศร้าหมองด้วยอำนาจความอยาก.. ที่ยากจะหยุดยั้ง..

จึงไม่แปลก.. ที่จะเกิดการเข่นฆ่าทำร้ายทำลายกันในหมู่มนุษยชาติ.. ที่ต่างปรารถนาสันติและความสุขเช่นเดียวกัน..

 

ในพระพุทธศาสนาจึงสั่งสอนให้เราทำสงครามกับกิเลส.. เพื่อการชนะตนเอง ที่ชนะได้ยากที่สุดในโลกนี้

กล่าวคือ.. ไม่มีอะไรที่ยากที่สุด เท่ากับการชนะใจตนเอง..

พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า.. ผู้ชนะตนนั้นหาได้ยาก.. ดังพระภาษิตที่ว่า..

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! จิตนี้เป็นสิ่งที่ดิ้นรนกวัดแกว่งรักษายาก ห้ามได้ยาก.. ผู้มีปัญญาพึงพยายามทำจิตนี้ให้หายดิ้นรน ให้เป็นจิตตรง เหมือนช่างศรดัดลูกศรให้ตรงฉะนั้น…

ภิกษุทั้งหลาย จิตนี้คอยแต่จะเกลือกกลิ้งคลุกเคล้ากับกามคุณ เหมือนปลาเกิดในน้ำ ถูกนายพรานเบ็ดยกขึ้นจากน้ำแล้ว คอยแต่จะดิ้นรนไปในน้ำอยู่เสมอ ผู้มีปัญญาพึงพยายามยกจิตขึ้นจากการอาลัยในกามคุณ ให้ละบ่วงมารเสีย..

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมชาติของจิตเป็นสิ่งที่ดิ้นรน กลับกลอกง่าย บางคราวปรากฏเหมือนช้างตกมัน

ภิกษุทั้งหลาย! พวกเธอจงเอาสติเป็นตะขอสำหรับเหนี่ยวรั้งช้าง คือ จิตที่ดิ้นรนนี้ให้อยู่ในอำนาจ

บุคคลที่มีอำนาจมากที่สุด และควรแก่การสรรเสริญนั้น คือ ผู้ที่สามารถเอาตนของตนเองไว้ในอำนาจได้ สามารถชนะตนเองได้…

ผู้ชนะตนเองได้ชื่อว่า เป็นยอดนักรบในสงคราม

เธอทั้งหลาย จงเป็นยอดนักรบในสงครามเถิด อย่าเป็นผู้แพ้เลย! …

วันแห่งความพ่ายแพ้ของชาวโลก.. คือ วันแห่งความหายนะของมนุษยชาติ.. การรบราฆ่าฟันกันอย่างไม่เคยโกรธเคือง.. ไม่เคยรู้จักกันมาเลย จึงเกิดขึ้นภายใต้การกำหนดทิศทางของผู้มีอำนาจแต่ขาดคุณธรรม.. ไร้สติปัญญา..

สิ่งที่น่ากลัวอย่างยิ่งของชาวโลกในยามนี้.. คือ การแบ่งออกเป็นฝักฝ่าย โดยยึดถือทิฏฐิของตนเป็นใหญ่..

สังคมของมนุษยชาติจึงมีการแบ่งพรรคแบ่งพวก.. กั้นเขตแดน ประกาศเป็นประเทศชาติภายใต้ทิฏฐิความเห็นเป็นอันเดียวกัน.. มีศีลข้อปฏิบัติเสมอกัน ไม่ว่าจะเป็นคนดี.. หรือคนชั่ว!!

เมื่อใด.. การแบ่งฝักฝ่าย ยึดมั่นอยู่ในกรอบศีลธรรม.. มีจริยธรรมเป็นเครื่องชี้วัด.. เมื่อนั้น จะเกิดมวลภาวะทางจิตวิญญาณของสังคมที่ทรงประสิทธิภาพในการขับเคลื่อนไปอย่างสร้างสรรค์..

โลกนี้ย่อมก้าวสู่.. ความสงบ.. ความสุข

แต่เมื่อใด.. เกิดการแบ่งพรรคเล่นพวก โดยวิสัยคนชั่ว.. คนพาล ที่มีทิฏฐิและข้อปฏิบัติเสมอกัน เมื่อนั้น สังคมจะละทิ้งกรอบศีลธรรม คุณความดีสิ้นไป..

ข้ออ้างอิงในการตัดสินใจชี้ขาดของสังคมจะเปลี่ยนกลับไปที่การใช้กำลังอาวุธยุทโธปกรณ์นานาชนิด ที่ผลิตด้วยความรู้ที่เกิดจากการศึกษาเพื่อชีวิต.. อันผิดเพี้ยนไปจากธรรมชาติ

ความรู้ที่เล่าเรียน เพื่อความสำเร็จในชีวิตของชาวโลก กลับกลายเป็นเครื่องมือทำลายสันติภาพของโลกอย่างเลวร้ายที่สุด.. ด้วยอำนาจมิจฉาทิฏฐิจากการเรียนรู้ที่วิปลาสธรรมนั้น

มันเป็นไปได้อย่างไร… ที่ การศึกษาของมนุษยชาติ จะกลายเป็น อาชญากร ที่เลวร้ายที่สุด!!

แม้ว่าแผนการจัดการศึกษาจะเขียนไว้สวยหรู ด้วยคำว่า เพื่อพัฒนาให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งร่างกาย จิตใจ สติปัญญา ความรู้ และคุณธรรม เพื่อการมีจริยธรรมและวัฒนธรรมในการดำรงชีวิต

สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข..

แต่ในปรากฏการณ์แห่งความจริง.. กลับเห็นผลที่เกิดขึ้น กลับตรงข้ามอย่างสิ้นเชิง..

อะไร .. ที่เป็นเหตุปัจจัยให้เกิดขึ้นและเป็นไปเช่นนั้น.. จึงเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกันวิเคราะห์ สืบสาวค้นหา

เมื่อย้อนกลับมาพิจารณาดูการศึกษาในพระพุทธศาสนา ที่กล้าหาญประกาศว่า.. เป็นการศึกษา เพื่อพัฒนาชีวิตไปสู่ความสงบสุขอย่างยั่งยืน.. ด้วยการอ้างอิงหลักไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ที่ดำเนินการไปด้วยการอบรมวิธีแห่ง การเจริญสติปัฏฐานธรรม.. ยิ่งเห็นความแตกต่าง ระหว่างการศึกษา เพื่อมีชีวิตอย่างไม่เข้าใจชีวิตของชาวโลก กับ การศึกษา เพื่อเข้าใจชีวิตของพุทธศาสนา..

จึงเห็นในความแตกต่างของการจัดการศึกษา เพื่อมีชีวิตอยู่ในโลกนี้ ด้วยหวังความอุดมสมบูรณ์ในโลกธรรม กับการจัดการศึกษา เพื่อรู้ เข้าใจ ในบริบทของชีวิต เพื่อปรารถนาสันติและความสุขอันเกิดแต่ภายใน คือ จิตใจ .. ของพระพุทธศาสนา

โดยเฉพาะความแตกต่างในวิธีการศึกษา เล่าเรียน ปฏิบัติ.. เพื่ออบรม กาย วาจา ใจ และทิฏฐิ ให้เป็นไปตามหลักคำสั่งสอน..

ดังที่พระพุทธศาสนามีแนวทางการสั่งสอนให้พึ่งตนเองและพึ่งธรรมเป็นสำคัญที่สุด.. โดยเน้นการเรียนรู้ที่มุ่งสู่การปฏิบัติด้วยตนเอง.. เพื่อการพัฒนาให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ที่พรั่งพร้อมด้วยสติปัญญาและความเพียรชอบเป็นธรรมลักษณะ

การศึกษาในพุทธศาสนา .. จึงทำให้ มนุษยชาติลดละความเห็นแก่ตัวลง ที่เรียกว่า อหังการ–มมังการ อันเป็นเป้าหมายสำคัญในพระพุทธศาสนา

การลดละตัวกู ของกู.. (อหังการ–มมังการ) จึงเป็นผลทางเดียวที่จะทำให้มนุษย์สามารถยกระดับจิตวิญญาณตนเองขึ้นสู่ภูมิธรรม ได้อย่างรู้เข้าใจในธรรมชาติของชีวิต.. จนสามารถอยู่ร่วมกับเพื่อนมนุษยชาติ.. สัตว์ทั้งหลาย ตลอดจนสังคมสิ่งแวดล้อมได้อย่างสันติ.. อันเนื่องจากการเรียนรู้ เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ โดยคำนึงถึงประโยชน์โดยธรรมเป็นที่สุด..

พระพุทธศาสนา จึงมีหลักการสั่งสอนที่จะชี้แจงให้ผู้ฟังได้เข้าใจอย่างแจ่มแจ้ง ชัดเจน เห็นจริง ที่เรียกว่า สันทัสสนา.. โดยจะอธิบายให้ผู้เรียนได้เห็นว่าเรื่องที่สั่งสอนเป็นความจริง ที่เรียกว่า สมาปทา.. และจะมีวิธีการสอนปลุกเร้าใจให้ผู้เรียนได้ตื่นรู้อยู่ตลอดเวลา มีฉันทะ วิริยะ ด้วยจิตใจที่จดจ่อ ต่อเนื่อง ใส่ใจ และรู้ใคร่ครวญ ที่จะนำไปสู่การมีศรัทธา ที่จะนำไปสู่การปฏิบัติตามหลักธรรม เพื่อความสัมฤทธิผลแห่งการศึกษา เพื่อเข้าใจในชีวิต.. ว่าเป็นธรรมในธรรมชาตินั้น.. ดังที่เรียกว่า สมุตเตชนา

สำคัญที่สุดของการจัดการศึกษาในพระพุทธศาสนา คือ การนำไปสู่ความเข้าใจในธรรมชาติของชีวิต.. ก่อนเข้าสู่การพัฒนาชีวิตให้ถึงความสมบูรณ์พร้อมด้วยคุณธรรมอย่างมีสติปัญญา.. คือ การสั่งสอนให้รู้จักคิด.. รู้จักใช้วิธีคิด.. รู้จักการสร้างความคิดที่ถูกต้องอย่างมีปัญญา.. มิใช่การแสวงหาแต่คำตอบเฉพาะจากตำรับตำรา ความเชื่อที่ผูกกับทิฏฐิของผู้สอน.. เจ้าลัทธิ.. ศาสดา เจ้าของคำสั่งสอนนั้นๆ

เราต้องยอมรับว่า.. การศึกษา เพื่อสนองความต้องการของชีวิต.. อย่างไม่เข้าใจในธรรมชาติของชีวิต จึงกลายเป็นโจทย์ปัญหาใหญ่ต่อการพัฒนาชีวิตของมนุษยชาติ โดยเฉพาะการศึกษาที่มุ่งแสวงหาแต่คำตอบ.. ตามทิฏฐิของผู้สอน.. ที่ชี้ขาดว่า ถูกหรือผิด.. สำเร็จการศึกษาหรือไม่!!

ปัญหาในโลกนี้จึงไม่จบสิ้น เพราะการศึกษาของมนุษยชาติ.. ที่วิปลาสไปจากธรรม  นี่เอง.. เป็นมูลเหตุอันสืบเนื่องมาถึงวันนี้…… เอวัง .. มนุสโสสิ!!

เจริญพร