มือที่มองไม่เห็นของ อดัม สมิธ: คำถามใหญ่ว่าด้วย ‘ธรรมชาติของมนุษย์’

มือที่มองไม่เห็นของ อดัม สมิธ: คำถามใหญ่ว่าด้วย ‘ธรรมชาติของมนุษย์’

วลี “มือที่มองไม่เห็น” ของอดัม สมิธ ผู้ได้รับการยกย่องให้เป็นผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาเศรษฐศาสตร์ เป็นวลีที่เข้ามาอยู่ความรู้สึกนึกคิดราวกับว่าภาษาได้แทรกซึมไปถึงความเป็นมนุษย์ลึกๆ ของเรา โดยแก่นของวลีนี้เป็นความคิดหลักของสายธารความคิดแบบเสรีนิยมที่เชื่อว่า ระบบในสังคมสามารถปรับตัวได้เองโดยไม่ต้องมีการบังคับ และการตัดสินอย่างเสรีของปัจเจกที่มุ่งหวังประโยชน์ส่วนตนจะสร้างประโยชน์ให้กับสังคมส่วนรวม

การที่วลีนี้ติดหูและอยู่ในสำนึก ทำให้บ่อยครั้งวลีนี้ถูกพูดขึ้นเพื่อสนับสนุนแนวคิดที่ต่างๆ กันไปทั้งในหมู่ฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวาทางเศรษฐกิจการเมือง[1] บทความนี้จึงพาไปสำรวจวลี “มือที่มองไม่เห็น” ที่สมิธเขียนในย่อหน้าหนังสือจริงๆ ตามตัวอย่างต่างๆ อีกครั้ง เพื่อชี้ให้เห็นว่าสมิธใช้วลี “มือที่มองไม่เห็น” ในการยึดโยงถึงความเป็นไปตาม ‘ธรรมชาติของมนุษย์’ ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดทางปรัชญาของเขา

วลี “มือที่มองไม่เห็น” ปรากฏเพียงแค่ครั้งเดียวในหนังสืออันโด่งดังของสมิธ The Wealth of Nations โดยปรากฏในเล่มที่ 4 บทที่ 2 เมื่อสมิธต้องการยกตัวอย่างถึงการลงทุนในประเทศและนอกประเทศ เขาชี้ว่าการตัดสินใจลงทุนมีผลต่อความมั่งคั่งและเข้มแข็งของประเทศนั้นๆ โดยในอัตรากำไรที่เท่าๆ กัน เราจะเลือกลงทุนในประเทศมากกว่านอกประเทศ เพราะว่าการลงทุนในประเทศดึงดูดมากกว่า เนื่องจากความคุ้นเคย สะดวก ปลอดภัย จากนั้นเมื่อปัจเจกบุคคลลงทุนในประเทศแล้ว ก็จะทำให้ประเทศรวยขึ้น มีการจ้างงาน มีการสะสมกำลังการผลิต แล้วความมั่งคั่งที่เพิ่มขึ้นมาก็จะทำให้ประเทศมีความสามารถสามารถป้องกันประเทศได้มากขึ้น ดังนั้นการตัดสินใจของแต่ละปัจเจกบุคคลจากประโยชน์ส่วนตนก็กลายเป็นประโยชน์ส่วนรวมโดยไม่ต้องควบคุม พวกเขาถูกนำโดยมือที่มองไม่เห็นให้ทำประโยชน์กับสังคมโดยที่ไม่จำเป็นต้องมาจากเจตนา (เน้นโดยผู้เขียน)

วลี “มือที่มองไม่เห็น” ยังปรากฏใน The Theory of Moral Sentiments (หนังสือเล่มแรกของสมิธ) ในส่วนที่ 4 บทที่ 1 สมิธเขียนถึงปัจเจกบุคคลยากไร้ที่ทำงานสร้างตัวเองเพื่อการดำรงชีวิต ถึงแม้ว่าปัจเจกบุคคลนั้นจะไม่ได้โลภหรือต้องการจะอวดร่ำอวดรวย แต่ทรัพย์สินและการทำงานจะทำให้ชีวิตสุขสบายขึ้น การสะสมทรัพย์และการผลิตนั้นเป็นธรรมชาติของมนุษย์ ในทำนองเดียวกัน คนมั่งมีเจ้าของที่ดินก็ต้องทำการผลิต แม้จะมีมากอยู่แล้ว แต่ขนาดกระเพาะของเขาก็ไม่ได้ทำให้พวกเขาหยุดทำการผลิตและจ้างงานผู้คน ส่วนคนงานก็คาดหวังส่วนแบ่งจากความเป็นมนุษย์และความยุติธรรมจากคนมั่งมี ผลผลิตจากผืนดินนั้นจึงถูกแบ่งปันไปให้ทุกผู้คน โดยที่คนมั่งมีเลือกเก็บเพียงกองที่ดีที่สุด ใช้จ่ายมากกว่าคนอื่นเพียงเล็กน้อย นอกนั้นจะแบ่งให้คนงานที่ทำการผลิต แบ่งผลผลิตไปเท่าๆ กัน (“nearly the same distribution”) พวกเขาถูกนำโดยมือที่มองไม่เห็นให้กระจายปัจจัยการดำรงชีวิตไปอย่างเสมอภาค สร้างประโยชน์ส่วนรวมโดยที่ไม่ได้เจตนา[2]

เห็นได้ว่าสมิธเน้นไปที่ประโยชน์ส่วนตนซึ่งนำไปสู่ประโยชน์ส่วนรวม กระนั้นผมก็อยากจะให้ผู้อ่านตั้งข้อสงสัยเคลือบแคลงคำกล่าวอ้างของสมิธไว้ให้มากๆ วิธีการเขียนของสมิธนั้นเป็นวิธีอธิบายแบบเป็นขั้นเป็นตอนที่เป็นลักษณะแบบจำลองทางความคิด ใช้ตรรกะในการอธิบายอย่างเป็นลำดับขั้น จากหนึ่งไปสอง สองไปสาม และไปเรื่อยจนถึงบทสรุป แต่ถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นว่า สมิธสรุปแบบสั้นมาก แล้วที่จริงการเขียนของเขาก็มีการข้ามตรรกะและละข้อเท็จจริงบางอย่าง เช่น ในตัวอย่างการลงทุนในประเทศ สมิธอ้างอัตรากำไรระหว่างการลงทุนภายในและภายนอกประเทศ ซึ่งเอาเข้าจริงแล้วไม่แน่ว่าจะต้องเท่ากันๆ และในตัวอย่างการผลิตและการกระจายผลผลิตก็อ้าง ‘ความเป็นมนุษย์’ กับ ‘ความยุติธรรม’ ที่ก็ไม่แน่ว่าจะได้จากคนที่มั่งมี ในความกำกวมนั้น สมิธยกเอาวลี “มือที่มองไม่เห็น” สรุปว่าประโยชน์ส่วนตนในที่สุดจะเป็นประโยชน์ส่วนรวม

บทสรุปของสมิธนั้นมาจากบริบทที่มีข้อจำกัดอย่างมาก เป็นสิ่งที่มีแต่ในทฤษฎีความคิดและความหวัง แต่ไม่ได้อยู่ในความเป็นจริงระยะสั้น เราเห็นอยู่ว่า ปัจจัยที่กำหนดการลงทุนของประเทศต่างๆ รวมทั้งประเทศไทย ไม่ได้มีแค่เรื่องอัตรากำไร (ซึ่งก็ไม่เท่ากันสักเท่าไหร่) และการลงทุนภายในหรือภายนอกประเทศเท่านั้น แต่ยังมีปัจจัยอื่นประกอบอีกมาก มากไปกว่านั้นปัญหาความเหลื่อมล้ำก็เพิ่มขึ้นๆ จนกลายเป็นวิกฤตในทุกเศรษฐกิจการเมือง คนงานคาดหวังความเป็นมนุษย์และความยุติธรรมจากคนที่มั่งมีไม่ได้[3] การกระจายรายได้ไม่ได้แบ่งไปอย่างเท่าๆ กันหรือเสมอภาคอย่างที่สมิธบอก การทำเพื่อประโยชน์ส่วนตนไม่ได้นำไปสู่ประโยชน์ส่วนรวม ความเป็นจริงในปัจจุบันสวนทางกับสิ่งที่สมิธบอกกล่าวกับเรา

อย่างนั้นสมิธพูดถึงอะไรหากมันเป็นสิ่งที่ไม่จริง

สิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์จำนวนมากไม่ทราบก็คือ สมิธยังใช้วลีมือที่มองไม่เห็นอีกในทางเทววิทยา[4] เพราะพื้นฐานของสมิธนั้นแท้จริงแล้วมาจากวิชาปรัชญา แถมเขายังเป็นนักปรัชญาแบบในยุครู้แจ้งสก็อตติช (Scottish Enlightenment) ที่เน้นในความเป็นมนุษย์ การให้เหตุผล ความเป็นจริง กฎเกณฑ์ธรรมชาติ ฯลฯ สมิธจึงใช้หลักปรัชญาวิธีนี้ในการคิดและสื่อสารสิ่งที่เขารู้และเข้าใจ เราสามารถตีความวลี “มือที่มองไม่เห็น” ในฐานะกฎเกณฑ์ธรรมชาติบางอย่างที่มนุษย์หลีกเลี่ยงไม่ได้

สมิธเขียนไว้ว่า พหุเทวนิยมเป็นที่บูชาแต่โบราณก็เพราะปรากฏการณ์ธรรมชาติที่มีลักษณะผิดแผกไป โดยไฟแผดเผา น้ำชะล้าง ของหนักตกลงพื้น หรือของเบาลอยขึ้น ล้วนเป็นไปตามธรรมชาติของมัน แต่ฟ้าคะนอง สายฟ้าฟาด และพายุ ที่เป็นปรากฏการณ์ผิดปรกตินั้นมาจากมือที่มองไม่เห็นของจูปิเตอร์ มนุษย์ไม่สามารถสร้างปรากฏการณ์แบบนั้นได้ มนุษย์มีพลังเพียงแค่หักเหใช้ประโยชน์จากปรากฏการณ์ที่ธรรมชาติกำหนดมาเท่านั้น

สมิธเปรียบเปรยว่ามือที่มองไม่เห็นนั้นเป็นของจูปิเตอร์ เทพแห่งสายฟ้า เป็นการอ้างถึงกฎเกณฑ์ธรรมชาติบางอย่างที่ไม่ได้มีมนุษย์กลุ่มหนึ่งกลุ่มใดสามารถควบคุมได้ เน้นในกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ (natural order) แล้วมาปรับใช้กับสังคมมนุษย์ เป็นวิธีการคิดอิงหลักการแบบรู้แจ้งที่ว่าในสังคมมนุษย์นั้นมีกฎเกณฑ์ธรรมชาติที่แยกออกมาจากทางกายภาพแตกต่างออกไป มีธรรมชาติของมนุษย์ที่เป็นเอกลักษณ์ ทำให้เราไม่เหมือนสิ่งมีชิวิตที่มีสติสัมปชัญญะอื่นๆ

ในระเบียบธรรมชาติของมนุษย์นั้นมีมือที่มองไม่เห็นผลักดันเราเข้าไปสู่ปลายทางที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้วันนี้จะเห็นข้อเท็จจริงว่าผลประโยชน์ส่วนตนขัดกับประโยชน์ส่วนรวม แต่ในระยะยาวแล้วสิ่งนี้ไม่สามารถคงอยู่ได้ตามธรรมชาติ เพราะสิ่งที่เป็นจริงวันนี้อาจจะไม่มีสาระ ในระยะสั้นระบบไม่ปรับตัวมนุษย์เรียนรู้ไม่ทัน มีการคิดหวังเรียนรู้หาทางแก้ไปสู่ระยะยาว ที่เป็นระเบียบตามธรรมชาติของมือที่มองไม่เห็น

ดังนั้น “ธรรมชาติของมนุษย์” จึงเป็นจุดสำคัญที่สุดที่จะตัดสินความเป็นไปของระบบ สำหรับสมิธแล้วธรรมชาติของมนุษย์มีลักษณะที่ขยายต่อขนาด (increasing returns) การร่วมมือทำงานของมนุษย์สร้างผลผลิตที่เพิ่มพูนไม่สิ้นสุด ดังนั้นจึงเลือกหาทางออกได้ แต่น่าเสียดายที่สมิธไม่ได้พูดเรื่องการปรับตัวในระยะสั้น เป็นที่รู้กันในหมู่ผู้ศึกษาความคิดอดัมสมิธว่าเขาล้มเลิกและตายลง ก่อนที่จะรวบรวมความคิดสำเร็จในเรื่องธรรมศาสตร์ ‘Lectures on the Jurisprudence’ ซึ่งทั้งหมดเป็นโปรเจ็กต์รู้แจ้งของสมิธที่โดยรวมเรียกว่า ‘วิทยาศาสตร์ของมนุษย์’ (The Science of Man)[5]

ในแง่นี้ การถกเถียงกันทางการเมืองทั่วโลกในการคิดแบบนี้จึงมีใจกลางอยู่ที่ว่า ธรรมชาติของมนุษย์คืออะไร ซึ่งเราต้องระวังให้มาก เพราะหากเข้าใจธรรมชาติของมนุษย์ผิด ก็จะทำให้ความเป็นมนุษย์ของเราทุจริตโดยที่ไม่รู้ตัว มีหลายครั้งที่เราเข้าใจผิด โดยนำธรรมชาติของสัตว์[6] (natural selection) มาปนกับธรรมชาติของมนุษย์ การปรับตัวจึงหลงทางและไปในทางเลวร้ายซึ่งออกไปจากธรรมชาติ เพราะไม่มีใครกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งสามารถเข้ามาคุมระเบียบธรรมชาติของมนุษย์ได้[7] และที่สุดแล้ว การปรับตัวในระยะสั้นจะเป็นไปตามกฎเกณฑ์ระยาวที่อยู่ในธรรมชาติของมนุษย์

นี่คือแง่มุมที่เราสามารถเรียนรู้วิธีการคิดนี้ได้จากวลี “มือที่มองไม่เห็น” ของอดัม สมิธ

[1] Grampp, W. D. (2000). What did Smith mean by the invisible hand?. Journal of Political Economy, 108(3), 441-465.

[2] ในส่วนภาษาอังกฤษที่สมิธเขียนจริง ผู้เขียนต้องขออภัยแนะนำให้ผู้อ่านไปค้นใน https://en.wikipedia.org/wiki/Invisible_hand เลยก็จะได้ประโยชน์ แล้วหากยิ่งอยากอ่านเต็มๆ ก็จะดีใจมาก ซึ่งหนังสือของสมิธทั้งสองเล่มก็สามารถหาดาวน์โหลดได้ฟรีตามอินเทอร์เน็ต แต่ก็เป็นภาษาโบราณซึ่งอ่านยากมากๆ

[3] มีข้อถกเถียงว่า TWN กับ TMS นั้นขัดกันหรือเปล่า เพราะใน TWN สมิธพูดเป็นกลไกตรรกะเศรษฐกิจ ส่วนใน TMS นั้นสมิธใช้กลไกสังคมมนุษย์เสียมาก โดยส่วนตัวและที่ถูกสอนมาผู้เขียนคิดว่าทั้งสองเล่มส่งเสริมกัน

[4] Macfie, A. (1971). The invisible hand of Jupiter. Journal of the History of Ideas, 32(4), 595-599.

[5] แนะนำหนังสือประวัติชีวิตและความคิดครับ Phillipson, N. (2010). Adam Smith: an enlightened life. Penguin UK.

[6] ดูมัจฉานัยยะ ของอมาตยา เซน ที่บอกว่าความคิดแบบปลาใหญ่กินปลาเล็กใช้กับเราไม่ได้

[7] สมิธ วิจารณ์แนวคิด elitism แบบแมคคิเอเวลี่ไว้แสบๆ คันๆ ทางด้านศีลธรรม เขากล่าวถึงการตัดสินใจทางการเมืองของ Cesare Borgia ที่โหดร้าย ใน TMS ส่วนที่ 6 บทที่ 1 และในประวัติศาสตร์ซีซาร์ บอเจียนั้นแพ้ในระยะยาว วิธีการที่แมคคิเอเวลี่ยกย่องนั้นก็รวมอิตาลีไม่ได้