แด่ YONEO ISHII

แด่ YONEO ISHII

Author : ส.ศิวรักษ์

แต่ปลายปีที่แล้วเป็นต้นมา ข้าพเจ้าสูญเสียเพื่อนรักไปเรื่อยๆ อย่างเกือบจะต่อเนื่อง นับว่าน่าเศร้า แต่ก็ต้องถือว่าในวัย 77 อย่างข้าพเจ้า เพื่อนร่วมรุ่นก็ต้องละโลกไปโดยขัยและวัย ตามพระอนิจลักษณะ คนแรกที่จากไปคือ ฯพณฯ อับดุลาราห์มาน วาหิต อดีตประธานาธิบดี อินโดนีเซีย วัย 69 ปี (วันที่ 30 ธันวาคม 2552) คนถัดมาคือ ยอช วิลโลบี้ นักสันติวิธีชาวอเมริกัน วัย 95 ปี (วันที่ 5 มกราคม 2553)  คนที่สามได้แก่ นิโคลัส เบนเนต ชาวอังกฤษ ซึ่งมีอายุเท่าๆ กับข้าพเจ้า (วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2553) และแล้วเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์นี้  ศาสตราจารย์เยนิโอ อิฉิอิ ก็เพิ่งดับสังขารไปในตอนตี 2 ณ ประเทศญี่ปุ่น

อาจารย์อิฉิอิ เป็นเพื่อนญี่ปุ่นคนแรกของข้าพเจ้า และดีกับข้าพเจ้าตลอดมา เป็นเวลาเกือบกึ่งศตวรรษ นอกเหนือไปจากคุณูปการของเขาที่มีต่อไทยคดีศึกษา และบทบาทของเขาในวงวิชาการด้านเอเชียอาคเนย์ศึกษา ทั้งนี้โดยไม่จำต้องเอ่ยถึงความรักและเข้าใจวัฒนธรรมไทย ซึ่งอาจมีมาแต่อดีตชาติก็ยังได้ เพราะเขาอยากมาเมืองไทย และอยากศึกษาภาษาไทยตั้งแต่วัยเยาว์ อุตส่าห์ไปสมัครเข้ากระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่นด้วยการสอบแข่งขันได้เป็นอย่างดี และเมื่อเข้าไปทำงานแล้ว เจ้านายก็รักใคร่ โดยแลเห็นความสามารถของเขา ตลอดจนความแนบเนียนทางการทูต จึงเรียกเขาไปถามความสมัครใจ ว่าอยากไปอยู่สถานทูตแห่งใด โดยที่สมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นเริ่มลืมตาอ้าปากได้อีกแล้ว และมีสถานทูตในประเทศต่างๆ มากขึ้นแล้ว ผู้บังคับบัญชานึกว่า หนุ่มอิฉิอิคงอยากไปสหรัฐ หรืออังกฤษ แต่เขาบอกว่าอยากไปเมืองไทย เล่นเอาเจ้านายแปลกใจไปตามๆ กัน

เมื่อเขามาประจำอยู่ ณ สถานทูตญี่ปุ่นในกรุงเทพฯ เขาขออนุญาตเข้าเรียนภาษาไทย ณ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จนได้เป็นศิษย์คนโปรดของพระยาอนุมานราชธน ดังเมื่อเราจัดงาน 100 ปีชาตกาลของท่าน อาจารย์อิฉิอิช่วยให้เราได้เอานิทรรศการเกี่ยวกับชีวิตและผลงานของท่านเจ้าคุณไปแสดง ณ พิพิธภัณฑ์สถานชาติพันธุ์อันทันสมัยที่สุด ณ นครโอซาก้า โดยอาจารย์อิฉิอิรับแสดงปาฐกถาสดุดีปิยาจารย์ของเขาด้วย

อาจารย์อิฉิอิเห็นว่า ถ้าจะรู้จักวัฒนธรรมไทยดี จำต้องบวชเรียนสักหนึ่งพรรษา เฉกเช่นชาวไทย เขาต้องการไปบวชที่สวนโมกข์ หากท่านอาจารย์พุทธทาสตอบจดหมายเขาว่า การบวชเพียงพรรษาเดียว หาวัดดีๆ ที่ในเมืองกรุงก็ได้ เขาจึงได้ไปบวชที่วันบวรนิเวศในปี พ.ศ. 2500 ได้ทันเฝ้าสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ แม้จะไม่ได้ทรงเป็นพระอุปัชฌาย์ แต่ก็ตรัสถามถึงพระญี่ปุ่นอยู่เนืองๆ

อาจารย์อิฉิอิไม่ต้องการเอาดีทางการทูต จึงลาออกจากราชการ ไปเรียนต่อจนได้เป็นอาจารย์ ณ มหาวิทยาลัยเกียวโต จนได้เป็นผู้อำนวยการสถาบันเอเชียอาคเนย์ศึกษาที่นั่น โดยมีส่วนสร้างบุคลากรที่นั่น และหอสมุดแห่งนั้น จนมีชื่อเสียงในระดับโลก อย่างน้อยก็ไม่แพ้มหาวิทยาลัยคอแนล ของสหรัฐ

เขามาขอให้ภรรยาข้าพเจ้าแห่งร้านศึกษิตสยามช่วยหาหนังสือไทยดีๆ ให้หอสมุด รวมทั้งภาษาพม่า ภาษาลาว ภาษาเขมร และต่อมาภรรยาข้าพเจ้าแนะให้เขาไปหาซื้อหนังสืองานศพจากนายจรัส พิกุล ได้ไปเป็นจำนวนมาก จนเขาต้องขอยืมบรรณารักษ์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  และบรรณารักษ์จากธนาคารกรุงเทพ ผลัดกันไปช่วยจัดระเบียบหนังสือภาษาไทยเหล่านี้จนเข้าที่เข้าทาง

ผลงานทางวิชาการของอาจารย์อิฉิอิมีมากทั้งภาษาญี่ปุ่น ภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ที่ร่วมงานกับศิษย์ญี่ปุ่น และเพื่อนไทยก็มี

เมื่อหมดวาระตำแหน่ง ผอ. ศูนย์เอเชียอาคเนย์ศึกษาที่มหาวิทยาลัยเกียวโตแล้ว อาจารย์อิฉิอิย้ายไปอยู่โตเกียว แรกทำงานกับมหาวิทยาลัย Sophia แล้วไปเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยเล็กๆ นอกราชธานีออกไป หากรับตำแหน่งทางวิชาการในระดับนานาชาติให้รัฐบาลญี่ปุ่นด้วย เช่นเป็นตัวแทนของญี่ปุ่นที่ UNESCO เป็นต้น ตำแหน่งสุดท้าย ได้คุมกองทุนวิจัยทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ที่ใหญ่ยิ่งมาก หากเขาอ่อนน้อมถ่อมตน อย่างเป็นกันเองกับมิตรสหายและศิษย์หาทุกคน

เขาดีกับข้าพเจ้าและครอบครัวตลอดมา เขาเคยพาข้าพเจ้าเที่ยวญี่ปุ่นด้วยตนเอง แต่เมื่อข้าพเจ้าแรกไปประเทศนั้น (เพราะคำแนะนำของเขาให้ International House of Japanese เชิญไป ดังข้าพเจ้าเขียนเล่าไว้ในสมุดข้างหมอน) ครั้นข้าพเจ้าถามเขาว่า เวลามาเมืองไทย จะให้พาเขาไปที่ไหนบ้าง ทั้งๆ ที่เขาเคยอยู่เมืองไทยมานาน และท่องเที่ยวไปจังหวัดต่างๆ มามากแล้ว เขาบอกว่า เขาไม่เคยไปแม่กลองเลย ทั้งๆ ที่ใกล้กรุงเทพฯ แค่นั้นเอง เพราะเวลานั้นไปแม่กลอง ต้องนั่งรถไฟไปมหาชัย แล้วต้องข้ามฝากไปขึ้นรถไฟอีกต่อ ตกลงข้าพเจ้าพาเขาไปแม่กลอง ได้ล่องเรือเที่ยวดูวัดวาอารามอย่างสมใจ โดยที่บรรยากาศอย่างนี้ได้ปลาสนาการไปหมดแล้ว

การจากไปของอาจารย์อิฉิอิ ย่อมนับเป็นการสูญเสียของข้าพเจ้าและครอบครัว ทั้งเมืองไทยและคนไทยในแวดวงญี่ปุ่นศึกษาและไทยคดีศึกษา ตลอดจนเอเซียศึกษา ย่อมขาดมิตรผู้มีคุณูปการคนสำคัญไปคนหนึ่ง อย่างน่าเสียดายยิ่งนัก