ดูนกเพื่อรักษาป่า

ดูนกเพื่อรักษาป่า

Author : Admin

ความจริงที่นี่ยังคงต้องการแรงงานเพื่อปลูกต้นไม้อีกมาก โดยขึ้นไปปลูกที่ วัดป่ามหาวัน ซึ่งมีขนาดราว 3,000 ไร่ แต่เนื่องจากคณะของเราเป็นคณะผ้าป่าครอบครัว มีทั้งเด็กเล็กและผู้สูงอายุเดินทางไม่สะดวก จึงไม่ได้ขึ้นไป

ในคืนแรก พวกเราได้ดูภาพบรรยากาศของคณะพระสงฆ์ในวัดกับคณะของกลุ่มเด็กรักนกบ้านทะไฟหวานไปดูนกด้วยกันที่เขาใหญ่ โดยมีวิชัย หัวหน้ากลุ่มเด็กรักนกบ้านท่ามะไฟหวานเป็นผู้บรรยาย  และในเช้าวันถัดมา วิชัยและหลานชายของเขาก็เป็นผู้อาสาพาพวกเราและเด็กๆ เดินดูนกยามเช้าในวัดป่าสุคะโต

วิชัยเป็นคนในท้องถิ่น ชอบการดูนก หัดดูนกครั้งแรกก็เพราะวัดจัดกิจกรรม ความผูกพันกับวัด กับแผ่นดินถิ่นเกิดทำให้เขาคิดที่จะรักษาสิ่งดีๆเอาไว้ให้คนรุ่นต่อจากเขา  ผืนป่าต้นน้ำลำปะทาว คือสิ่งที่วิชัย หวังจะเก็บรักษาให้อยู่คู่กับชุมชน ต่อไปนี้คือสิ่งที่วิชัยได้ถ่ายทอดให้พวกเรา คนกรุงเทพ ฟังค่ะ

งานวิจัย นกช่วยปลูกป่า เริ่มจากโจทย์ที่ว่า ต้นไม้ในป่านั้น ใครเป็นผู้ปลูก พวกเราก็คงตอบได้ว่าธรรมชาตินั้นเองที่ให้กำเนิดต้นไม้ แต่เนื่องจากพวกเราชอบดูนก เราก็อยากรู้ว่านกมีส่วนเกี่ยวพันกับการปลูกต้นไม้บ้างหรือเปล่า พวกเราอยากช่วยรักษาป่า แต่เราไม่รู้จะทำอย่างไร หลวงพี่ตุ้ม (พระอาจารย์สันติพงษ์ เขมะปัญโญ) ท่านจึงช่วยเชื่อมโยงกิจกรรมที่พวกเราชอบกับความปรารถนาที่จะรักษาป่า จึงเกิดคำถามว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่นกจะเป็นผู้ที่ช่วยปลูกต้นไม้  ซึ่งถ้านกช่วยได้ ก็แสดงว่าการรักษานกก็เป็นรักษาป่า และถ้าจะรักษาป่าก็ต้องดูแลนก  จึงคิดทำงานวิจัยเ พื่อเราจะได้นำไปบอกเล่ากับคนอื่นๆ ได้อย่างเป็นเหตุเป็นผล โครงการวิจัย นกช่วยปลูกป่า จึงเริ่มขึ้นในพื้นที่ในวัดแห่งนี้ ซึ่งพระ และ ญาติโยม ต่างก็มีส่วนร่วมด้วยกันทุกคน

เริ่มจากเก็บข้อมูลเรื่อง นกกินผลไม้ คือตามเฝ้าดูพฤติกรรมของนก ว่ามีนกกี่ชนิดที่กินผลไม้ ซึ่งจากการเก็บข้อมูลของเราพบว่ามีนก 218 ชนิด ที่กินผลไม้เป็นอาหาร นั่นหมายความว่า มีนกถึง 218 ชนิดที่ มันอาจจะช่วยปลูกต้นไม้!!! (คือนกกินผลไม้ แล้วอึออกมาในที่ต่างๆ แล้วอึนั้นก็งอกออกมาเป็นต้นไม้) เบาแรงคนไปเยอะเลยนะครับ ถ้าเราอนุรักษ์นกเหล่านี้ไว้ได้ …แต่การจะอนุรักษ์นกเหล่านี้ไว้ได้ก็ต้องรักษาต้นไม้เหล่านั้น (ต้นไม้ที่มีผลให้นกกิน) เพื่อให้นกมีอาหาร เราจึงติดตามว่า แล้วมีต้นไม้อะไรบ้างที่นกสามารถกินเป็นอาหารได้ เราพบว่ามีต้นไม้ถึง 999 ชนิดที่นกใช้กินเป็นอาหาร (โอ้โห) นี่คือในพื้นที่สำรวจของเราในวัดป่าสุคะโตนะครับ (ยังไม่รวมต้นไม้ที่นกใช้เป็นที่อยู่อาศัย แต่ไม่ได้กินเป็นอาหารว่า มีกี่ชนิด)

เนื่องจากเป็นงานวิจัย พวกเราต้องทำงานในภาคสนาม ก็ต้องเก็บข้อมูลว่ามีไม้อะไรบ้างที่ให้ผล ผลไม้นั้นสุกช่วงไหน แล้วมีนกกี่ชนิดที่มากินผลไม้ชนิดนั้นๆ  กินในเวลาไหน ต้องคอยเผ้ากัน ซึ่งข้อมูลแบบนี้เราต้องทำงานกับผู้ใหญ่ในชุมชน เพราะเขารู้จักต้นไม้มากกว่าพวกเรา พวกผู้ใหญ่จะรู้ว่าต้นไม้นั้นออกผลในฤดูกาลไหน มีนกอะไรมากิน และต้นไม้ที่ว่ามันอยู่ตรงไหนของป่าสุคะโต

ก็กลายเป็นการทำงานร่วมกันของ ผู้ใหญ่กับเด็ก บางทีผู้ใหญ่รู้ว่านกมากินผลไม้จากไม้ต้นนั้น แต่ไม่รู้ว่านกอะไร แต่พวกเรารู้ พวกเราชำนาญเรื่องการดูนกมากกว่า แต่เรามีความรู้เรื่องต้นไม้ไม่เท่าผู้ใหญ่ พอได้เดินป่าด้วยกันบ่อยๆ ก็เกิดความเข้าใจกัน เป็นการทำงานร่วมกันของผู้ใหญ่กับเด็ก เดินไปก็คุยกันไป เป็นความสัมพันธ์ที่ดี ผู้ใหญ่บางคนชอบจับนก ยิงนก ก็สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมได้ รู้ว่าต้องรักษานก ถ้าอยากให้ป่าคงอยู่ เด็กๆ เองก็มีความรู้เรื่องต้นไม้ เรื่องสมุนไพรติดตัวมาด้วยเพิ่มขึ้น เมื่อก่อนเราไม่สนใจต้นไม้ สนใจแต่จะดูนก ตอนนี้ก็รู้ว่าถ้าอยากเห็นนกชนิดนี้ อยากอนุรักษ์ ก็ควรจะปลูกต้นอะไร ต้องรักษาต้นอะไร และได้ความรู้เรื่องคุณประโยชน์ต้นไม้เพิ่มขึ้นด้วย รู้จักสรรพคุณทางสมุนไพร รู้จักการนำต้นไม้ไปเป็นประโยชน์ใช้สอย

ครั้งหนึ่ง ทุกคนในคณะเดินไปพบตอไม้ใหญ่ขนาดมากต้นหนึ่งถูกตัดโค่นลงไปสดๆ ผู้ใหญ่คนหนึ่งที่ไปด้วยกันเป็นอดีตนายพรานเดินดูสภาพรอบๆ ต้นไม้แล้วก็เอ่ยออกมาว่า “ไม้แบบนี้ไม่ได้ตัดเอาไปทำบ้าน ไม่ได้ค่นเอาไปเพื่อใช้ประโยชน์ แต่ถูกโค่นเพื่อจะเอากล้วยไม้ที่มันอยู่บนยอดไปขาย…” ข้อมูลแบบนี้เชื่อถือได้ว่าจริง เพราะคนพูดเป็นนายพราน มีความรู้เรื่องต้นไม้ดี รู้ว่ากล้วยไม้อะไรที่จะอาศัยอยู่บนไม้ชนิดนั้น รู้ด้วยว่าพฤติกรรมแบบนี้ใครในหมู่บ้านเป็นคนทำ ซึ่งก็จะได้ตามแก้ปัญหากันต่อไป ทำเรามองเห็นว่า การจะทำงานเพื่ออนุรักษ์ป่านั้นจะมีใครบ้างที่เกี่ยวข้องกับเรา เห็นมิติการทำงานที่กว้างขึ้น

มีอีกครั้งหนึ่ง ในโครงการมีอาสาสมัครเป็นคนที่ชอบขโมยลูกนกไปขาย ตอนแรกก็กังวล ไม่ชอบเขา แต่พอเขาเข้าไปในป่ากับเราเขาบอกได้เลยว่า ต้นไม้ไหนมีรังของนกอะไรอยู่ อยู่ตรงไหนของป่า ถามว่า เขารู้ได้อย่างไร เขารู้  เพราะเขาเคยมาเฝ้าต้นไม้เพื่อจะขโมยลูกนกไปขาย ซึ่งมันต้องเฝ้ากันเป็นวันๆ ต้องหมั่นสังเกตุตั้งแต่มันมาทำรัง วางไข่ รู้อุปนิสัยนก บางทีรู้ดีกว่าพวกเราอีก พอเขามาเข้าร่วมโครงการกับเรา ค่อยๆ เห็นคุณค่าของการทำงานของเรา เห็นคุณค่าของป่าไม้ เขาก็เลิกจับนกขาย แถมยังให้เบาะแสอื่นๆ กับเราด้วย ทำงานแบบนี้เราจะไม่ปฏิเสธผู้คน แต่เราจะยินดีให้เขามาเรียนรู้ร่วมกับเรา เพราะเราก็ได้ความรู้จากเขาด้วย

จากนั้นในเช้าวันรุ่งขึ้นพวกเราก็ได้เดินสูดอากาศยามเช้าในบริเวณป่าในวัด ตัวดิฉันนั้น ไม่เคยดูนกมาก่อน การเดินในเช้าวันนั้นก็ไม่เห็นนกเลยสักตัว แต่ก็ไม่ได้รู้สึกว่าเสียเที่ยว การได้ฟังความคิดเห็น เห็นความงอกงามของที่นี่แล้วทำให้รู้สึกดีใจมากที่ได้มารับรู้ ร่วมทำกิจกรรมเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน

เมื่อเช้านี้ ดิฉันนั่งมองนกที่บ้านของตัวเอง ที่ระเบียงบ้านมีต้นน้อยหน่าที่ปลูกเองแบบเทวดาเลี้ยง จึงมีเพลี้ย มีหนอนอยู่บ้าง พอสมควร อากาศยามเช้าในกรุงเทพไม่สดชื่นเท่ากับในสุคะโตก็จริง แต่ก็เป็นความสดชื่นของอากาศมากที่สุดในรอบวัน เมื่อแดดเริ่มออก นกก็เริ่มออกมาเกาะบนกิ่งไม้ ไซร้ปีก ไซร้หาง มันไม่กลัวฉัน ทำกรีดปีกกรีดหางอวดโฉม จิกกินแมลงกินไปด้วยไปตามประสา จะเป็นเพราะมันมัวแต่โชว์ออฟหรืออย่างไรไม่ทราบ พลัดจากกิ่ง หัวคะมำ เสียฟอร์มนกเป็นที่สุด ขำก็ขำ อายแทนมันด้วย ….คงชินกับสายไฟมากกว่าต้นไม้น่ะ เป็นครั้งแรกที่ฉันมองนกด้วยสายตาที่เปลี่ยนไป รู้สึกเอ็นดู และเห็นเป็นเพื่อนเล่นขำขันได้ จึงรู้สึกว่า กิจกรรมดูนก ใกล้ตัวมากขึ้น คนเมืองอาจจะแค่ปลูกไม้ดอกไม้ประดับตามรั้วบ้าน ตามระเบียงแล้วแต่สภาพอำนวย แต่ขอให้เราไม่ใช้ยาฆ่าแมลง เท่านี้ก็คงพอได้ช่วยให้นกเล็กๆ ในกรุงเทพได้มีที่อยู่อาศัย ฝึกจับกิ่งไม้แทนการเกาะบนสายไฟบ้างนะคะ …แหม…เสียสถาบันนกหมดเลย

การแพทย์แผนธิเบต : รักษากาย ดูแลใจ

การแพทย์แผนธิเบต : รักษากาย ดูแลใจ

Author : Admin

ในแง่ของการเยียวยา เราตระหนักกันว่าการแพทย์สมัยใหม่นั้นมุ่งการเยียวยารักษาไปที่เรื่องทางกาย  แม้มีเรื่องทางใจด้วยเขาก็แยกออกไปเป็นอีกสาขาหนึ่งต่างหาก ในแง่ของการรักษาทางกายนั้นก็มุ่งการรักษาเฉพาะอย่าง  เฉพาะทาง  การรักษาอย่างแยกส่วนของกายออกจากใจ  และการแยกร่างกายออกเป็นส่วนๆ เช่นนี้  ยิ่งทำไปก็อาจยิ่งก่อให้เกิดปัญหาทางใจแก่ผู้ป่วย  เพราะการรักษาได้บ่มเพาะความหวาดกลัวในใจของผู้ป่วย  คือ หวาดกลัวต่อความตายมากขึ้นเรื่อยๆ 

วิธีการรักษาในการแพทย์สมัยใหม่ไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัด  การรับประทานยา  การต้องพบแพทย์เป็นประจำ  ทำให้ผู้ป่วยเกิดความรู้สึกพึ่งพิงมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะทักษะความรู้เหล่านั้นผูกขาดอยู่ที่หมอเพียงผู้เดียว เมื่อบวกกับความสัมพันธ์ระหว่างหมอกับคนไข้ที่มักเป็นไปในเชิงอำนาจยิ่งไปกันใหญ่  คือ ใช้วิธีการสั่ง  ดุว่า  เมื่อคนป่วยไม่ทำตาม  เช่น  “คุณต้องทำอย่างนั้น ทำไมคุณไม่กินยาที่หมอสั่ง หมอบอกคุณแล้วคุณก็ไม่เชื่อ” 

ญาติมิตรโดยรอบก็ล้วนปฏิบัติต่อคนป่วยแบบเดียวกับหมอ ดุว่าให้ทำทุกอย่างที่หมอบอก กระทั่งท้ายที่สุดทั้งหมอ  คนป่วย  และญาติคนป่วยต่างก็บ่มเพาะความรู้สึกหวาดกลัวต่อความตายแก่กันและกันอย่างไม่รู้ตัว

แน่นอนว่าการหวาดกลัวต่อความตายเป็นสัญชาตญาณของมนุษย์และสัตว์ทั้งหลาย  แต่ความหวาดกลัวที่เกิดจากอำนาจและการพึ่งพิงที่ทำให้จิตใจอ่อนแอลงเรื่อยๆ นั้น  น่าสงสัยอยู่ว่าเราจะถือเป็นความสำเร็จในการรักษาได้หรือไม่  เมื่อความหวาดกลัวเติบโตเป็นมะเร็งในทางจิตใจ  หมอก็รักษาไม่ได้อีกต่อไป  ต้องไปให้พระที่วัดช่วย  ผู้ป่วยอาการหนักจำนวนมากต้องการพบพระ เข้าวัดทำบุญ  เพื่อช่วยลดความหวาดกลัวต่อความตาย  ซึ่งเป็นความเจ็บปวดลึกซึ้งในทางจิตวิญญาณ  แต่มันอาจไม่ทันการเสียแล้ว

ฉะนั้น  เราทั้งหลายจึงพึงใช้สัญชาตญาณความกลัวตายกันเสียแต่เนิ่นๆ  ในการแสวงหาการแพทย์ที่รักษากายโดยไม่ก่อให้เกิดปัญหาทางใจ  การแพทย์ที่มีโลกทัศน์องค์รวมระหว่างกายกับใจ  การแพทย์ที่แพทย์ไม่ใช้อำนาจแต่ใช้ความรักความเมตตาต่อเรา  เป็นได้ทั้งหมอ พระ และเพื่อนให้เราในเวลาเดียวกัน 

ที่ว่ามานั้น  เราพบได้ใน…การแพทย์แผนธิเบต 

การแพทย์แผนธิเบต  เป็นศาสตร์การแพทย์ที่มีรากฐานมาจากพระพุทธศาสนา  โดยอธิบายว่าชีวิตนั้นประกอบด้วยตรีธาตุ  ได้แก่วาตะ(ลม) ปิตะ(ไฟ) และกผะ(ดิน/น้ำ)  อันเป็นธาตุพื้นฐานที่ประกอบกันเข้าและทำหน้าที่ต่างๆ ให้ชีวิตดำรงอยู่ได้  โรคภัยไข้เจ็บเกิดขึ้นจากการที่ธาตุทั้งสามนั้นแปรปรวนไม่อยู่ในภาวะสมดุล  ขาดพร่องหรือกำเริบ สาเหตุของการที่ธาตุทั้งสามแปรปรวนไปไม่สมดุลเกิดจากลักษณะการใช้ชีวิต  การกินอยู่  โดยเฉพาะอย่างยิ่งสาเหตุสำคัญคือ อวิชชา  คือ โลภ โกรธ  หลง  นั่นเอง  โดยธาตุวาตะจะถูกกระตุ้นโดยความโลภ  ธาตุปิตะถูกกระตุ้นโดยความโกรธ และธาตุกผะถูกกระตุ้นโดยความหลง 

นอกจากนี้แล้ว  การแพทย์แผนธิเบตยังกล่าวถึงสาเหตุของโรคภัยบางชนิดที่ไม่ได้เกิดจากการใช้ชีวิตในปัจจุบันแต่เกิดจากกรรมเก่า  ลักษณะของโรคภัยเช่นนี้คือ ยากแก่การรักษา  การเยียวยารักษาทางการแพทย์อย่างเดียวไม่เพียงพอสำหรับการเจ็บป่วยอันเกิดจากกรรมเก่านี้ 

ในแง่ของการตรวจรักษาแพทย์ใช้วิธีการสังเกตดูลักษณะทางกายภาพโดยทั่วไปของคนไข้  เช่นเลือด  เล็บ  ลิ้น  เสมหะ  ปัสสาวะ  อุจาระ ตา  สีผิว เป็นต้น และตรวจชีพจรด้วยปลายนิ้วมือซึ่งลักษณะที่พบจะบ่งบอกถึงความแปรปรวนของธาตุพื้นฐาน ที่ชี้ไปยังความเจ็บป่วย ณ จุดใดๆ ของร่างกาย  รวมทั้งการซักถามเรื่องการกินอยู่และการใช้ชีวิตก็จะได้ข้อมูลการวินิจฉัยที่ชัดเจนขึ้น 

หลังจากการตรวจจนพบความแปรปรวนของธาตุแล้วแพทย์จะแนะนำผู้รับการรักษาให้ปรับเรื่องการกินอาหารเพื่อปรับธาตุให้เข้าสู่สภาวะสมดุลมากขึ้น  คือ  ถ้าธาตุชนิดใดพร่องก็ควรทานอาหารที่มีธาตุชนิดนั้นประกอบอยู่เป็นหลักเพื่อเสริมธาตุให้มากขึ้น  หากธาตุชนิดใดมีมากเกินไป  ก็ให้ทานอาหารที่มีธาตุตรงข้ามเพื่อคุณสมบัติในการต้านและปรับสมดุล  หมอในการแพทย์แผนธิเบตจึงเป็นผู้มีความรู้ในเรื่องธาตุที่มีอยู่ในอาหารชนิดต่างๆ เพื่อการแนะนำคนรับการรักษาด้วย

นอกจากการรักษาโดยการกินอาหารบางชนิดเพื่อเพิ่มหรือปรับลดธาตุให้สมดุลแล้ว  การรักษาในการแพทย์แผนธิเบตยังรวมถึงการปรับวิถีชีวิตเช่นการพักผ่อน  การผ่อนคลาย  การทานยาพิเศษบางชนิดสำหรับบางกรณี  ซึ่งเป็นยาสมุนไพร โดยยาบางชนิดจะต้องมีวิธีการรับประทานเป็นพิเศษจึงจะได้ผล  เช่น  รับประทานในวันพระจันทร์เต็มดวง  และมีการสวดมนต์ทำสมาธิร่วมด้วย  นอกจากนั้นยังมีการฝังเข็ม  การอาบน้ำพุธรรมชาติเป็นต้น  และแน่นอนว่าหมอชาวธิเบตจะแนะนำคนไข้ให้ลดตัวโลภ  โกรธ  หลงในชีวิตลงด้วย  หากต้องการมีชีวิตยาวนานก็ต้องฝึกลดละสิ่งเหล่านี้ลงไป 

สำหรับโรคภัยบางชนิดที่อาจเป็นผลมาจากกรรมเก่านั้น  วิธีการเยียวยารักษาคือการสวดมนต์  ปฏิบัติธรรม  ทำบุญแผ่ส่วนกุศล เป็นต้น

ด้วยวิถีการแพทย์แผนธิเบตที่มีพื้นฐานจากจิตวิญญาณพุทธศาสนา  แพทย์ผู้จะทำการรักษาจึงไม่เพียงต้องศึกษาด้านทักษะการรักษาเท่านั้นหากยังถูกบ่มเพาะฝึกฝนในทางจิตวิญาณด้วย  คือให้เห็นคนไข้เป็นเพื่อนร่วมทุกข์  หมอพึงรักษาด้วยความรักความเมตตา ความปรารถนาให้เพื่อนร่วมทุกข์ได้พ้นจากทุกข์  ความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์ผู้รักษากับผู้รับการรักษาจึงมีความอ่อนโยนเข้าอกเข้าใจ และแพทย์ผู้ให้การรักษายังไม่ได้มุ่งเพียงการรักษาทางกายเท่านั้น  แต่ยังอาจใช้การรักษาเยียวยาร่างกายนี้เป็นฐานสะท้อนลึกลงไปถึงชีวิตส่วนลึกของผู้รับการรักษา  อาจารย์แพทย์ชาวธิเบตบางคนจึงมักตั้งคำถามผู้รับการรักษาไปด้วยว่า  “ทำไมเราถึงต้องการมีสุขภาพแข็งแรงและชีวิตยืนยาว”  อันเป็นคำถามที่ทำให้ผู้ป่วยได้นึกย้อนลึกลงไปถึงโลกทัศน์  ชีวทัศน์ของตนว่า  เป้าหมายของชีวิตคืออะไร

ในการแพทย์แผนธิเบต  ทั้งแพทย์และผู้รับการรักษาจึงเปรียบเหมือนกัลยาณมิตรที่เดินจูงมือกันในเส้นทางของสุขภาวะทั้งทางกายและทางจิตวิญญาณ  การรักษาสุขภาพกายเป็นไปพร้อมๆ กับการบ่มเพาะความเข้าใจในชีวิต  คือปัญญา  อันเป็นตัวยาที่กำจัด  อวิชชา ที่เป็นสาเหตุของโรคทั้งหลายกายและใจนั้นเอง  

ร้อยเรียงการเรียนรู้จากสึนามิ

ร้อยเรียงการเรียนรู้จากสึนามิ

Author : กลุ่มจิตวิวัฒน์

แม้ต้นไม้จะถูกไฟป่าเผาผลาญจนดำราวกับถ่าน แต่ก็ไม่ยอมล้มหรือตายง่ายๆ เมื่อวันและเดือนผ่านไป ใบอ่อนก็ทยอยกันผลิออกมา ขณะที่ลำต้นก็ค่อยๆ กร้านแกร่ง และยอดก็ทะยานสูงขึ้นเรื่อยๆ ชีวิตนั้นไม่เคยยอมแพ้ต่อภัยคุกคามใดๆ หากรอเวลาที่จะหยัดยืนขึ้นใหม่ด้วยความเข้มแข็งยิ่งกว่าเดิม วันนี้แม้เราจะล้มเพราะถูกทุกข์กระหน่ำ แต่ขอให้มั่นใจว่าพรุ่งนี้เราจะสามารถลุกขึ้นได้ใหม่ ไม่มีทุกข์ภัยใดๆ ที่จิรังยั่งยืน ไม่มีราตรีใดที่มืดมนไปตลอด ขอเพียงแต่เราอดทน รู้จักรอคอย มีศรัทธาในชีวิต ระดมสติและปัญญาเพื่อเป็นพลังให้แก่จิตใจ ไม่นานวันใหม่ย่อมมาถึง ทุกข์ภัยย่อมหมดไป แล้ววันนั้นเราจะแย้มยิ้มได้อีกครั้งหนึ่งด้วยใจที่มั่นคงกว่าเดิม

พระไพศาล วิสาโล

*******

มหาวิปโยคกับจิตวิวัฒน์

แผ่นดินไหวและคลื่นยักษ์แห่งอันดามัน เมื่อวันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๔๗ ได้ก่อให้เกิดความสูญเสียชีวิตของผู้คนจำนวนมากมหาศาล บางคนสูญเสียพ่อ สูญเสียแม่ สูญเสียลูก สูญเสียสามี สูญเสียภรรยา หรือสูญเสียทั้งหมด การพลัดพรากจากคนที่รักเป็นทุกข์อย่างยิ่ง

ถ้าที่ใดมีทุกข์ แล้วมีการร่วมทุกข์ ความทุกข์จะบรรเทาเบาบางลง

มหาวิปโยคแห่งอันดามันได้ก่อให้เกิดการหลั่งไหลของน้ำใจอย่างท่วมท้น เหมือนดังพระราชนิพนธ์ ร.๖ ที่ว่า

“อันว่าความกรุณาปรานี จะมีใครบังคับก็หาไม่

หลั่งมาเองเหมือนฝนอันชื่นใจ จากฟากฟ้าสุราลัยสู่แดนดิน”

พลังน้ำใจมิได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น แต่เกิดขึ้นทั่วโลก ความกรุณาปรานีเป็นคุณสมบัติของความเป็นมนุษย์ เป็นจิตสำนึกที่สูง ตรงข้ามกับการหมกมุ่นมัวเมาอยู่กับการเสพสุขของตัวเอง อันดามันวิปโยคนำมาซึ่งความทุกข์อันใหญ่หลวงของมนุษย์จำนวนมาก และแม้เพราะเหตุนั้น ได้ก่อให้เกิดคลื่นแห่งความกรุณาปรานีที่ใหญ่กว่าคลื่นสึนามิ คลื่นนี้ได้ยกระดับจิตใจของมนุษย์ให้สูงขึ้น ซึ่งก่อให้เกิดความรู้สึกที่ดีแผ่ซ่านไปทั่ว

อันที่จริงคลื่นของความทุกข์ที่ซัดกระแทกมนุษย์ทุกรูปทุกนามอยู่ทุกวี่ทุกวันนั้นใหญ่กว่าคลื่นสึนามิทุกลูกรวมกัน ถ้าการสื่อสารของเราจะลดทอนการกระตุ้นให้มนุษย์มัวเมาหมกมุ่นอยู่ในกามสุข หันไปหาวิธีให้มนุษย์ทั้งหมดได้ตระหนักรู้คลื่นของความทุกข์ของมวลมนุษย์ จะเกิดพลังแห่งน้ำใจหลั่งไหลอาบโลกให้ชุ่มเย็น พลังแห่งความกรุณาปรานีเป็น “กำลังเลิศกว่าพลังอื่นทั้งสิ้น” จะเป็นพลังขับเคลื่อนโลกไปสู่ศานติสุข แทนการขับเคลื่อนด้วยโลภจริตเยี่ยงในปัจจุบัน

ประเวศ วะสี

*******

โอมาร์ ไคยาม กับภัยพิบัติ

ท่ามกลางกองขยะ สิ่งสลักหักพัง

หลังลิ้มรสช่วงขณะของชีวิต

ดาวตกเดือนดับฤกษ์เดินทาง

แจ้งสว่างที่ไหน – ใครจะรู้” โอ้ – เวลา!

ประสาน ต่างใจ

*******

แม่ธรณี” กับ “แม่คงคา” พลิกตัวพร้อมกันนิดเดียว ก็ยังให้เกิดภัยพิบัติใหญ่หลวงของมนุษย์ สรรพชีวิตและสิ่งแวดล้อมได้มากถึงเพียงนี้

หายนะครั้งนี้ให้บทเรียนล้ำค่าแก่เราว่า มนุษย์มิอาจควบคุม เอาชนะธรรมชาติได้ ดังนั้น เราจึงควรตั้งสติและใช้ปัญญา เรียนรู้เข้าใจโลกธรรมชาติให้มากยิ่งขึ้น

ในการนี้ จำเป็นที่เราจะต้องปรับท่าทีเสียใหม่ให้เคารพและถนอมรักษ์โลกธรรมชาติ ในฐานะที่เขามีชีวิตของเขาเองมนุษย์และสิ่งมีชีวิตทั้งปวงเกิดที่นี่ พึ่งพาอาศัยเขาอยู่ที่นี่เราจึงต้องรู้เท่าทัน กตัญญูรู้คุณ และไม่ตั้งอยู่ในความประมาท

เอกวิทย์ ณ ถลาง

*******

ในทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ใหม่โดยเฉพาะควอนตัมฟิสิกส์บอกไว้ชัดเจนว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นมาในจักรวาลนี้ล้วนแล้วแต่ “มีความหมาย” ทิ้งสิ้น “คลื่นสึนามิ” จึงไม่ใช่แค่ “เหตุบังเอิญ” หรือไม่ได้เป็นเพียงปรากฏการณ์ตามธรรมชาติทั่วๆ ไป

การเกิดคลื่นสึนามิ “สื่อความหมาย” อย่างไรกับพวกเราบ้าง” นอกไปจากความทุกข์และความโศกเศร้าของทั้งผู้สูญเสียเพื่อนคนไทยทั้งชาติรวมไปถึงชาวโลกทั้งหมดนี้

วิทยาศาสตร์ใหม่เชื่อว่าโลกเป็นสิ่งมีชีวิต

การเกิดแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิคงจะสามารถเปรียบเสมือนกับ “อาการปวดท้อง” และ “ท้องเสียอย่างรุนแรง” ของโลกใบนี้

ในขณะที่พายุรุนแรง (ไต้ฝุ่น ทอร์นาโด) เปรียบเสมือนเป็น “อาการไข้” ของโลก

ผมเชื่อว่า “สึนามิ” คือสัญญาณเตือนจาก “สิ่งมีชีวิตหนึ่งคือโลก” ว่า เธอกำลังป่วยกำลังปวดท้องกำลังท้องเสียและต้องการการเยียวยาและดูแลรักษาอย่างรีบด่วนเช่นกัน

เธอกำลังมีความทุกข์และทรมานไม่น้อยไปกว่าพวกเราที่กำลังเศร้าโศกและมีความทุกข์กันอยู่ในตอนนี้

นพ.วิธาน ฐานะวุฑฒ์

********

จากเหตุการณ์มหันตภัยสึนามิ ทำให้เราประจักษ์แล้วว่า ความสุข และความทุกข์นั้น ห่างกันเพียงเสี้ยววินาที จงหันกลับมาสู่ความสุขที่แท้จริง เพื่อตนเองและคนรอบข้าง เพื่อช่วยพวกเขาให้พ้นจากความทุกข์ การช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ ช่วยเหลือธรรมชาติโดยไม่หวังผลตอบแทนจะเป็นการเจริญเมตตาภาวนา ที่สร้างความสุขอันยิ่งใหญ่และถาวร

จารุพรรณ กุลดิลก

*******

สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากคลื่นยักษ์อันดามัน

… คือ คลื่นน้ำใจอันมหาศาลของมนุษย์ที่หลั่งไหลมาจากทั่วทุกสารทิศ ไม่แบ่งแยกเพศ อายุ ผิวพรรณ วรรณะ จากคนที่บางครั้งเราเผลอไปแบ่งว่าเป็น “คนไทย” และที่ไม่ใช่คนไทย ที่บางครั้งเราเผลอไปแบ่งว่าเป็นคนที่นับถือศาสนาเดียวกันกับเราและที่ไม่ได้นับถือศาสนาเดียวกับเรา หรือที่บางครั้งเราเผลอไปแบ่งว่าเป็นคนที่เราชอบและที่เราไม่ชอบ

… คือ รูปธรรมของสุขภาวะทางจิตวิญญาณ-สุขภาวะทางปัญญา! น้ำใจอันบริสุทธิ์ การให้โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน การทำงานอาสาสมัครถือเป็นตัวอย่างของการสร้างเสริมสุขภาวะทางจิตวิญญาณ เป็นการเป็นพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพ สามารถนำพาประเทศและโลกไปสู่การมีสุขภาวะจากการมีจิตใจสูงของคนทั้งหมด

… คือ ปรากฏการณ์จิตวิวัฒน์! ปรากฏการณ์ที่ชี้ให้เห็นว่ามนุษย์ทุกคนมีศักยภาพที่ยิ่งใหญ่ สามารถก้าวข้ามความอึดอัด คับแคบของอัตตา ตัวตน ไปสู่การมีจิตใหญ่ เชื่อมโยงถึงเพื่อนมนุษย์และธรรมชาติ

… คือ ความหวัง ความหวังในการอยู่รอดของมนุษยชาติ ในการเผชิญวิกฤตอื่นที่รอเราอยู่ในอนาคตกันใกล้นี้

สรยุทธ รัตนพจนารถ

********

ทะเลบ้า สึนามิ มติแห่งธรรมชาติ

ทะเลบ้าคนก็บ้าฟ้าบ้าด้วย

ทะเลสวยคนก็สวยช่วยฟ้าใส

ถ้าคนดีทะเลดีฟ้ามีใจ

รักกันไว้ คน น้ำ ฟ้า สัตว์ ป่า ดิน

ฉกฉวยมากสูญเสียมากฝากให้คิด

เมตตาจิตคิดจะให้กลับได้สิน

สินสมบัติของคนดีศรีแผ่นดิน

สินไม่สิ้นรินน้ำใจให้แก่กัน

สึนามิสื่อภัยดำสื่อธรรมชาติ

สึนามิอาละวาดมิคาดฝัน

สึนามิสื่อเตือนภัยให้เท่าทัน

ทะเล ฟ้า ป่า ดิน ฉัน นั้นหนึ่งเดียว

ทำลายน้ำทำลายป่าฆ่าผู้อื่น

หรือหยิบยื่นความทุกข์ใส่ให้คนเสียว

ความทุกข์นั้นผันหาเราเท่ากันเชียว

จึงอย่าเที่ยวทำร้ายเขาเพราะเขลาเลย

จุมพล พูลภัทรชีวิน

๑ มกราคม ๒๕๔๘

Source : กลุ่มจิตวิวัฒน์ โครงการจิตวิวัฒน์ มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)