LGBTQ+ ในศาสนาพุทธ ‘ไม่ว่าคุณจะเป็นเพศไหน คุณก็สามารถได้รับการช่วยเหลือ’
Author : SPECTRUM
“ในฐานะที่เป็นพระในศาสนาพุทธ ฉันเชื่อว่าทุก ๆ คนสามารถได้รับความช่วยเหลืออย่างเท่าเทียมกัน ฉันอาจจะใช้ทั้งเครื่องสำอางและใช้หลักคำสอนอันเก่าแก่ของศาสนาพุทธไปในเวลาเดียวกัน แต่ฉันก็ใช้ทั้งคู่ด้วยจิตวิญญาณอันเป็นหนึ่งเดียว”
นี่คือสิ่งที่ ‘Kodo Nishimura’ (โคโดะ นิชิมูระ) พระเกย์ชาวญี่ปุ่นกล่าวเพื่อแสดงจุดยืนของเขาที่ได้พิสูจน์ให้โลกได้เห็นแล้วว่า LGBTQ+ กับการบวชในศาสนาพุทธนั้น เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ โดยชี้ว่า “สารที่สำคัญที่สุดของศาสนาพุทธ คือการที่ทุก ๆ คนสามารถได้รับความช่วยเหลืออย่างเท่าเทียมกันโดยที่ไม่เกี่ยวกับเพศวิถีหรือเพศสภาพใด ๆ ทั้งสิ้น”
SPECTRUM OF HUMAN: Kodo Nishimura – ผู้เป็นทั้งเกย์ ช่างแต่งหน้า และพระภิกษุสงฆ์ในญี่ปุ่น
“ฉันเติบโตมาในวัดแห่งหนึ่ง ณ กรุงโตเกียว พ่อกับแม่ของฉันเป็นพระ ในตอนเด็ก ๆ ฉันต้องปกปิดตัวตนที่แท้จริงของฉันเพราะฉันกลัวว่าคนอื่นจะคิดอย่างไร ฉันจึงตัดสินใจไปเรียนต่อที่นิวยอร์กและมันทำให้ฉันได้รู้ว่า การเป็นเกย์มันไม่ได้ผิดอะไรเลย และเพราะเหตุนี้ฉันจึงได้มีโอกาสได้เรียนรู้โลกแห่งสีสันผ่านการใช้เครื่องสำอางเพื่อแต่งหน้า จนฉันมีแรงผลักดันเพื่อศึกษาต่อจนได้ไปเป็นช่างแต่งหน้าให้กับ มิส ยูนิเวิร์สของประเทศญี่ปุ่น”
“หลังจากอยู่ที่สหรัฐฯ ได้ 7 ปี ฉันอยู่ห่างบ้านเกิดของฉันนานพอที่จะทำให้ฉันหวนนึกถึงรากเหง้าของฉันเอง และฉันคิดว่าการกลับไปครั้งนี้จะทำให้ฉันมีอาวุธที่ทรงพลังที่สุด การศึกษาศาสนาพุทธในวัฒนธรรมของฉัน ทำให้ฉันสามารถหาเอกลักษณ์ของตัวเองได้และฉันอยากหาคำตอบที่ว่าฉันคือใครกันแน่ ทำไมเราถึงควรทำดีต่อผู้อื่น ทำไมเราถึงมีชีวิต อะไรคือความหมายของชีวิต ฉันอยากจะค้นหาคำตอบในทางพระพุทธศานา ฉันเลยตัดสินใจเข้ารับการฝึกฝนเป็นพระตอนอายุ 24 ”
ช่างแต่งหน้า-เกย์-พระ – สามอย่างนี้เป็นไปได้พร้อม ๆ กันในญี่ปุ่น ด้วยบริบทของศาสนาพุทธในญี่ปุ่นที่มีความหลากหลายของนิกายที่แตกแขนงออกมา ต่างจากไทยที่เป็นส่วนมากเป็นนิกายเถรวาท ทำให้สถานะของพระญี่ปุ่นจึงเป็นเพียงอาชีพหนึ่งเท่านั้น หรือที่มักเรียกกันว่า ‘อาชีพพระ’ ซึ่งการเป็นพระในวัดเล็ก ๆ อย่างญี่ปุ่นมักไม่มีรายได้ที่เพียงพอ ดังนั้นจึงเห็นพระที่มีอาชีพ พนักงานออฟฟิศ หมอ คุณครู และอาชีพอื่น ๆ ทั่วไป รวมถึงยังมีการอนุญาตให้สามารถแต่งงานใช้ชีวิตได้เหมือนคนทั่วไป ทำให้สถานะของพระญี่ปุ่นมีความยืดหยุ่นได้มากกว่าสถานะความเป็น ‘พระ’ ในไทย
มากไปกว่านั้นบทบาทหน้าที่ของพระในญี่ปุ่นนั้น มีความแตกต่างจากไทย กล่าวคือ ในพุทธศาสนาแบบไทยคนส่วนใหญ่มักจะมองว่า พระ คือ ผู้ที่สละแล้วทางโลก ทว่าสำหรับมุมมองเรื่องพระในญี่ปุ่นแล้ว จุดมุ่งหมายหลักของพวกเขาไม่ใช่การละทางโลก แต่จะมุ่งเน้นไปที่ ‘การช่วยให้ผู้คนพ้นทุกข์’ ดังนั้นเมื่อรวมกับสถานะของพระในญี่ปุ่นที่มีความเป็นอิสระมากกว่า หน้าที่ในการหาหนทางให้การช่วยเหลือผู้อื่นของพระนั้น จึงสามารถทำได้หลากหลายรูปแบบที่ทันสมัย และเข้าถึงผู้คนได้ง่าย
สิ่งนี้ส่งผลให้นิชิมูระ สามารถเป็นพระ ที่สามารถให้ความช่วยเหลือผู้คนได้โดยเป็นอิสระมากขึ้น โดยเฉพาะการที่เขาทำงานจิตอาสาให้กับชุมชน LGBTQ+ ด้วยการสอนแต่งหน้าให้ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ให้ได้ค้นพบตัวตนที่มีเอกลักษณ์ของตัวเอง เหมือนกับการที่เขาเองได้ค้นพบเอกลักษณ์ในตัวตนของเขาจากการศึกษาพุทธศาสนา ในฐานะพระผู้ที่รักในพุทธศาสนาและมีความเชี่ยวชาญในการแต่งหน้าในเวลาเดียวกัน
“ฉันอยากจะให้ผู้คนได้รู้ว่าการเป็นพระไม่ได้หมายความว่าคุณต้องใช้ชีวิตอย่างเข้มงวดอยู่ในกรอบ แต่มันคือการที่คุณซื่อสัตย์กับตัวเองและการที่คุณทำในสิ่งที่คุณคิดว่าถูกต้อง การมีความสุขนั้นสำคัญกว่าพิธีรีตอง ข้อบัญญัติ หรือกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ที่อาจทำให้คุณไม่อาจมีความสุขได้ ฉันอยากจะสร้างแรงบันดาลใจให้คนอื่น ๆ ได้รู้ว่าพวกเขาสามารถเป็นตัวของพวกเขาเองได้ ผ่านการทำในสิ่งที่ฉันรัก”
นอกจากพระนิชิมูระแล้ว ยังมีพระอีกมากมายที่ปรับการเผยแผ่ศาสนาและช่วยเหลือผู้คน โดยการใช้วิธีที่ทันสมัย เข้ากับบริบททางสังคม และเข้าถึงได้ง่ายมากขึ้น เช่น Gyosen Asakura (เกียวเซ็ง อาซาคุระ) อดีตดีเจที่หันมาเป็นพระ และใช้เพลงเทคโนมาผสมกับบทสวด พร้อมใช้แสงนีออนสีฉูดฉายมาฉายลงพระพุทธรูป เพื่อดึงดูดให้คนรุ่นใหม่หันเข้าวัด และสนใจในพุทธศาสนามากขึ้น
แม้ว่าตอนแรก ๆ พระนิชิมูระจะมีความกังวลในการแสดงออกทางเพศของตนเองในฐานะพระ จนทำให้เขาคิดว่าอาจจะทำให้เกิดภาพที่ดูไม่ดีหรือไม่เหมาะสมเกี่ยวกับศาสนาพุทธในญี่ปุ่นได้ แต่พระอาจารย์บอกกับเขาว่า จุดประสงค์ของการมีพระ LGBTQ+ ในศาสนาพุทธคือการทำให้ทุก ๆ คนรู้ว่า ‘ไม่ว่าคุณจะเป็นเพศไหน คุณก็สามารถได้รับการช่วยเหลือได้’ และถ้าพระนิชิมูระสามารถทำหน้าที่ช่วยเหลือผู้คนได้ เพศวิถี และลักษณะภายนอกของเขาก็ไม่ได้เป็นปัญหาแต่อย่างใด
จากการบวชพระของนิชิมูระ สะท้อนให้เห็นถึงความเปิดกว้างในระดับหนึ่งของศาสนาพุทธในบริบทของสังคมญี่ปุ่นที่ LGBTQ+ สามารถเข้ารับการฝึกฝนมาเป็นพระ เพื่อช่วยเหลือผู้คนในสังคม ในเมื่อจุดประสงค์ที่มีร่วมกันของทุก ๆ ศาสนาคือการช่วยให้ศาสนิกชนพ้นทุกข์ ดังนั้นคงจะเป็นเรื่องดีไม่น้อยหากศาสนาอื่น ๆ หรือศาสนาพุทธนิกายอื่น ๆ นั้นเปิดโอกาสให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศที่มีจิตกุศลที่ดีอย่างพระ โคโดะ นิชิมูระ เข้ามาเป็นฟันเฟืองหนึ่งที่จะทำให้ศาสนาเป็นที่พึ่งทางจิตใจ และการใช้ชีวิตของทุก ๆ คนอย่างเท่าเทียม และทั่วถึง
“ฉันไม่อยากจะวิจารณ์ หรือเปรียบเทียบกับศาสนาใด ๆ แต่อย่างน้อยฉันก็อยากให้ผู้คนได้รู้ว่า พุทธศาสนา มีอยู่เพื่อโอบอุ้มทุก ๆ เพศ คุณจะเป็นอะไรก็ได้ ทุก ๆ คนจะได้รับการดูแลอย่างเท่าเทียมกัน”
และทั้งหมดนี้คือเรื่องราวของ ‘โคโดะ นิชิมูระ’ ผู้เป็นทั้งช่างแต่งหน้า เกย์ และ พระ ที่เชื่อมั่นว่าพุทธศาสนาพร้อมจะปฏิบัติต่อทุก ๆ เพศอย่างเท่าเทียมกัน