อำนาจ ความชอบธรรม และความฉ้อฉล

อำนาจ ความชอบธรรม และความฉ้อฉล

Author : สมคิด พุทธศรี

“Power tends to corrupt and absolute power corrupts absolutely”
John Emerich Edward Dalberg-Acton (1834–1902)

ความสัมพันธ์เชิงอำนาจเป็นหนึ่งในความสัมพันธ์พื้นฐานที่สุดของการอยู่รวมกันของสิ่งมีชีวิต สำหรับสิ่งชีวิตที่ไม่ใช่มนุษย์ อำนาจมักจะแสดงออกมาในรูปธรรมง่าย เช่น หากสัตว์ตัวใดมีความแข็งแรงมากที่สุด สัตว์ตัวนั้นก็มักจะมีอำนาจและกลายเป็นจ่าฝูงของกลุ่มไป ทว่า สำหรับสังคมมนุษย์แล้ว อำนาจมักจะแสดงออกมาในรูปแบบที่หลากหลาย ยิ่งสังคมมนุษย์พัฒนาและมีความซับซ้อนมากขึ้นเท่าไร รูปแบบของอำนาจก็จะยิ่งมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น

ด้วยเหตุนี้ ‘อำนาจ’ จึงเป็นเรื่องที่มีการศึกษามากที่สุดเรื่องหนึ่งในสาขาวิชาทางสังคมศาสตร์ นักปราชญ์ชื่อก้องเรืองนามทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น อริสโตเติล โสเครติส มาเคียเวลลี ขงจื๊อ หานเฟยจื๊อ หรือเล่าจื๊อ ก็ล้วนแล้วแต่ศึกษาและพูดถึงเรื่องอำนาจ (ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม) ทั้งสิ้น ในโลกปัจจุบัน ถ้าหากสืบค้นคำว่า “power social science” ในเครื่องมือสืบค้นข้อมูลงานวิชาการอย่างกูเกิลสกอลาร์ (google scholar) จะพบว่ามีวรรณกรรมทางวิชาการกว่า 2.4 ล้านชิ้นที่มีความสัมพันธ์กับหัวข้อนี้

ตัวผมเองเคยได้ลองอ่านงานวิชาการบางชิ้นที่ศึกษาเกี่ยวกับเรื่องอำนาจอยู่บ้าง แต่ด้วยภูมิหลังการศึกษาและความสนใจส่วนตัว ทำให้งานวิชาการส่วนใหญ่ที่ผมอ่านมักจะเป็นงานวิชาการในสาขาเศรษฐศาสตร์การเมือง หรือไม่ก็รัฐศาสตร์เสียมาก จนเมื่อเร็วๆ นี้ ผมมีโอกาสได้ลองอ่านงานวิทยานิพนธ์ของเพื่อนคนนึงที่ทำการศึกษาเรื่องอำนาจในมิติของจิตวิทยาสังคม (social psychology) แม้จะเป็นการได้อ่านโดยบังเอิญ แต่เมื่ออ่านในส่วนสำรวจวรรณกรรมดูแล้ว ผมเห็นว่ามีความน่าสนใจจึงอยากนำมาเล่าให้ท่านผู้อ่านฟังในที่นี้ครับ

ในการศึกษาเรื่องอำนาจ หนึ่งในคำถามพื้นฐานที่นักจิตวิทยาสังคมสนใจคือคำถามที่ว่า อำนาจนั้นส่งผลต่อความสัมพันธ์ทางสังคมของผู้มีอำนาจและผู้ที่อยู่ใต้อำนาจหรือไม่ อย่างไร หรือ พูดอีกแบบก็คือ อำนาจมันทำให้คนเราเปลี่ยนไปจริงหรือ

นักจิตวิทยาสังคมเองได้ข้อสรุปกันมานานแล้วครับว่า มนุษย์ไม่ได้ได้เพียงแต่เป็นผู้ใช้อำนาจเท่านั้น แต่ยังถูกอำนาจ ‘กระทำด้วย’ กล่าวคือ อำนาจนั้นสามารถแปรสภาวะทางจิตวิทยา (psychological state) ของบุคคลที่มีอำนาจได้ และเปลี่ยนได้อย่างทรงพลังมากด้วย ที่น่าสนใจคือ งานวิจัยเชิงประจักษ์จำนวนมากยืนยันว่า อำนาจสามารถเปลี่ยนคนได้โดยที่คนคนนั้นไม่จำเป็นต้องมีอำนาจจริงๆ (having power) หรือใช้อำนาจจริงๆ (using power) ก็ได้ เพียงแค่การคิดถึงอำนาจ (think of power) เช่น การนึกถึงเรื่องราวหรือประสบการณ์ที่ตัวเองเคยมีอำนาจ หรือการมองเห็นสัญลักษณ์ของอำนาจ อิทธิพลของอำนาจในการเปลี่ยนแปลงคนก็จะถูกกระตุ้นให้ทำงานทันที

คำถามที่ว่า “อำนาจส่งผลต่อผู้ใช้อำนาจอย่างไร” นั้นยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน ในวรรณกรรมทางด้านจิตวิทยาสังคมที่ผ่านมาก็พบทั้งผลกระทบด้านบวกและผลกระทบด้านลบของอำนาจที่มีต่อผู้ที่ถือครองมัน ดังนั้นจึงเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่ประวัติศาสตร์โลกบันทึกเรื่องราวด้านมืดของอำนาจ (เช่น อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ผู้นำแห่งนาซี หรือโรเบิร์ต มูกาเบ แห่งซิมบับเว) ไว้มากพอๆ กันกับด้านสว่างของมัน (มหาตมะ คานธี หรือว่าอับราฮัม ลินคอล์น)

สำหรับพฤติกรรมทางด้านบวก มีการศึกษาพบว่า อำนาจนั้นจะทำให้ผู้ที่ครอบครองมันมีพฤติกรรมในเชิงรุก เช่น มีพลังงานมากขึ้น กระฉับกระเฉงขึ้น แสวงหาโอกาสใหม่ๆ อยู่เสมอ มักจะใช้อำนาจที่มีในการให้รางวัลมากกว่าทำโทษ รวมไปถึงการมองโลกในแง่ดีด้วย นอกจากนี้ การได้มาซึ่งอำนาจยังสัมพันธ์กับผลในทางจิตวิทยาอื่นๆ อีกด้วย อาทิ ทำให้มีอารมณ์ในด้านบวก ความสุข ความพอใจ และความรู้สึกรัก (affection) มากยิ่งขึ้น

ในทางตรงกันข้าม อำนาจนั้นนำไปสู่ความฉ้อฉลได้เช่นเดียวกัน การศึกษาเชิงประจักษ์พบว่า เมื่อบุคคลมีอำนาจและได้ลองใช้อำนาจแล้ว อัตราการใช้อำนาจของเขาก็มักจะมีความถี่และบ่อยครั้งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และหากต้องมีการประเมินผลงานของกลุ่ม คนที่มีอำนาจมีแนวโน้มที่จะมองว่าผลงานที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเพราะตนเองมากกว่าที่จะยกความดีความชอบให้แก่ลูกน้องของตน นอกจากนี้ อำนาจยังทำให้ผู้มีอำนาจนั้นเข้าใจสังคมและคนอื่นได้ยากมากขึ้น งานวิจัยบางชิ้นที่ศึกษาเรื่องอำนาจกับพฤติกรรมทางเพศพบว่า การมีอำนาจที่มากขึ้นอาจนำไปสู่พฤติกรรมทางเพศที่ไม่เหมาะสมได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การใช้อำนาจเพื่อข่มขู่ทางเพศ ที่สำคัญคือ อำนาจอาจส่งผลถึงขั้นที่ทำให้ผู้มีอำนาจนั้นลดทอนความเป็นมนุษย์ (dehumanized) ของบุคคลอื่น ด้วยการมองว่าบุคคลอื่นนั้นเสมือนเป็นสัตว์หรือสิ่งของทั่วไป รวมถึงการคิดถึงบุคคลอื่นในเชิงนามธรรมมากกว่าที่จะเป็นรูปธรรม ในแง่นี้ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่เราจะเห็นผู้มีอำนาจใช้อำนาจของตนในการกีดกัน กดทับ บังคับ ผู้ที่อยู่ใต้อำนาจของตน

ควรกล่าวในที่นี้ด้วยครับว่า การพูดถึง ‘พฤติกรรมด้านบวกและด้านลบ’ นั้นเป็นเพียงแค่การแบ่งประเภทของพฤติกรรมอย่างกว้างเท่านั้น ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับประสิทธิผลและความสำเร็จของการใช้อำนาจ ถ้าเราถกเถียงกันเรื่องประสิทธิผลของการใช้อำนาจ ย่อมมีผู้ที่เสนอว่า การลดทอนความเป็นมนุษย์นั้นเป็น ‘ปีศาจร้ายจำเป็น’ ของผู้มีอำนาจ เพราะผู้มีอำนาจมักจะต้องเผชิญกับการตัดสินใจที่ต้องใช้ความ ‘เลือดเย็นและมีเหตุมีผล’ อยู่บ่อยๆ กลไกดังกล่าวข้างต้นจะช่วยลดความเจ็บปวดทางจิตวิทยาที่เกิดขึ้นจากการใช้อำนาจทำร้ายผู้อื่นได้

แล้วอะไรล่ะ ที่เป็นปัจจัยคอยกับกำกับว่าเมื่อใดที่อำนาจจะส่งผลทางบวก และเมื่อใดที่อำนาจส่งผลในทางลบ นักจิตวิทยาสังคมเองก็พยายามตอบคำถามนี้อยู่เช่นกันครับ บ้างก็ให้ความสำคัญกับบุคลิกภาพของผู้ใช้อำนาจ บ้างก็ให้ความสนใจกับปัจจัยเชิงวัฒนธรรมและสถานการณ์แวดล้อม ของการใช้อำนาจ แต่ปัจจัยที่ผมเห็นว่าน่าสนใจเป็นพิเศษและควรจะกล่าวถึงในที่นี้ก็คือ ความชอบธรรมของอำนาจ (legitimacy)

หากนิยามอย่างกว้างๆ อำนาจที่ชอบธรรม (legitimate power) หมายถึง อำนาจมีฐานมาจากการยอมรับร่วมกันของกลุ่มหรือสังคม โดยกลุ่มหรือสังคมนั้นๆ จะเป็นผู้กำหนดร่วมกันว่า ใครคือผู้ที่สมควรจะมีอำนาจและกลุ่มหรือสังคมจะยอมเป็นผู้อยู่ใต้อำนาจ ตัวอย่างเช่น หน่วยรักษาความปลอดภัยในสนามบินมีอำนาจที่ชอบธรรมในการสั่งให้ผู้โดยสารถอดรองเท้า อาจารย์มีอำนาจในการไม่อนุญาตให้นักศึกษาที่มาสายเข้าชั้นเรียน เป็นต้น ทั้งนี้โดยทั่วไปแล้ว อำนาจที่ชอบธรรมนั้นยึดโยงอยู่กับหลักการเรื่องความเป็นธรรม (fair) ความยุติธรรม (justice) และความถูกต้อง (righteous)

คุณสมบัติเด่นของความชอบธรรม คือ ผู้ที่อยู่ใต้อำนาจที่ชอบธรรมนั้นจะยอมรับอำนาจนั้นอย่างสมัครใจมากกว่าที่จะเกิดจากความกลัวที่จะถูกทำโทษหรือว่าความอยากได้รางวัล ดังนั้น ถ้าความสัมพันธ์ของอำนาจนั้นเกิดขึ้นภายใต้เงื่อนไขของความชอบธรรมแล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างผู้มีอำนาจและผู้อยู่ใต้อำนาจก็จะเป็นไปได้ด้วยดี ในทางตรงกันข้าม ถ้าความสัมพันธ์เชิงอำนาจเกิดขึ้นภายใต้เงื่อนไขแบบไม่ชอบธรรม ความสัมพันธ์ก็จะไม่ราบรื่น เพราะผู้อยู่ใต้อำนาจย่อมเกิดความรู้สึกต่อต้านหรือไม่เห็นด้วยกับผู้มีอำนาจ

คุณสมบัติเด่นของความชอบธรรมข้างต้นนี้เองที่เป็นปัจจัยกำกับว่าผลลัพธ์ของอำนาจนั้นจะเป็นด้านบวกหรือด้านลบ เมื่อใดที่ผู้มีอำนาจรับรู้ว่าอำนาจของเขาเป็นอำนาจที่ไร้ความชอบธรรม (illegitimate) อำนาจนั้นจะนำไปสู่ความฉ้อฉล เพราะเขาเองจะมีความรู้สึกกระอักกระอ่วนใจและวิตกกังวลต่ออำนาจที่มี ซึ่งท้ายที่สุดอำนาจจึงมักจะลงเอยด้วยพฤติกรรมด้านลบในที่สุด

ล่าสุด นักจิตวิทยาสังคมเริ่มที่จะพบหลักฐานเชิงประจักษ์บ้างแล้วว่า ความชอบธรรมของอำนาจนั้นส่งผลต่อพฤติกรรมของผู้มีอำนาจอย่างมีนัยสำคัญ การศึกษาพฤติกรรมเชิงทดลองพบว่า เมื่อกระตุ้นให้คนนึกถึงสถานการณ์ที่ตัวเองมีอำนาจที่ชอบธรรม (เช่น การได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้าเพราะทำคะแนนทดสอบวัดคุณสมบัติได้ดี) พฤติกรรมด้านบวกที่กล่าวมาข้างต้น ไม่ว่าจะเป็น ความสุข ความพึงพอใจ ความกระตือรือร้น ความมั่นใจตัวเอง การเน้นการให้รางวัลมากกว่าที่จะข่มขู่ ฯลฯ ก็จะเกิดขึ้นเป็นปกติ แต่เมื่อใดที่กระตุ้นให้คนนึกถึงสถานการณ์ที่ตัวเองมีอำนาจที่ไร้ความชอบธรรม (เช่น การได้รับเลือกตำแหน่งให้เป็นหัวหน้าเพราะเพศ หรือ ‘เส้น’) ผลกลับกลายเป็นว่า ผู้มีอำนาจนั้นกลับแสดงพฤติกรรมในด้านลบ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การประเมินผู้ใต้บังคับบัญชาในทางไม่ดี ขี้ระแวง ชอบรับฟังคนขี้ประจบมากกว่าคนวิจารณ์ รวมถึงการมักจะชอบใช้อำนาจในการข่มขู่บังคับมากกว่าที่จะใช้วิธีการแบบให้รางวัล

แม้จะเพิ่งเคยอ่านงานวิชาการในสาขาจิตวิทยาสังคมและมีความรู้ในเรื่องนี้ค่อนข้างจำกัด แต่ในความเห็นของผม ‘จุดเด่น’ ของงานวิชาการทางจิตวิทยาสังคม คือ การศึกษาพฤติกรรมของมนุษย์ใน ‘ห้องทดลอง’ เพื่อพยายามควบคุมตัวแปรต่างๆ ให้ได้มากที่สุด เช่น การสร้างสถานการณ์จำลองให้ผู้เข้าร่วมการทดลองสวมบทบาทเป็นหัวหน้างานที่ต้องให้รางวัลหรือทำโทษลูกน้องของตน จากนั้นก็จะเฝ้าสังเกตพฤติกรรมที่เกิดขึ้นในสถานการณ์จำลองนั้นๆ ซึ่งการศึกษาในลักษณะนี้มักจะทำให้เราเห็นพฤติกรรมของมนุษย์ในระดับปัจเจกบุคคลได้ดี

ลองคิดดูสิครับ อำนาจมันหอมหวนชนิดที่ว่าถ้าคิดถึงมันก็ทำให้เราเปลี่ยนไปได้แล้ว การมีอำนาจเล็กๆ อย่างการได้เป็นหัวหน้าคนในสถานการณ์จำลองก็ยังทำให้คนเปลี่ยนไปได้ นับประสาอะไรกับโลกแห่งความจริงที่เวลาเราพูดถึงผู้มีอำนาจทีไร เราหมายถึงคนที่มีอำนาจอันล้นเหลือที่สั่งเป็นสั่งตายกับคนอื่นได้จริง

ข้อค้นพบทางจิตวิทยาสังคมบอกเราว่า ความชอบธรรมของอำนาจนั้นจะเป็นตัวกำกับว่าอำนาจจะเปลี่ยนคนอย่างไร ในแง่นี้ จึงไม่แปลกที่เวลาสังคมใดมีปัญหาความขัดแย้งเรื่องความชอบธรรมของผู้มีอำนาจ สังคมนั้นมักจะหลีกเลี่ยงความรุนแรงได้ยาก เพราะท่ามกลางความขัดแย้ง อำนาจมีแนวโน้มที่จะชักนำให้ผู้ที่ครอบครองมันแสดงพฤติกรรมแบบกดทับ ข่มขู่ บังคับ ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับตนอยู่แล้ว

สิ่งที่น่าคิดต่อไปคือ ใช่หรือไม่ว่า สำหรับผู้มีอำนาจทั้งหลายที่ใช้การข่มขู่ การกดทับ กระทั่งลามปามไปถึงการใช้ความรุนแรงกับคนที่ไม่เห็นด้วยกับตน เอาเข้าจริงแล้ว พวกเขาเองก็รู้สึกอยู่ลึกๆ ว่า อำนาจของตนมันไม่ชอบธรรม

Source : https://waymagazine.org/gender_event/