‘วิถีทิเบต’ ผูกมิตร ‘วิถีไทย’

'วิถีทิเบต' ผูกมิตร 'วิถีไทย'

Author : http://www.dailynews.co.th

‘งาวัง’ และ ‘นอร์บู’ ทูตศิลปินแห่งถิ่นขุนเขาสูง

“ทิเบต” นอกจากได้ชื่อว่าเป็นดินแดนแห่งพุทธศาสนา ยังเป็นดินแดนที่เปี่ยมไปด้วยศิลปวัฒนธรรมที่น่าหลงใหล ที่ผสมผสานพุทธปรัชญา เข้ากับความงามทางศิลปะ และเร็ว ๆ นี้คนไทยก็จะมีโอกาสได้สัมผัสกับศิลปวัฒนธรรมทิเบตแท้ ๆ ในไทย โดยมูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป, ศูนย์ไทย-ทิเบต, กลุ่มดินสอสี ร่วมกับหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร และหอศิลป์ตาดู จะจัดเทศกาลศิลปวัฒนธรรมทิเบตขึ้น และครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่มีตัวแทนจาก สถาบันศิลปะการแสดงทิเบต หรือทิป้า (TIPA-Tibetan Institute of Performing Arts) เข้ามาจัดแสดงในโอกาสครบ 50 ปี การก่อตั้งเพื่อเผยแพร่แลกเปลี่ยนศิลปวัฒนธรรมระหว่างไทย-ทิเบต ซึ่งทีม “วิถีชีวิต” ก็มีโอกาสพูดคุยกับ “2 ศิลปินทิเบต” และนำมาเล่าสู่กันในวันนี้…

งาวัง เทนซิน (Ngawang Tenzin) วัย 29 ปี ตัวแทนคณะการแสดง เล่าประวัติว่า เกิดที่เมืองลาซา พออายุได้ 13 ปี เขาได้บอกมารดาว่าอยากศึกษาต่อที่อินเดีย จึงได้เข้าเรียนที่โรงเรียนทิเบทัน     ชิลเดรน วิลเลจ (Tibetan children village school) ในปี 2536-2539 จากนั้นจึงมีโอกาสเข้าเป็นส่วนหนึ่งในสถาบันทิป้า เพราะสนใจศาสตร์การแสดงและการเต้นมาก โดยเฉพาะการเต้นรำแบบท้องถิ่น ซึ่งเมื่อได้รับโอกาสจากอาจารย์ในทิป้าที่ได้ยินชื่อเสียงมานาน ก็เหมือนฝันเป็นจริง โดยเด็ก ๆ ทิเบตต่างต้องการที่จะได้ศึกษาต่อที่สถาบันแห่งนี้ แต่ก็ใช่ว่าทุกคนจะได้รับโอกาส การที่เขาถูกเลือก เขาจึงถือว่าเป็นเรื่องที่พิเศษสุดมาก

“ทุก ๆ วันที่ตื่นขึ้นมา จะมีเรื่องให้ผมได้ศึกษาตลอด ผมจึงมีความสุขมากที่ได้เข้ามายืนตรงนี้ ยิ่งรู้สึกว่าเราเป็นส่วนหนึ่งที่จะมีส่วนช่วยในการสืบสานอนุรักษ์วัฒนธรรม ไม่ให้สูญหาย ก็รู้สึกว่าเป็นภารกิจที่ยิ่งใหญ่และมีความสำคัญมาก จึงรู้สึกกดดันทุกครั้งที่ต้องแสดงในนามตัวแทนคนทิเบต”

งาวังกล่าวว่า เขาเชื่อว่าศิลปะเป็นภาษาสากล เป็นภาษาโลก แม้จะไม่เข้าใจในความหมายของภาษา แต่สามารถสื่อสารถึงกันได้ ศิลปะทิเบตนั้นมีตำนานมายาวนานคล้ายกับศิลปะของไทย โดยมีรูปแบบแตกต่างออกไปตามภูมิศาสตร์และวิถีชีวิต ศิลปะทิเบตก็เช่นกัน บทเพลงและการเต้นรำล้วนมีเรื่องราวและแสดงออกถึงความเป็นตัวตน ซึ่งการเรียนการสอนที่ทิป้า นอกจากจะฝึกฝนให้เกิดความชำนาญ ก็ยังเน้นที่การเข้าถึงความสัมพันธ์ของชีวิตและจิตวิญญาณของทิเบตอีกด้วย ทำให้ทุกคนต้องทำงานหนัก ในฐานะตัวแทนทิเบต

“รู้สึกกดดันในทุกครั้งที่ต้องแสดงในนามของ   ทิป้า เพราะเป็นสถาบันที่ยิ่งใหญ่ และเป็นเสมือนตัวแทนของหลายสิ่งสำหรับคนทิเบต การสอนในทิป้าจะมุ่งเน้นไปที่การเข้าถึงแก่น สำหรับการมาแสดงในประเทศไทยครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรก และผมก็คาดหวังว่าคนไทยจะมีความสุข และเกิดความประทับใจในสิ่งที่พวกเราตั้งใจมอบให้เป็นของขวัญ” เป็นความรู้สึกอีกส่วนหนึ่งของงาวัง ตัวแทนนักแสดงหนุ่มแห่งทิป้า

นอกจากภาค “การแสดง” แล้ว ไฮไลต์สำคัญอีกอย่างของทิเบตที่คนไทยกำลังจะได้สัมผัส คือ “สถูปทิเบต” ที่จะมีการจัดสร้างจำลอง ขนาด 3×6 เมตร โดยรูปแบบและรายละเอียดจะถอดแบบมาจากศิลปะทิเบต แท้ ๆ เพียงแต่ย่อขนาดลง ซึ่งกับเรื่องนี้ทางตัวแทนที่อาจเรียกได้ว่าเป็นนายช่างใหญ่ที่ควบคุมการก่อ สร้าง นอร์บู แซมเพล (Norbu Samphel) วัย  36 ปี เปิดเผยกับทีม “วิถีชีวิต” ว่า…..

สถูป หรือในภาษาทิเบตเรียกว่า ชอร์ เทน (chorten) เปรียบได้กับลักษณะของเจดีย์ในประเทศไทย โดยส่วนใหญ่ภายในสถูปทิเบตจะบรรจุบทมนตรา ตำรา คัมภีร์ พระพุทธรูป หรืออัฐิของพระผู้ใหญ่ ส่วนความหมายของการสร้างสถูป หมายถึงการสร้างสันติภาพ แต่ก็จะมีความหมายแตกต่างกันไปตามรูปทรง อย่างไรก็ตาม หลัก ๆ แล้วชาวทิเบตจะมีความเชื่อว่าสถูปจะช่วยปกปักรักษา ช่วยป้องกันความหายนะต่าง ๆ ด้วยพลังแห่งจักรวาล และจะถ่ายเทพลังแห่งความดีงามเหล่านั้นแก่มวลมนุษย์

“การเดินทางเพื่อมาสร้างสถูปในไทย ก็เพื่อเฉลิมฉลองในวาระพิเศษที่ครบรอบ 50 ปีของการก่อตั้งทิป้า สถูปที่สร้างนี้ก็มีความหมายที่เราต้องการส่งมอบความสุขสงบ ความโชคดี และสันติภาพอันงดงาม เป็นของขวัญแก่คนไทย” นอร์บูบอกถึงวัตถุประสงค์ของการก่อสร้างสถูปจำลอง

จากนั้นเราถามถึงประวัติของนอร์บูเองก่อนที่จะเข้ามาเป็นนายช่างใหญ่ประจำ สถาบัน ซึ่งเขามีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบการแกะสลักและควบคุมการก่อสร้างสถูปนี้ เขาเล่าให้ฟังว่า ตัวเขานั้นย้ายจากเนปาลเข้าอยู่อาศัยที่ราชปูล เมืองเดราดูน ประเทศอินเดีย ตั้งแต่อายุ 6 ขวบ ซึ่งครอบครัวเขามีฐานะยากจนมาก แต่โชคดีที่มีคนจาก  ทิป้าเข้ามาช่วยสนับสนุนด้านการศึกษา โดยในช่วงเช้าเขาจะเข้าไปเรียนที่โรงเรียน   ทิเบทัน ชิลเดรน วิล เลจ ตกเย็นก็จะเข้าไปเรียนด้านการแสดงและการละครในสถาบันทิป้า

หลังจากเรียนจบมัธยมศึกษาตอนปลาย เขาคิดว่าทิป้ามีแค่แผนกเต้นรำ แผนกผลิตเครื่องดนตรี และแผนกการผลิตเสื้อผ้าสำหรับการแสดงเท่านั้น จึงเสนอความคิดว่าควรมีแผนกศิลปกรรมด้วย ทางทิป้าจึงมอบให้เขาเป็นผู้ดูแลแผนกนี้ ซึ่งปัจจุบันเขามีตำแหน่งเป็นอาจารย์สอนศิลป กรรมและงานช่างฝีมือประจำทิป้า

“ยอมรับว่าแรก ๆ ที่เข้าร่วมกับทิป้า ผมไม่รู้ตัวเองว่าเข้ามาเพราะอะไร จนผมเติบโตขึ้น ผมจึงค้นหาตัวเองพบว่าผมชอบศิลปะมาก ทำให้ผมคิดว่าวัฒนธรรมไม่ใช่มีแต่เรื่องการร้อง การเต้นรำ แต่ยังมีเรื่องของสิ่งก่อสร้าง สถาปัตยกรรมต่าง ๆ ที่สามารถส่งผ่านความรู้สึกและจิตวิญญาณของคนทิเบต จึงเสนอให้ก่อตั้งแผนกนี้ขึ้นมา ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมภูมิใจมาก เพราะสามารถสื่อสารและดำรงไว้ซึ่งความเป็นตัวตนของคนทิเบต”

ศิลปะทางพุทธศิลป์ของทิเบตนั้น นอร์บูบอกว่ามีหลากหลายมากมาย อาทิ ทังก้า   (Tangka) หรือภาพวาดแทน พระสัมมาสัม พุทธเจ้า, มณฑลแห่งการตรัสรู้ ทำจากทราย (Sand Mandala), รูปปั้นเนย (Butter Sculpture) เป็นต้น ซึ่งในงานที่กำลังจะจัดขึ้นในไทยก็จะมีนิทรรศการต่าง ๆ เพื่อเปิดโอกาสให้คนไทยได้สัมผัสถึงความงดงามและเกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ ระหว่างกัน ซึ่งเขาคิดว่า คนไทยเป็นคนเปิดเผย มีมิตรภาพที่ดี ตัวเขารู้สึกเหมือนเป็นคนในครอบครัวเดียวกัน เป็นพี่น้องกัน แต่การที่เขาจะถ่ายทอดความรู้สึกที่เขามีต่อคนไทย ต่อประเทศไทยออกมาเป็นคำพูด เขารู้สึกว่ายากมาก ดังนั้น ในฐานะที่เป็นศิลปิน สิ่งที่เขาจะสามารถแสดงถึงมิตรภาพได้ดีที่สุด ก็คงผ่านทางงานศิลปะที่เขาถนัด จึงเป็นที่มาของการสร้างสถูปเพื่อสื่อสารถึงความรักที่เขาต้องการมอบให้แก่ เพื่อนคนไทย สถูปที่สร้างจึงเน้นสีขาวซึ่งหมายถึงสันติภาพ ความสุข ความสงบ

“ผมเชื่อว่ามนุษย์เราต้องมีความรักมอบให้กันและกันมาก ๆ เพราะถ้าปราศจากความรักเรา  ก็จะไม่สามารถทำอะไรได้เลย สถูปสีขาวที่สร้างขึ้น ผมต้องการสื่อถึงสันติภาพ ความสุข ความเจริญ ความรัก ผมเชื่อว่าทั้งหมดนี้คือสิ่งที่ดีที่สุด ที่ผมอยากมอบให้แก่คนไทยทุก ๆ คน” นอร์บูทิ้งท้าย

และจะว่าไปแล้ว “สันติภาพ ความสุข ความเจริญ ความรัก” สิ่งเหล่านี้ ในตอนนี้ ในตอนที่ไฟการเมืองกำลังร้อนรุ่มไปทั่วทุกหัวระแหง “คนไทยเรากำลังต้องการอย่างมาก !!”.

จากหิมาลัย…สู้เจ้าพระยา

เทศกาลศิลปวัฒนธรรมทิเบต จะจัดขึ้นในไทยในช่วงวันที่ 5-10 มี.ค. 2553 โดยความร่วมมือของหลายองค์กร ด้วยธีม “จากหิมา ลัย สู่เจ้าพระยา”  ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ย่านปทุมวัน กรุงเทพฯ นอกจากจะมีสถูปทิเบตจำลองจัดตั้งไว้บริเวณด้านหน้า ภายในหอศิลป์ฯ ก็จะมีการแสดงศิลปวัฒนธรรมโดยศิลปินและนักแสดงจากสถาบันทิป้าของทิเบต เป็นครั้งแรกในประเทศไทย

เทศกาลครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อเผยแพร่ และแลกเปลี่ยนศิลปวัฒนธรรมไทย-ทิเบต โดยภาคการแสดงก็จะมีการแสดงที่น่าสนใจ เช่น การแสดงภาพเขียนทังก้า (Tangka) หรือภาพวาดแทนองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า, ระบำชานัก หรือระบำหน้ากากเพื่อจิตวิญญาณ, ระบำบ๊ะ ชาร์ ชก กี เรลปา หรือการเต้นรำ ของนักเดินทางพเนจร ตลอดจนมีนิทรรศการและเปิดตรวจรักษาการแพทย์แผนทิเบต นิทรรศการภาพถ่ายคนชราทิเบต การฉายภาพยนตร์ รวมถึงการออกร้านจำหน่ายสินค้า หนังสือ ของที่ระลึกเกี่ยวกับทิเบต ทั้งนี้ งานนี้จึงถือเป็นโอกาสดี…

สำหรับผู้ที่สนใจศิลปวัฒนธรรมของ ทิเบต.

ศิริโรจน์ ศิริแพทย์ : รายงาน

Source : http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryID=524&contentID=49807