สังคมที่น่าเป็นห่วง

สังคมที่น่าเป็นห่วง

Author : ประภัสสร เสวิกุล

สิ่งหนึ่งซึ่งเป็นปัญหาสำหรับคนในสังคมเวลานี้ ก็คือการรับข้อมูลมากเกินไป และส่วนใหญ่จะเป็นข้อมูลด้านเดียวหรือข้อมูลที่ยังไม่ได้ผ่านการกลั่นกรอง ปัญหาที่ตามมาก็คือการสำลักข้อมูล หรือการถูกผู้อื่นบรรจุข้อมูลลงในสมอง โดยที่เจ้าตัวไม่มีเวลาที่จะวิเคราะห์ข้อมูลเหล่านั้นอย่างถี่ถ้วน

ถ้าลองเปิดโซเชียลมีเดียหรือสังคมโลกออนไลน์ดู จะเห็นได้ชัดเจนว่าคนในยุคปัจจุบันจะใช้นิ้วในการเคาะคีย์และโพสต์ข้อความมากกว่าการใช้หัวคิดและไต่ตรอง ทันทีที่มีคนเริ่มต้นอะไรขึ้นสักอย่าง ก็จะมีคนส่วนหนึ่งแสดงความเห็นต่างๆ นานา โดยขาดการสอบสวนทวนความให้ถ่องแท้ ทั้งที่การใช้เสรีภาพดังกล่าว อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้อื่น หรือปัญหาแก่ตัวเองได้

จุดใหญ่ใจความของเรื่องเหล่านี้ น่าจะมีที่มาจากสาเหตุสองประการ ประการแรกคือระบบการเรียนการสอนของไทยเราสอนให้จำมากกว่าจะสอนให้คิด ดังนั้น คนที่จำแม่นก็จะกลายเป็นคนที่เรียนเก่ง เพราะตอบข้อสอบได้ตรงกับโจทย์ และพฤติกรรมเช่นนี้ก็จะติดตัวมาจนโต ทำให้เป็นคนที่อยู่ในกรอบ ไม่กล้าคิดหรือทำอะไรที่ผิดแผกออกไป อีกประการหนึ่งก็คือการที่เรารู้จักประชาธิปไตยกันแค่เรื่องสิทธิเสรีภาพของตนเอง แต่ไม่ค่อยจะตระหนักในสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น หรือหน้าที่ที่พึงมีต่อส่วนรวม

เหตุสองประการนี้ ถ้าเป็นในสมัยก่อนที่สังคมไทยยังเป็นสังคมเล็กๆ ที่ราบเรียบร่มรื่นก็ไม่สู้จะกระไรนัก แต่ในยุคปัจจุบันที่สังคมมีขนาดใหญ่โต มีความสลับซับซ้อน รวมทั้งมีความขัดแย้งทางแนวคิดและผลประโยชน์เพิ่มมากขึ้น ประกอบกับวิวัฒนาการของการติดต่อสื่อสารที่เชื่อมโยงคนเข้าด้วยกันเหมือนใยแมงมุม ก็ทำให้เกิดเป็นปัญหาขึ้นมา เพราะตามความเป็นจริงแล้ว หากมีการสอนให้คนคิดเก่งมากกว่าจำเก่ง ความคิดก็จะทำให้แต่ละคนมีวิจารณญาณ มีกระบวนการทางความคิด รู้จักคิดหาข้อเท็จจริง รู้จักใคร่ครวญถึงผลดีผลเสีย แล้วก็คงไม่พูดอะไรหรือโพสต์อะไรพล่อยๆ ขณะเดียวกัน ถ้ามีความเข้าใจเรื่องการใช้สิทธิเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตยดีพอ ก็คงจะเคารพสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น และไม่กระทำการใดๆ ที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพ เช่นที่เห็นกันอยู่ทั่วไป

การรับเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามานั้น เป็นเรื่องที่ดี แต่สิ่งที่ควรทำควบคู่กันไปกับการเรียนรู้และการใช้เทคโนโลยี ก็คือเรื่องมารยาทในการใช้เทคโนโลยี และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีนั้นๆ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่เราละเลยไม่ได้ปลูกฝังกันตั้งแต่ต้น ยกตัวอย่างเช่นการขับรถยนต์ หากรู้เพียงวิธีการขับ แต่ไม่เรียนรู้หรือสนใจที่จะปฏิบัติตามกฎจราจร ก็คงจะไม่สามารถใช้รถใช้ถนนได้ดี และย่อมก่อปัญหากับผู้ขับขี่ยวดยานหรือคนเดินถนนทั่วไป

สิ่งที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้น ก็คือความรับผิดชอบ ซึ่งนับวันจะหายไปจากจิตใจของคนในสังคม เพราะเมื่อคนขนาดสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือรัฐมนตรีบางคน สามารถทำอะไรหรือพูดอะไรโดยปราศจากความรับผิดชอบในสิ่งที่ตนพูดตนทำ ทั้งๆ ที่มีพยานหลักฐานปรากฏชัด คนทั่วไปที่ใช้โซเชียลมีเดียซึ่งไม่ได้แสดงตัวตนที่แท้จริง ก็ถือว่าตนย่อมจะสามารถโพสต์ข้อความหรือรูปภาพ โดยไม่มีความรับผิดชอบได้เช่นเดียวกัน

สังคมใดที่คนในสังคมขาดความคิด ขาดการเคารพกฎเกณฑ์กติกา เคารพสิทธิผู้อื่น และขาดความรับผิดชอบการกระทำของตน สังคมนั้นก็เป็นสังคมที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งครับ