ทำไมเผด็จการจึงยังไม่ตายไปจากสังคมไทย?

ทำไมเผด็จการจึงยังไม่ตายไปจากสังคมไทย?

Author : เอกพล บรรลือ

ในเมื่อหลายประเทศเลิกใช้ระบอบการปกครองนี้ไปแล้ว สงสัยไหมว่าทำไมระบอบเผด็จการทหารถึงยังใช้ได้ในประเทศไทย คำตอบที่ได้คือ…

“เผด็จการจะอยู่ได้ด้วยเครื่องมือ 2-3 อย่าง อย่างแรกคือควบคุมด้วยอำนาจดิบ หรือความกลัว ซึ่งถือเป็นพื้นฐานที่สุด แต่ไม่ยั่งยืนที่สุด เพราะไม่มีใครชอบโดนกดขี่บังคับไปตลอด เมื่อไม่มีทางเลือกอื่นให้ประชาชนเลย สักวันก็ต้องโดนประท้วงขับไล่

“ฉะนั้นจึงต้องมีเครื่องมือตัวที่ 2 คือคุณต้องบริหารจัดการประเทศให้ดี ให้เศรษฐกิจยังพอไปได้ ให้คนรู้สึกว่าต่อให้ไม่มีสิทธิเสรีภาพ แต่ชีวิตด้านอื่นๆ ก็ยังได้รับความสะดวกสบาย แต่เครื่องมือนี้ก็ยังมีความเปราะบาง เพราะวันหนึ่งเมื่อเศรษฐกิจล่มสลาย ชีวิตไม่ได้ดีเหมือนก่อน การบริหารจัดการล้มเหลว คนก็จะออกมาเรียกร้องหาระบอบอื่น เหมือนอินโดนีเซียที่ซูฮาร์โตอยู่มา 31 ปี พอเจอวิกฤตเศรษฐกิจก็เกิดการประท้วงจนอยู่ไม่ได้

“แต่จะอยู่ได้นานต้องใช้เครื่องมือที่ 3 ซึ่งลึกซึ้งที่สุด ถ้าทำได้ก็จะอยู่ได้นานที่สุด คือการควบคุมทางอุดมการณ์ ถ้าคุณสามารถควบคุมความคิดคนให้เห็นว่าการปกครองของคุณ ต่อให้ล้มเหลวทางเศรษฐกิจ ถูกลิดรอนสิทธิเสรีภาพ แต่เป็นทางเลือกเดียวที่ดีที่สุดสำหรับสังคม ไม่มีทางอื่นที่ดีกว่านี้ ถ้าทุกคนถูกดัดแปลงความคิดจนคิดเหมือนกันหมด ไม่มีใครแตกต่างกัน แล้วความคิดนั้นตรงกับรัฐ ก็จะไม่มีสิ่งที่เรียกว่าการเมืองอีกต่อไป จะเหลือแต่การปกครอง ทุกคนจะเป็นพลเมืองเชื่องๆ เหมือนหุ่นยนต์ ถ้าอย่างนั้นคุณก็ปกครองได้ตลอดไป”

 

แล้วเราจะรับมือกับระบอบเผด็จการได้อย่างไร?

ถ้าใครเคยได้อ่านงานเขียนของ จอร์จ ออร์เวลล์ เรื่อง 1984 จะพบว่าสิ่งหนึ่งที่พี่เบิ้ม หรือ Big Brother หวาดกลัวที่สุดก็คือพลเมืองที่สามารถรักษาความคิดอิสระของตัวเองไว้ได้

แม้จะเป็นเพียงนิยาย แต่หลายอย่างใน 1984 ก็ทาบทับได้อย่างพอดิบพอดีกับโลกความเป็นจริง และ Big Brother ในเรื่องก็ไม่ต่างจากระบอบเผด็จการในยุคปัจจุบันมากนัก ดังนั้นวิธีรับมือกับระบอบนี้ได้ดีที่สุดจึงเป็นการรักษาจุดยืนทางความคิดของตัวเองเอาไว้ให้มั่นคง และไม่สั่นคลอนไปตามวาทกรรมชวนเชื่อที่รัฐพยายามปลูกฝัง

“ในฐานะคนสอนหนังสือ ก็ต้องใช้ชีวิตต่อไปตามปกติ โดยที่ยังสามารถรักษาความคิดอิสระของตัวเองไว้ได้ เพราะหน้าที่ของคนที่เป็นนักคิดคือ การชี้ให้คนทั่วไปเห็นว่าโลกไม่จำเป็นต้องเป็นในแบบที่มันเป็นอยู่ มันมีโอกาสที่จะมีสิ่งที่ดีกว่านี้เกิดขึ้นได้ ฉะนั้นถ้าระบอบเผด็จการทำงานอยู่บนฐานของการเปรียบเทียบอดีตกับปัจจุบันให้คุณยอมรับว่าตอนนี้ดีที่สุดแล้ว ความหวังของสังคมไทยก็อยู่ที่นักคิดที่ต้องชี้ให้เห็นว่ามันมีอนาคตที่ดีกว่าปัจจุบัน”

 

ทำไมต้องประชาธิปไตย?

ในทางรัฐศาสตร์ เผด็จการ หรือประชาธิปไตย ไม่ได้เป็นอะไรมากไปกว่าระบอบการปกครองรูปแบบหนึ่งที่ต่างก็มีทั้งข้อดีและข้อเสียในตัวของมันเอง แต่ถ้าเลือกได้คุณอยากจะอยู่ในสังคมที่ปกครองด้วยระบอบไหน

อย่าเพิ่งตอบคำถามนี้จนกว่าได้จะฟังแนวคิดของประจักษ์ที่มีต่อระบอบการปกครองทั้ง 2 แบบ

“ผมไม่ได้มองว่าระบอบประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่เลิศเลอ เผด็จการก็เช่นกัน สำหรับนักรัฐศาสตร์เวลาพูดถึงระบอบการปกครองจะถือว่าเป็นความหมายธรรมดาสามัญมากเลย แค่พูดถึงระบอบการเมืองต่างชนิดกัน เหมือนเป็น OS ทางการเมือง

“ทีนี้ทำไมผมถึงเชื่อในระบอบประชาธิปไตยมากกว่า ก็เพราะอย่างน้อยมันผ่านการพิสูจน์ และทดลองใช้มาแล้วในที่ต่างๆ ทั่วโลก มันเป็น OS ที่มีศักยภาพในการปรับตัวได้มากกว่าระบอบเผด็จการ โดยเฉพาะระบอบเผด็จการแบบทหารซึ่งเป็น OS ที่ล้าหลังที่สุด”

ถึงแม้จะยอมรับว่าระบอบประชาธิปไตยอาจจะยังไม่ใช่ระบอบที่สมบูรณ์แบบที่สุดในปัจจุบัน แต่ข้อดีของมันคือเป็นระบอบที่ยังอัพเดตให้ดีขึ้นได้ ต่างจากระบอบเผด็จการที่อาจเดินทางมาถึงทางตันจนไม่สามารถพัฒนาต่อไปได้

“คุณจะไปคาดหวังให้เขาเป็นในสิ่งที่ไม่ใช่ไม่ได้ ไม่ว่าคุณจะเอาทหารประเทศไหนก็ตามมาบริหารประเทศก็ต้องเจอแบบนี้แหละ เพราะทหารส่วนใหญ่ถูกฝึกมาให้คิดถึงเรื่องความมั่นคงเป็นหลัก นอกนั้นเป็นเรื่องรองหมด ดังนั้นทหารจึงมองทุกอย่างจากเลนส์ของความมั่นคง โปเกมอนโกก็เป็นภัยความมั่นคงได้ ถ้าคุณเป็นนักธุรกิจ โปเกมอนโกอาจเป็นโอกาสทางธุรกิจ ถ้าคุณเป็นวัยรุ่น โปเกมอนโกคือการพักผ่อนหย่อนใจ แต่ถ้าคุณเป็นทหาร คุณจะมองว่าโปเกมอนโกเป็นภัยความมั่นคงหรือเปล่า เพราะโดยธรรมชาติเขาถูกฝึกมาปกป้อง คุ้มครองความปลอดภัยของพวกเรานี่แหละ

“ฉะนั้นพอเราเอาเผด็จการทหารมาใช้ในฐานะระบอบการเมือง นี่คือสิ่งที่คุณจะได้ คุณจะไปคาดหวังในสิ่งที่เขาไม่มีไม่ได้ ทั้งความโชติช่วงทางเศรษฐกิจ เทคโนโลยีสมัยใหม่ การปรับตัวให้เข้ากับโลกภายนอก ในขณะที่ประชาธิปไตยมีความลื่นไหล ยืดหยุ่นมากกว่า แล้วก็มีตัวอย่างให้เห็นเป็นไม่รู้กี่สิบประเทศ ระบอบเผด็จการสร้างแค่ความสงบ แต่เป็นความสงบที่มีต้นทุนสูงมาก และเป็นต้นทุนที่ถูกทำให้มองไม่เห็น เพราะมีการควบคุมข้อมูลข่าวสาร มีปัญหาเราก็พูดไม่ได้อย่างเต็มที่หรอก มันถึงดูสงบสุขดี ต้นทุนก็เลยสะสมมากขึ้นเรื่อยๆ ในการอยู่แบบสงบอย่างนี้”

สุดท้ายถึงวันนี้เราจะเลือกไม่ได้ว่าจะอยู่ภายใต้ระบอบการปกครองรูปแบบไหน แต่สิ่งที่เราพอจะทำได้คือพยายามเรียนรู้จากสิ่งที่เป็นอยู่ให้ได้มากที่สุด เพื่อจะได้รู้เท่าทัน และช่วยกันเฝ้าระวังสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตต่อไป เหมือนที่ประจักษ์ทิ้งท้ายไว้ว่า

“วิกฤติในสังคมตอนนี้ ถ้าจะมีข้อดีอย่างหนึ่งที่ผมเห็นคือ อย่างน้อยสังคมไทยก็เรียนรู้แล้วว่าระบอบประชาธิปไตยมีความบกพร่อง ผิดพลาดได้ รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอาจจะไม่ได้ดีเสมอไป เราจะได้รู้จักตรวจสอบนักการเมือง รัฐบาล หรือใครก็ตามที่ใช้อำนาจประชาชนผ่านการเลือกตั้งในนามของประชาธิปไตย

“แต่สิ่งที่ยังไม่เกิดก็คือ สังคมไทยยังไม่ได้วิพากษ์ หรือรู้เท่าทันระบอบเผด็จการเท่าๆ กับที่เราวิพากษ์ระบอบประชาธิปไตย พูดง่ายๆ คือสังคมไทยเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่ยังโลกสวยกับเผด็จการ เวลาพูดถึงรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เราจะตื่นตัวมาก อยากจะตรวจสอบ

“แต่พอเป็นระบอบเผด็จการ เรากลับบอกว่า ให้เขาบริหารบ้านเมืองไปเถอะ เดี๋ยวทุกอย่างจะดีขึ้นเอง ซึ่งจะว่าไปมันก็ประหลาดนะ”

Source : http://themomentum.co/momentum-feature-dictatorship-prajak