“พฤติกรรมไร้ศีลธรรม” และนัยต่อการกำกับดูแล

"พฤติกรรมไร้ศีลธรรม" และนัยต่อการกำกับดูแล

Author : สฤณี อาชวานันทกุล

หลายปีมานี้ไม่ว่าจะไปที่ไหนก็ได้ยินแต่เสียงบ่น โดยเฉพาะจากผู้หลักผู้ใหญ่ที่ผู้เขียนนับถือว่า สังคมไทยทุกวันนี้ทุกวงการมีแต่คนขาดจรรยาบรรณ

ไร้ศีลธรรมจนไม่รู้ว่า “มาตรฐานวิชาชีพ” อยู่ตรงไหน ตั้งแต่โฆษณา สื่อ ธุรกิจ ตลาดทุนตลาดเงินก็ไม่เว้น ซ้ำร้ายกรณีอื้อฉาวหลายเรื่องที่คุยกันให้แซดในวงการ ควรจะเป็นข่าวพาดหัวในสื่อกระแสหลักกลับไม่เป็นข่าว ผู้เขียนคิดว่าสาเหตุหลักข้อหนึ่ง คือ จรรยาบรรณในวงการสื่อเองก็อ่อนแอปวกเปียกไม่แพ้จรรยาบรรณในวงการที่เกิดเรื่อง นักข่าวหลายคนมีบริษัทประชาสัมพันธ์ (พีอาร์) ของตัวเอง ทำงานพีอาร์เพื่อ “แหล่งข่าว” เป็นสรณะจนไม่อาจเขียน “ข่าว” ที่เป็นอิสระและรอบด้านตามมาตรฐานวิชาชีพได้อีกต่อไป เรื่องใหญ่แบบนี้ไม่เห็นสมาคมวิชาชีพจะทำอะไรได้กี่มากน้อย

ผู้ดำเนินนโยบาย เจ้าหน้าที่รัฐ สื่อมวลชน และเราๆ ท่านๆ มักจะให้ความสำคัญกับกรณีคอร์รัปชันที่คนทำตั้งใจทุจริตจริงๆ หรือไม่ก็ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงจนเกิดความเสียหาย แต่งานวิจัยร่วมสมัยของนักจิตวิทยาศีลธรรม (behavioral ethics) พบว่าพฤติกรรมผิดศีลธรรมที่คนเราทำในชีวิตประจำวัน เวลาเข้าสังคมหรือในที่ทำงานนั้นส่วนใหญ่ไม่ได้เกิดจากความจงใจที่จะทุจริต แต่เกิดจากการ “หลอกตัวเองโดยไม่รู้สึกตัว” มากกว่า

จากการศึกษาของนักจิตวิทยาศีลธรรมพบว่า คนเราบิดเบือนกฎเพื่อช่วยเพื่อนร่วมงาน หรือแกล้งทำเป็นมองไม่เห็นข้อมูลที่อาจทำให้ลูกค้าเสียชื่อเสียง ทั้งที่ข้อมูลนั้นเป็นข้อเท็จจริงซึ่งทำให้ประชาชนเสียหายมากกว่าชื่อเสียงที่ลูกค้าเสีย เราทำอย่างนั้นเพราะมันช่วยบรรลุเป้าหมายอะไรบางอย่าง ซึ่งอาจไม่ใช่ประโยชน์ส่วนตัวล้วนๆ ด้วย ยกตัวอย่างเช่น เวลาที่เรายุ่งอยู่กับการทำงานให้ได้ยอดตามเป้า หรือแม้แต่ใช้ข้อมูลภายในหรือปั่นหุ้นหาเงินไปบริจาคให้กับวัดที่ตัวเองชอบ นัยทางศีลธรรมของการตัดสินใจสำคัญๆ ของเราอาจพร่าเลือนจากสติสัมปชัญญะ พอพร่าเลือนแล้วเราก็เลยประพฤติหรือยอมให้คนอื่นประพฤติในทางที่ปกติเราจะประณามหยามเหยียด

ลักษณะทางจิตวิทยาที่ว่านี้ตอบคำถามว่าเหตุใดความย่อหย่อนทางศีลธรรมแทบทุกวงการจึงดูแพร่หลายและฝังลึก นอกจากนี้ มันยังช่วยอธิบายว่าทำไมมาตรการลงโทษอย่างเช่นการบัญญัติค่าปรับหรือโทษจำคุกถึงอาจส่งผลตรงกันข้ามกับเจตนา นั่นคือ ทำให้คนประพฤติตนในทางที่ไม่พึงประสงค์มากขึ้น แทนที่จะน้อยลง การทดลองครั้งหนึ่งในปี 1999 ขอให้ผู้เข้าร่วมสวมบทเป็นนักอุตสาหกรรม เจ้าของโรงงานที่ปล่อยสารพิษสู่อากาศ พวกเขาตกอยู่ใต้แรงกดดันของนักสิ่งแวดล้อม ก็เลยตกลงกันว่าจะต่างคนต่างซื้ออุปกรณ์ลดมลพิษราคาแพงมาติดที่โรงงานเพราะไม่อยากเจอกฎหมายที่เข้มขึ้นในอนาคต นักทดลองบอกนักอุตสาหกรรมจำแลงบางคนว่า พวกเขาจะเสียค่าปรับไม่สูงนักถ้าหากละเมิดสัญญา ไม่ซื้ออุปกรณ์มาติดจริง บอกนักอุตสาหกรรมจำแลงที่เหลือว่าไม่ต้องเสียค่าปรับใดๆ เลยถ้าหากผิดสัญญา

ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ทั่วไปจะพยากรณ์ว่า คำขู่ที่จะเก็บค่าปรับจะบังคับให้คนทำตามสัญญามากขึ้น แต่ผลที่เกิดขึ้นกลับตรงกันข้าม-คนที่โดนขู่ว่าจะโดนปรับกลับโกงมากกว่าคนที่ไม่โดนขู่ นักวิจัยพบว่าสาเหตุ คือ ระบบค่าปรับทำให้คนมองการตัดสินใจเรื่องนี้ว่าเป็นการตัดสินใจทางการเงินล้วนๆ ก็เลยทำตัวผิดศีลธรรมโดยไม่รู้สึกอนาทรร้อนใจ แต่การไม่ต้องเผชิญกับค่าปรับใดๆ ทำให้คนมองสถานการณ์นี้ว่าเป็นการตัดสินใจทางศีลธรรม พอมองว่าเป็นเรื่องทางศีลธรรมก็เลยโกงน้อยลง มีความยับยั้งชั่งใจมากขึ้น ข้อค้นพบนี้สอดคล้องกับข้อค้นพบจากงานวิจัยมากมายว่า คนเรามักจะคิดว่าตัวเอง “มีศีลธรรม” มากกว่าที่เรามีจริงๆ

ความพร่าเลือนทางศีลธรรมที่ว่านี้นอกจากจะกีดกันไม่ให้เราสังเกตเห็นความประพฤติผิดศีลธรรมของตัวเองแล้ว มันยังทำให้เรามองข้ามพฤติกรรมเดียวกันของคนอื่นด้วย ตัวอย่างที่ชัดเจนล่าสุด คือ วิกฤติการเงินในสหรัฐอเมริกา ก่อนเกิดวิกฤตินี้แน่นอนว่าคณะกรรมการสถาบันการเงิน บริษัทผู้สอบบัญชี บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ และวาณิชธนกรจำนวนมากเข้าถึงข้อมูลน่าตกใจที่พวกเขาควรสังเกตเห็นและรายงาน แต่แล้วส่วนใหญ่ก็ไม่ทำ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะถูก “จูงใจให้ตาบอด” (motivated blindness) ในภาษาของนักจิตวิทยา หมายถึง แนวโน้มที่เราจะมองข้ามข้อมูลที่ขัดแย้งกับประโยชน์ของตัวเอง แม้แต่คนที่ซื่อสัตย์ที่สุดบางครั้งยังตกหลุมพรางนี้ ทั้งที่หลายคนจะปฏิเสธว่าไม่เคยตก

การตกอยู่ใต้อิทธิพลของแรงจูงใจให้ตาบอดนั้นทำให้มืออาชีพทำงานอย่างเป็น “ภววิสัย” (objective) ยากมาก โดยเฉพาะในภาคการเงินซึ่งภววิสัยเป็นส่วนสำคัญของจรรยาบรรณ และจรรยาบรรณเป็นหัวใจของความน่าเชื่อถือ ในกรณีอื้อฉาวมากมายตั้งแต่เอ็นรอนไปจนถึงเมอร์ริล ลินช์ ยักษ์ใหญ่ในอินเดียจนถึงจีนและไทย เราจะพบเห็นบ่อยครั้งว่าผลประโยชน์ทับซ้อน และการทำงานที่เข้าข้างลูกค้าแต่ผิดศีลธรรมและล่อแหลมว่าจะผิดกฎหมาย ของคนที่อ้างว่าเป็น “มืออาชีพ” นั้นเป็นส่วนสำคัญที่ก่อให้เกิดปัญหาและซุกปัญหาไว้ใต้พรม

เราจะแก้ไขหรืออย่างน้อยก็บรรเทาปัญหาพฤติกรรมไร้ศีลธรรมได้อย่างไร หลายคนมักจะเสนอให้ยกระดับมาตรฐานการเปิดเผยข้อมูล เช่น ให้เปิดเผยผลประโยชน์ทับซ้อน แต่งานวิจัยชิ้นสำคัญของ Daylian Cain, George Loewenstein และ Don Moore ปี 2005 พบว่า กฎการเปิดเผยดังกล่าวอาจส่งผลตรงกันข้าม คล้ายกับการบัญญัติค่าปรับให้นักอุตสาหกรรมจ่าย นั่นคือ การเปิดเผยข้อมูลทำให้คนรู้สึกว่า “ไม่มีหน้าที่” อีกต่อไปที่จะต้องทำงานอย่างเป็นภววิสัยหรือกำจัดปัญหาจากผลประโยชน์ทับซ้อน เพราะตัวเองได้เปิดเผยข้อมูลไปแล้ว นอกจากนี้ การเปิดเผยมากขึ้นยังทำให้คนรู้สึกไว้วางใจมืออาชีพหรือสถาบันนั้นๆ มากขึ้น กลายเป็นว่าตกเป็นเหยื่อได้อย่างง่ายดายกว่าเดิม

ที่ผ่านมา ระบบกฎหมายของไทยและทั่วโลกลงโทษพฤติกรรมผิดศีลธรรมก็ต่อเมื่อมันเกิดจากความจงใจของคนทำ ไม่ว่าจะเป็นการจงใจทุจริต หรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงก็ตาม เรามักจะคิดว่าคนควรต้องรับผิดก็ต่อเมื่อพวกเขาตั้งใจทำผิดเท่านั้น แต่ในโลกแห่งความจริงซึ่งนักจิตวิทยาศึกษาและเผยให้เห็น พฤติกรรมไร้ศีลธรรมที่เราไม่ตั้งใจทำนั้นเกิดขึ้นบ่อยครั้งกว่า และก่อความเสียหายได้ไม่แพ้กัน คนเราเชื่อมั่นใน “ความดี” ของตัวเองเกินจริง และเราก็มักจะมีส่วนร่วมในการตัดสินใจไร้ศีลธรรมโดยไม่รู้ตัว 

ทั้งหมดนี้ หมายความว่า เราควรปฏิรูปกลไกกำกับดูแลให้รับมือกับอิทธิพลซ่อนเร้นที่ส่งผลต่อพฤติกรรมของคน กำจัดผลประโยชน์ทับซ้อนที่อันตรายตั้งแต่ต้น เช่น ห้ามไม่ให้สถาบันการเงินทำธุรกรรมที่ขัดแย้งกับประโยชน์ของลูกค้า ผู้กำกับดูแลต้องเลิกคิดแค่ว่าจะเพิ่มค่าปรับ บทลงโทษ และระดับการเปิดเผยข้อมูลอย่างไร เพราะมาตรการเหล่านี้นอกจากจะไม่เพียงพอแล้ว หลายครั้งยังซ้ำเติมให้ปัญหารุนแรงกว่าเดิมอีกด้วย