ไว้อาลัย อังคาร กัลยาณพงศ์
เสียเจ้า
๏ เสียเจ้าราวร้าวมณีรุ้ง
มุ่งปรารถนาอะไรในหล้า
มิหวังกระทั่งฟากฟ้า
ซบหน้าติดดินกินทราย
๏ จะเจ็บจำไปถึงปรโลก
ฤๅรอยโศกรู้ร้างจางหาย
จะเกิดกี่ฟ้ามาตรมตาย
อย่าหมายว่าจะให้หัวใจ
๏ หากเจ้าอุบัติบนสรวงสวรรค์
ข้าขอลงโลกันตร์หม่นไหม้
สูเป็นไฟ เราเป็นไม้
ให้ทำลายสิ้นถึงวิญญาณ
๏ แม้แต่ธุลีมิอาลัย
ลืมเจ้าไซร้ชั่วกาลปาวสาน
แม้นชาติไหนเกิดไปพบพาน
จะทรมานควักทิ้งทั้งแก้วตา
๏ ตายไปอยู่ใต้รอยเท้า
ให้เจ้าเหยียบเล่นเหมือนเส้นหญ้า
เพื่อจดจำพิษช้ำนานา
ไปชั่วฟ้าชั่วดินสิ้นเอย
อังคาร กัลยาณพงศ์
อังคาร กัลยาณพงศ์ (13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2469 – 25 สิงหาคม พ.ศ. 2555) เป็นทั้งกวีและจิตรกร อังคารเกิดที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ศึกษาระดับประถมที่ โรงเรียนวัดจันทาราม ต่อมาก็เรียนที่วัดใหญ่จนจบประถมสี่ แล้วย้ายไปเรียนที่โรงเรียนมัธยมประจำจังหวัด คือ โรงเรียนเบญจมราชูทิศ นครศรีธรรมราช ศึกษาศิลปะที่โรงเรียนเพาะช่าง และที่คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
อังคารเป็นผู้ได้รับการยอมรับในฐานะเป็นจิตรกรและกวี ท่านเป็นกวีที่คงความเป็นไทย ทั้งในด้านความคิดและรูปแบบ อีกทั้งยังเป็นกวีที่มีความคิดเป็นอิสระ ไม่ถูกร้อยรัดด้วยรูปแบบที่ตายตัว จึงนับเป็นกวีผู้บุกเบิกกวีนิพนธ์ยุคใหม่
โดยพื้นเพเดิมอังคารเป็นคนเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งมีผู้กล่าวว่าเป็นเมืองแห่งกาพย์กลอนอยู่แล้ว หลังศึกษาจบระดับมัธยมที่โรงเรียนเบญจมราชูทิศ ได้เดินทางเข้ามาเรียนต่อที่ โรงเรียนเพาะช่าง และมหาวิทยาลัยศิลปากร อังคารได้เป็นศิษย์ของศิลปินใหญ่อย่าง ศ.ศิลป์ พีระศรี, อ.เฟื้อ หริพิทักษ์ และ อ.เฉลิม นาคีรักษ์ ทำให้ได้ติดตามและร่วมงานกับอาจารย์ในการศึกษาค้นคว้างานด้านต่าง ๆ ทั้งศิลปกรรม โบราณคดี และประวัติศาสตร์
ความเป็นกวีและจิตรกรนั้นเป็นพรสวรรค์ที่อังคารเองเชื่อมั่นและฝึกฝนมาตั้งแต่วัยเยาว์ ท่านได้พูดถึงการเป็นทั้งจิตรกรและกวีของตนว่า บทกวีและจิตรกรรมนั้นมาจากดวงใจดวงเดียวกัน
“การวาดรูปกับการแต่งบทกวีต้องใช้ความคิดกับจินตนาการ อาจจะผิดกันในเรื่องเทคโนโลยีกับเทคนิค แต่ใช้จิตใจดวงเดียวกัน ทั้งงานเขียนรูปและเขียนหนังสือก็ต้องอาศัยมโนคติ บางคนเขาเรียก อิมเมจิเนชั่น ต้องมีจินตนาการความคิด เหมือนคนที่สร้างนครวัด เขาต้องมีภาพมาก่อนว่าทำอย่างไรจึงจะมีปราสาทขึ้นมา ถ้าเรามีมโนภาพกว้างใหญ่ไพศาล เราก็สามารถสร้างสรรค์อะไรที่ใหญ่โตขึ้นมา ถ้ามีมโนภาพคับแคบก็สร้างสรรค์อะไรอยู่ในกะลาเท่านั้น”
“คนอื่นเขาอาจจะไปทำขนมครก ไปรับเหมาทางด่วน ไปทำอะไรก็ได้ แต่กวีต้องเป็นกวีอยู่ทุกลมหายใจ คือโดยหลักจริง ๆ แล้วผมยังเขียนบทกวีอยู่เรื่อย ๆ จะชำระของที่ดูไม่ค่อยเรียบร้อยให้เรียบร้อย ให้หมดจดขึ้น มีถ้อยคำที่ลงตัว คือพูดง่าย ๆ ว่า ถ้าเราตายไปแล้ว เราก็หมดโอกาสที่จะเปิดฝาโลงขึ้นมาชำระโคลงของเราให้เรียบร้อย คนที่เขียนกวี ถ้าบทกวีชิ้นใดไม่สมบูรณ์ ก็เหมือนเราไปปรโลกแล้วยังมีห่วงอยู่”
แต่ในการจะสร้างสรรค์ผลงานออกมาให้ได้ดีนั้นก็ต้องมีอารมณ์ที่จดจ่ออยู่กับงานด้วย
“โดยหลักการ การเขียนกาพย์กลอนต้องโปร่งใส ต้องใช้อิสระเสรี ถึงจะทำได้ดี ก็เหมือนทะเลเวลามีคลื่นลมมากเรือที่ลอยอยู่ก็สามารถจมได้ บางครั้งอารมณ์ไม่ดีก็ทำไม่ได้”
ส่วนในด้านงานจิตรกรรมนั้น อังคารเรียนวิชาวาดเขียนได้คะแนนดีมาโดยตลอด จนได้รับคำบันทึกจากคุณครูเขียนลงในสมุดรายงานว่า เป็นผู้มีใจรักและฝักใฝ่ในวิชาวาดเขียน เขามองว่าการวาดเขียนถึงแม้จะไม่ได้เงินทองมาก แต่จะมีประโยชน์ไปบริการทางวิญญาณ จะทำให้วิญญาณมนุษย์ดีขึ้น
อังคารยังให้ทัศนะในการทำงานว่า ก็เหมือนกับการเติบโตของต้นไม้ มันค่อย ๆ ขึ้นทีละใบสองใบ ค่อยแตกไปเรื่อย ๆ ถึงฤดูกาลก็แตกดอกออกผล ก่อนออกผลก็ออกดอกเสียก่อนไปตามลำดับ เขายืนยันว่าจะไม่ขอทำอย่างอื่นแล้วในชีวิตนี้ จะทำงานเหล่านี้ไปตลอดจนถึงชาติหน้า ทั้งงานศิลปะ ไม่ว่าจะวาดหรือปั้น รวมถึงงานเขียนบทกวี และกล่าวถึงผู้สืบทอดในงานว่า “ไม่ได้คิดอะไร เหมือนเราเกิดมาเป็นต้นโพธิ์ ถึงฤดูกาลใบมันก็หล่นลงมายังพื้นดิน กลายเป็นดิน น้ำ ลม ไฟตามเดิม ใครที่เขาเห็นคุณค่า เขามาไถ่ถามก็ให้เขาไปตามเรื่อง”