มนุษย์ทั้งโลกพ้นทุกข์ร่วมกันได้

มนุษย์ทั้งโลกพ้นทุกข์ร่วมกันได้

Author : ประเวศ วะสี

กุญแจอยู่ที่ความเป็น “ทั้งหมด”

ในเมื่อส่วนต่างๆ สัมพันธ์กัน และสัมพันธ์กัน “ทั้งหมด” ถ้าเราไม่คิดถึงความเป็น “ทั้งหมด” เราก็ไม่สามารถทำให้เกิดความเป็นปรกติได้ ในระบบรถยนต์ประกอบด้วยเครื่องเคราหรือส่วนประกอบอันหลากหลายและสัมพันธ์กันอย่างซับซ้อน แต่ถึงจะหลากหลายซับซ้อนเท่าใด ถ้าส่วนประกอบครบและสัมพันธ์กันอย่างถูกต้อง เกิดความเป็นทั้งหมด รถก็วิ่งไปได้อย่างเรียบร้อย โดยคนขับเพียงแต่ไขกุญแจสตาร์ทเครื่องเท่านั้น แต่ถ้าส่วนประกอบหนึ่งขาดไป หรือสัมพันธ์กันไม่ถูกต้อง แม้เพียงน็อตเพียงตัวเดียว รถยนต์คันนั้นก็จะเสียความเป็นปรกติ หรือวิ่งไม่ได้เลย

หรือร่างกายของเรา มีส่วนประกอบที่หลากหลายยิ่งกว่ารถยนต์หลายเท่า แต่เมื่อส่วนประกอบครบและสัมพันธ์กันถูกต้อง เราก็อยู่สบายๆ หรือมีความเป็นปรกติ หรือสุขภาพดี ถ้าอวัยวะหนึ่งผิดปรกติหรือขาดไปจากวงจร ก็จะเสียความเป็นปรกติ หรือไม่สบายไปทั้งตัว อาจวิกฤติและตายได้

ความสัมพันธ์กันด้วยดีของส่วนประกอบที่ปรกติทั้งหมดทำให้เกิดการหลุดพ้นจากความติดขัด หรือการพ้นทุกข์

มนุษย์ทั้งโลกและธรรมชาติแวดล้อมทั้งหมดอยู่ในระบบเดียวกัน หรือมีความเป็นหนึ่งเดียวกัน (The same Oneness) ถ้าส่วนใดส่วนหนึ่งขาดไปหรือพิการ ย่อมกระทบส่วนอื่น ทำให้ขาดความเป็นปรกติ หรือสันติสุข

ไม่เคยมีมาเลยที่มนุษย์ทั้งโลกจะมีจิตสำนึกของความเป็นทั้งหมดทั้งโลก เพราะข้อจำกัดในการรับรู้ และในความรู้แต่โบราณมนุษย์อยู่เป็นกลุ่มตามเผ่าพันธุ์ และมีสัญชาติญาณทางเผ่าพันธุ์สูง มีการต่อสู้ระหว่างกลุ่ม ระหว่างเผ่าพันธุ์ระหว่างประเทศ ตลอดมาในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ โดยไม่สามารถมีสันติภาพได้นาน แม้จะมีศาสนาใหญ่ๆ เกิดขึ้นในช่วง 2-3 พันปีก่อน ซึ่งเป็นปัญญาใหญ่เพื่อความสุขสวัสดีของมนุษย์ และได้ผลเป็นหย่อมๆ ไม่ทั่วถึง แต่สัญชาตญาณเผ่าพันธุ์ก็ทำให้มนุษย์ดึงศาสนาให้แคบลง กลายเป็นศาสนาหรือพระเจ้าเฉพาะเผ่าพันธุ์ตัว แล้วเข้าห้ำหั่นกันเพราะศาสนา แม้พุทธศาสนาจะเป็นศาสนาเพื่อสันติภาพ และมีผู้บรรลุธรรมตามคำสอน แต่สภาพทั่วไปที่ขาดความเป็นโลกเดียวกัน ยากที่จะมีคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหรือประเทศใดประเทศหนึ่งเจริญอยู่ได้นานโดยไม่ถูกคนกลุ่มอื่น หรือประเทศอื่นบุกเข้าทำลายล้าง ฉะนั้นแม้ศาสนาจะเป็นของดี เพราะขาดความเป็นโลกเดียวกัน สันติภาพของโลกก็เกิดขึ้นไม่ได้

เหมือนบางส่วนของเครื่องยนต์ดี แต่ส่วนอื่นๆ ไม่ดี รถยนต์คันนั้นก็ดีไม่ได้ เพราะทั้งหมดเป็นรถยนต์คันเดียวกัน

ในครั้งโบราณ เพราะมนุษย์อยู่ไกลกัน มนุษย์กลุ่มหนึ่งรู้อะไร กว่าความรู้จะเดินทางไปถึงมนุษย์อีกกลุ่มหนึ่งอาจกินเวลาตั้งพันปี มนุษย์ไม่อาจรู้ทั่วถึงกันได้ จึงขาดจิตสำนึกแห่งความเป็นหนึ่งเดียวกัน แต่สมัยนี้ความรู้ทั่วโลกมีแล้ว และมนุษย์ก็อยู่ใกล้ชิดกัน ไปมาหาสู่กันได้ทั้งโลก มีเทคโนโลยีการสื่อสารที่สามารถรู้เรื่องเดียวกันทั้งโลก ฉะนั้นในปัจจุบันจึงเป็นไปได้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติที่มนุษย์ทั้งดลกจะรู้อย่างเดียวกันพร้อมกันทั้งโลก ทำให้ความเป็นโลกเดียวกันเป็นไปได้ จึงเป็นโอกาสที่มนุษย์จะคิดถึงความเป็นทั้งหมด และคิดถึงการอยู่ร่วมโลกเดียวกันด้วยสันติทั้งโลก

มนุษย์เป็นทั้ง 2 อย่างพร้อมๆ กัน คือมีความเป็นตัวของตัวเองมาก หรือความเป็นปัจเจกบุคคล แต่ขณะเดียวกันก็เชื่อมโยงสัมพันธ์กันสิ่งอื่นๆ คือคนอื่น และธรรมชาติแวดล้อม เพราะทั้งหมดเป็นหนึ่งเดียวกัน ถ้าใครอยากจะอยุูคนเดียวไม่เกี่ยวข้องกับโลก โลกก็จะเกี่ยวข้องกับเรา และส่งผลกระทบกับเรา เพราะทั้งหมดอยุ่ในระบบเดียวกัน ฉะนั้นลัทธิปัจเจกนิยมสุดโต่ง จะเป็นในความทันสมัยแบบตะวันตก หรือในพุทธศาสนาแบบคับแคบที่มุ่งบรรลุนิพพานเป็นเอกเทศโดยไม่อยากเกี่ยวข้องกับใครก็ตาม เป็นการแยกส่วนจากทั้งหมด ไม่สามารถทำให้เกิดสันติภาพได้

กุญแจของสันติภาพจึงอยู่ที่การเห็นทั้งหมดทั้งปัจเจกบุคคล สังคมหรือคนทั้งโลก และธรรมชาติทั้งโลก ความเป็นโลกเดียวกัน จึงหมายถึงคนแต่ละคน คนทั้งหมดทุกคนในโลก และธรรมชาติทั้งโลก

เมื่อมนุษย์อวกาศชื่อ เอ็ดการ์ มิทเชลล์ ยืนอยู่บนดวงจันทร์แล้วเห็นโลกทั้งใบลอยฟ่องอยู่ในอวกาศ เขาเกิดจิตสำนึกใหม่แห่งควงามเป็นโลกเดียวกัน เมื่ออยู่บนโลกเพราะรู้เห็นเป็นส่วนๆ จึงเกลียดกันบ้าง ทะเลาะกันบ้าง ฆ่ากันบ้าง ทำลายธรรมชาติบ้าง แต่เมื่ออยู่นอกโลกแล้วเห็นโลกทั้งใบจึงเกิดจิตสำนึกแห่งความเป็นหนึ่งเดียวกันทั้งโลก เกิดความรักอันไพศาลต่อมนุษย์ทั้งหมดและต่อธรรมชาติทั้งหมด

“I came back to Earth a totally changed man.” เอ็ดการ์ มิทเชลล์ กล่าว (ฉันกลับมายังโลกเป็นคนที่เปลี่ยนแปลงโดยสิ้นเชิง) คือ เกิดจิตสำนึกโลก ที่ผ่านเลยการยึดมั่นในตัวตน

ถ้ามนุษย์มีจิตสำนึกใหม่ (New Consciousness) อันเป็นจิตสำนึกใหญ่เป็นจิตสำนึกโลก เห็นความเป็นหนึ่งเดียวกันของคนทั้งโลก และธรรมชาติทั้งหมดจะประสบอิสรภาพ เพราะหลุดจากความยึดมั่นในตัวเอง หรือการเอาตนเองเป็นศูนย์กลาง หรือติดอยู่กับความคับแคบในตัวเอง อันก่อให้เกิดความขัดแย้ง อิสรภาพจะทำให้มนุษย์พบความสุข เกิดความรักอันไพศาลต่อเพื่อนมนุษย์ทั้งหมดและธรรมชาติทั้งหมด อันเป็นรากฐานให้มนุษย์สามารถจัดระบบการอยู่ร่วมกันด้วยสันติทั้งโลก ทั้งระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ และระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติแวดล้อม นั่นคือ

“มนุษย์ทั้งโลกพ้นทุกข์ร่วมกันได้”

ที่จริงมนุษย์ใฝ่ฝันมาแต่โบราณถึงโลกที่มนุษย์มีความเจริญมีความสุขดังที่เรียกว่า “โลกศรีอาริยะ” แต่สมัยโบราณไม่มีทางเป็นไปได้ เพราะความเป็นโลกเดียวกันเป็นไปไม่ได้ แต่ในปัจจุบัน สังคมมนุษย์ได้วิวัฒนาการมาถึงจุดที่ความเป็นโลกเดียวกันเป็นไปได้ โลกที่มนุษย์มีความเจริญและมีความสุข หรือ “โลกศรีอาริยะ” จึงมีความเป็นไปได้ ปัญญาทางศาสนาแต่ดั้งเดิม และความรู้ใหม่ทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับจักรวาลโลก สิ่งแวดล้อม สังคม กำลังมาบรรจบกัน ที่ทำให้มนุษย์มีทางเลือกอันหลากหลายที่จะเกิดจิตสำนึกใหญ่ เมื่อมีทางเลือกอันหลากหลายก็เป็นไปได้ว่ามนุษย์ทั้งหมดจะเกิดจิตสำนึกใหม่ แม้ทางเลือกจะต่างกัน แต่จิตสำนึกใหม่จะเป็นที่พบกันของมนุษย์ทั้งโลก จัดระบบการอยู่ร่วมกันด้วยความเจริญ และความสุขร่วมกันทั้งโลก

เส้นทางการไปสู่การพ้นทุกข์ร่วมกันทั้งโลก เป็นเส้นทางที่หลากหลาย เปิดกว้าง ไม่คับแคบ ไม่บีบคั้น จึงเป็นเส้นทางที่สามารถเดินได้ด้วยความหฤหรรษ์ และสนุก

Source : หนังสือ “วิถีมนุษย์ในศตวรรษที่ 21 ศูนย์ หนึ่ง เก้า” เขียนโดย ประเวศ วะสี