JOHN LANE (10 ตุลาคม 1930 – 17 สิงหาคม 2012)

JOHN LANE (10 ตุลาคม 1930 - 17 สิงหาคม 2012)

Author : ส.ศ.ษ

ข้าพเจ้าพบจอห์น เลน ครั้งแรก เมื่อปี ค.ศ.1994 ณ Dartington Trust ซึ่งก่อนตั้งโดย Leonard และ Dorothy Elmhirst ผัวเมีย โดยที่คู่นี้เคยเป็นผู้ใกล้ชิดกับ รพินทรนาถ ฐากูร ที่อินเดีย ซึ่งตั้งสันตินิเกตัน ขึ้นที่ประเทศนั้น และแนะนำผัวเมียคู่นี้ให้มาตั้งสำนักทำนองนี้ที่อังกฤษ เผอิญโดโรทีเป็นเศรษฐีนีจากสหรัฐ จึงซื้อที่ในมณฑลเดวอนอย่างกว้างขวางมาก มีที่ทำไร่ ทำนาและมีอาคารเก่าแก่แต่สมัย King John ที่ตรา Magna Carta ขึ้นเป็นธรรมนูญฉบับแรกของอังกฤษ และมูลนิธินี้มี Maurice Ash ลูกเขยของคู่สามีภรรยานี้เป็นประธาน โดยจอห์นเป็นกรรมการอยู่ด้วย และกรรมการคณะนี้แล ที่อนุมัติเงินช่วย สาทิศ กุมาร ก่อตั้ง Schumacher College นอกเหนือในกิจกรรมของดาติงตั้น ซึ่งจัดสัมมนาในแนวทางนอกกระแสหลัก เน้นหนักทางความงาม ความดี และความจริง มีคอนเสิร์ตดีๆ มีภาพเขียนจัดเป็นนิทรรศการให้คนชม และเคยจัดโรงเรียนทางเลือกเป็นแห่งแรกในสหราชอาณาจักร ดัง Bertrand Russell ก็ส่งลูกไปเรียนและเอาอย่างไปตั้งโรงเรียนของเขาอีกด้วย

เมื่อข้าพเจ้าแรกพบกับจอห์น เลนนั้น ได้ไปร่วมประชุมต่อต้านลัทธิบริโภคนิยม และผลพลอยได้จากลัทธิทุนนิยม ซึ่งใช้โทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ และสื่อมวลชนตลอดจนการศึกษากระแสหลักมอมเมาผู้คน

ผู้ร่วมประชุมเป็นคนมีชื่อเสียงนอกกระแสหลักหลายคน เช่น Helena Norberg-Hodge และ Jerry Mander ที่เขียนโจมตีโทรทัศน์อย่างน่ารับฟังนัก รวมถึง Cliff Cobb (ข้าพเจ้าชอบพอกับพ่อเขามาก่อน ในฐานะนักเทววิทยาอเมริกันที่มีชื่อเสียงมาก) ซึ่งเสนอการวัดความเจริญอย่างใหม่ที่แผกไปจากระบบที่ยึดถือกัน เขาเขียนหนังสือชื่อ Redefining Progress อย่างน่าอ่าน

ผู้ร่วมประชุมมีจำนวนน้อย ใช้ห้องประชุมขนาดย่อม ในบริเวณวนาอันงดงาม ซึ่งมีประติมากรรมชั้นเลิศ ของ Henry Moore และบทกวีของ William Blake สลักไว้ด้วย

ทุกคนในที่ประชุมแสดงวาทะอย่างน่ารับฟัง หากข้าพเจ้าเตือนสติว่าพวกเราใช้หัวสมองมากไปหรือเปล่า ทำไมไม่ใช้หัวใจบ้าง คลิฟ คอป เลยพูดอย่างเอาหัวใจออกมาเทให้ฟังเลย ข้าพเจ้าเสนอให้หยุดพูดและเดินลมหายใจอย่างรู้ตัวทั่วพร้อมล้าง พร้อมทั้งฟังเสียงนกร้องที่นอกห้องประชุมกันบ้าง

จอห์นพอใจคำพูดของข้าพเจ้ามาก จากจุดนี้เองที่เริ่มมิตรภาพของเรา เขาพาไปรู้จักมอริซแอช ซึ่งก็กลายมาเป็นกัลยาณมิตรของข้าพเจ้าอีกคนหนึ่ง ดังเมื่อเราคิดจัดตั้งเสมสิกขาลัยได้เชิญนักการศึกษาชั้นนำทั้งในกระแสหลักอย่าง Bob McCloy และนอกกระแสหลักอย่าง Adam Curl เป็นต้น (รวมทั้งนักการศึกษานอกระบบจากเมืองไทย เช่น รัชนี ธงไชยแห่งโรงเรียนหมู่บ้านเด็ก) ไปวิสาสะกันที่ คฤหาสน์ของเขา ชื่อ Sharpham House ซึ่งโอฬาริกยิ่งนัก ดังเขายกให้เป็นมูลนิธิไปด้วยแล้ว และที่คฤหาสน์นี้ เขาตั้งวิทยาลัยพุทธขึ้นเป็นแห่งแรกในอังกฤษด้วย โดยใช้ไตรสิกขาเป็นหลัก ตอนนั้น Stephen และ Marine Bachelor เป็นอาจารย์ประจำ

จอห์นเป็นนักเขียนบทความที่เน้นทางด้านความงาม ซึ่งโยงไปถึงความศักดิ์สิทธิ์ ของธรรมชาติและของศาสนสถาน ทั้งของยุโรปและเอเชีย เขาและภรรยาเป็นนักเขียนรูปอย่างน่าทึ่งอีกด้วย ต่อมาข้าพเจ้าเลยได้คุ้นเคยกับสมาชิกในครอบครัวของเขาแทบทั้งหมด โดยเฉพาะก็ Nathaniel และ Jacob ซึ่งไปมาหาสู่กับครอบครัวของข้าพเจ้าที่กรุงเทพฯ เนืองๆ ข้ำเจ้ากับลูกสาวก็เคยไปพักบ้านของสกุลเลน ซึ่งน่าอยู่อย่างผู้ดีอังกฤษแบบเก่า ซึ่งไม่มีความดัดจริตรวมอยู่ด้วย

จอห์นเองก็มาเยี่ยมเราที่เมืองไทย แม้จะไม่มากครั้ง ดังข้าพเจ้าแนะนำให้หนังสือของเขาตีพิมพ์เป็นภาษาไทยก็หลายเล่ม เช่น ความเรียบง่ายไร้กาลเวลา ความเงียบ และ สู่วัยชราอย่างมีศิลปะ ยิ่งเล่มล่าสุดที่ว่าด้วยชราภาพด้วยแล้ว นับว่าเป็นหนังสือขายดีที่สุดของสำนักพิมพ์สวนเงินมีมาเอาเลย

ที่จริงจอห์นอยากให้ข้าพเจ้าเขียนลงในเล่มนี้ด้วย เพราะข้าพเจ้าก็เป็นชายชราเช่นตัวเขาเหมือนกัน เสียดายที่ข้าพเจ้าปฏิเสธไป นอกไปจากนี้แล้วจอห์นยังเป็นบรรณาธิการฝ่ายศิลป์ของนิตยสาร Resurgence ที่มี สาทิศ กุมาร เป็นบรรณาธิการอีกด้วย รสนิยมของเขาดูได้จากความงามของนิตยสารฉบับนี้ และจากหนังสือเล่มอื่นๆ ของเขา โดยเขาเน้นที่ภูมิธรรมพื้นบ้านอย่างสำคัญอีกด้วย

เมื่อจอห์นอายุครบ 80 ปี เขาวางมือจากการงานต่างๆ รวมทั้งการเป็นกรรมการ Dartington Trust และการเป็นบรรณาธิการฝ่ายศิลป์ของ Resurgence หากวันเกิดปีนั้น มีงานฉลองอายุกันอย่างเป็นการภายใน เสียดายที่ข้าพเจ้าไปร่วมไม่ได้แม้จะได้รับเชิญก็ตาม

ในช่วงหลังนี้โรคภัยไข้เจ็บมาเยือนจอห์นจนเริ่มเลอะเลือนบ้าง แต่สุขภาพทั่วๆ ไป ก็ดีพอใช้จนตายจากไปอย่างสงบ

จอห์นเป็นคนมีอารมณ์ขันอย่างอังกฤษและมีความเป็นอยู่อย่างเรียบง่าย ทั้งยังมีรสนิยมอย่างเป็นเลิศ ไม่ว่าจะในทางคีตกรรม จิตรกรรม วรรณกรรม หรือสถาปัตยกรรม และเขาเข้าได้กับธรรมชาติอย่างน่าชื่นชมนัก

การจากไปของจอห์น เลน ย่อมเป็นธรรมดาของชีวิต ตามพระอนิจลักษณะ แต่ว่าข้าพเจ้าได้ศูนย์เสียกัลยาณมิตรไปอีกคนหนึ่ง อย่างจะหามาทดแทนได้ยาก และโลกเราก็สูญเสียสามัญชนคนสำคัญที่มหาชนแทบไม่รู้จัก หากคนอย่างนี้ต่างหากที่ช่วยให้โลกนี้น่าอยู่ แม้จะมีคนกึ่งดิบกึ่งดีจะมีมากมายเพียงใด แสงแห่งความดีงามของจอห์นอาจส่องไปไม่ได้กว้างไกล แต่ก็เป็นดวงประทีที่สำคัญ ซึ่งคงไม่ดับไปเฉยๆ หากผลงานของเขาและวิถีชีวิตของเขา จะคงไว้ให้อนุชน ผู้แสวงหาความเป็นเลิศ ได้เดินตามอย่างภาคภูมิ

Source : นิตยสารปาจารยสาร ปีที่ 36 ฉบับที่ 3 กันยายน-พฤศจิกายน 2555